Neric-Club.Com
  สารบัญเว็บไซต์
  ทรัพยากรคลับ
  พิพิธภัณฑ์หุ่นกระดาษ
  เปิดประตูสู่อาเซียน@
  พันธกิจขยายผล
  ชุมชนคนสร้างสื่อ
  คลีนิคสุขภาพ
  บริหารจิต
  ห้องข่าว
  ตลาดวิชา
   นิตยสารออนไลน์
  วรรณกรรมเพื่อเยาวชน
  ลมหายใจของใบไม้
  เรื่องสั้นปันเหงา
  อังกฤษท่องเที่ยว
  อนุรักษ์ไทย
  ศิลปวัฒนธรรมไทย
  ต้นไม้ใบหญ้า
  สายลม แสงแดด
  เตือนภัย
  ห้องทดลอง
  วิถีไทยออนไลน์
   มุมเบ็ดเตล็ด
  เพลงหวานวันวาน
  คอมพิวเตอร์
  ความงาม
  รักคนรักโลก
  วิถีพอเพียง
  สัตว์เลี้ยง
  ถนนดนตรี
  ตามใจไปค้นฝัน
  วิถีไทยออนไลน์
"ในยุคสมัยแห่งโลกแฟนตาซี ปลาใหญ่ไม่ทันกินปลาเล็ก ปลาเร็วไม่ทันกินปลาช้า ปลาตะกละฮุบเหยื่อโผงโผง โง่ยังเป็นเหยื่อคนฉลาด อ่อนแอเป็นเหยื่อคนเข้มแข็ง คนวิถึใหม่ต้องฉลาด เข้มแข็ง เสียงดัง มีเงินเป็นอาวุธ
ดูผลโหวด
 
 

'องค์ความรู้ในโลกนี้มีมากมาย
เหมือนใบไม้ในป่าใหญ่
มนุษย์เราเรียนรู้ได้
แค่ใบไม้หนึ่งกำมือของตนเอง
ผู้ใดเผยแผ่ความรู้
อันเป็นวิทยาทานแก่ผู้อื่น
นั่นคือกุศลอันใหญ่ยิ่ง'
 
องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า












           




             ซ่อมได้ 


สถิติผู้เยี่ยมชมเวปไซต์
14029105  

บริหารจิต

วารสารธรรมมาตา
ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๓
มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน ๒๕๕๖

ปฏิบัติให้เห็นความจริง
พระไพศาล วิสาโล

แบ่งปันบน facebook Share

พวกเราได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติธรรม คำว่า “ปฏิบัติธรรม” มีความหมายกว้างก็เพราะคำว่า “ธรรมะ” โดยความหมายแล้วกินความกว้างขวางมาก จะหมายถึงสิ่งดีงาม ที่นำไปสู่ความสุขก็ได้ หรือจะหมายถึงความจริงที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ก็ได้ “ปฏิบัติธรรม” ก็เช่นเดียวกัน มีความหมายใหญ่ๆ สองอย่าง อันที่หนึ่งคือการปฏิบัติตามทำนองคลองธรรม เช่น การให้ทาน การรักษาศีล ไม่เบียดเบียนใคร ความซื่อสัตย์สุจริต การประกอบสัมมาอาชีวะ ซึ่งก็รวมไปถึงการฝึกจิตให้มีคุณภาพจิตที่ดี เช่น มีเมตตา กรุณา เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ไม่เห็นแก่ตัว อันนี้เรียกว่าปฏิบัติตามทำนองคลองธรรม คือการฝึกกาย วาจา ใจ ให้งดงาม ประกอบไปด้วยคุณธรรม คำว่าคุณธรรมก็เป็นจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติธรรมในความหมายแรก คือ ฝึกหัดขัดเกลาให้เกิดคุณธรรม มีชีวิตตามทำนองคลองธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้คนปฏิบัติกันทั่วไป ตื่นแต่เช้ามาก็ใส่บาตร อย่างนี้เรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน การให้ทาน การเป็นจิตอาสา ก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรมในความหมายแรก

ความหมายที่สอง ปฏิบัติธรรมหมายถึงการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงสัจธรรมความจริง คือทำให้เกิดปัญญา เข้าใจความจริงอย่างรอบด้าน และลึกซึ้ง จนกระทั่งเห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่สามารถยึดติดถือมั่นได้ เพราะอะไร เพราะทุกอย่างล้วนตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อจิตหยั่งเห็นความจริงเช่นนี้อย่างแจ่มแจ้ง ก็ปล่อยวาง จิตก็เป็นอิสระหลุดพ้นจากความทุกข์ ความทุกข์ไม่สามารถจะเกาะเกี่ยว ครอบงำ หรือทำให้จิตหวั่นไหวได้ อันนี้หมายถึงความทุกข์ที่เป็นทุกข์ในอริยสัจสี่ ซึ่งสัมพันธ์กับทุกข์ในไตรลักษณ์ คือสภาวะที่มิอาจทนอยู่โดยตัวมันเองได้ สภาวะที่บีบคั้นและสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นแก่ผู้ที่ยึดถือ เมื่อไม่ยึดถือมันก็ไม่สามารถจะบีบคั้นผู้นั้นให้เป็นทุกข์ได้ การปฏิบัติธรรมในความหมายนี้เน้นไปที่การภาวนา โดยเฉพาะวิปัสสนากรรมฐานเพื่อให้เข้าถึงความจริงของกายและใจซึ่งไม่ได้แยกจากความจริงของสรรพสิ่งรอบตัวเรา ปฏิบัติธรรมในความหมายนี้คนเข้าใจกันน้อย และปฏิบัติกันน้อยแต่เป็นสิ่งสำคัญมาก

ชาวพุทธเราต้องเริ่มต้นจากการปฏิบัติตามทำนองคลองธรรมซึ่งเป็นเรื่องโลกียะคือเมื่อทำดีก็ได้ดี ได้รับคำชื่นชมสรรเสริญ มีชีวิตที่ผาสุก ไม่มีศัตรู มีแต่มิตร เพราะทำความดีมีคุณธรรม แต่แค่นั้นไม่พอ ก็ต้องก้าวมาสู่การปฏิบัติธรรมในความหมายที่สอง คือการปฏิบัติให้เข้าถึงความจริง ซึ่งจะทำให้จิตเข้าถึงภาวะที่เป็นโลกุตระ คือไม่หวั่นไหวไปกับคำชื่นชมสรรเสริญหรือลาภสักการะที่เกิดขึ้น รวมทั้งไม่ติดในความดีที่ทำ คือทำดีแต่คนไม่เห็น ก็ไม่ทุกข์ เรียกว่าเหนือบุญ เหนือบาปก็ได้ การปฏิบัติธรรมในความหมายที่เป็นการเข้าถึงสัจธรรมนี้ต้องอาศัยการดูหรือเห็นความจริง

ความจริงไม่ใช่เรื่องที่ต้องคิดเอาหรือว่าฟังเขาเล่า แต่ต้องเห็นเอง จะเห็นได้อย่างไร ก็เห็นจากการที่เรามาเจริญสติ ดูกายและใจ เห็นกายอย่างที่มันเป็น เห็นใจอย่างที่มันเป็น ตอนที่ยังไม่เห็นอย่างที่มันเป็นก็คิดว่า กายนี้เป็นเราเป็นของเรา คิดว่าจิตนี้เป็นเราเป็นของเรา เวลาทำอะไรก็จะมีตัวตน หรือตัวกู ตัวฉัน ขึ้นมาเป็นเจ้าของหรือผู้กระทำนั้น เช่นเวลาเดินก็มีความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเดิน เวลาคิดก็มีความสำคัญมั่นหมายว่าฉันคิด อันนี้เรียกว่าไม่ได้เห็นอย่างที่เป็น คือยังมีการสร้างภาพตัวตนขึ้นมาเป็นเจ้าของการกระทำหรือผู้กระทำนั้น แต่ทันทีที่เดินอย่างมีสติ นั่นไม่ใช่เราเดิน แต่จะเห็นว่าที่เดินนี้คือรูป คือกาย เมื่อคิดและมีสติเห็นความคิด ก็จะเห็นต่อไปว่าที่คิดนั้นไม่ใช่เราคิดแต่เป็นนามคิด หรือเป็นการกระทำของนาม ไม่มีตัวเราหรือไม่มีการปรุงตัวเราขึ้นมาเป็นผู้เดินผู้คิด

การเจริญสติจะช่วยทำให้เราเห็นความจริงอันนี้ แต่ก่อนเวลาทำอะไรก็รู้สึกว่าฉันทำ ฉันทำตลอดเวลา แต่พอมีสติ มันก็กระเทาะความเป็นตัวเราออกไป เห็นเป็นสองคือรูปกับนาม หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณท่านใช้คำว่า “ถลุง” ปกติคำว่าถลุงเราใช้กับแร่ ตอนใหม่ๆ แร่มันเป็นก้อน แต่พอถลุงมันก็จะแยกเป็นขี้แร่ เป็นเหล็ก เป็นดีบุก เป็นทอง มันแยกออกมาเป็นส่วนๆ ให้เห็น ไม่ใช่เป็นดุ้นเป็นก้อนหรือเห็นคลุมๆ อย่างทีแรก

การเจริญสติทำให้จิตของเราเห็นทะลุตัวตนหรือภาพตัวตนที่สร้างขึ้น จนกระทั่งเห็นความจริงที่มีอยู่แล้วแต่ดั้งเดิมคือ กายกับใจ รูปกับนาม อันนี้คือเบื้องต้นของการเห็นความจริง ซึ่งถ้าเราเห็นความจริงก็จะทำให้หลุดพ้นจากภาพตัวตนที่สร้างขึ้น ตัวตนไม่ใช่สิ่งที่มีจริง แต่จิตปรุงแต่งขึ้นโดยไม่รู้ตัว แล้วก็เลยเห็นมันคลุมๆ ราวกับเป็นเจ้าของการกระทำต่างๆ อันนี้เรียกว่าอวิชชาหรือความหลง เป็นเพราะไม่มีสติ สติเป็นกุญแจไขไปสู่ความจริง เป็นกุญแจดอกแรกที่ไขให้เราเห็นความจริงของรูปกับนาม

ต่อไปจะเห็นว่ารูปก็ดี นามก็ดีล้วนไม่เที่ยง มันแปรเปลี่ยนเป็นนิจ และมันก็อยู่ในภาวะที่บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา ตัวมันเองถูกบีบคั้นด้วย แล้วบีบคั้นผู้ที่ยึดถือมันอีกที กายนี้ถูกบีบคั้นหรือเต็มไปด้วยทุกข์ นั่งอยู่เฉยๆ สักพักเราก็จะรู้สึกเมื่อยจนต้องขยับ จากนั่งหลังตรงก็มาพิงเสา ตอนพิงข้างฝาก็คิดว่าสบายแล้ว แต่นั่งในท่านั้นไม่ถึงชั่วโมงก็จะรู้สึกเมื่อย คราวนี้ก็อาจจะเอนลงนอน นอนแล้วคิดว่าจะสบาย แต่พอนอนไปซัก ๗ – ๘ ชั่วโมง หรืออาจไม่ถึงด้วยซ้ำก็จะรู้สึกเมื่อยต้องขยับ ขยับเพราะอะไร เพราะมันมีทุกข์แฝงอยู่ มันถูกบีบคั้นด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ภายใน คนเราเวลานอนก็ขยับเป็นระยะ ๆ จะรู้ตัวหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง

เห็นรูปอย่างไร ก็เห็นนามอย่างนั้น คือเห็นว่ามันแปรเปลี่ยนอยู่เป็นนิจ เมื่อเห็นแล้วก็เกิดปัญญา เมื่อมีปัญญาถึงจุดหนึ่งก็ละหรือวาง ไม่ยึดติดถือมั่น หรือไม่แบกต่อไป นี่คือความหมายว่าเห็นความจริง เมื่อเห็นความจริงแล้วก็จะปล่อยวางได้ เพราะฉะนั้นการเห็นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราต้องฝึกเป็นผู้ดู ผู้เห็นอย่างสม่ำเสมอ ทีแรกเห็นด้วยสติ ต่อมาก็จะเห็นด้วยปัญญา

การที่เรามาเจริญสติ มาทำกรรมฐาน มาฝึกเป็นผู้เห็น ครูบาอาจารย์บางท่านเปรียบเหมือนเราดูละครโรงเล็ก มันอยู่ในใจของเรา ใจของเราเป็นเวทีละคร ที่มีพระเอก ผู้ร้าย นางเอกต่างผลัดเปลี่ยนเวียนกันมาแสดงบทบาท เราก็แค่ดูเฉย ๆ แล้วก็เห็นว่ามันไม่มีตัวละครตัวไหนที่เที่ยงเลย ต่างผลัดกันมาแล้วก็ผลัดกันไป และที่จริงตัวละครเหล่านี้ล้วนเป็นสมมติทั้งสิ้น เหมือนกับนักแสดงพอลงจากเวที ก็ทิ้งบทที่แสดง เราฝึกเป็นผู้ดูโดยไม่มีปฏิกิริยาอะไร แต่ก่อนหน้านี้เราไม่ได้เป็นผู้ดู เราเข้าไปเล่น เสมือนเป็นตัวละครนั้นด้วย หรือไม่ก็อินไปกับตัวละคร ดูก็ดูไม่เป็น กลับไปอินกับตัวละคร เศร้าเสียใจกับนางเอกพระเอก ไปโกรธแค้นตัวอิจฉา

ทีนี้เรามาฝึกเป็นผู้ดู ดูโดยไม่ตัดสิน หรือไม่มีปฏิกิริยากับสิ่งที่เห็น มีคนเปรียบไว้ดีว่า การดำเนินชีวิตเหมือนกับการดูกระแสน้ำไหลผ่าน จะเป็นแม่น้ำหรือลำคลองก็แล้วแต่บางครั้งก็มีหมาเน่า สวะ และจอกแหนลอยมา เราเห็นมันผ่านมาแล้วก็ผ่านไป บางครั้งก็เห็นเรือ ลำเล็ก ลำใหญ่ ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เห็นคนที่อยู่บนเรือ มีทั้งสวย มีทั้งน่าเกลียด มาแล้วก็ผ่านไป การมองชีวิตแบบนี้มันทำให้จิตใจไม่เป็นทุกข์ไปกับสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต แต่ก่อนไม่ใช่แค่เห็นเฉยๆ แต่ไปคว้าด้วย คือคว้าหรือฉวยด้วยใจ บางทีก็ไปคว้าหมาเน่ามากอดไว้ ก็เลยรู้สึกเหม็นเป็นทุกข์ บางทีเห็นห่วงยางสวย ก็อยากจะคว้าเอาไว้ แต่พอลงไปคว้าก็เปียกปอน

แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นผู้ดู เห็นสิ่งต่างๆ มาแล้วก็ไป ก็รู้สึกเฉย ๆ ไม่เดือดร้อนหรือเป็นทุกข์ แต่คนส่วนใหญ่ไม่เป็นอย่างนั้น พยายามยึดเอาไว้ ให้มันเป็นของเราบ้าง หรือพยายามให้มันอยู่กับที่ เช่นเห็นเรือลำใหญ่ผ่านมา ก็พยายามคว้าเชือกหรือดึงรั้งไว้ไม่ให้มันไหลไปแต่ก็ดึงไม่ได้ ซ้ำกลับถูกมันลากยาวจนสำลักน้ำ

ชีวิตของผู้ที่ไม่ได้มีการศึกษา ไม่ได้มีการปฏิบัติธรรมก็เป็นทำนองนี้ คือพยายามจะยึดยื้อสิ่งที่แปรเปลี่ยนเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาให้อยู่กับที่ เราเห็นสิ่งใดที่ชอบก็อยากครอบครอง และอยากยึดไว้ ให้มันอยู่กับที่ โดยไม่เข้าใจว่าความจริงนั้นเป็นกระแสที่ไหลเลื่อนตลอดเวลา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีอยู่ในรูปของกระแส แต่เป็นเพราะความหลง จึงคิดว่ามันเป็นดุ้นเป็นก้อนที่อยู่นิ่ง เป็นเอกเทศ ทั้ง ๆ ที่ทุกสิ่งทุกอย่างมีสภาวะไม่ต่างจากกระแสน้ำที่แปรเปลี่ยนอยู่เป็นนิจ

ชีวิตของคนเราก็เช่นเดียวกัน โลกรอบตัวของเราก็เช่นเดียวกัน ไม่ต่างจากกระแสน้ำที่แปรเปลี่ยน ไหลเลื่อนอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถที่จะยึดให้อยู่นิ่ง ๆ ได้ แต่เป็นเพราะความไม่รู้ของเรา หรือเป็นเพราะความอยากที่ปรุงตัวตนให้เป็นเจ้าของอะไรต่ออะไรมากมายพยายามยึดสิ่งต่างๆ ให้อยู่นิ่ง ซึ่งไม่มีวันสำเร็จ แม้แต่ร่างกายของเรา เราพยายามยึดให้มันอยู่นิ่งก็ทำไม่ได้ เพราะมันต้องแก่ ต้องป่วย ต้องแปรเปลี่ยนไป คนที่เรารัก เราจะยึดให้เขาอยู่ยงคงกระพันก็ทำไม่ได้ เพราะว่าเขามาแล้วก็ต้องไป ชีวิตของเขาก็เลื่อนไหลไม่ต่างกับกระแสน้ำ

ถ้าเราไม่เห็นความจริงของกายและใจ หรือเห็นความจริงของสิ่งต่างๆ ที่เรียกว่าสังขาร ทั้งรูปธรรม และนามธรรมในลักษณะนี้ เราก็จะเป็นทุกข์เมื่อต้องเจอความจริงที่แปรเปลี่ยนเป็นนิจ ไม่ต่างจากการเอาตัวไปขวางกระแสน้ำที่เชี่ยว ถ้าเราเอาตัวไปขวางมันเราก็จะถูกน้ำพัดไป คนเราทุกข์เพราะความยึดมั่นในตัวตนก็เพราะเหตุนี้ เรามักจะสร้างตัวตนขึ้นมาด้วยความไม่รู้ ด้วยความหลง เต็มไปด้วยความอยาก เต็มไปด้วยความยึด เมื่อสร้างแล้วก็อยากและยึดให้มันคงที่ เราจึงปฏิเสธความจริง ขัดขวางความจริง ทวนกระแสความจริงตลอดเวลา เพราะพอยึดอะไรว่าเป็นตัวตน ก็จะนึกว่ามันเที่ยง พอเกิดความแปรเปลี่ยน เราก็เลยเป็นทุกข์

ทุกวันนี้คนเราทุกข์เพราะไม่รู้จักวางใจให้ถูกต้อง เราเอาใจของเราขวางความจริง ขวางความจริงก็ไม่ต่างจากขวางกระแสน้ำ สาเหตุที่เกิดน้ำท่วมใหญ่คราวนี้จนก่อให้เกิดความเสียหายมากมายส่วนหนึ่งก็เพราะว่าเราสร้างบ้านสร้างถนนขวางกระแสน้ำ ถ้าไม่ถูกน้ำพัดพาไป น้ำก็ท่วมเอ่อและทำลายทรัพย์สมบัติของเราอย่างช้าๆ คนสมัยก่อนเวลาสร้างบ้านเขาจะไม่ขวางกระแสน้ำ หรือไม่ก็ยกพื้นขึ้นสูง น้ำมาแล้วก็ไป เขาเรียกว่าน้ำหลาก ไม่มีคำว่าน้ำท่วม คนสมัยก่อนไม่ค่อยรู้จักคำว่าน้ำท่วม รู้จักแต่คำว่าน้ำหลาก คือมาแล้วก็ไป ไม่มีการสร้างบ้านขวางกระแสน้ำ อีกทั้งยังพยายามช่วยให้น้ำระบายลงทะเลได้เร็ว ๆ เช่นขุดคลอง แต่เดี๋ยวนี้นอกจากจะสร้างบ้านแปงเมืองขวางน้ำ แล้วยังถมคลองอีก เรียกว่าขวางทางน้ำเต็มที่ ก็เลยเสียหายกันมาก

ฉันใดก็ฉันนั้น สาเหตุที่คนเรามีความทุกข์ถึงแม้น้ำไม่ท่วมก็ตาม ก็เพราะเราเอาใจขวางกระแสความจริงที่แปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาและเจือไปด้วยทุกข์ ในความเป็นจริงไม่มีอะไรที่เป็นตัวตน แต่เราก็พยายามนึก คิด และคาดหวังว่ามันมีตัวมีตน เจออะไรก็เห็นมันเป็นตัวตน เริ่มตั้งแต่ร่างกายของเรา จิตใจของเรา ทรัพย์สมบัติของเรา คนรักของเรา เราก็เห็นเป็นตัวเป็นตน ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วมันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่มีตัวตนโดยเอกเทศ แต่เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยเหล่านี้ก็ไม่เที่ยง มาแล้วก็ไป เหมือนกระแสน้ำ อย่างเทียนที่กำลังส่องสว่างเล่มนี้เราเห็นไหมว่ามีความแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เทียนเมื่อนาทีที่ผ่านมากับนาทีนี้ไม่ใช่เทียนเล่มเดียวกัน ถ้าเราคิดว่าเทียนนี้มีตัวตนที่ถาวร แสดงว่าเราไม่เห็นความจริงที่แสดงตัวต่อหน้าเรา นั่นเป็นเพราะเราอยากจะให้มันคงที่ ฉะนั้นการที่เราเห็นความจริงด้วยใจที่เป็นกลาง มองสิ่งต่างๆด้วยใจที่เป็นกลาง ก็จะเห็นความจริงได้ในที่สุด และความจริงที่ลึกซึ้งที่สุดก็คือไม่มีตัวตนที่เป็นอิสระหรือเป็นเอกเทศ

เรื่องนี้โยงไปถึงการปฏิบัติธรรมในความหมายแรก ปฏิบัติธรรมในความหมายแรกคือ ปฏิบัติตามทำนองคลองธรรม คนที่ปฏิบัติธรรมในความหมายนี้ยังเชื่อว่ามีตัวตนอยู่ ตนนั้นเป็นที่พึ่งแห่งตน การปฏิบัติธรรมคือการขัดเกลาตัวตนให้ประณีตมากขึ้น ถ้าตัวตนมันใหญ่โตหรือเห็นแก่ตัว ก็ทำให้ตัวตนนั้นเล็กลง เห็นแก่ส่วนรวมมากขึ้น ส่วนการปฏิบัติธรรมในความหมายที่สอง ก็คือการไม่เห็นตัวตน หรือเห็นความจริงว่าไม่มีตัวตน อันนี้เป็นความแตกต่างอย่างสำคัญระหว่างการปฏิบัติธรรมในความหมายแรกและปฏิบัติธรรมในความหมายที่สอง

ปฏิบัติธรรมในความหมายแรก เมื่อทำดีก็เชื่อว่ามีตัวตนที่รับผลแห่งความดี อีกทั้งยังทำให้หมุนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ เพราะยังมีเชื้อหรือเหตุปัจจัยให้ไปเกิดอยู่ นั่นคือความหลง อวิชชาหรือกิเลส ส่วนการปฏิบัติธรรมในความหมายที่สองคือการปฏิบัติหรือฝึกจิตเพื่อเห็นความจริงว่าไม่มีตัวตน เมื่อเห็นความจริงดังกล่าวแจ่มชัด ก็ปล่อยวาง ไม่มีความยึดอยากใด ๆ คือสิ้นกิเลส จึงหลุดพ้นจากวัฏสงสารได้

พวกเราคงรู้จักท่านเว่ยหลาง ท่านเป็นสังฆปริณายกองค์ที่ 6 ของนิกายฌานหรือเซนของจีน ท่านเป็นคนที่ไม่มีการศึกษาก็ว่าได้ เป็นเด็กผ่าฟืน แต่ก็บรรลุธรรมได้เร็ว โดยไม่เคยปฏิบัติธรรมในรูปแบบอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่ท่านมีสติในการทำงานมาก เมื่อผ่าฟืนก็มีสติอยู่กับการผ่าฟืนจนกระทั่งจิตเป็นหนึ่ง วันหนึ่งขณะที่เอาฟืนไปส่งในตลาด ได้ยินชายคนหนึ่งสวดมนต์ที่ชื่อว่าวัชรสูตร มีข้อความตอนหนึ่งว่า “พึงทำจิตมิให้ยึดมั่นในทุกสิ่ง” พอได้ยินตรงนี้จิตของท่านก็สว่างโพลง บรรลุธรรมทันที คล้ายๆ กับพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะตอนที่ยังเป็นฆราวาสชื่ออุปติสสะและโกลิตะ พอได้ฟังพระอัสสชิพูดเพียงแค่ประโยคเดียวว่า “ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาทรงแสดงเหตุและความดับแห่งธรรมนั้น” ก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันทันที

ท่านเว่ยหลางต่อมาได้มาทำงานในวัดซึ่งเป็นสำนักใหญ่ของนิกายฌาน คราวหนึ่งท่านเห็นโศลกของพระผู้ใหญ่อันดับสองของวัด ท่านเขียนว่า “กายนี้เหมือนต้นโพธิ์ จิตนี้เหมือนกระจก ต้องหมั่นขัดอยู่เป็นนิจเพื่อไม่ให้ฝุ่นจับะ” ท่านเว่ยหลางที่จริงอ่านไม่ออก แต่ให้คนอ่านให้ฟัง พอได้ยินก็รู้ว่าไม่ถูก ท่านเลยให้คนช่วยเขียนกลอนอีกแผ่นหนึ่งไปปะคู่กันบอกว่า “ต้นโพธิ์นั้นหามีไม่ กระจกนั้นเดิมแท้ก็ไม่มีอยู่ เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่า ฝุ่นจะจับกับอะไร”

อันนี้เป็นโศลกที่มีความหมายลึกซึ้งมาก คือท่านพูดความจริงขั้นปรมัตถ์เลยว่า ทุกสิ่งนั้นว่างเปล่าจากตัวตน สิ่งที่เรียกว่าตัวฉันแท้จริงก็หามีไม่ ผิดกับโศลกอันแรกที่มองว่ายังมีตัวตนอยู่ เมื่อมีตัวตน สิ่งที่ต้องทำก็คือขัดเกลาตัวตนนั้นให้ประณีต เหมือนกระจกที่ต้องขัดเสมอเพื่อให้ใสไร้ฝุ่น แต่ท่านเว่ยหลางเห็นว่าที่จริงแล้ว ไม่มีตัวตนตั้งแต่แรก เมื่อเป็นเช่นนั้น ความทุกข์จะเกาะกับอะไร พูดอีกอย่างคือ เมื่อเห็นความจริงว่าไม่มีตัวกูของกู จะมีผู้ทุกข์ได้อย่างไร

ตราบใดที่ยังคิดว่ามีผู้ทุกข์ ก็ต้องพยายามสร้างบุญสร้างกุศลเพื่อให้เกิดความสุขความเจริญ นี่เป็นจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติธรรมในความหมายแรก คือทำดีหรือปฏิบัติตามทำนองคลองธรรมเพื่อให้เกิดความสุข เพื่อให้เกิดบุญกุศล ชีวิตจะได้เจริญงอกงามทั้งในชาตินี้ชาติหน้า ทั้งในทางโลกทางธรรม แต่ปฏิบัติธรรมในความหมายที่สองคือการฝึกฝนจนเห็นความจริง ว่าไม่มีตัวตน ไม่มีอะไรที่ยึดถือได้ เป็นเรื่องที่สูงกว่า ตรงนี้เองที่พระพุทธเจ้าตรัสเป็นภาษิตอย่างที่เราสวดเมื่อครู่ ว่า “พระพุทธเจ้าทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ล้วนเคารพพระธรรม” มองในระดับพื้นๆ ก็คือเคารพคุณธรรมความดี แต่ความหมายที่ลึกกว่านั้นก็คือเคารพสัจธรรมที่แสดงตัวอยู่ตลอดเวลา และสัจธรรมนี้มีลักษณะสามประการเรียกว่าไตรลักษณ์

ฉะนั้นที่เราสวดเมื่อสักครู่มีตอนหนึ่งว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” คนทั่วไปเข้าใจว่าประพฤติธรรม ก็คือทำคุณงามความดี สร้างบุญสร้างกุศล เมื่อทำเช่นนั้น ธรรมก็จะคุ้มครองคือทำให้ประสบความสุขความเจริญ พ้นจากภัยอันตรายทั้งปวง ทำให้มีชีวิตยืนยาว ปลอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ อันนี้คือความหมายที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ ซึ่งไม่ได้ผิดอะไร แต่ถ้าเข้าใจถึงขั้นว่าประพฤติธรรมแล้วจะไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่ต้องพูดถึงไม่ตาย อย่างนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด

มีหลายคนเมื่อพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งก็ตัดพ้อว่า ทำไมถึงต้องเป็นฉัน ฉันอุตส่าห์ทำความดี สร้างบุญสร้างกุศล ทำไมฉันต้องเป็นมะเร็ง อันนี้เขาเข้าใจว่าถ้าทำความดี ประพฤติตามทำนองคลองธรรมแล้วจะไม่เจ็บ ไม่ป่วย หรือว่าจะไม่ประสบความพลัดพรากสูญเสีย เข้าใจอย่างนี้ไม่ถูก ความดีหรือบุญกุศลนั้นมีอานิสงส์แน่ แต่ไม่ใช่ว่าจะทำให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ ไม่ว่า จะเป็นความแก่ ความเจ็บ ความพลัดพรากสูญเสียก็ตาม แต่ถ้าหากประพฤติธรรมในความหมายที่สองคือประพฤติธรรมจนกระทั่งเข้าถึงสัจธรรมความจริง อย่างนี้แหละจะช่วยให้ไม่ทุกข์อย่างแท้จริง

ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ในความหมายที่ลึกซึ้งก็คือ เมื่อประพฤติธรรมจนเข้าถึงสัจธรรม มีปัญญาแลเห็นว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปัญญาเช่นนี้จะทำให้ใจไม่ทุกข์ แม้ว่าจะประสบความสูญเสียก็ตาม เพราะไม่ได้ยึดติดถือมั่นกับทรัพย์สินเงินทองตั้งแต่แรก ช่วงที่เกิดน้ำท่วมใหญ่มีหลายคนตัดพ้อว่า ฉันทำความดีมาก็มาก สร้างบุญสร้างกุศลมาก็เยอะ ทำไมน้ำท่วมบ้านฉัน ขณะที่บางคนน้ำไม่ท่วม ก็พูดว่าเป็นเพราะอานิสงส์แห่งบุญกุศลที่ได้ทำไว้ ฉันทำความดี สร้างบุญสร้างกุศลมามาก เห็นไหมน้ำเลยไม่ท่วมบ้านฉัน คนที่คิดแบบนี้ก็มี อันที่จริงคิดแบบนี้ก็ดีเหมือนกัน แต่อย่าไปคิดว่าถ้าหากว่าน้ำท่วมบ้านแล้วแสดงว่าฉันไม่ได้ทำบุญเท่าที่ควร หรือแสดงว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี

สมัยที่หลวงปู่ดุลย์ อตุโล ยังมีชีวิตอยู่ เกิดเหตุไฟไหม้ใหญ่ที่จังหวัดสุรินทร์ หลายคนถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว มีญาติโยมหลายคนมากราบท่าน แล้วก็ตัดพ้อว่า ตัวเองอุตส่าห์ ทำบุญทำกุศล ถวายสังฆทาน ทอดผ้าป่าไม่ขาด ปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ทำไมธรรมะไม่ช่วยคุ้มครองเขาให้พ้นจากไฟไหม้ หลวงปู่ดุลย์อธิบายว่า “ไฟมันทำตามหน้าที่ของมัน ธรรมะไม่ได้ช่วยใครในลักษณะนั้น หมายความว่า ความอันตรธาน ความวิบัติ ความเสื่อมสลาย ความพลัดพรากจากกัน สิ่งเหล่านี้มันมีประจำโลกอยู่แล้ว ผู้มีธรรมะ ผู้ปฏิบัติธรรมะ เมื่อประสบกับภาวะเช่นนั้นแล้ว จะวางใจอย่างไรจึงไม่ทุกข์ อย่างนี้ต่างหาก ไม่ใช่ธรรมะช่วยไม่ให้แก่ ไม่ให้ตาย ไม่ให้หิว ไม่ให้ไฟไหม้ ไม่ใช่อย่างนั้น”

พุทธภาษิตที่ว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” ความหมายที่แท้จริงก็คือ เมื่อมีปัญญาเข้าใจความจริง ปัญญานั้นก็จะรักษาใจไม่ให้ทุกข์ ถึงแม้จะสูญเสียทรัพย์สมบัติแต่ใจไม่ทุกข์ ถึงแม้ร่างกายเจ็บป่วย แต่ใจไม่ทุกข์ นี้คืออานิสงส์สำคัญที่สุดของของธรรมะที่เกิดจากการปฏิบัติในความหมายที่สองคือมีปัญญาจนเห็นความจริง

เมื่อเห็นความจริงของชีวิตและโลก ก็ไม่ยึดติดถือมั่น พร้อมยอมรับความแปรเปลี่ยนได้ ตระหนักดีว่าชีวิตเหมือนกระแสน้ำ ทุกอย่างที่เกิดขึ้น มาแล้วก็ผ่านเลยไป ไม่สามารถที่จะยึดให้มันอยู่นิ่ง หรือให้เป็นของเราตามใจเราได้ อันนี้คือสิ่งที่เราควรทำความเข้าใจถ้าเรามั่นใจในอานุภาพแห่งธรรม โดยเฉพาะในความหมายที่สอง คือการเห็นแจ้งในสัจธรรม ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่ทำให้ทุกข์ได้ แต่หากยังไม่เข้าใจตรงนี้ แม้จะทำบุญให้ทานรักษาศีลมากมายเพียงใด ก็หลีกหนีความทุกข์ใจไม่พ้น เพราะต้องเจอความแปรเปลี่ยน ความพลัดพรากสูญเสียเป็นธรรมดา

พระพุทธเจ้าเคยตรัสกับนางกีสาโคตมี เธอเสียลูกน้อยอายุ ๓ ขวบแต่ทำใจไม่ได้ เอาแต่ร้องเรียกให้คนช่วยปลุกลูกของเธอให้ฟื้นขึ้นมา แต่ไม่มีใครช่วยได้ ใครๆ ก็บอกว่าลูกเธอตายแล้ว แต่เธอไม่ยอมรับความจริง พอมีคนแนะนำให้ไปหาพระพุทธเจ้า เธอก็รีบไปหาพระองค์ทันที พระพุทธองค์รู้ว่าสภาพจิตใจของนางกีสาโคตมี ไม่มีทางที่จะเข้าใจความจริงหรือเปิดรับธรรมะ จึงบอกเธอพระองค์ช่วยได้ แต่เธอต้องไปหาเมล็ดผักกาดจากบ้านที่ไม่มีคนตาย นางกีสาโคตมีดีใจ รีบไปหาเมล็ดผักกาด ทุกบ้านมีเมล็ดผักกาดแต่ก็มีคนตายทั้งนั้น บ้านแล้วบ้านเล่าก็มีคนตาย ในที่สุดนางก็ยอมรับความจริงได้ว่าความพลัดพรากสูญเสียนั้นเกิดขึ้นกับทุกคนไม่เว้นแม้แต่นาง สุดท้ายก็ยอมรับได้ว่าลูกตายแล้ว จึงเอาไปไว้ที่ป่าช้า แล้วก็มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ตอนนี้แหละที่พระองค์เห็นว่านางพร้อมรับฟังธรรมแล้ว จึงตรัสว่า “น้ำป่าย่อมพัดพาชีวิตของผู้ที่หลับใหลฉันใด มัจจุราชย่อมพัดพาผู้ที่ยึดติดในลูกและทรัพย์สมบัติฉันนั้น” พอพระองค์ตรัสจบ นางก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน

อันที่จริงไม่ใช่มัจจุราชหรือความตายเท่านั้นที่เปรียบได้ดังน้ำป่าที่ไหลเชี่ยว ความแก่ ความเจ็บ ความพลัดพรากสูญเสียก็เหมือนกัน มันคือกระแสของความจริงที่ไม่มีใครหนีพ้น หน้าที่ของเราก็คือ ไม่เอาตัวไปขวางกระแสน้ำ หรือไม่สร้างตัวตนขึ้นมาขวางกระแสแห่งความจริง แต่เข้าใจธรรมชาติของกระแสแห่งความจริง และยอมให้มันผ่านเลยไปโดยที่ใจไม่ทุกข์ด้วย

อันนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายพวกเราว่า ทำอย่างไรเราถึงจะปฏิบัติธรรมจนกระทั่งสามารถเห็นความจริงอย่างนี้ได้ และสามารถวางใจให้สอดคล้องกับกระแสแห่งความจริง ไม่ใช่ไปขัดขวางเอาไว้ อย่างที่หลวงพ่อชา สุภัทโท ว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรา มันถูกทั้งนั้น แต่ที่เราทุกข์เพราะวางใจผิด วางใจผิดคือไปขวางกระแสความจริง หรือไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น นี้แหละคือที่มาของความทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากทุกข์ก็ต้องเปิดใจยอมรับความจริงหรือปฏิบัติจนเห็นความจริงให้ได้
 
 




หน้าที่ :: 58   59   60   61   62   63   64  


Copyright © 2012 Neric-Club.Com All Rights Reserved