สำหรับชั้นทุกวันนี้ก็ยังต้องเปิดตำราอยู่ "วิธีสอนภาษาอังกฤษสำหรับผู้เริ่มเรียน"
และถลกหนังเสือกับประโยค "ไม่ใช่ภาษาพ่อภาษาแม่"
อย่างเดียวกับนายแต่ดีหน่อยที่ฉันไม่ได้ขี่หลังเสืออย่างนาย
เจ้าอ้าย ก็ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล ซึ่งมีผู้ใช้กันมากในการติดต่อกับคนต่างชาติ
แม้จะมีอีกสารพันภาษาทะลักเข้ามาในวันนี้ แต่เราก็ต้องจับวิชาภาษาอังกฤษไว้ทั้งสองมือ
ถึงวันข้างหน้าคนไทยจะต้องมีการติดต่อกับคนในประเทศเพื่อนบ้านอีกสักกี่ประเทศ
ทำการธุรกิจกับชาติใดใดก็ยังต้องเป็นภาษาอังกฤษในการสื่อความหมายทั้งในการพูด
และ / หรือการเขียน จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษ
หรือนายก็คิดจะให้ชาติไทยเป็นชาตินานาภาษากับเค้าด้วย
ญี่ปุ่นที่ชื่นชมนักหนาว่าชาตินิยม เดี๋ยวนี้ก็เรียนรู้ภาษาสากลอย่างภาษาอังกฤษ
การสอนทักษะในวิชาภาษาอังกฤษ ที่นายว่ามันผกผันน่ะ มันก็แน่นอนอยู่แล้ว
พื้นฐานเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่าว่าแต่มาจากคนละสถาบันเลย
เรียนจากครูคนเดียวกันยังรับได้ไม่เท่ากัน แต่นายจะยึดเอาหลักการของนายเองก็ได้
ทักษะคือความสามารถที่จะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยความชำนาญ คล่องแคล่วว่องไว
โดยที่ผู้ปฏิบัติไม่ต้องเสียเวลาคิดหรือเตรียมตัว พวกขับขี่จักรยานหรือว่ายน้ำ
ผู้ที่ขับขี่จักรยานและว่ายน้ำเป็น จะไม่คิดเลยว่าก่อนที่จะขึ้นจักรยาน
ว่ายน้ำนั้นจะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง ในการพูดภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาของเราเองนั้น
เราก็ไม่เคยคิดว่า ในประโยคหนึ่ง ๆ ที่เราต้องการพูด คำใดจะต้องมาก่อน คำใดจะต้องมาหลัง
การขับขี่จักรยาน การว่ายน้ำ และการพูดภาษาไทยฯลฯ
เท่าที่ร่ายมานี้ล้วนแต่เป็นทักษะของผู้ปฏิบัติทั้งนั้น
คนที่จะมีทักษะได้นั้นจะต้องได้รับการฝึกหัดหรือปฏิบัติบ่อย ๆ
นานเข้าก็เกิดความคล่องแคล่วและเคยชินในสิ่งนั้น ๆ
จนในที่สุดก็สามารถปฏิบัติได้โดยอัตโนมัติ
นายก็รู้วิชาภาษาอังกฤษเป็นวิชาประเภททักษะ
ผู้เรียนก็จะต้องฝึกทักษะในการใช้เครื่องมือซึ่งปรากฏเป็น 2 ลักษณะ
คือในลักษณะคำพูด และในลักษณะตัวอักษร
เมื่อใช้คำพูดเป็นเครื่องมือสื่อความหมาย
ผู้ที่จะติดต่อกันก็จะต้องใช้การพูดและการฟังเป็นเครื่องสำคัญ
ถ้าใช้ตัวอักษรเป็นสื่อผู้ที่จะติดต่อกันก็จะต้องรู้จักและเข้าใจตัวอักษรนั้นคือ
จะต้องอ่านออกและเข้าใจความหมาย
และจะต้องสามารถถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของตนออกเป็นตัวอักษร
ให้ผู้ที่ตนติดต่อนั้นเข้าใจด้วยจากเครื่องมือ 2 ลักษณะ
เท่าที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า ผู้เรียนจะต้องมีการฝึกทักษะ 4 อย่างให้สัมพันธ์กัน
ทักษะในการฟัง พูด อ่าน และเขียน ชั้นให้ความสำคัญเท่ากันแต่เน้นเรื่องการอ่าน
เพราะพื้นฐานจริงๆแล้วเด็กต้องรักการอ่านเพื่อเลี้ยงตัวให้รอดในวันข้างหน้า
ถ้าไม่สนใจอ่านสักอย่างเดียวก็เหมือนคนตาบอดเลยนายเอ๋ย..
ทักษะในการเรียนภาษาสำหรับชั้น ชั้นเล่นตามขั้นตอนเพื่อไม่ให้งงเอง (ก็คนวัยนี้)
เริ่มแรกชั้นจะฝึกทักษะในการฟังและพูดเสียก่อน
เมื่อนักเรียนแม่นแล้วจึงฝึกทักษะอ่านและเขียน
เพื่อจะให้เป็นไปตามธรรมชาติของการเรียนภาษาของมนุษย์
อย่างที่เป็นการเรียนภาษาโดยกำเนิดของเด็ก
จะเห็นว่า ก่อนที่เด็กจะพูดนั้น เด็กได้ยินผู้ที่อยู่ใกล้ชิดพูด ในขั้นแรกเด็กจับความหมายไม่ได้เมื่อได้ยินซ้ำ ๆ เข้าพร้อมกับได้เห็นอาการกิริยาต่าง ๆ ก็เกิดความเข้าใจความหมาย และเริ่มเลียนเสียงด้วยคำสั้น ๆ ง่าย ๆ ก่อน ต่อมาจึงพูดคำยาว ๆ และยากขึ้นตามลำดับ
เด็กเริ่มหัดอ่านและเขียนเวลาเข้าโรงเรียน
เพราะงั้นจึงมั่นใจได้ว่าธรรมชาติแห่งการเรียนภาษานั้นต้องเริ่มจากฟังแล้วจึงพูด
เมื่อพูดได้แล้วจึงอ่านและเขียน
เจ้าอ้าย..
วิธีการเรียนภาษาอังกฤษก็ควรจะเป็นทำนองเดียวกันกับการเรียนภาษากำเนิด
(ก็ภาษาพ่อภาษาแม่อย่างที่นายว่านั่นแหละ)
คือเรียนตามลำดับขั้นของการสอนทักษะทั้ง 4
ในการสอนคำและรูปประโยคภาษาอังกฤษจะต้องเริ่มด้วยการให้นักเรียนได้ฝึกฟังให้ได้ยิน
และเข้าใจความหมายให้ถูกต้องเสียก่อนแล้วจึงให้พูด
เมื่อพูดได้ถูกต้องแล้วจึงอ่านและเขียน ในการสอนทักษะทั้ง 4 นี้ จะต้องให้สัมพันธ์กันไปตลอดเวลา
จะแยกเป็นประโยคและคำศัพท์พวกหนึ่งไว้สอนและพูด
และอีกพวกหนึ่งไว้สอนอ่านและเขียนไม่ได้
มันไม่เป็นธรรมชาติ หรือนายไม่เห็นด้วย
การสอนประโยคของชั้นก็เริ่มต้นตั้งแต่ให้ฝึกฟังแล้วให้ฝึกพูดและฝึกอ่านเขียน
แต่ที่ปวดกระโหลกมากตอนนี้ก็คือเวลาที่เด็กอยู่กับเรามันน้อยลง
ถ้าไม่เตรียมรับสถานการณ์นี้ไว้ ที่สอนๆมาตั้งปีไม่ได้ผลหรอกนายเอ๋ย ..
กว่าจะมาปัดฝุ่นอีกทีไอ้ที่มันเรียนแบบจับยัดไว้มันก็ลืมหมดแล้ว
ตอนนี้ชั้นก็พยายามทำบทเรียนให้จบให้ได้ในแต่ละพีเรียด
กับทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กรักการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
มีชิ้นงานมาอวดกันเพื่อการประเมินตัวชี้วัดประจำวันอย่าเครียดกับผลที่คาดหวังมาก
บางวันชั้นก็แอบพูดในใจเหมือนนาย "ภาษาพ่อแม่มันยังเอาดีไม่ได้"
เซ็ง..เรยย..
คิดถึงนายวันละหลายมื้อ
เจ้าเอื้อย