"ใครไม่เป็นครูคงไม่รู้หรอกว่าเด็กๆ วันนี้มีภาวะ "สมาธิสั้น" อย่างไรบ้าง ทั้งไม่นิ่ง ไม่ฟัง ไม่ตั้งใจ และไม่พร้อมเรียนรู้... กิจกรรมการเรียนรู้ไม่สามารถลงลึกในทักษะและความเข้าใจได้ตามความพึงประสงค์ ส่งผลให้การวัดประเมินคุณภาพอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงทั้งประเทศ ที่พอจะเอาตัวรอดได้ก็แต่เด็กๆ ที่มีระดับสติปัญญาดี ซึ่งก็รอดเฉพาะด้านวิชาการเท่านั้น ด้านทักษะชีวิต อารมณ์ สังคม การแก้ปัญหาทางจริยธรรม และความเป็นเหยื่อกระแสบริโภคนิยมหารอดไม่ และแม้เหตุปัจจัยเกี่ยวพันเหล่านี้จะมิได้สืบเนื่องจากเรื่องสมาธิสั้นอย่างเดียวก็ตาม เหตุปัจจัยจากสมาธิสั้นก็เป็น "สมุทัย" พื้นฐานที่เป็นอุปสรรคและปัญหาของการจัดการศึกษาในวันนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจะต้องตระหนักนำพา...จากประสบการณ์การใช้ชีวิตและสังเกตชีวิตคุณครูศิวกานท์ ปทุมสูตร ให้ข้อคิดไว้ว่าสิ่งที่จะช่วยบำบัดสมาธิได้ในระดับหนึ่ง คือ การทำงานศิลปะ เล่นดนตรี ร้องเพลง ท่องอาขยาน เขียนบทกวี สวดมนต์ ปฏิบัติธรรมสมาธิ หรือทำงานอะไรก็ได้ที่ทำให้จิต "ง่วน" จิต "งาม" และมีความสุขสงบนานๆ อย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ...
การบำบัดดังกล่าวต้องมีใครสักคนที่ยอมทุ่มเทชีวิตจิตใจและเวลาสำหรับเด็กๆ ที่ตนรัก ชวนกันทำ ชวนกันเพลิดเพลินในกิจกรรมเหล่านั้น (ศิวกานท์ ปทุมสูตร)
วันนี้ใครสักคนนั้นกำลังถักทอแผ้วถางผืนนากวี “ทุ่งสักอาศรม” ให้เป็นแปลงหว่านเพาะเมล็ดพันธุ์กวีที่อุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นในทุกแรงขับเคลื่อนแล้ว สำหรับปีนี้โรงเรียนกวีทุ่งสักอาศรมรับบุคคลตั้งแต่อายุ ๑๕ ปีขึ้นไป โดยไม่จำกัดอายุสูงสุด เพื่อให้การเรียนรู้ “อ่านคิดเขียนเรียนรู้ชีวิตอย่างมีสันติสุข” ให้ที่พักอาศัยและอาหารการกินอยู่ตลอดหลักสูตร รับสมัครเยาวชนผู้สนใจเข้าร่วมเรียนรู้ กินอยู่ และใช้ชีวิตในโรงเรียน ๑๒ คน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
|