เปิดทางสมาชิก กบข.เสี่ยงโชครับเงินบำนาญ
โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง
หลังจากที่สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เรียกร้องให้มีการแก้กฎหมาย กบข.มาหลายรัฐบาล ในที่สุดเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็เป็นจริง เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติให้แก้ไข พ.ร.บ.กบข. เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการจ่ายผลตอบแทนหลังเกษียณตามที่สมาชิกเรียกร้อง
ถ้าพิจารณาจากสาระสำคัญของการแก้ไขกฎหมายมี 2 ส่วนที่สำคัญ คือ การให้ข้าราชการ และข้าราชการบำนาญ ที่เป็นสมาชิก กบข. เลือกที่จะลาออกจากการเป็นสมาชิก กบข. และกลับไปรับบำนาญในระบบข้าราชการแบบเก่าได้
ในส่วนแรก การแก้ไขกฎหมาย กบข. จะให้สมาชิก กบข. ซึ่งเข้ารับราชการก่อนวันที่ 27 มี.ค. 2540 และสมัครเป็นสมาชิก กบข. กลับไปรับบำนาญแบบเก่า โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1.สมาชิก กบข. ที่จะกลับไปรับบำนาญตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการปี 2494 ให้แสดงความประสงค์ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ จนถึงวันที่ 1 ต.ค. 2557
2.สำหรับข้าราชการที่จะออกจากราชการก่อนวันที่ 1 ต.ค. 2557 เช่น กรณีเกษียณอายุ หรือขอลาออก ต้องแสดงความประสงค์ลาออกจากการเป็นสมาชิก กบข. ก่อนวันที่จะออกจากราชการ
3.การแสดงความประสงค์ออกจากการเป็นสมาชิก กบข. ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2557 หรือวันออกจากราชการ ให้ได้รับบำเหน็จบำนาญตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการปี 2494
4.ข้าราชการตามข้อ 13 จะไม่มีสิทธิได้รับเงินประเดิม เงินชดเชย เงินสมทบ และผลประโยชน์เงินดังกล่าวจากกองทุน กบข. สำหรับเงินสะสมและผลประโยชน์ของสมาชิก ทางกองทุนจะจ่ายคืนให้กับข้าราชการผู้นั้น
5.หากข้าราชการที่แสดงเจตจำนงลาออกจากสมาชิก กบข. เสียชีวิตก่อนวันที่ 1 ต.ค. 2557 หรือวันก่อนออกจากราชการ ให้ถือว่าการแสดงความประสงค์ออกจากสมาชิก กบข. ไม่มีผลบังคับใช้
ในส่วนที่สอง การแก้ไขกฎหมาย กบข. ให้ผู้รับบำนาญ ที่เป็นสมาชิก กบข. ซึ่งเข้ารับราชการก่อนวันที่ 27 มี.ค. 2540 กลับไปรับบำนาญแบบเก่า โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1.ผู้รับบำนาญแสดงความประสงค์รับบำนาญแบบเดิม ตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการปี 2494 ตั้งแต่วันที่กฎหมายบังคับใช้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2557 และผู้รับบำนาญต้องคืนเงินก้อน (เงินประเดิม เงินชดเชย เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินดังกล่าว) โดยผู้รับบำนาญจะได้รับบำนาญสูตรเดิมตั้งแต่วันที่ออกจากราชการจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2557 โดยวิธีหักกลบลบกัน
2.การหักกลบลบกัน หากผู้รับบำนาญต้องคืนเงินส่วนเกินให้ส่วนราชการภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2557 และกรณีที่ผู้รับบำนาญได้รับเงินคืน ทางกรมบัญชีกลางจะดำเนินการคืนให้
3.ผู้รับบำนาญที่มีเงินส่วนเกินคืนให้ส่วนราชการ ต้องดำเนินการให้เสร็จภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2557 ถึงจะได้รับสิทธิกลับไปรับบำนาญแบบเดิม
4.หากผู้รับบำนาญที่แสดงความประสงค์ออกจากสมาชิก กบข. แต่เสียชีวิตก่อนวันที่ 1 ต.ค. 2557 ให้ถือว่าการแสดงความประสงค์ดังกล่าวไม่มีผล และในกรณีที่ผู้รับบำนาญจ่ายเงินส่วนเกินคืนให้กับทางการแล้ว ทางกรมบัญชีกลางจะดำเนินการคืนให้ต่อไป
จากร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ทำให้ข้าราชการ และผู้รับบำนาญ ที่เป็นสมาชิก กบข. และเป็นข้าราชการก่อนวันที่ 27 มี.ค. 2540 มีทางเลือกที่จะรับบำนาญของ กบข. หรือตามระบบเดิม
ปัจจุบันข้อมูลสมาชิก กบข. ที่เป็นข้าราชการมี 1.18 ล้านคน ผู้รับบำนาญ 2.11 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกที่รับราชการก่อนวันที่ 27 มี.ค. 2540 ที่เป็นข้าราชการ 7.67 แสนคน และเป็นผู้รับบำนาญ 2.09 แสนคน รวมเป็นทั้งหมด 9.7 แสนคน ที่จะสามารถเลือกรับบำนาญแบบ กบข.ต่อไป หรือเลือกรับบำนาญแบบเดิม
การจะเลือกแบบไหนก็ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของข้าราชการ และผู้รับบำนาญเอง ว่าอย่างไหนจะดีกว่ากัน
ที่ผ่านมามีปัญหาสูตรบำนาญของ กบข. ที่ให้นำเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย คูณด้วยจำนวนปีที่รับราชการ หารด้วย 50 ปี และผลที่ออกมาต้องไม่เกินเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ซึ่งพบว่ามีสมาชิกหลายคนได้รับเงินบำนาญน้อยกว่าระบบเดิม
โดยสูตรรับบำนาญระบบเดิม ให้นำเงินเดือนสุดท้าย คูณด้วยจำนวนปีที่รับราชการ และหารด้วย 50 ปี และต้องไม่เกินเงินเดือนสุดท้าย ซึ่งจากสูตรก็จะเห็นว่าตัวคูณที่เป็นเงินเดือนเป็นจำนวนสูงไม่ต้องไปเฉลี่ยให้ต่ำเหมือนสูตรของ กบข. ทำให้จำนวนบำนาญแบบเดิมมากกว่าจำนวนของ กบข.
ปัญหาดังกล่าว เป็นจุดสำคัญทำให้ข้าราชการที่รับราชการก่อนวันที่ 27 มี.ค. 2540 ที่สมัครเป็นสมาชิก กบข. รู้สึกคิดผิด ยิ่งนำไปเทียบกับเพื่อนราชการรุ่นเดียวกัน แต่ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข. ได้รับเงินบำนาญสูงกว่า ยิ่งทำให้ปวดใจ
อย่างไรก็ตาม การได้รับผลตอบแทนต้องคิดในภาพรวมทั้งหมด การเป็นสมาชิก กบข. ได้รับบำนาญน้อยกว่าแบบเดิมก็จริง แต่ผู้เป็นสมาชิก กบข.ต้องไม่ลืมว่า เมื่อออกจากราชการจะได้รับเงินก้อนจำนวนหนึ่งมาตุนไว้วางแผนใช้จ่ายหรือลงทุนหลังเกษียณอายุ ซึ่งระบบบำนาญแบบเดิมไม่มี
ดังนั้น การคิดผลตอบแทนที่แท้จริง สมาชิก กบข.ต้องคิดทั้งเงินก้อนที่จะได้รับ รวมกับเงินบำนาญ และนำไปเทียบกับการรับบำนาญแบบเก่า
ทางกรมบัญชีกลางมีการคำนวณออกมาว่า ผู้ที่มีอายุราชการ 40 ปีขึ้นไป การเลือกรับบำนาญแบบเก่าจะได้ผลตอบแทนที่มากกว่าระบบบำนาญแบบเดิม
ขณะเดียวกัน คนที่รับราชการไม่ถึง 40 ปี โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุรับราชการจำนวนน้อย การเลือกรับบำนาญจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งเป็นกรอบที่ข้าราชการ และผู้รับบำนาญสามารถนำไปคำนวณคิดคร่าวๆ ได้ว่า อย่างนั้นจะได้ผลตอบแทนมากกว่า
ซึ่งในส่วนของข้าราชการที่ยังเป็นสมาชิกอยู่ การตัดสินใจ ต้องประเมินผลตอบแทนจากการลงทุนของ กบข.ด้วย ว่า ณ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 7% รับได้หรือไม่ การที่จะให้ผลตอบแทนของกองทุนอยู่ที่ 912% เหมือนตอนที่ถูกชักชวนเข้ากองทุนคงเป็นเรื่องยาก เพราะการลงทุนในปัจจุบันมีความผันผวนสูง และมีความเสี่ยงอยู่ไม่ใช่น้อย
ดังนั้นการลงทุนของ กบข. ในภาวะเช่นนี้ต้องเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก ได้น้อยดีกว่าเข้าเนื้อ ซึ่งจะเป็นปัญหามากขึ้น
นอกจากนี้ ในส่วนของข้าราชการบำนาญที่มีสิทธิเลือกออกจากสมาชิก กบข. ก็ต้องคิดให้หนัก เพราะผู้รับบำนาญได้เงินก้อนจากกองทุนไปแล้ว หากจะลาออกจากการเป็นสมาชิก ต้องคืนเงินก้อนที่ได้ไปคืนให้กับทางการก่อน ซึ่งในส่วนของผู้ที่ยังเก็บเงินก้อนนั้นอยู่ ก็ยังมีเงินนำมาคืนได้
แต่ในส่วนของผู้รับบำนาญที่ใช้เงินก้อนไปหมดแล้ว และต้องไปกู้ยืมเงินมาใช้ทางการ เพื่อจะได้ลาออกจากการเป็นสมาชิก กบข. เพื่อให้ได้รับเงินบำนาญที่สูงกว่า ก็ต้องคำนวณให้ดีว่าดอกเบี้ยที่ต้องเสียไปกับเงินกู้ กับเงินที่ได้เพิ่มคุ้มกันหรือไม่กับที่ต้องกลายเป็นหนี้
มนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า การแก้กฎหมาย กบข. ไม่ได้เปิดทางให้สมาชิกที่รับราชการก่อนวันที่ 27 มี.ค. 2540 สามารถเลือกรับบำนาญแบบเดิมได้เท่านั้น แต่ยังเปิดให้ข้าราชการที่เข้าทำงานก่อนวันที่ 27 มี.ค. 2540 แต่ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข. สามารถ ที่จะสมัครเป็นสมาชิกของ กบข.ได้อีกด้วย หากคำนวณแล้วว่าได้รับผลตอบแทนมากกว่าไม่เป็นสมาชิก
ทั้งหมดเป็นทางเลือกที่รัฐบาลให้ข้าราชการได้เสี่ยงโชค เพื่อที่รัฐบาลรอดตัวจากม็อบ กบข.มาปิดล้อมเรียกร้องให้กวนใจอีกต่อไป
|