Neric-Club.Com
|
|
|
นิตยสารออนไลน์
|
|
|
มุมเบ็ดเตล็ด
|
|
|
|
|
|
|
สายลม แสงแดด |
|
|
| | เจ้าอ้าย..ที่สุดรัก..
คิดถึงมากกว่าทุกวัน แต่หาเวลามาคุยกับนายนานๆลำบากจริง ทำไมคนเราต้องทำอะไรวุ่นวายไปจนไม่มีเวลาว่างให้ตัวเองด้วยก็ไม่รู้สินะ ช่วงนี้ยังคงต้องรับคณะต่างๆทั้งใกล้-ไกลที่มาขอศึกษาดูตัว เอ้ย.ศึกษาดูงาน!! (วุ่ย..คิดได้งัย..)
เทศกาลต่างๆผ่านไปหลายเทศกาล เลี้ยงรับเลี้ยงส่งกันไม่เว้นแต่ละวัน เห็นออเดิฟขึ้นโต๊ะก็เตรียมอิ่มเลย ใจหายกับหลากหลายการลาจาก อะไรบางอย่างที่ทำให้ชั้นอยากนั่งนิ่งๆมองความเคลื่อนไหวตรงหน้าเงียบๆ.. เจ้าอ้าย..เวลาสุขมันผ่านไปทุกวัน แต่เราเหมือนคว้ามันไม่ไว้ได้หน่อยเดียวเอง หรือว่า..เห้อ..ย้ำวนเป็นยายแก่..(ไม่แก่นะ..แค่ห่ามๆ..)
อะไรทำให้ชั้นคิดถึงกุฏิแม่ชีในวัดเล็กๆสงบชานเมือง ? หรือเพราะงานเลี้ยงเกษียญครูครั้งล่าสุดที่เพิ่งผ่านไป เจ้าอ้าย..งานเลี้ยงนั้นกระตุกจิตวิญญานชั้นอีกครั้ง ท่ามกลางบรรยากาศอบอุ่น แต่ชั้นเหมือนหนาวใน มันเย็นเยือกๆ ไม่รู้ใครตามความคิดชั้นทันไหม.. นายตามความคิดชั้นทันมั้ย? กว่า 80 เปอร์เซนต์เป็นคุณครูที่สมัครใจเออรี่รีไทร์ !! การหลบเร้นออกนอกระบบก่อนเวลาอันควรนั่นมีหลายเหตุผลที่แตกต่าง ความคิดที่เคยบอกตัวเองว่าเหมือนตัดช่องน้อยแต่พอตัววันนี้เปลี่ยนไปแล้ว
เจ้าอ้าย..ชั้นไม่ได้พูดเล่น วันนี้ชั้นคิดจะเป็นไก่นอกสุ่ม... อะไรที่ทำให้ชั้นเปลี่ยนไป? สัมผัสลุ่มลึกของชั้นไม่ได้หลอกตัวเอง ภาครัฐกำลังหาวิธีบีบเค้นกำลังคนเพื่อหาที่ลงให้เด็กรุ่นใหม่.. คิดดีดีสิ..เราทั้งหมดทั้งมวลกำลังรุ่มร้อนไม่เป็นสุข..จริงไหม?.. สารพัดนโยบายประดังประเดลงมา ปลาใหญ่ยังกินปลาเล็กอยู่ทุกวัน เรามองเห็นผู้ใหญ่โกหกคำโตถี่ขึ้น..และหลากสถานการณ์
ชั้นมั่นใจว่าชั้นกำลังเหลียวหาที่ยืนที่มั่นคงอีกครั้ง ในเมื่อเราไม่สามารถเปลี่ยนระบบใดใดได้เอง บางทีชั้นต่างหากที่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง..
เจ้าอ้าย.. ชั้นมองเห็นนาซ่าขนของ-ขนคนขึ้นไปเตรียมสร้างโลกใหม่ ขณะที่เรายังงุ่มง่ามหาวิธีที่สุดของการเรียนรู้จากทฤษฎีของคนรุ่นเก่า เรายังต้องเรียนรู้ปรัชญาการศึกษาของคนกลุ่มเดิม เราจะยังใช้คำว่า "วิวัฒนาการ" จากรูปทรงเดิมไปอีกนานเท่านาน... บนฐานเดิมที่ไม่มีใครจะพลิกดูว่าใต้ฐานผุกร่อนจนไม่สามารถรับน้ำหนักได้แล้ว..
นายลองพิจารณาหลักทฤษฎีนี้อีกครั้งแล้วคิดแบบครูภาษาอังกฤษในโลกอาชีพ
แนวคิดทางปรัชญาแบ่งออกเป็นกลุ่มที่สำคัญ 3 กลุ่ม ได้แก่ ปรัชญากลุ่มสัจนิยม (Realism) กลุ่มจิตนิยม (Idealism) และกลุ่มปฏิบัตินิยม (Pragmatism)
ปรัชญากลุ่มแรก คือ กลุ่มสัจนิยมถือว่าวัตถุ (Matter) เป็นความจริงแท้สุดท้าย (Ultimate reality ) สรรพสิ่งมีอยู่ได้ด้วยตัวของมันเองและเป็นอิสระจากจิต(Mind)
ปรัชญากลุ่มที่สอง คือ กลุ่มจิตนิยมเชื่อว่าวิญญาณเป็น ความแท้จริงที่สุด เป็นความจริงมากกว่าร่างกาย (Physical) และ จิตใจ (Mental) เป็นความจริงแท้ยิ่งกว่าวัตถุ (Material)
ปรัชญากลุ่มที่สาม คือ กลุ่มปฏิบัตินิยมนั้นมีชื่อเรียกแตกต่างกันหลายชื่อ เช่น อุปกรณ์นิยม (Instrumentalism) ภารกิจนิยม (Functionalism) และประสบการณ์นิยม (Experimentalism)
ปรัชญากลุ่มปฏิบัตินิยมเชื่อว่ามนุษย์เป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่เสมอ มีความสนใจกับการสร้างสรรค์ และการตีความหมายจากประสบการณ์ที่ได้รับ และมนุษย์จะเจริญงอกงามก็ต่อเมื่อได้สัมพันธ์กับผู้อื่นหรือสิ่งอื่น ๆ มนุษย์ต้องเรียนรู้ในการใช้ชีวิตอยู่ในสังคม และตามความปรารถนาของตนเอง การจัดการศึกษาตามแนวคิดปรัชญากลุ่มประสบการณ์นิยม
ตามนิยามของเนลเลอร์ (Kneller.1971)กล่าวว่า ปรัชญาการศึกษาตามแนวคิดประสบการณ์นิยม เป็นแนวคิดที่เน้นประสบการณ์เป็นหลัก บุคคลเรียนรู้จากประสบการณ์และการปฏิบัติโดยใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ การเห็น ได้ฟังได้ดมกลิ่น ได้สัมผัส แตะต้อง และได้ลิ้มรส มีขั้นตอนในการสั่งสมประสบการณ์และความเข้าใจที่เกิดขึ้นจากการนำเอาความคิดไปประยุกต์ใช้กับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตรง
รัตนา ตันบุกเต็ก (2523 : 53–54) กล่าวว่า นักปรัชญากลุ่มปฏิบัติการนิยมนอกจากจะเน้นเรื่องประสบการณ์แล้ว ยังเน้นเรื่องการปฏิบัตินิยมคือ การจัดการศึกษาให้มีลักษณะที่ตั้งอยู่บนรากฐานของการปฏิบัติหรือกิจกรรม เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ตรงให้กับผู้เรียน โดยถือว่า “การศึกษาคือชีวิต” และ “การเรียนรู้คือการกระทำ” ลักษณะการจัดการเรียนการสอนฝึกให้ผู้เรียนรู้จักแก้ปัญหา และเกิดการเรียนรู้ในขณะที่นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาใช้และลงมือปฏิบัติจริง
หลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงปรัชญากลุ่มปฏิบัตินิยมในทฤษฎีการเรียนรู้ เห็นได้จากการให้คำจำกัดความของคำว่า“การเรียนรู้” ของนักการศึกษาดังต่อไปนี้ คือ แบลร์และคณะ(Blair,et al. 1962 : 103) กำหนดความหมายและอธิบายลักษณะสำคัญของการเรียนรู้ไว้ว่า การเรียนรู้ คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยอาศัยประสบการณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ย่อมทำให้บุคคลแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อสถานการณ์ครั้งต่อไปด้วยพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากครั้งก่อนคือสามารถทำได้รวดเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ความหมายของการเรียนรู้ดังกล่าวเป็นการให้ความหมายและอธิบายลักษณะสำคัญของการเรียนรู้ โดยเน้นความสำคัญของประสบการณ์ (Experience) ซึ่งหมายถึงผลที่เกิดจากากรทำปฏิกิริยาร่วมกัน (Interaction) ระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ โดยผลของการเรียนรู้ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตัวบุคคลหรือตัวผู้เรียน ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้และสามารถวัดได้อีกด้วย
กาเย่ (Gagne.1970 : 3-4) ให้ความหมายและอธิบายลักษณะสำคัญของการเรียนรู้ไว้ว่า การเรียนรู้คือการเปลี่ยนแปลงสมรรถภาพ หรือความสามารถของบุคคลอันเนื่องจากสถานการณ์ที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อช่วยให้เกิดการเรียนรู้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นย่อมจะคงอยู่หรือปรากฏให้เห็นได้นานพอสมควร และการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลของการเรียนรู้นั้นมีลักษณะผิดแผกแตกต่างไปจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากขบวนวิธีแห่งพัฒนาการและความเจริญงอกงาม การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้จะต้องมีการฝึกหัด หรือมีการกำหนดสถานการณ์ขึ้น เพื่อช่วยให้เกิดการเรียนรู้
ผลของการเรียนรู้เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมจะปรากฏให้เห็นเป็นระยะเวลานานหรือมีความคงทนพอสมควรและสามารถจำแนกออกเป็นส่วน ๆ ได้หลายด้าน เช่น การเปลี่ยนแปลงทางด้านทักษะหรือความสามารถด้านทัศนคติหรือความรู้สึกและด้านความรู้ความเข้าใจ นอกจากนี้ผลของการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นนั้น หมายถึงการเพิ่มพูนหรือการเปลี่ยนแปลงสมรรถภาพของบุคคลอันเนื่องมาจากการฝึกหัดหรือจากสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้จึงแตกต่างไปจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะการพัฒนาการหรือสภาวะทางด้านร่างกาย ซึ่งไม่ใช่ผลการเรียนรู้
จากความหมายและลักษณะสำคัญของการเรียนรู้ดังกล่าว สามารถสรุปได้ว่าการเรียนรู้เป็นการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมอันมีผลจากการฝึกฝน และประสบการณ์ที่ได้รับทั้งทางตรงและทางอ้อม การเรียนอาจเกิดขึ้นเองจากขบวนการทำงานของสมองมนุษย์เมื่อได้รับประสบการณ์ แต่มิใช่เกิดจากสัญชาตญาณ หรือวุฒิภาวะ หรือการเปลี่ยนแปลงตามระยะพัฒนาการของมนุษย์ทั้งทางร่างกาย ปัญญา อารมณ์ และสังคมเพียงอย่างเดียว
ทฤษฎีการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นเพื่ออธิบายการเรียนรู้ในปัจจุบันแยกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ ทฤษฎีพฤติกรรมนิยม(Behaviorism) ทฤษฎีความรู้ความเข้าใจหรือทฤษฎีปัญญา(Cognitive Theories) ทฤษฎีมนุษย์นิยม (Humanism) และทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม
(Social Learning) เมอร์เรียม และคาฟฟาเรลลา (Merriam and caffarella. 1991 : 123-139)ได้สรุปสาระสำคัญของกลุ่มทฤษฎีทั้ง 4 กลุ่มไว้ดังต่อไปนี้
กลุ่มทฤษฎีพฤติกรรมนิยม เน้นขบวนการภายในที่ทำให้เกิดพฤติกรรม แต่จะสังเกตและวัดผลจากพฤติกรรมที่แสดงออกภายนอก การทดลองของกลุ่มทฤษฎีพฤติกรรมนิยมใช้สัตว์เป็นเครื่องทดลอง ทำให้เกิดการโต้แย้งเมื่อนำมาใช้กับการอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ว่า พฤติกรรมการแสดงของมนุษย์อาจไม่ตรงตามผลการทดลองกับสัตว์ เนื่องจากมนุษย์มีระบบการรับรู้และการตอบสนองต่างจากสัตว์
ทฤษฎีของกลุ่มพฤติกรรมนิยมกล่าวว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง พฤติกรรมมนุษย์สามารถปรับเปลี่ยนได้โดยมีการวางเงื่อนไข มีการเสริมแรงในรูปของรางวัลและการลงโทษ
การเลือกการเสริมแรงมีแนวทางการเลือกที่ต้องให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีเมื่อมีการวางเงื่อนไขและการเสริมแรงที่เหมาะสม สิ่งเร้าที่มีความคล้ายคลึงกับประสบการณ์เดิม จะมีผลทำให้ความคงทนของการเรียนรู้ดีขึ้น
กลุ่มทฤษฎีความรู้ความเข้าใจหรือทฤษฎีปัญญาเน้นแนวความคิดด้านการหยั่งรู้ (Insight) และการรับรู้ (Perception)พฤติกรรมที่เป็นผลจากการเรียนรู้จึงมีทั้งพฤติกรรมภายในและภายนอก พฤติกรรมภายใน ได้แก่ ความคิดที่ทำให้เกิดการหยั่งรู้ ส่วนพฤติกรรมภายนอก เป็นการแสดงออกและความสามารถในการรับรู้ ทฤษฎีนี้จึงเน้นการสร้างเสริมประสบการณ์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมกับประสบการณ์ใหม่ ทำให้เกิดการหยั่งรู้และการเรียนรู้ได้ดีขึ้น ผู้เรียนสามารถรวมประสบการณ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกันและมองเห็นวิธีการแก้ ปัญหาการจัดเรียงลำดับจากง่ายไปหายาก จากซับซ้อนน้อยไปสู่ซับซ้อนมาก จากสิ่งที่ไม่มีความหมายใกล้ชิดกับผู้เรียนไปสู่สิ่งที่มีความหมาย การกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้จะเป็นแรงจูงใจให้ผู้เรียนดำเนินไปสู่เป้าหมาย ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากความเข้าใจ ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้อยู่ได้นานกว่าการท่องจำ
นอกจากนี้ขบวนการและวิธีการคิดเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ ๆ และค้นพบสิ่งใหม่ ๆ อีกด้วย
กลุ่มทฤษฎีมนุษย์นิยม เป็นทฤษฎีที่คัดค้านการทดลองเกี่ยวกับพฤติกรรมของสัตว์แล้วมาใช้อ้างอิงกับมนุษย์และปฏิเสธที่จะใช้คนเป็นเครื่องทดลองแทนสัตว์ นักทฤษฎีในกลุ่มนี้เห็นว่ามนุษย์มีความคิด มีสมอง อารมณ์และอิสรภาพในการกระทำ การเรียนการสอนตามแนวทฤษฎีนี้เชื่อว่าผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียน การจัดการเรียนการสอนจึงมุ่งให้เกิดการเรียนรู้ทั้งด้านความเข้าใจ ทักษะและเจตคติไปพร้อม ๆ กันโดยให้ความสำคัญกับความรู้สึกนึกคิด ค่านิยม การแสดง- ออกตลอดจนการเลือกเรียนตามความสนใจของผู้เรียนเป็นหลักบรรยากาศในการเรียนเป็นแบบร่วมมือกันมากกว่าการแข่งขันกันอาจารย์ผู้สอนทำหน้าที่ช่วยเหลือให้กำลังใจและอำนวยความสะดวกในขบวนการเรียนของผู้เรียนโดยการจัดมวลประสบการณ์เอื้อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้
กลุ่มทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม เป็นทฤษฎีที่แตกต่างจากทฤษฎีการเรียนรู้สามทฤษฎีแรกค่อนข้างมากทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมเน้นว่า การเรียนรู้เกิดจากการที่มนุษย์มีส่วนร่วมหรือสังเกตจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว ในลักษณะการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์สังคมและพฤติกรรมความแตกต่างของพฤติกรรมภายใต้สถานการณ์เดียวกัน สามารถอธิยายได้โดยลักษณะนิสัยส่วนตัว และแรงกระตุ้นที่เป็นปัจจัยความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมจึงให้ความสำคัญกับบริบททางสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์ลักษณะการเรียนรู้เป็นการเรียนรู้บทบาท และพฤติกรรมตามต้นแบบในสังคม
เมอร์เรียมและคาฟฟาเรลลา (Merriam and Caffarella)ได้สรุปสาระสำคัญและเสนอชื่อนักจิตวิทยาการศึกษาที่สนับสนุนแนวคิดทฤษฎีการเรียนรู้ทั้ง 4 กลุ่มว่า หลักการของทฤษฎีแต่ละกลุ่มเป็นผลจากความพยายามของนักจิตวิทยาการศึกษาที่จะทำความเข้าใจและอธิบายกระบวนการและผลที่เกิดจากการเรียนรู้จากมุมมองที่แตกต่างกันแต่มิได้ขัดแย้งกัน
เจ้าอ้าย.. สังเกตได้ว่าทุกกลุ่มทฤษฎีต่างก็ให้ภาพลักษณะการเรียนการสอนที่เน้นบทบาทของผู้สอนในฐานะผู้ช่วยเหลือ/ผู้จัดมวลประสบการณ์ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมีการพัฒนาตนเอง มีบทบาทที่เหมาะสมในสังคม นายรู้ดีว่าวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนกำหนดกันมาตามการแบ่งกลุ่มทฤษฎีการเรียนรู้ที่พูดถึงอยู่แล้ว แต่จะให้เป็นการแบ่งขาดจากกันโดยเด็ดขาดหาได้ไม่ ในทางปฏิบัติจริงครูเราต้องพัฒนาทฤษฎีการเรียนรู้ที่พูดมาแล้วทั้งหมดทั้งมวลมาผสมผสานกัน จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาเพื่อการสื่อสารในงานอาชีพอย่างที่ท่านนายกแถลงร่วมกับรมต.ศึกษาเมื่อต้นเดือน ชั้นสำลักพรวดกับเส้นทางสู่ประเทศอาเซียนและความรู้สู่โลกอาชีพ
เจ้าอ้ายเอ๋ย..ชั้นคิดถึงนายมากกว่าเมื่อวาน คิดถึงครูภาษาอังกฤษที่นายกประกาศจะให้เป็นภาษาที่สองสำหรับประเทศไทย ชั้นคิดถึงพ่อแม่พี่น้องที่จะต้องไปเรียนต่อเพื่อให้สมฐานะที่รมต.ขานรับนโยบาย เจ้าอ้าย.. ชั้นกำลังมองหาเห็ตุผลดีดีว่าไก่ในสุ่มดีกว่าไก่นอกสุ่มอย่างไรเพื่อจะอธิบายให้ตัวเองยอมรับได้อย่างเต็มใจ อย่าประหลาดใจ บางทีจะมีเซอร์ไพรซ์แบบกระฉอกวงการ แต่ชั้นจะบอกนายก่อนเป็นคนแรกเลย พอใจมั้ย?
รักนายมากขึ้นทุกวัน จนแปลกใจว่าใต้ฟ้าเดียวกันทำไมถึงไกลนัก
รัก 'เจ้าเอื้อย
| | "The difference between the impossible and the possible lies in a man's determination." - - Tommy Lasorda - - เส้นบางๆที่คั่นระหว่างความเป็นไปได้และความเป็นไปไม่ได้คือการตัดสินใจของเรา |
|
|
|
|