กรอบความคิดในการพัฒนา คุณภาพการศึกษา
โดย ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์
@ สภาพปัญหาที่น่าสนใจ
เราพบว่าในขณะนี้ผลการประเมินจากหลายๆ แหล่ง ยืนยันว่าคุณภาพของเด็กไทยตกต่ำลงเรื่อยๆ และเมื่อไปเทียบกับประเทศอื่นๆ คุณภาพก็ต่ำกว่ามาก เช่น ผลการสอบ NT ได้ร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับคะแนนเต็มในวิชาคณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ, ผลการประเมินของ สมศ. คุณภาพระดับผ่านมีจำนวนลดลง แต่คุณภาพระดับการคิด และการสอนเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญอยู่ในระดับพอใช้ แต่คุณภาพโดยรวมลดลง และผลการประเมินของ OECD (Oganization for Economic Co-operation and Development) จัดประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 44-46 ในจำนวน 57 ประเทศ ในปี ค.ศ.2006
ในด้านคุณภาพการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนคาดหวังจะให้เกิดขึ้นในสังคมไทย อยากเห็นเยาวชนไทยมีความรู้ ความสามารถในด้านการคิด ทักษะในการทำงาน มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่ตัดสินใจเพื่อสังคมส่วนรวมและประเทศชาติ และอยากเห็นเยาวชนสามารถนำความรู้ไปใช้ในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ เจริญงอกงามครบสมบูรณ์ทุกด้าน เติบโตเป็นทั้งคนดีและคนเก่งของสังคม แต่สังคมไทยในปัจจุบันกลับมีการแสดงออกในทิศทางที่ตรงกันข้าม เช่น ผู้คนมักแสดงออกตามกระแสนิยม ความคิดไม่เข้มแข็งพอ ส่งผลให้สภาพสังคมอยู่ในสภาวะแตกแยก ทักษะและค่านิยมในการทำงานต่ำ จึงไม่มุ่งทำงานเพื่อให้เกิดคุณภาพของงาน และผลงานที่นำประโยชน์สู่สังคมโดยรวม
@ จากการวิเคราะห์
ผลเหล่านี้ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนไปจนสั่งสมเป็นวัฒนธรรมแบบไม่เอื้ออาทรต่อกัน และละเลยกฎเกณฑ์ทางสังคม จนกระทั่งก้าวเลยไปถึงการทำลายสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนในสังคมโดยรวม
สำหรับในด้านการศึกษา ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะเร่งรัดในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม แต่ก็ยังไม่ได้เน้นย้ำให้ชัดเจน เช่น รัฐบาลยังไม่ได้คัดเลือกบุคคลที่ควรได้รับการยกย่องเป็นคนดีในสังคม ซึ่งในสังคมไทยก็มีไม่น้อย เพื่อมาเป็นตัวอย่างให้เยาวชนยึดเป็นแบบอย่างให้ชัดเจน เพราะแบบอย่างที่ดีจะเกิดขึ้นในตัวผู้เรียนเป็นไปตามประสบการณ์ และสังคมแวดล้อมสำคัญในการจัดการศึกษา
การจัดการศึกษาให้ได้ผลดีและเกิดผลคุณภาพในเกณฑ์ระดับสูงได้นั้น ควรเพิ่มหลักการสำคัญในการพัฒนา 3 ประการ ดังนี้
ประการแรก ควรกำหนดให้ชัดเจนว่า ผู้เรียนควรมีมาตรฐานอะไรบ้าง และกำหนดมิติคุณภาพในแต่ละมิติ เช่น มิติคุณภาพด้านความรู้ ด้านทักษะ ด้านเจตคติ แล้วจัดเป็นระดับคุณภาพในแต่ละมิติจากขั้นต่ำไปสู่ขั้นสูง ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นการฉายคุณภาพแบบภาพรวมของนักเรียนทุกคน แล้วนำมายึดเป็นธงหรือคุณภาพเป้าหมายให้เหมือนๆ กัน เป็นหลักการที่ทุกคนนำไปใช้พัฒนาได้จริง ดังนั้น ธงหรือคุณภาพเป้าหมายทางการศึกษาจึงไม่ควรเปลี่ยนแปลงไปตามวาระของระบบการเมืองไปเรื่อยๆ จนทำให้การบริหารและการพัฒนาขาดความต่อเนื่อง และไร้เป้าหมาย
ประการที่สอง ควรดำเนินการติดตามตรวจสอบ ต้องใช้ระบบการประเมินที่สอดคล้องกับความเป็นเหตุเป็นผลกันของวิธีการกับผลที่ต้องการ รวมทั้งต้องพัฒนาหาวิธีการประเมินที่ใช้งบประมาณสิ้นเปลืองน้อย แต่ได้ผลและเกิดผลดีอย่างถาวร เพื่อนำไปใช้เป็นหลักการในการขยายผล และไม่ควรใช้วิธีแบบเน้นผลงานแบบเร่งด่วน ผิวเผินแต่ขาดหลักการพัฒนา จึงได้แต่ผลแบบที่มีคุณภาพต่ำ สิ้นเปลืองและไม่คุ้มค่า
ประการที่สาม การนำเสนอผลงานหรือระบบการรายงานผล ต้องเน้นให้เป็นลักษณะการนำเสนอในรูปแบบการแสดงออกจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นผลงานจากการคิด ผลงานจากการปฏิบัติ จึงต้องเน้นย้ำผลคุณภาพที่ประกอบไปด้วยการปฏิบัติจริง คุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม และความชื่นชม ซึ่งต้องการวัดและการประเมินด้วยผลงานจริง จากการลงมือทำจริง
@ ยุทธศาสตร์สำคัญ
การดำเนินงานจึงต้องพิจารณาแนวทางที่นำไปสู่ผลได้จริง เพื่อให้เป็นหลักการสำคัญของการที่มุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยตรง
เริ่มต้นจาก ผู้บริหารระดับสูงหรือระดับนโยบายกำหนดว่า คุณภาพเป้าหมายของผู้เรียนที่ชาติต้องการ เป็นคุณภาพเป้าหมายแบบใด ต้องกำหนดคุณลักษณะภาพของคนไทยที่เป็นแบบอย่างและเป็นสัญลักษณ์ของคนไทย มาประกาศให้เป็นตัวอย่างภาพรวมของชาติ เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการได้นำไปกำหนดในหลักสูตร เพื่อกำหนดให้ผู้เรียนต้องมีความคิดที่เข้มแข็ง มีความสามารถในการผลิตผลงาน ร่วมพัฒนาสังคม และมีจิตใจงดงามแบบไทย
เมื่อเราได้ภาพบุคคลคนไทยในอุดมคติแล้ว กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต้องนำไปใช้เป็นเกณฑ์ในการยกย่องเชิดชูเกียรติ ให้รางวัลตามผลแห่งคุณภาพ ทำให้โรงเรียนเห็นภาพฉายของบุคคลแห่งคุณภาพได้ชัดเจน และนำไปใช้สอนในโรงเรียนได้ และนำไปใช้เป็นเกณฑ์ตรวจสอบคุณภาพในการจัดการศึกษาของแต่ละสถานศึกษา จึงจะเห็นผลคุณภาพที่เป็นจริง ซึ่งต่างจากการเน้นสอบเพียงอย่างเดียว เพราะมีสถานศึกษาจำนวนมากที่ไม่สามารถอธิบายถึงความหมายของคะแนนที่นักเรียนสอบได้ เช่น นักเรียนสอบได้ร้อยละ 90 แต่ผู้บริหารหรือครูผู้สอนไม่สามารถอธิบายได้ว่านักเรียนคนนั้นคิดอะไร ทำอะไร แก้ปัญหาอะไรเป็นบ้าง ผลของการคิด การทำ การแก้ปัญหา ก็ไม่มีร่องรอยให้เห็น ดังนั้น การสอบจึงเป็นเพียงส่วนประกอบส่วนหนึ่งของการวัดผลประเมินผลเชิงคุณภาพเท่านั้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมด
ดังนั้น องค์กรทางการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาทุกคนจึงต้องทำงานอย่างมีหลักการเชิงระบบ เพื่อให้เกิดคุณภาพของผู้เรียนอย่างแท้จริง คือกำหนดเป้าหมายงานให้ชัดเจน เป็นจริง เข้าใจง่าย ปฏิบัติได้ แล้วประเมินได้ด้วยผลงานที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจริง, หาแนวทาง วิธี ขั้นตอนปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งเมื่อลงมือทำแล้วเกิดความสำเร็จได้จริง และมีการตรวจสอบที่สอดคล้องกับความเป็นเหตุเป็นผลกันของวิธีการกับผลที่ต้องการ และการรายงานผล ต้องมีงานที่ผู้เรียนทำได้จริง มีคุณภาพตามเกณฑ์มาเสนอประกอบงานด้วย มิใช่รายงานเฉพาะผลจากการสอบด้วยข้อสอบแบบเลือกตอบเท่านั้น
เมื่อกำหนดกรอบความคิดชัดเจนแล้ว จึงดำเนินการสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน อาจโดยการจัดประชุม อบรมให้กับครูอาจารย์เพื่อนำไปปฏิบัติจริง
แนวทางดังกล่าวจะช่วยเสริมให้นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการเพิ่มคุณภาพผู้เรียน ด้วยการเพิ่มคุณภาพวิธีจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู และวิธีเรียนรู้ของผู้เรียน โดยให้เน้นการจัดการความรู้หรือการออกแบบการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดผลย้อนกลับไปให้ผู้เรียนเป็นผู้สรุปความคิดรวบยอด หลักการ เป็นความรู้ของตนเอง (Backward Design) โดยใช้วิธีเรียนตามขั้นตอนการเรียนรู้ GPAS ให้สำเร็จได้โดยง่าย
(G=Gathering ขั้นเลือกข้อมูล, P=Process ขั้นจัดข้อมูล คิดวิเคราะห์ วิจารณ์, A=Applying ขั้นนำไปใช้ โดยกำหนดขั้นตอน และลงมือปฏิบัติ, S=Self-Regulating ขั้นเรียนรู้เอง รู้จักประเมินเพื่อเพิ่มคุณธรรมจนเป็นนิสัย กลายเป็นตัวตนของผู้เรียน)
ที่มา - มติชนรายวัน หน้า 7 - วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11208
|