Neric-Club.Com
|
|
|
นิตยสารออนไลน์
|
|
|
มุมเบ็ดเตล็ด
|
|
|
|
|
|
|
ต้นไม้ใบหญ้า |
|
|
จัดสวนขนาดย่อม
การจัดสวนขนาดย่อม
สวนขนาดย่อมที่เรารู้จักและคุ้นเคยมีหลากหลายสไตล์ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดต้นไม้ในถาด โดยกำหนดทัศนียภาพหลากรูปแบบ ตามแต่จินตนาการ อาทิ ภูเขา ทะเลชายฝั่ง บ้างก็เน้นส่วนประกอบประเภทหิน ดิน ทราย และต้นไม้เป็นหลัก หรือจัดแบบไม้เกาะหิน ไม้ตกกระถางและแจกัน การจัดสวนแบบย่อส่วนนี้ อาศัยองค์ประกอบเพียงเล็กน้อย นั่นคือ ความคิดสร้างสรรค์ และเวลาว่าง สำหรับผู้ที่อยากลงมือตกแต่งสวนขนาดจิ๋วให้สวยและได้น้ำหนัก สัดส่วนที่ดีแล้ว ต้องค่อยเป็นค่อยไป อย่าใจร้อน ควรจะฝึกฝนการใช้สีสัน การจัดแต่งรูปทรง การจัดกลุ่มต้นไม้ให้ผสมผสานกลมกลืน หรือขัดแย้งกันอย่างพอเหมาะ ศึกษาธรรมชาติของต้นไม้ การปลูกและความละเอียดอ่อนในการดูแล รวมถึงการเลือกขนาด รูปทรง และสีสันของภาชนะ ให้เหมาะกับพันธุ์ไม้ และรูปแบบสวนที่กำหนดไว้ ที่สำคัญคือ ไม่ควรมีจุดเด่นมากเกินไปในสวน เพราะจะทำให้ดูเลอะเทอะ อาจทำให้ความสวยงามลดลงได้ สำหรับผู้ที่เชี่ยวชาญการจัดสวนขนาดย่อมแล้ว การจัดสวน จริงก็ไม่ใช่เรื่องที่ยาก เนื่องจากคุ้นเคยกับการออกแบบ และมองภาพรวมของสวนออกแล้วนั่นเอง
รูปแบบของสวนขนาดย่อม
1. สวนที่มีลักษณะคล้ายกับแจกัน
การจัดสวนลักษณะนี้มี 2 ลักษณะคือ สวนไม้ดอก และสวนไม้ใบ สวนไม้ดอกจะนิยมการจัดเป็นกลุ่มไม้ดอกหรือ กล้วยไม้ ในภาชนะที่แตกต่างกันไป ตามสไตล์ อาทิเช่น กระถาง เครื่องเคลือบ เครื่องจักสาน โลหะ รูปทรงต่างๆ ตามแต่จุดมุ่งหมายในการจัดทำ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการจัดสวนประเภทนี้ นิยมจัดเพื่อเป็นของขวัญ และตกแต่งสถานที่ เนื่องจากมีความแข็งแรง และทนทานกว่าการจัดเป็นช่อดอกไม้ อีกทั้งสามารถย้ายภาชนะได้เมื่อพันธุ์ไม้ เจริญเติบโตขึ้น ส่วนความยาวนานของอายุการใช้งานนั้นขึ้นอยู่กับประเภทพันธุ์ไม้ ซึ่งไม้ดอกล้มลุกย่อมมีอายุสั้นกว่าไม้ใบ เป็นต้น
ลักษณะการจัดสวน ควรจัดพันธุ์ไม้ที่มีอุปนิสัยเดียวกัน หรือคล้ายกันอยู่ด้วยกัน เพื่อความสะดวกในการดูแล ลักษณะนิสัยของพันธุ์ไม้แบ่งออกเป็นกลุ่มได้ดังนี้ คือ ไม้ที่ชอบแสงรำไร ไม้น้ำ ไม้ที่ชอบแสงแดด ไม้อวบน้ำ และกล้วยไม้ สำหรับผู้ที่ชอบความแตกต่างอาจลองปลูกพันธุ์ไม้ที่มีอุปนิสัยแตกต่างกันไว้ด้วยกันก็ได้ โดยการแบ่งสัดส่วนดินปลูก เครื่องปลูก การให้น้ำ และควรหมั่นดูแลอย่างสม่ำเสมอ ไม่เช่นนั้นไม้อาจเสียทรงเสียความงามได้
2. สวนย่อส่วนจากจินตนาการหรือทิวทัศน์
2.1 สวนย่อส่วนทิวทัศน์ภูเขาโดยใช้ก้อนหินจริง หรือท่อนไม้ ลักษณะการจัดสวน อาจจงใจให้เห็นภาพภูเขาขนาดใหญ่ หรือแง่มุมของก้อนหินซึ่งมีดอกไม้ ต้นไม้ขนาดเล็กขึ้นแทรกอยู่ ภาพที่นำเสนออาจมีส่วนประกอบเป็นสิ่งก่อสร้างจำลอง เช่น สะพาน เรือ รวมถึงคนและสัตว์ชนิดต่างๆ หากต้องการปลูกต้นไม้ในกระถางแล้ว ควรเลือกกระถางที่ไม่ตื้นหรือลึกจนเกินไป ควรมีเนื้อที่ใส่ดินหรือ เครื่องปลูก หากเป็นสวนประเภท ต้นไม้เกาะหิน เกาะไม้ หรือไม้ถูกน้ำเซาะ เช่นต้นไม้จำพวกไทร อาจใช้ภาชนะลักษณะแบน บาง มีขอบยกขึ้นเล็กน้อยเพื่อหล่อเลี้ยงน้ำ เพื่อให้ภาพเกาะกลางน้ำ หรือท่อนไม้ลอยน้ำ การเลือกหินควรพิจารณา ขนาด สีสัน ทรวงทรง ลวดลายในเนื้อหิน มุมมองที่สะดุดตา สวยงาม และมีฐานที่มั่นคง ไม่เช่นนั้นอาจใช้ปูนยึดหินไว้กับถาด หรือหนุนให้มั่นคงด้วยหินก้อนเล็กๆ การจัดแต่งควรให้ขนาดหินเหมาะสมกับถาดที่ใช้ ไม่ควรให้ใหญ่โตจนดูอึดอัด หรือเล็กจนดูอ้างว้างขาดสมดุลย์
2.2 สวนย่อส่วนทิวทัศน์ทั่วไป
จัดเป็นสวนที่เปิดกว้างด้านความคิดสร้างสรรค์ ผู้จัดสามารถออกแบบตกแต่ง ได้หลากทิวทัศน์ หลายเรื่องราว อาทิ ภาพในจินตนิยาย ชีวิตชนบท ทิวทัศน์ในแหล่งท่องเที่ยวที่ชื่นชอบ รวมถึงการจัดสวนเพื่อแสดง เอกลักษณ์ของประเทศ หรือยุคสมัย ก็ได้เช่นกัน หัวใจสำคัญของสวนประเภทนี้อยู่ที่เรื่องราว และองค์ประกอบที่นำเสนอ ดังนั้นผู้จัดจึงต้องเอาใจใส่ในรายละเอียดของเนื้อหา วัสดุตกแต่ง รูปร่างของต้นไม้ และลักษณะ รูปร่าง สีสัน รวมถึงขนาดของภาชนะ ซึ่งจะสร้างความประทับใจให้กับผู้พบเห็น และผู้ที่ได้รับเป็นของขวัญ ได้เป็นอย่างดี
|
|
|