Neric-Club.Com
  ทรัพยากรคลับ
  พิพิธภัณฑ์หุ่นกระดาษ
  เปิดประตูสู่อาเซียน@
  พันธกิจขยายผล
  ชุมชนคนสร้างสื่อ
  คลีนิคสุขภาพ
  บริหารจิต
  ห้องข่าว
  ตลาดวิชา
   นิตยสารออนไลน์
  วรรณกรรมเพื่อเยาวชน
  ลมหายใจของใบไม้
  เรื่องสั้นปันเหงา
  อังกฤษท่องเที่ยว
  อนุรักษ์ไทย
  ศิลปวัฒนธรรมไทย
  ต้นไม้ใบหญ้า
  สายลม แสงแดด
  เตือนภัย
  ห้องทดลอง
  วิถีไทยออนไลน์
   มุมเบ็ดเตล็ด
  เพลงหวานวันวาน
  คอมพิวเตอร์
  ความงาม
  รักคนรักโลก
  วิถีพอเพียง
  สัตว์เลี้ยง
  ถนนดนตรี
  ตามใจไปค้นฝัน
  วิถีไทยออนไลน์
"ในยุคสมัยแห่งโลกแฟนตาซี ปลาใหญ่ไม่ทันกินปลาเล็ก ปลาเร็วไม่ทันกินปลาช้า ปลาตะกละฮุบเหยื่อโผงโผง โง่ยังเป็นเหยื่อคนฉลาด อ่อนแอเป็นเหยื่อคนเข้มแข็ง คนวิถึใหม่ต้องฉลาด เข้มแข็ง เสียงดัง มีเงินเป็นอาวุธ
ดูผลโหวด
 
 

'องค์ความรู้ในโลกนี้มีมากมาย
เหมือนใบไม้ในป่าใหญ่
มนุษย์เราเรียนรู้ได้
แค่ใบไม้หนึ่งกำมือของตนเอง
ผู้ใดเผยแผ่ความรู้
อันเป็นวิทยาทานแก่ผู้อื่น
นั่นคือกุศลอันใหญ่ยิ่ง'
 
องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า












           




             ซ่อมได้ 


สถิติผู้เยี่ยมชมเวปไซต์
14323975  

สายลม แสงแดด



เจ้าอ้ายที่รักยิ่ง

ช่วงนี้ชีพจรลงเท้า เดินทางเป็นว่าเล่นแต่พอใจมาก บางทีนายอาจไม่เชื่อว่าชั้นใช้กระแสจิตแปลงสิ่งที่ต้องการให้เป็นสิ่งพึงมีพึงได้จริง เสียดายแต่เวลาที่จะนั่งเขียนสาส์นข้ามฟ้ามาแสนจะยากเย็น แต่จะแปลกอะไร ชั้นคนไม่มีวันหยุด วันคืนที่ฝันจะเป็นนกน้อยในไร่ส้มเปลี่ยนไป วันนี้ชั้นเป็นนกขมิ้นเหลืองอ่อนแล้ว

เจ้าอ้าย ไปเลาะบล็อกมาเก็บอะไรได้หลายอย่างวางไว้ให้อ่านแล้วก็จะไปล่ะ ยาวเหยียดเลยเหมาะสำหรับคนว่าง(จาก)งาน เห็นว่ามีประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น หนึ่งตาเห็นไม่เท่าลงมือคลำ รุ้แต่ไม่ทำโลกไม่ปลื้ม ชั้นพบโลกส่วนตัวใหม่ นายรู้ว่าชั้นคนช่างเลือก มุมสงบของชั้นมีไม่มากนัก ชั้นเลือกนั่งที่ไม่กีดขวางทางจราจร พอใจนั่งเงียบๆมองคนผ่านมาผ่านไปและคิดถึงสิ่งดีดีที่เก็บไว้เป็นความภาคภูมิใจเฉพาะตัว ชั้นพบที่นั่งใหม่แล้ว ไปจองที่ก่อนนะ แล้วจะมารับ อิอิ

ความเป็นครูในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช1

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม และทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงชนไทยและเพื่อความวัฒนาสถาพรของบ้านเมือง พระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าปกกระหม่อมประชาชนทุกหมู่เหล่า ทั่วผืนแผ่นดินไทย ทรงเป็นอภิปูชนียบุคคลผู้ดำรงธรรม์ และเปี่ยมล้นด้วยพระคุณลักษณะแห่งความเป็นครู ทรงประพฤติปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างในทุกสถาน ทรงมีพระราชจริยวัตรอันงดงาม ล้ำเลิศด้วยพระเมตตาคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ กอปรด้วยพระปรีชาสามารถอันไพศาล และพระบรมราชานุกูลต่อวงการศึกษาและผู้ประกอบอาชีพครู จึงทรงเป็น "ครุราชันย์" "บรมครู" "พระบิดาของครูไทย" ทรงเป็นแบบอย่างของครูและพสกนิกรโดยแท้

พระคุณลักษณะแห่งความเป็นครู

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชมีพระคุณลักษณะแห่งความเป็นครูอย่างครบถ้วน สมบูรณ์ประมวลได้ดังนี้

1. ความรอบรู้

ทรงเป็นอัจฉริยะกษัตริย์ผู้เปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถหลายสถาน ครอบคลุมทุกสาขาวิทยาการ ดังเป็นที่ประจักษ์จากการที่มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพบว่าครอบคลุมทั้งทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี อาทิ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ รัฐศาสตร์ อักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ วิจิตรศิลป์และประยุกต์ศิลป์ นิติศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ ธุรกิจ บริหาร นิเทศศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ศาสตร์ แพทยศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมือง เกษตรศาสตร์ และไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น

1รศ.ดร.ชุติมา สัจจานันท์. สารเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการและงานวิจัย ปีที่ 8. สำนักวิจัยและบริการวิชาการ. สถาบันราชภัฏธนบุรี. 2542. 1-14.

มหาวิทยาลัยและสถาบันในต่างประเทศหลายแห่งได้ขอพระราชทานทูลเกล้า ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระองค์ด้วย สาระของประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณ ล้วนยืนยันถึงองค์รวมแห่งวิชาการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระเกียรติยศด้านวิชาการในทุกสาขาวิชา พระอัจริยะภาพ พระปรีชาญาณด้านวิชาการอย่างลึกซึ้งรอบด้าน การทรงนำความรู้และหลักวิชาการนั้นๆ รวมทั้งหลักวิชาการสาขาวิชาศึกษาศาสตร์มาสู่การปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้อย่างสัมฤทธิผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนอำนวยประโยชน์อย่างกว้างขวางในการพัฒนาคนและการพัฒนาบ้านเมือง2

2. ความใฝ่รู้

ทรงศึกษาวิทยาการอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง ด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งโดยการศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เอง การสังเกต การทดลอง การวิจัย ทรงแสวงหาและใช้ข้อมูล ข่าวสาร สารสนเทศ เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ต่างๆ ทรงศึกษาข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ สภาพอากาศจากแผนที่และข่าวอากาศ ทรงศึกษาข้อมูลจากแหล่งต้นตอ เสด็จไปทอดพระเนตรและทรงหาข้อมูล ณ พื้นที่จริง ทรงไต่ถามข้อมูลเพิ่มเติมจากราษฎรในท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ผู้อยู่ในพื้นที่ ผู้รับผิดชอบ ทรงปรึกษาผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ ทรงประชุมปรึกษาหารือร่วมกับข้าราชการนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และทรงตรวจสอบเทียบเคียงข้อมูลที่ได้รับอย่างถี่ถ้วน

"เวลาเสด็จฯ ไป ก็ต้องถามชาวบ้านว่าสถานที่นั้นอยู่ที่ไหน และทางทิศเหนือมีอะไร ทางทิศใต้มีอะไร ท่านถามหลายๆ คน เช็คกันไปมา ระหว่างที่ถามนั้นก็จะดูแผนที่ว่าแผนที่นั้นจะถูกต้องหรือเปล่า น้ำจะไหลจากทางไหนไปทางไหน บางครั้งแผนที่ไม่ถูกต้อง ท่านก็ตรวจสอบได้เพราะมีเจ้าหน้าที่จากกรมแผนที่ตามเสด็จด้วย ก็เรียกมาชี้ดู ตรงนี้จำเป็นต้องแก้ไข" (หน้า45)

"public hearing ความจริงทรงทำมาก่อนล่วงหน้านั้นแล้ว ทรงทำอะไรหลายอย่างก่อนคำนั้นจะเกิด ไม่ว่าจะเป็น ไอที ทรงทำมาจะ 40 ปี public hearing นั้น ก็คือเมื่อประทับกับประชาชนไต่ถามถึงปัญหา ประชาชนก็จะป้อนปัญหาสู่พระองค์ท่าน พระองค์ท่านก็จะตรวจสอบข้อมูล แล้วก็จะพระราชทานวิธีการแก้ไขว่าควรทำอย่างไร..." (หน้า 46)3

2ทบวงมหาวิทยาลัย.จดหมายเหตุคำประกาศสดุดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสที่สถาบันอุดมศึกษาขอพระราชทานทูลเกล้าฯถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พฤษภาคม 2493-มกราคม 2539).กรุงเทพมหานคร:คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองศิริราชสมบัติครบ 50 ปี, 2539.(จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี).

3สุเมธ ตันติเวชกุล "ในหลวงกับการพัฒนาประเทศและเทคโนโลยีสารสนเทศ" ใน ไอทีเพื่อประชาชน,หน้า 43-53.กรุงเทพมหานคร:สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ,2538.

ทรงใช้ข้อมูลหลากหลายรูปแบบ เช่น แผนที่ ภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม สำรวจทรัพยากร ดาวเทียมอุตุนิยมและข้อมูลสนาม ทรงทดลองและใช้คอมพิวเตอร์ด้วยพระองค์เอง ทรงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาในหลายโอกาสล้วนเน้นย้ำว่าการศึกษามิได้สิ้นสุดเมื่อได้รับปริญญา ให้มีการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ต่อเนื่อง การเรียนรู้ตลอดชีวิตเพราะโลกเปลี่ยนแปลง มีความรู้ใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา พระคุณลักษณะนี้สะท้อนถึงความเป็นครูและนักวิชาการโดยแท้

3. ความใจกว้าง

ทรงมีพระราชฤทัยกว้างขวาง ทรงเปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของครูและนักวิชาการ ในคำประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถวายปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเกษตรศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2532 มีความตอนหนึ่งที่สะท้อนพระคุณลักษณะดังกล่าว "ก่อนที่โครงการตามพระราชดำริแต่ละโครงการจะเกิดขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาพิจารณาและปรึกษาอย่างรอบคอบกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และตัวแทนราษฎรในท้องถิ่นนั้น โดยทรงเน้นอยู่เสมอว่า พระราชดำริเป็นเพียงข้อเสนอแนะ ขอให้ช่วยกันทักท้วงแก้ไข เพื่อให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทั้งยังประสานสอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจและนโยบายของทางราชการด้วย เมื่อเริ่มดำเนินงานตามโครงการแล้วก็จะทรงติดตามผลงาน ความก้าวหน้า ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคทุกระยะเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด

4. การใช้ภาษาและการสื่อสาร

ทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านภาษาแม้จะทรงเจริญพระชันษาในวัยเยาว์ในต่างประเทศ แต่ทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านการใช้ภาษาไทย ทรงใช้ภาษาไทยถูกต้องกะทัดรัด ชัดเจน ลุ่มลึก มีอรรถรส แสดงถึงระเบียบ ความประณีต และความงดงามแห่งภาษา ดังประจักษ์ได้ในพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท พระราชกระแส พระราชนิพนธ์ที่เผยแพร่สู่ธารณชนและสู่บรรณพิภพ ทรงห่วงใยการใช้ภาษาไทยซึ่งในระยะหลังมีการใช้ผิดพลาดอยู่บ่อยๆ ได้ทรงมีพระบรมราโชวาท พระราชดำรัสในหลายโอกาสถึงปัญหาการใช้คำไทย การบัญญัติศัพท์ การออกเสียงวรรณยุกต์ ทรงเตือนใจให้คนไทยเห็นคุณค่าของภาษาไทยและช่วยกันทำนุบำรุงรักษาภาษาไทย

นอกจากภาษาไทยแล้วยังทรงใช้ภาษาสากล คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมันได้ดีทุกทักษะ ทั้งการอ่าน การเขียน การพูด การฟัง ทรงชี้ให้เห็นว่าครูควรมีความสามารถในการใช้ภาษา ดังได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ผู้นำศาสนาอิสลาม (อิหม่าม) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้แทนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เขตการศึกษา 2 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2530 ความตอนหนึ่งว่า

"ภาษาเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการถ่ายทอดความรู้ ความคิด รวมทั้งคุณธรรม ความดีทุกอย่าง ผู้ที่เป็นครูและเป็นผู้นำทางศาสนา จึงจำเป็นต้องมีความรู้ทางภาษาอย่างแตกฉาน เพื่อนำไปใช้ในการสอนวิชา การอบรมศีลธรรมจรรยา ตลอดจนการศึกษาหลักธรรมในศาสนาให้ได้ผลสมบูรณ์ ตามภาระรับผิดชอบของแต่ละคน ความสามารถจัดเจนในภาษานี้ยิ่งมีสูงเท่าใด ก็จะอำนวยประโยชน์ให้กว้างขวางมากขึ้นเท่านั้น"

ทรงมีความสามารถในการสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารซึ่งเป็นคุณลักษณะที่จำเป็นยิ่งสำหรับครูในยุคปัจจุบัน ทรงเป็นนักวาทนิเทศที่มีพระอัจฉริยะภาพยิ่ง ทรงสามารถสื่อสารสร้างความเข้าใจแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า ทุกเชื้อชาติศาสนา เพศ วัย ถิ่นที่อยู่อาศัยด้วยภาษาเรียบง่ายเป็นกันเอง ทรงสามารถโน้มน้าวใจให้ผู้ฟังยอมรับและปฏิบัติตามได้โดยง่าย ทรงรอบรู้ในเครื่องมือสื่อสารและทรงเป็น "นักเทคโนโลยีการสื่อสาร" ผู้เป็นเลิศ ทรงใช้เครื่องมือสื่อสารรับทราบข้อมูลข่าวสารและกระจายข่าวสารถึงประชาชน ทรงเชี่ยวชาญในการถ่ายภาพและภาพยนตร์ และทรงนำไปใช้เพื่อสนองพระราชกรณียกิจในการพัฒนา รวมทั้งได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ด้วย สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยได้น้อมเกล้าฯถวายพระเกียรติ Telecom Man of the Nation แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อ 4 เมษายน พ.ศ. 2539 ด้วยพิจารณาเห็นว่า พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถยิ่งทางด้านโทรคมนาคม ทรงสนพระทัยศึกษาความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีโทรคมนาคม ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ทรงคิดค้น ดัดแปลง และใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมที่ทันสมัยทุกประเภทในการติดต่อสื่อสารต่างๆ เป็นผลดียิ่งต่อการช่วยเหลือ ให้การสงเคราะห์พสกนิกร โดยเฉพาะในท้องถิ่นทุรกันดาร ช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศซึ่งรัฐบาลรับผิดชอบดำเนินการอยู่ประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง

"มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาถวายการยกย่องแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าทรงเป็น "นักวัตกรรมทางการสื่อสาร" ในฐานะที่ทรงเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงโยงการคิดค้นทฤษฎีใหม่ๆ ที่ทรงสร้างขึ้นจากบริบทไทย ทรงมีวิธีการสื่อสารให้เข้าถึงกระแสจิตของคนไทยทุกเพศ ทุกวัย ทุกชนชั้นอย่างไร้พรมแดน พระองค์ทรงประยุกต์ใช้การสื่อสารเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่มหาชน ด้วยทรงศึกษาและรู้จักกลุ่มชนผู้รับสารอย่างลึกซึ้ง ทรงสร้างและพัฒนาข่าวสาร โดยทรงเลือกใช้สื่อให้เหมาะสมและเข้าถึงผู้รับสารอย่างมีประสิทธิผล ให้บรรลุผลตรงเป้าหมายของการสื่อสารอย่างแท้จริง"4

5. การสอน

ทรงมีเทคนิค วิธีการสอน การถ่ายทอดความรู้ ได้พระราชทานความรู้ในศาสตร์และศิลป์ทั้งปวงเพื่อประโยชน์อันยั่งยืนแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่าได้อย่างเหมาะสม ชัดเจนเช่นเดียวกับครูสั่งสอนศิษย์ เทคนิควิธีการสอน การถ่ายทอดความรู้ของพระองค์หลากหลายเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและลักษณะเนื้อหา

4ทบวงมหาวิทยาลัย.จดหมายเหตุคำประกาศสดุดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสที่สถาบันอุดมศึกษาขอพระราชทานทูลเกล้าฯถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พฤษภาคม 2493-มกราคม 2539).กรุงเทพมหานคร:คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองศิริราชสมบัติครบ 50 ปี, 2539.(จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี).


ทรงปฏิบัติให้ดูหรือสาธิต และทรงสอนโดยให้ลงมือปฏิบัติ ทำให้ผู้เรียนรู้เกิดความเข้าใจลึกซึ้ง เห็นจริงด้วยการปฏิบัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัสในโอกาสที่คณะผู้อำนวยการและอาจารย์ใหญ่จากโรงเรียนต่างๆ ในเขตอำเภอดุสิต "กลุ่มจิตรลดา" เข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย เมื่อ 18 มีนาคม 2523 มีความตอนหนึ่งขออัญเชิญมาดังนี้ "ถ้าไปพิจารณาว่าจะต้องสอนให้ได้วิชาการให้มากที่สุด แต่ละเลยความรู้ในทางปฏิบัติก็จะทำให้การศึกษาเป็นหมัน" โดยทรงเน้นอย่างมากในพระราชกรณียกิจของพระองค์ เช่น โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โครงการศูนย์การศึกษาพัฒนาอันเนื่องมากจากพระราชดำริ โครงการประมงพระราชทาน โครงการพัฒนาชาวเขา ธนาคารข้าว ธนาคารโคกระบือ

ทรงมีพระราชดำริถึงการปฏิบัติฝึกฝนว่า "การเรียนรู้โดยลักษณะนี้จักเป็นขั้นสูงสุดที่จะพึงศึกษาฝึกฝนได้" ทรงเล็งเห็นว่าการฝึกปฏิบัติมีความสำคัญไม่น้อยกว่าภาคทฤษฎี ทำให้เกิดความรู้ที่แจ่มชัด เสริมสร้างปัจจัยสำคัญของชีวิตในด้านอื่น เช่น ความขยันหมั่นเพียร ความละเอียดรอบคอบ ความอดทน และสู่เป้าหมายคือการนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทรงสอนโดยการให้มีส่วนร่วม ทรงให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมมือร่วมใจกัน ใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นประโยชน์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์ตามครรลองวิถีประชาธิปไตย สอดคล้องกับหลักการและแนวคิดการศึกษาสมัยใหม่ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ โปรดให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น มีนักวิชาการสาขาต่างๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ราษฎร เข้ามาร่วมกันดำเนินงาน ทดลองการเรียนรู้ และนำความรู้กลับไปใช้ประกอบอาชีพ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น หรือโครงการหุบกระพง ทรงร่วมกับราษฎรในการพัฒนาพื้นที่

ทรงสอนโดยให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ผู้เรียนคือราษฎรในโครงการ หรือพสกนิกรแต่ละหมู่เหล่า โดยการจัดโครงการและรูปแบบให้เหมาะสมสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย ผู้สอนมีหน้าที่เป็นผู้ชี้แนะสนับสนุน ประสานงาน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และสามารถยกระดับความเป็นอยู่ของตนเอง

ทรงสอนโดยสื่อ ไม่ว่าจะเป็นบทพระราชนิพนธ์ ภาพเขียนฝีพระหัตถ์ ภาพถ่าย เพลงพระราชนิพนธ์ ดนตรี ล้วนได้รับการยกย่องในพระปรีชาสามารถทั้งในด้านหลักวิชาการอย่างลึกซึ้ง เป็นเอกลักษณ์เฉพาะพระองค์ วิจิตรบรรจง เลิศล้ำด้วยคุณค่า สามารถสื่อความหมาย สร้างสรรค์การเรียนรู้ ให้แง่คิด คติชีวิต เสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ความสุนทรีย์ของชีวิต

ทรงสั่งสอน อบรม ชี้แนะ พระราชทานพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท พระราชดำริต่างๆ ทั้งในโอกาสที่เป็นทางการ เช่น งานพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกรไทย ซึ่งสำนักราชเลขาธิการรวบรวมพิมพ์เผยแพร่เป็นประจำ เพื่อการศึกษา ค้นคว้า อ้างอิง ยึดถือปฏิบัติสืบไป

นอกจากนี้ ในระหว่างเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรและประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ ได้ทรงชี้แนะพระราชทานคำแนะนำและแนวทางอันเป็นประโยชน์ยิ่ง ทรงสอนให้รู้จักคิด วิเคราะห์ โดยมองรอบด้าน ทั้งด้านสังคม และจิตใจ ทรงเน้นคุณค่าทางด้านจิตใจ คุณธรรมและจริยธรรม

ทรงเป็นแบบอย่าง ทรงประพฤติปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างที่ดีเลิศแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าจะเป็นฐานะในพระราชโอรสผู้เปี่ยมด้วยพระกตัญญตาคุณต่อพระราชชนนี พระราชบิดาของพระราชโอรส พระราชธิดา และในทุกฐานานุรูป

นนท์ บูรณสมภพ ผู้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมากกว่า 40 ปี ได้ให้สัมภาษณ์ในนิตยสารผู้หญิง ฉบับที่ 260 ปักษ์แรก มิถุนายน 2539 (อ้างถึงใน มัทรียา ธาราทรัพย์ 2539:23) กล่าวเสริมในเรื่องนี้ไว้ว่า

"พระองค์ท่านสอนคน... ด้วยการกระทำของพระองค์ท่าน พระองค์ท่านสอนให้ คนไทยมีความกตัญญูต่อบิดามารดา พระองค์ท่านสอนโดยที่ท่านไม่รับสั่ง แต่พระองค์ท่านสอนโดยทำเป็นตัวอย่าง จะเห็นว่าพระองค์เสด็จฯไปเสวยพระกระยาหารค่ำกับสมเด็จย่าทุกวันที่วังสระปทุม เมื่อสมเด็จย่าประชวรอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ในหลวงก็เสด็จฯไปเยี่ยมทุกวัน สมเด็จย่าสวรรคตแล้ว พระองค์ท่านก็ไปไหว้พระบรมศพในวังหลวงทุกวันอีกเช่นกัน นี่เป็นการแสดงถึงความกตัญญู พระองค์ท่านทำให้ดูเป็นตัวอย่าง.."

6. การค้นคว้า วิจัย

ทรงศึกษาค้นคว้าวิจัยอย่างเป็นระบบ ด้วยวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ ผลงานชิ้นสำคัญคือ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริและพระราชทรัพย์ให้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น เป็นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย เพื่อใช้ในการบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากแหล่งชุมชนและแหล่งอุตสาหกรรม เป็นผลงานที่คณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลผลงาน คิดค้นหรือสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2536 รางวัลที่ 1 ทั้งยังได้รับการจดสิทธิบัตรอีกด้วย ทรงตั้งห้องปฏิบัติการด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและงานวิจัยด้านอื่นๆ ในพระราชฐานบริเวณพระราชฐานสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เปรียบเสมือนห้องทดลองขนาดใหญ่ที่ทรงเริ่มทดลองโครงการตามพระราชดำริส่วนพระองค์ เมื่อได้ผลดีจึงพระราชทานให้เป็นแบบอย่างแก่ทางราชการนำไปปฏิบัติ

ทรงมีพระราชปรีชาญาณด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทรงค้นคว้าวิจัย ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อกระจายสารนิเทศ ทรงใช้คอมพิวเตอร์ประดิษฐ์บัตรพระราชทานพรปีใหม่ พระราชทานพรทางโทรสาร ทรงพัฒนาระบบการจัดเก็บและค้นคืนสารสนเทศและพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่มหาวิทยาลัยมหิดลจัดทำโครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถา ต่อเนื่องจากโครงการเดิมเรื่องพระไตรปิฎก ฉบับคอมพิวเตอร์ นับเป็นโครงการที่นำวิทยาการชั้นสูงมาประยุกต์ใช้กับความรู้ทางด้านพุทธศาสนา ทั้งยังได้พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยและทรงวิจารณ์การออกแบบโปรแกรมสำหรับใช้ค้นคืนข้อมูลด้วย

7. การสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการ

ทรงมีพระอัจฉริยะภาพในด้านการเขียน ทรงสร้างสรรค์ผลงานเขียนและผลงานแปลล้ำค่า ประดุจเพชรเม็ดงามของบรรณพิภพ ให้คุณค่า สาระ คติและแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกร เป็นผลงานทางวิชาการที่ได้รับการนำไปใช้ในการศึกษา ค้นคว้าอ้างอิง อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในด้านเทคนิควิธีการเขียนและเทคนิคการแปล 
พระราชนิพนธ์ของพระองค์ ได้แก่เรื่อง พระราชานุกิจรัชกาล 8 เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์ พระมหาชนก
พระราชนิพนธ์แปล ได้แก่เรื่อง ติโต นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ และเศรษฐศาสตร์ตามนัยของพระพุทธศาสนา บทที่ 4 เล็กดีรสโต และยังมีบทความแปลอีก 10 เรื่อง ส่วนใหญ่ทรงแปลจากนิตยสาร ซึ่งตีพิมพ์ในช่วงปี ค.ศ. 1975

นอกจากนี้พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส พระราชกระแส ที่พระราชทานในวโรกาสต่างๆ ได้รับการเผยแพร่ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศนวัสดุ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หนังสือเล่มสำคัญที่ดำเนินการจัดพิมพ์มาโดยต่อเนื่องและเป็นแหล่งอ้างอิงที่สำคัญ คือ ประมวลพระราชดำรัส และพระราโชวาทที่พระราชทานในโอกาสต่างๆ ซึ่งสำนักราชเลขาธิการจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นประจำทุกปี และยังทรงผลิตสารสนเทศรูปแบบอื่นๆ อาทิ โน้ตเพลง ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพถ่ายทางอากาศ ภาพยนตร์ แผนที่ อันล้วนทรงคุณค่าเป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษาของชาติเป็นเอนกประการ

8. คุณธรรมและจริยธรรม

ทรงมีพระราชหฤทัยเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ ตามหลักทศพิธราชธรรม ทรงบำเพ็ญทาน ศีล เสียสละ ซื่อตรง อ่อนโยน มีความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทน การประสมประสานโอนอ่อนผ่อนปรน ทรงมีพระคุณลักษณะความเป็นบรมครูที่เด่นชัด และเป็นแบบอย่างแก่ครูและพสกนิกรทั้งมวล นอกจากนี้ ความมีคุณธรรม จริยธรรมนานัปการ ของพระองค์อันเป็นคุณลักษณะสำคัญยิ่งสำหรับครู ได้สะท้อนในพระบรมราโชวาท พระราชดำรัสที่พระราชทานในโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรนี้ทรงเน้นย้ำบัณฑิตให้ตระหนักถึงการประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ ยึดมั่นในหลักศีลธรรม การกล่อมเกลาความคิดจิตใจ ดังพระบรมราโชวาที่ว่า "การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคล"

9. การพัฒนา

ทรงเป็น "นักพัฒนา" อันเป็นพระคุณลักษณะที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งในความเป็นครูซึ่งพึงมี "ความฉลาดรู้" กล่าวคือรู้แล้วสามารถนำมาปฏิบัติใช้ประโยชน์สร้างสรรค์ ดังจะเห็นได้จากโครงการอันเนื่องมากจากพระราชดำริ นับพันโครงการที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ด้วยพระปรีชาญาณอันลึกซึ้ง สะท้อนการพัฒนาแนวใหม่อันเป็นการพัฒนาบนพื้นฐานข้อมูล และความเป็นจริงแบบผสมผสานครบวงจรการพึงตนเอง การพัฒนาที่ยั่งยืนเหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นและสังคมไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความสำคัญของ "คน" อันเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด และการศึกษาในฐานะเป็นเครื่องมือพัฒนาคนและเทศชาติ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการศึกษาและกอปรด้วยพระราชกรณียกิจอันไพศาลล้วนเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทุกระดับและทุกระบบ

นอกจากนี้พระราชกรณียกิจของพระองค์ในทุกๆ ด้านล้วนสะท้อนไปสู่เป้าหมายอันสำคัญคือการพัฒนาคนและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทรงเลือกใช้วิธีพัฒนารูปแบบต่างๆ ที่จะให้ราษฎรพึ่งตนเอง ทรงส่งเสริมการเรียนรู้ให้ประชาชนได้มีโอกาสพึ่งตนเองในทางเศรษฐกิจและสังคมและเป็นไปตามลำดับขั้นตอน ทรงค้นคิด "ทฤษฎีใหม่" "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รับพระบรมราชานุญาตเผยแพร่

เจ้าอ้าย..นี้ตัดมาเพียงครึ่งเดียว หวังว่าจะซึมซับไว้ได้ทั้งหมดนะ ดูแลตัวเองให้ดีด้วยล่ะ อย่ามัวแต่เหวี่ยงแหออนไลน์จะเจอตอได้ทั้งภาคพื้นดิน ภาคอากาศ ใต้ดิน ในน้ำ ไม่เว้นแม้แต่ในโคลน อยู่ลำบากจริงวุ้ย! จำไว้เสมอโลกไร้พรมแดนไม่กว้างเท่าที่คิด วันหนึ่งอาจถึงทางแคบให้เกิดปรากฏการณ์"ปีนฟุตปาธ"ได้

รักนายมากกว่าเดิม
'เจ้าเอื้อย
 
 
 
 

"The difference between the impossible and the possible
lies in a man's determination." 
- - Tommy Lasorda - -
เส้นบางๆที่คั่นระหว่างความเป็นไปได้และความเป็นไปไม่ได้คือการตัดสินใจของเรา



หน้าที่ :: 22   23   24   25   26   27   28  


Copyright © 2012 Neric-Club.Com All Rights Reserved