“ธนินท์ เจียรวนนท์”
ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์
เป็นที่รู้จักดีของรัฐบาลจีน ล่าสุดเมื่อช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือนมีนาคม
2557 “ธนินท์” ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม “China Development Forum 2014”
ในหัวข้อการประชุมเรื่อง “Comprehensively Deepen Reform” จัดโดย “China
Development Research Foundation”
ไม่เพียงแต่จีนเท่านั้น ชื่อ “ธนินท์ เจียรวนนท์”
ยังได้รับการเชื้อเชิญจากรัฐบาลพม่าให้เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ
นี่ยังไม่รวมในฐานะนักธุรกิจข้ามชาติที่เข้าไปลงทุนในประเทศอื่นๆ อาทิ
ตรุกี อินเดีย และประเทศในอาเซียน เป็นต้น
ที่ผ่านมา
เครือซีพีได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลจีนให้เข้าร่วมลงทุนในกิจการหลายอย่าง
เมื่อถามว่าเสียใจไหมที่ต่างชาติกลับให้ความสำคัญกับซีพีมากกว่ารัฐบาลไทย
คำตอบของ “ธนินท์” คือไม่เสียใจ ที่ไหนอยากให้ช่วยก็ไปช่วยที่นั่น
“ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์
“ธนินท์” ได้ร่วมสนทนากับผู้สื่อข่าว ณ Beijing Hong
Jockey Clubhouse กรุงปักกิ่ง โดย “ธนินท์” มองว่า
ที่ผ่านมาจีนเดินนโยบายเหมือนเมืองไทย คือ “สองต่ำ” เพื่อขายแรงงานต่ำ
ค่าครองชีพต่ำ แต่วันนี้หมดยุคแล้ว จีนผลิตสินค้าขายไปทั่วโลก
เศรษฐกิจเจริญเติบโต และหลาย 10 ปีที่ผ่านมาจีนไปเบียดตลาดของคนอื่น
ตอนนี้ทุกประเทศในโลกมีสินค้าจีนเข้าไปขายหมดแล้ว ดังนั้น
ข้างหน้าจึงซื้อเพียงทดแทนเท่านั้น
ซึ่งไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจของจีนขยายตัวเร็วเหมือนที่ผ่านมา
พอเป็นอย่างนี้ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ในสังคมจะเกิดขึ้น เพราะว่า
ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนจะห่างกันไกลมาก
“ที่ผ่านมากว่า 5,000 ปี
ทุกครั้งที่กษัตริย์ล้มคือเกษตรกรขึ้นมาล้มรัฐบาล จีนเขาเข้าใจ
และรัฐบาลชุดนี้เขาทำเป็น ใช้ “สองสูง” พอใช้สองสูง กำลังซื้อภายในเกิดขึ้น
เขาใช้ทรัพยากรของโลก แล้วใครๆ ก็จะให้เครดิตเขาด้วย
ต้องเรียนรู้จากประเทศจีน เขาใช้ทรัพยากรของโลกอย่างไร
คำถาม : จีนต้องผลิตอะไรที่มีมูลค่าเพิ่มสูงเป็นพิเศษ แพงขึ้น
สินค้าธรรมดาๆ ขายเมืองจีนก็ไม่ไหวแล้ว ไม่ต้องไปขายต่างประเทศหรอก ถ้า
700 ล้านคนมีกำลังซื้อขึ้นมา ของที่วันหนึ่งขายไม่ออก
จีนก็เอาไว้กินในเมืองจีนก็เรียบแล้ว ในเวลาเดียวกันก็ค่อยๆ
พัฒนาสินค้าที่เกรดสูงขึ้น
คำถาม : แต่จีนจะขาดดุลการค้ามากขึ้น จะมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ จีนจะยอมรับได้หรือ
อะไรที่เขาทำแล้วขายในเมืองจีนได้ แล้วขายไปทั่วโลก
ไม่มีใครสู้เขาได้หรอก พลังสู้เขาไม่ได้
แม้เวลานี้ก็ยังส่งออกมากกว่าขายภายในประเทศ ถ้าบาลานซ์กัน สบายเลย
รายได้ของคนในชาติ เศรษฐกิจโตขึ้น ประเทศที่เจริญขึ้นการส่งออกก็ลดลง
ดูอเมริกา การส่งออกนิดเดียว เพราะบริโภคในประเทศหมด จะไม่เป็นปัญหา
คำถาม : บริษัทที่รัฐเข้ามาร่วมลงทุนด้วย เช่น ไฮเออร์ ทำไมเก่ง จากประสบการณ์แล้วรัฐวิสาหกิจทั่วโลกไม่ค่อยเก่ง
ผู้บริหารคือคนที่มาจากสมาชิกคอมมิวนิสต์ทั้งนั้น คือคนดี ตั้งใจ คนจีนไม่ธรรมดา
คำถาม : แล้วการลงทุนของซีพีในจีน
กำไรที่ได้จากที่นี่ก็ใส่เข้าไป ยังไม่เคยไปคิดว่าเป็นเท่าไร
เพราะเราถือว่ากำไรจากที่นี่ก็ช่วยที่นี่ คือกระจายความเสี่ยง
ตอนนี้ไปลงทุนที่บังกลาเทศก็ได้ผลดี ประชาชนยังจนอยู่
ของเราผลิตที่นั่นขายที่นั่น เราถนัดทำให้ของถูกลงโดยใช้เทคโนโลยี
ไฮเทค ทั้งการเลี้ยงไก่ ผลิตไข่ไก่ คือ
เราใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำการเกษตรแบบใหม่
ซึ่งคนเข้าใจผิดว่าประเทศที่ด้อยพัฒนาใช้ไฮเทคไม่เป็น ไม่มีทุน ไม่ใช่แล้ว
วันนี้เกี่ยวกับเรื่องเกษตรใช้เทคโนโลยีทันสมัยหมดแล้ว
อย่างแทร็กเตอร์ ใช้ไฮดรอลิกหมด ติดแอร์ ฝุ่นก็ไม่เข้า เสียงก็ไม่มี
เปิดสเตอริโอได้อีก จะไปหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน ใครจะเอา
หรืออย่างเลี้ยงไก่หมื่นตัว เวลานี้ใช้หุ่นยนต์ช่วย อยู่ในห้องแอร์สบาย
ไก่ก็อยู่ในห้องแอร์ คนก็อยู่ในห้องแอร์ อย่างนี้จะไปเหนื่อยอะไร
นี่คือไฮเทค
คำถาม : ที่บังกลาเทศก็ทำแบบนี้
เราไปที่ไหนก็ต้องเอาไฮเทคเข้าไป เพียงแต่ขั้นไหน
เราต้องเปลี่ยนวิธีการหมด เขาเป็นชาวนา ชาวไร่ เลี้ยงไก่ยากลำบากอยู่แล้ว
หากเราไปทำให้เขายากลำบาก ไม่มีใครเล่นกับเรา ต้องทำให้เขาเลี้ยงไก่ 10,000 ตัว สบาย ทำงาน 16 ชั่วโมงยังไม่เหนื่อยเลย จึงจะสำเร็จได้
คำถาม : ถ้าใช้เทคโนโลยีช่วย แล้วการจ้างงานเป็นอย่างไร ทำให้งานที่คนจะทำลดลงไป
คนเลี้ยงไก่จะลดลง
แต่ถ้าเราทำเกษตรให้ครบวงจรและใช้เทคโนโลยีทันสมัยมาช่วย จะได้งานมากกว่า 3
เท่า พอคุณเลิกจากเลี้ยงไก่ คุณมาทำงานที่โรงฆ่าไก่
หรือคุณไปเป็นคนขับรถขนส่งอาหาร ขับรถขนส่งไก่
คุณอาจจะเป็นเจ้าของรถยนต์เลย ผมจ้างคุณแน่นอน เดือนหนึ่งคุณมีรายได้
คุณไปผ่อนส่งรถ รถคันนี้คุณก็เป็นเถ้าแก่เอง แต่อยู่ในการจัดการของบริษัท
แล้วอีกพวกหนึ่งสร้างให้เขาจับไก่เป็นมืออาชีพ จนไก่ยังไม่รู้เลยว่าถูกจับ
เป็นความเชี่ยวชาญ ไม่ใช่เอาคนที่ไม่เชี่ยวชาญมาจับ จับแล้วเหนื่อย
คนก็เหนื่อย ไก่ก็เหนื่อย และมีโรงฆ่าเสร็จไปแปรสภาพ
เสร็จแล้วก็ต้องมีหีบห่อ แล้วต้องกระจายสินค้าไปขาย พนักงานขับรถ
ไปทำโฆษณาอีก ทำให้มีอีกหลายหน่วยงานเกิดขึ้น
ดังนั้น การจ้างงานของคนมากขึ้นด้วยซ้ำ แล้วเงินเดือนได้สูงขึ้น เพราะเป็นอุตสาหกรรมเกษตรที่ครบวงจร
คำถาม : คนเลี้ยงไก่ 10,000 ตัว ได้กำไรกี่เปอร์เซ็นต์
ในสมัย 40 กว่าปีก่อน รายได้เกษตรกรที่ทำเองของครอบครัวหนึ่ง 1,000
บาทต่อเดือน แต่ถ้าลูกป่วย เดือดร้อนแล้ว 1,000 ไม่พอ
ตอนนั้นผมให้เกษตรกรในโครงการเดือนละ 6,000 บาท
เปรียบเทียบกับที่เขาทำแทบตายและยังเสี่ยงกับดินฟ้าอากาศอีก เขาได้ 1,000
บาท
“ผมตั้งมาตรฐานอยู่ตรงกลาง คือ 60 คะแนน เขายังมีอีก 40 เพื่อไต่เต้า
ให้เขามีความหวัง มีโอกาสได้เงินสูงกว่านี้ แล้วสุดท้ายคนที่เลี้ยงเก่งๆ
ได้ 11,000-12,000 บาทต่อครัวเรือน ในสมัยนั้นทุกคนมีโอกาสซื้อรถปิ๊กอัพ
สร้างบ้าน ผ่อนคืนได้ภายใน 5 ปี โรงเรือนเลี้ยงไก่ตอนนั้นใช้งบลงทุนเพียง
4-5 แสนบาทต่อหลัง เป็นโครงการที่อำเภอศรีราชา 200 กว่าโรงเรือน สมัยนั้น
ดร.เสนาะ อูนากูล เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ มาบอกผมว่า คุณธนินท์
ทำไมคุณไม่ส่งเสริม 100 คน คนละ 100 ตัว ถ้าทำอย่างนี้ คุณไปส่งเสริม
10,000 ตัว อีก 99 คน ต้องเข้าป่านะ (เป็นยุคคอมมิวนิสต์)
เอาผมไปพูดที่แบงก์ชาติ เต็มไปด้วยดอกเตอร์ทั้งนั้น ผมเอาของจริงไปพูด
ถ้าผมส่งเสริมให้ทำ 10,000 ตัว คนละ 100 ตัว ถ้า 100 ตัว
ตัวหนึ่งต้องให้ได้กำไร 20 บาท แล้วผมต้องไปส่งอาหาร 100 ครอบครัว
เฉพาะค่าขนส่งอาหารคิดเป็นเท่าไร เวลาจะไปจับไก่ 100 ครอบครัว จับไป 30
ครอบครัวแรก ไก่เริ่มตายแล้ว คิดว่าค่าใช้จ่าย รวมไก่ตายก็ 40 บาท
แล้วต้นทุนของอาหารอีก”
คำถาม : ตอนนี้ซีพีเลี้ยงไก่ที่เมืองไทย กี่ล้านตัว
เกือบจะ 200 หรือ 300 ล้านตัวต่อปี
คำถาม : แล้วคนไทยกินไก่ต่อปีเท่าไหร่
ตอนนี้คนไทยกินไก่ประมาณ 14 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
ถ้าเลี้ยงไก่ตามความต้องการขนาดนี้จริงๆ ก็ประมาณสัก 12 ล้านตัวต่อสัปดาห์
แต่เมืองไทยตอนนี้เราเลี้ยงไก่ 18-19 ล้านตัว สูงสุดถึง 23 ล้านตัว
ตอนนั้นเราส่งออกไปญี่ปุ่น
แต่หลังจากส่งไก่แช่แข็งไปญี่ปุ่นไม่ได้ก็ลดลงมาเหลือ 17 ล้านตัว
แต่บริโภคในประเทศ 12 ล้านตัว อีก 5 ล้านตัว
จะผลิตเป็นไก่ปรุงสุกส่งเข้าไปยุโรป
โรงงานผลิตรถยนต์ SAIC Motor ที่เครือซีพีร่วมลงทุนกับรัฐบาลจีน
คำถาม : ซีพีลำดับความสำคัญของธุรกิจในจีนอย่างไร เพราะมีหลายธุรกิจ ทั้งอาหารสัตว์ ศูนย์การค้า รถยนต์ มอเตอร์ไซด์
วันนี้การผลิตรถมอเตอร์ไซด์ก้าวไปผลิตเป็นรถไฟฟ้า 4 ล้อ นั่งได้ 4 คน
กับนั่งได้ 2 คน ราคาถูกกว่ารถกอล์ฟ ต่อไปจะไปแทนรถกอล์ฟได้สบายๆ วิ่งได้
50 กิโลเมตร หรือประมาณ 8 ชั่วโมง ตอนนี้ 4 ล้อคนนิยมมากในประเทศจีน
ฤดูหนาวหิมะตกก็ไม่ลื่น ไม่คว่ำง่าย มอเตอร์ไซค์เจอหินมันลื่นเลย อันตราย
ซีพีได้ร่วมทุนกับบริษัทนี้ซึ่งเป็นของรัฐบาล
โรงงานที่ซีพีผลิตมอเตอร์ไซค์เดิมใช้ผลิตเรือบิน แล้วเรือบินย้ายไปที่อื่น
โรงงานนี้ก็ว่างทั้งคน ทั้งโรงงาน เราก็เอามาผลิตมอเตอร์ไซค์
คำถาม : จะเอาไปขายเมืองไทยไหม
จะเอาไปขาย
คำถาม : ตอนนี้เกษตรอันดับหนึ่ง รถยนต์อันดับสอง
ยังครับ ศูนย์การค้ายังเป็นอันดับสองอยู่
และเราไปลงทุนด้านธุรกิจการเงิน ปีหนึ่งกำไรโต 40 เปอร์เซ็นต์
เป็นแบงก์เอกชนชื่อ “ผิงอัน” ซีพีเข้าไปถือหุ้น 15 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งประธานผิงอันคนนี้อัจริยะมาก เราเข้าไปเป็นกรรมการ
ผมบอกกับเขาว่าผมจะหนุนคุณให้เป็นประธานต่อไป หาคนอย่างนี้ได้ที่ไหน
คำถาม : มีปัญหาหนี้เสียไหม
ไม่เลย ของเขาไม่มีปัญหาเลย
คำถาม : ฟังดูแล้วกิจการของซีพีที่ทำในประเทศจีนใหญ่กว่าในประเทศไทยหลายเท่า
ยังนะ เพราะว่าเมืองไทยเรามีทั้งโทรศัพท์ มีทั้งเซเว่น แล้วอาหารเราขายทั่วโลก อาจจะไล่เลี่ย แต่อีกไม่กี่ปีแซงแน่นอน
คำถาม : นอกจากจีนแล้วมีประเทศไหนอีก
อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม เราก็เป็นที่หนึ่ง ซีพีทำอะไร วันนี้ไม่ใหญ่ วันหน้าต้องใหญ่ เพราะว่าเราแหวกแนว เราทำไม่เหมือนเขา เราเอาเทคโนโลยีทันสมัยเข้าไป
อินเดีย เราเอาไก่ย่างห้าดาวเข้าไป เราไม่ได้ย่างนะ เราทอด
เรามีความสามารถทำไปถึงโต๊ะอาหาร
แล้วอินเดียเราก็เข้าไปขายพันธุ์ข้าวโพดโซนร้อนใหญ่ที่สุด
ไม่ใช่ว่าเรามีเงินอย่างเดียว ทำได้ทุกอย่าง มันต้องมีเงิน มีโอกาส การ
ลงทุนใน “ผิงอัน” เป็นโอกาส เขารู้ประวัติซีพีว่าไม่ได้เป็นคนเกเร
เป็นคนสนับสนุนคนเก่ง ทีมงานเขายินดีเลยให้เราเข้ามา ทั้งๆ ที่มีรายอื่นๆ
ใหญ่กว่าซีพีเยอะ เช่น เทมาเส็ก พวกกองทุนใหญ่ๆ
ที่ต้องการเข้าไปร่วมลงทุนกับเขา แต่เขาเลือกเรา
คำถาม : เพราะอะไร
เพราะเราไม่ได้เกเร เรามีแต่สนับสนุนเขา
นอกจากนี้ผู้บริหารซีพีไม่ใช่คนในตระกูลเจียรวนนท์ ไม่ใช่ลูกหลานผม เช่น
ซีพีเอฟ มีคุณอดิเรก ศรีประทักษ์ ดูแล อย่างซีพีออลล์ก็คุณก่อศักดิ์
ไชยรัศมีศักดิ์ เราให้โอกาส ให้อำนาจ เหมือนคุณเป็นเจ้าของเลย คุณว่าไปเลย
ขอให้มีกำไร แล้วอย่าออกนอกทางพอแล้ว
คำถาม : ทำการเกษตรที่ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ เป็นเพียง 2 ที่หรือเปล่า ที่เป็นนวัตกรรมสมัยใหม่ที่ทำร่วมกับรัฐบาลและเกษตรกร
มี 10 กว่ามณฑล วันนี้เปลี่ยนแนวคิดใหม่ ชักชวนเกษตรกรรายเล็กๆ
มาร่วมทำในนามสหกรณ์ เพราะรายเล็กรายย่อยไม่มีที่ดินจะขยาย
ไม่มีกำลังเงินจะขยาย ไม่เหมือนเมืองไทย มีที่เยอะแยะให้เช่า ให้ซื้อ
แต่ที่เมืองจีนมีที่ดินจำกัดมาก และเป็นรายเล็กรายย่อยมากไป
รวมทั้งเรื่องโรค ควบคุมไม่ได้ แล้วยังมีค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายก็สูง
วันนี้ผมเอาใหม่ เอาฟาร์มเล็กมารวมเป็นฟาร์มใหญ่ เป็นสหกรณ์
สมมติว่าจะเลี้ยง 10,000 ตัว อย่าไปเลี้ยงเอง 10,000 ตัว
เพราะค่าขนส่งก็แพง เลี้ยง 100,000 ตัวหรือ 300,000 ตัว เป็นฟาร์มใหญ่
ต้นทุนจะถูกลง แล้วคุณก็ได้เงินเท่ากับเลี้ยง 10,000 ตัวหรือ 5,000 ตัว
โดยรวมตัวเป็นสหกรณ์ แล้วซีพีเป็นผู้ช่วยทุกอย่าง ทั้งเทคโนโลยี การตลาด
คุณเลี้ยงแล้วเราซื้อหมด หรือว่าไม่มีคนบริหาร เราส่งคนไปช่วย
หรือเกษตรกรรวมรวมตัวแล้วให้ซีพีเช่าก็ได้ เกษตรกรกำไรแน่นอน
แล้วเกษตรกรก็ไปทำงานอื่น เขาก็มี 2 รายได้ทันที
คำถาม : แบบนี้ถ้าไปทำที่เมืองไทยจะทำได้ไหม และต้องเป็นอะไรที่ทำแบบนี้ได้
ได้ครับ หมู ไก่ ต่อไปก็ต้องเป็นแบบนี้
คำถาม : นี่คือการทำเกษตกรรมแบบที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ใช่ และรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร
คำถาม : แล้วทำไมที่เมืองไทยคนไม่เข้าใจอย่างนี้
เขานึกว่าผมต้องโกง แล้วผมถึงจะรวย เขาคิดว่าซีพีรวยเพราะโกง
เขาไม่เข้าใจว่าซีพีรวยเพราะใช้ไฮเทค ใช้ระบบอินทิเกรต คือ เอาหลายๆ
ขั้นตอนมารวมกันให้เหลือ 1 ขั้นตอน ลดขั้นตอน เพิ่มประสิทธิภาพ
ลองคิดดู สมัยโบราณ เกษตรกรเลี้ยงไก่ 5 คนกำไร รุมกินโต๊ะเกษตรกรคนเดียว
สมัยก่อนมีฟาร์มไก่พันธุ์ขายลูกไก่ กำไรไปหนึ่งขั้นตอน
จะซื้อลูกไก่ต้องไปซื้อจากฟาร์มนี้
ถ้าหากว่ารายย่อยไปซื้อจากเอเยนต์อีกด้วย
ซื้อตรงก็ไม่ได้เพราะไม่รู้จักเจ้าของฟาร์ม ก็ต้องผ่านเอเยนต์ ซับเอเยนต์
ไก่พันธุ์ อาหารสัตว์ก็ต้องมีเอเยนต์ ซับเอเยนต์ ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว
ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่รายเล็กรายย่อยจะไปซื้อตรงกับโรงงานอาหารสัตว์
หรือซื้อยา เวลาขาย เขาขายผ่านเถ้าแก่ย่อย พ่อค้าท้องถิ่นไปขายให้อำเภอ
หรือไม่ก็ขายให้บริษัทใหญ่ 5 ขั้นตอน ถูกรุมกินโต๊ะ 5 ขั้นตอน แต่
ผมเอา 5 ขั้นตอนนี้ให้เหลือ 1 ผมเอา 4 ขั้นตอนอยู่ที่ผม
ผมก็มีพลังที่จะขายไปให้ญี่ปุ่น ไปยุโรป แล้วให้ประโยชน์คุณ
แต่คุณไม่ใช่เลี้ยง 100 ตัว แต่ต้องเลี้ยง 10,000 ตัว 20,000 ตัว
ไม่เช่นนั้นคุณไม่พอกิน ไม่พอใช้ เพราะค่าครองชีพสูงขึ้น
คุณเลี้ยงเพิ่มเป็น 30,000 ตัว เลี้ยงเป็น 40,000 ตัว
ต้องใช้ไฮเทคแล้วเพิ่มจำนวน เพื่อลดต้นทุน ถ้าคุณบอกว่าคุณไม่พอ
ขึ้นราคาไปอีก ถ้าคุณขึ้นราคาได้ ผู้บริโภคเขาก็ซื้อน้อยลง
คุณก็ต้องเลี้ยงน้อยลง กลายเป็นงูกินหาง สุดท้ายเหลือแต่หัวตายทั้งคู่
ไข่ไก่ซีพี
แต่ถ้าเพิ่มจำนวนการเลี้ยงให้มากขึ้น ก็สามารถขายถูกลง
คนยากจนอีกกลุ่มหนึ่งก็มีโอกาสมากินไก่ พวกที่ไม่ยากจน
สมัยก่อนอาจจะได้กินไก่ 1 ครั้งต่อปี ก็กลายเป็น 2 ครั้งต่อปี
ไก่คุณก็ขายได้มากขึ้น คุณเลี้ยงมากขึ้น ขายถูก
ไม่ใช่เลี้ยงมากขึ้นไปขายแพงขึ้น ขณะที่เงินเขายังมีจำกัด
พอเป็นอย่างนี้ผมก็ส่งออกไปขายญี่ปุ่น เมื่อ 30 กว่าปีก่อน ขายได้อย่างไร
เพราะเราเลี้ยง 10,000 ตัว แล้วโรงงานก็ทันสมัยกว่าญี่ปุ่นอีก
หรือเราขายไปยุโรปได้อย่างไร เพราะโรงงานของเราเหนือกว่ายุโรปอีก
เพราะเราเอาความรู้ เทคโนโลยีของเขามา แล้วมาดัดแปลง ปรับใหม่
คำถาม : สรุปว่าเทคโนโลยีของซีพีอยู่ในระดับโลก
ใช่ครับ เทคโนโลยีของเราอยู่ในระดับโลกแล้ว
คำถาม : ในโลกตอนนี้ พวกที่ทำไก่แบบซีพี นอกจากในประเทศไทยแล้ว มีอเมริกา นิวซีแลนด์
มีหมดทุกประเทศ แต่ต้องดูคนละอย่าง เทคนิค รายละเอียด ต้นทุน
ไม่เหมือนกัน ของเราเป็นค้าปลีกด้วย แต่เราไปไกลแล้ว ขายไปยุโรปด้วย
ไม่ใช่ขายเฉพาะในเมืองไทย
วันนี้โรงงานเราลงทุนแพงมาก แต่เราผลิตเยอะ
แม่ค้าหาบเร่ต้นทุนยังแพงกว่าเราอีก
เพราะเราออกจากโรงงานนี้ก็เข้าไปอีกโรงงานไม่ต้องขนส่ง
แปรสภาพสำเร็จรูปไปแล้ว ต่อไป อย่างแกงเขียวหวาน
เราผลิตให้แม่ค้าหาบเร่ไปขาย ยังถูกกว่าเขาไปทำเอง
คำถาม : ถ้าอย่างนั้นก็แปลว่า โอกาสที่ประเทศ โดยเฉพาะซีพีจะมีขีดความสามารถสูงในระดับโลก นอกจากผลิตไก่แล้ว ก็รวมทั้งหมูด้วย
หมูเราถูกจำกัด ไม่ใช่นั้นเราก็ระดับโลกเช่นกัน ส่งได้เฉพาะญี่ปุ่น
เกาหลี ส่วนยุโรปยังไม่ให้เราไป อเมริกาก็ยังไม่ยอมให้เราไป
เป็นเรื่องการเมือง
คำถาม : เนื้อวัวเรามีโอกาสไหม
เรายังไม่ได้ทำ เนื้อวัวขาดแคลนแน่นอน พออินเดียรวยขึ้น พม่ารวยขึ้น
เขมรรวยขึ้น เราไม่มีวัว เมื่อหลายปีก่อนเราก็เอามาจากประเทศเหล่านี้
พอเขารวยขึ้นไม่มีแล้ว เนื้อวัวจะหายไปแล้ว
คำถาม : เมืองไทย ทำเนื้อวัวคุ้มไหม
คุ้ม ต้องให้ราคาสูงขึ้นอีกหน่อย เราต้องปลูกหญ้าขน
ผมกำลังคิดถึงเรื่องนี้ มีแนวคิดว่าจะไปส่งเสริมครอบครัวที่ยากจน
เลี้ยงวัวครอบครัวละ 1 ตัว เลี้ยงสักปีหนึ่ง ขายได้ 4-5 หมื่นบาท
เดือนหนึ่งก็ 3-4 พันบาท มาเสริม แต่เขาทำอย่างอื่นด้วย
ตอนนี้เรายังเลี้ยงวัวกันน้อยมาก ต่อไปรับรองว่า
เราต้องไปนำเข้าจากอเมริกามา
คำถาม : การแก้ปัญหาภาคเกษตรของไทย
ที่ผ่านมาเรากดค่าครองชีพให้ต่ำ มันไม่ถูกต้อง
เท่ากับเราเดินนโยบายเอาคนจนมาอุดหนุนคนจนในเมือง ผมพูดเสมอ
ถ้ารัฐบาลมีความสามารถต้องทำให้คนจนในเมืองรวยขึ้น ไม่ใช่อาศัยกดราคาไข่
กดราคาข้าว แล้วทำให้คนจนในเมืองอยู่ได้ …ไม่ใช่
วันนี้จีนเข้าใจ ขึ้นเงินเดือน ขึ้นราคาสินค้าเกษตร
เพราะสินค้าเกษตรคือน้ำมันบนดิน ถ้าประเทศไหนมีน้ำมัน แล้วน้ำมันราคาถูก
ประเทศนั้นจะจนเหมือนกัน นี่เป็นทรัพย์สมบัติของเรา ทำน้ำมันก็ได้
ทดแทนอะไรก็ได้ โดยเฉพาะเกษตร
เลี้ยงชีวิตมนุษย์ปล่อยให้ราคาถูกกว่าน้ำมันได้อย่างไร
ถ้าเราขึ้นราคาข้าว จริงๆ ไม่ต้องเดือดร้อน เท่ากับเราพิมพ์เงินบาทหนึ่ง
เราพิมพ์เงินเพิ่มขึ้นมาได้อีกหนึ่งบาท เพราะนี่คือทรัพย์สมบัติของเรา
เหมือนกับเอาที่ดินไปจำนำกับแบงก์ถ้าที่ดินราคาตกแบงก์ก็ตาย
ผมอยากจะฝากพวกเราไปดูสิ ประเทศที่เจริญแล้วห่วงที่สุดคือสินค้าเกษตรต่ำ
ถ้าสมมติเขาตั้งราคานี้ ต้องไม่ให้ต่ำกว่านี้ แล้วพิมพ์ธนบัตรให้สมดุลกัน
เพราะถ้าสินค้าเกษตรต่ำ เงินเหลือเยอะ
ไม่มีคนซื้อจะทำให้ทุกอย่างราคาแพงขึ้น คนเดือดร้อน
เพื่อไม่ให้ค่าครองชีพสูง
สินค้าเกษตรที่เกิดจากแผ่นดิน อย่างน้อยที่สุดเราได้ถึง 80
อย่างมากก็ซื้อปุ๋ย ซื้อเครื่องจักร แต่เดี๋ยวนี้เครื่องจักรเราก็ทำได้แล้ว
ตรงนี้รัฐบาลต้องเข้าใจก่อนว่า อันนี้เป็นทรัพย์สมบัติ มีค่า
คำถาม : เรื่องข้าว กลไกควรเป็นอย่างไรถึงไม่มีปัญหา
ถ้าจะไม่ให้มีปัญหาต้องทำอย่างนี้ ทีมกระทรวงพาณิชย์ต้องเลิกหมด คือ ผมว่าเอาแมวไปเฝ้าปลา มันไม่กินปลาก็ให้มันรู้ไป
เงินเดือนเขานิดเดียวไปเฝ้าโกดังปลาตั้งเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาท
เราไม่ยอมรับความจริงกัน แล้วมีแต่ว่าบอกว่าไม่ไหว โกงกัน
พูดไปแล้วมีประโยชน์อะไร คุณต้องบอกว่าแล้วทำอย่างไรถึงจะไม่โกง ต้องมีวิธี
ไม่ได้มีแต่ด่าเขาอย่างเดียว
วิธีของผม ให้แบงก์หาโรงสีข้าวที่เชื่อใจได้ ซึ่งเชื่อว่ามี
ถ้าทุกคนในประเทศไทยแย่ เศรษฐกิจไทยจะได้อย่างนี้ได้อย่างไร พวกไม่โกงก็มี
ให้แบงก์ไปหามา แล้วผมจะฝากข้าวให้ดู มาเช่าโกดัง
ของรัฐบาลก็ได้แล้วจ้างบริษัทซอฟต์แวร์ ในโลกนี้มีพร้อมอยู่แล้ว
รวมทั้งก่อนที่โรงสีจะรับซื้อข้าว ต้องมีคนกลาง
ไม่ใช่เอาเจ้าหน้าที่รัฐไปเป็นคนกลาง เอาบริษัทซอฟต์แวร์มาวางระบบ
ถ้าตรวจว่า นี่เป็นข้าวเกรดเอ เถ้าแก่โรงสีก็เซ็นรับซื้อเป็นเกรดเอ
ถ้าตรวจพบว่าเป็นเกรดบีเมื่อไหร่ จะปรับเงินเท่านี้ เท่านั้น
ให้แบงก์การันตี ถ้าเป็นเกรดบีเมื่อไหร่ เอาเงินจากแบงก์ได้เลย
จากนั้นให้แบงก์ไปฟ้องกันเอง ลูกค้าของแบงก์ ให้แบงก์คัดมาเอง
เขาจะรู้ดีว่าคนนี้โกงหรือไม่โกง แล้วจ้างเขาเก็บอย่างดี
อันนี้เป็นจานข้าวเขา เขาต้องรักษา
คำถาม : ใช้มืออาชีพในกระบวนการนี้ทั้งหมด โดยไม่ใช้ข้าราชการ
อย่าใช้ เอาแมวไปเฝ้าปลามันต้องกิน บางทีเขาไม่เอาก็ต้องถูกบังคับ
ถูกยั่วยวน ถูกขมขู่ได้ แล้วเถ้าแก่โรงสีเขาก็มีอิทธิพลในท้องถิ่น
คุณมาขู่ได้อย่างไร ผมไม่ขู่คุณก็บุญแล้ว
ผู้ร้ายอย่างไรก็สู้ผู้ดีไม่ได้หรอก
คำถาม : อันนี้คือจำนำหรือประกัน
จำนำครับ ประกันเราเสียเปล่า เท่ากับเราไปอุดหนุนโลกให้กินข้าวถูก เราเอามาให้ชาวนาเราดีกว่า แล้วมาจัดการเรื่องโกง
คำถาม : มีโอกาสที่จะทำนาด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ใช่แบบที่เคยทำมา เพื่อผลิตข้าวที่คุณภาพสูงขึ้น ทำข้าวอินทรีย์ โดยซีพีเข้าไปร่วมทำ
อันนี้ต้องใช้เวลา ทำได้ ผมกำลังทำนาอยู่ที่กำแพงเพชร ผมซื้อที่อีก
1,000 กว่าไร่ เป็นที่ทำวิจัย 200 กว่าไร่
จะเอาเกษตรกรมาสอนว่าปลูกข้าวสมัยใหม่ต้องทำอย่างไร
ผมจะลดพื้นที่ปลูกข้าวไป 30 เปอร์เซ็นต์ แล้วข้าวที่ปลูกน้อยไป 30
เปอร์เซ็นต์ ผมใช้เทคโนโลยีทำให้ผลผลิตมากขึ้นอีก 60 เปอร์เซ็นต์ เผลอๆ
มากกว่าพื้นที่ปลูกข้าวที่หายไป 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 30
เปอร์เซ็นต์เอาไปทำอะไร เลี้ยงปลา ปลูกมะพร้าวกะทิ
วันนี้มะพร้าวที่นำมาทำกะทิเราต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ
การผลิตในประเทศไม่เพียงพอ แล้วถ้าซีพีจะทำอาหารไทยขายไปทั่วโลก
มะพร้าวสำหรับทำกะทิจะขาดแคลนอย่างมหาศาล ผมจะทำขนมไทย อาทิ
ขนมปลากริมไข่เต่า ลอดช่อง ขนมบัวลอย ซึ่งของหวานที่เป็นขนมไทย
มีส่วนประกอบมะพร้าว น้ำตาล แป้ง ไปขายทั่วโลก เข้าไมโครเวฟก็รับประทานได้
ร้านอาหารไทยทั่วโลกเอาไปขายได้
คุณต้องไปดูการทำนาแบบสมัยใหม่ ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง
รายได้จากเลี้ยงปลาในนากำไรมากที่สุด รองลงมาก็มะพร้าวที่มาทำกะทิ
รองลงมาเป็นข้าว ผมปลูกปาล์มหรือมะพร้าวสำหรับทำกะทิ
มะพร้าวสำหรับทำกะทิจะกำไรดีกว่า เพราะผมจะทำน้ำตาลมะพร้าว ใส่กาแฟก็หอม
เรามีของดีแล้ว มัวแต่ไปกินน้ำตาลทรายขาว มะพร้าวไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง
แล้วน้ำมันปาล์มก็ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง ถ้าใช้ยาฆ่าแมลงเมื่อไร
ปลาจะเลี้ยงไม่ได้
แปลงทดลองปลูกข้าวที่กำแพงเพชร
ที่ลงทุนหนักมากคือการขุดดินมาทำเป็นคันนาสูงกว่า 12 เมตรเพื่อปลูกมะพร้าว 2
แถว เอาดินจากที่ขุดบ่อปลามาทำ แล้วบ่อปลาเราก็เลี้ยงปลา พอทำนา 4 เดือน
เก็บเกี่ยวข้าวแล้ว เราก็ปล่อยน้ำท่วมนา เป็นบ่อใหญ่ กว้าง 100 เมตร ยาว
1,000 เมตร เลี้ยงปลาต่ออีก 4 เดือน เพราะผมเลี้ยงไว้ก่อน 2 เดือน
ในบ่อเล็กๆ ก่อนปล่อยลงไปในนา ไม่ต้องให้อาหาร เพราะมันเต็มด้วยปุ๋ย
แพลงก์ตอน พอครบ 4 เดือน ผมจับปลาหมด สูบน้ำออก เอาปลาไปขาย
ทำนาอีกครอปหนึ่ง คราวนี้หนูก็ตายเกลี้ยง แมลงก็ถูกน้ำท่วมตายหมด
ผมไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง ปล่อยน้ำท่วม พอมีแมลงมา
สมัยก่อนคันนาเราไม่สูงปล่อยน้ำเข้ามาไม่ได้ เพราะข้าวสูง 1
เมตรหรือเมตรกว่า ตอนนี้ผมทำคันนา 1.50 เมตร พอแมลงมา
ผมปล่อยน้ำท่วมข้าวอยู่ได้ 8 ชั่วโมง
แต่แมลงน้ำท่วมชั่วโมงกว่าก็ตายเกลี้ยงแล้ว ผมเลยไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง
ใช้เครื่องสูบน้ำเข้า ถูกกว่าจ้างคนมาฆ่าแมลง
คำถาม : ที่กำแพงเพชรไม่มีปัญหาเรื่องน้ำ
ที่กำแพงเพชรน้ำเต็ม เราต้องไปหาที่ๆ มีน้ำ ระบบชลประทานเราทำเองเลย
การใช้น้ำฆ่าแมลง ผมเรียนรู้จากผู้ร่วมทุนของเราที่ฉือซี ประเทศจีน
คำถาม : ฟังดูนวัตกรรมแบบพื้นบ้านหลายๆ อย่างในเมืองจีนมีเยอะมาก เช่น ปล่อยน้ำมาฆ่าแมลงแต่ของไทยทิ้งหมด
ทำไมทิ้งรู้ไหม 1. ของเราตั้งสหกรณ์ เพื่อปกป้องไม่ให้นักธุรกิจเข้าไป
กลัวนักธุรกิจเข้าไปกอบโกย กลัวชาวนาเสียเปรียบ
สุดท้ายกลายเป็นคนที่ทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมาเข้าไม่ได้
พวกที่ปีนรั้วเข้าไปสบาย แต่เราเดินตรงๆ เขาไม่ให้เราเข้า ดังนั้น
ระบบสหกรณ์ต้องแก้ 2. การผลิตข้าว กำไรน้อย ความเสี่ยงสูง
คำถาม : กำไรน้อยเพราะผลผลิตของเราต่ำ
ผลผลิตยิ่งน้อยยิ่งต่ำ ไม่มีใครสนใจไปทำ เพราะเสี่ยงมาก
พอราคาแพงหน่อยก็กดราคาไว้ กลัวคนจนในเมืองกินของแพง ดัชนีค่าครองชีพสูง
เงินเดือนข้าราชการก็ต่ำลงอีก นี่คือบริหารผิดมาตลอด
ทำไมเลือกตั้งกี่ครั้งพรรคเพื่อไทยก็ได้ เพราะเขาทำให้เห็น
ประชาชนเลือกเรามาก็เพื่อทำให้เขาร่ำรวย ถ้าผมมีคู่แข่ง
ผมต้องศึกษาว่าคู่แข่งมีอะไรที่เก่งกว่าผม
ผมไม่เคยไปดูถูกคู่แข่งว่าเขามีอะไรด้อยกว่า เขามีอะไรเก่งกว่าเรา
อะไรที่เขาด้อยกว่าเราไม่ต้องไปศึกษา แต่อะไรที่เขาเก่งกว่าเรา
ผมต้องไปศึกษาไปเรียนรู้ เราต้องมาทบทวน
อย่างปัญหาการโกงที่เกิดขึ้น เป็นเพราะกฎหมายและระบบ ผมไม่ไปโทษใคร
เราต้องไปหาจุดอ่อนว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ต้องไปแก้ต้นตอ
จะแก้คอร์รัปชันต้องไปแก้คนที่เขียนกฏเกณฑ์
โรงงานผลิตไข่ไก่ที่ปักกิ่งนำเทคโนโลยี่สมัยใหม่มาใช้
คำถาม : ไม่กลัวคนหาว่าซีพีผูกขาด ทำทุกอย่างหมดเลย แม้แต่ขนมปลากริมไข่เต่า
ไม่มีปัญหา ทุกคนไม่เข้าใจ ซี.พี.เคยผูกขาดเรื่องไก่ 10 ปี
ไม่ใช่รัฐบาลให้ผมผูกขาดนะ เราทำระบบอินทิเกรต แม้บางบริษัทยังว่าผมเลยว่า
คุณธนินท์คุณทำได้คนเดียวเพราะคุณมีทุน
ตอนนั้นทุกคนไม่กล้าคิดเรื่องการเลี้ยงไก่ 10,000 ตัว แต่พอหลังจาก 10 ปี
ก็ถึงบางอ้อว่า ซี.พี. ขายไก่ไปญี่ปุ่น ไปประเทศไทยโน้นไปประเทศนี้
ก็มีคนมาดึงคนของซี.พี.ไป เวลานี้เราเหลือส่วนแบ่งตลาดไม่ถึง 25
เปอร์เซ็นต์ อีก 75 เปอร์เซ็นต์เป็นของผู้ผลิตรายอื่น
อย่างสหฟาร์มเวลานี้เขาบอกว่า เขาใหญ่กว่าซี.พี. เขาทำไก่สด แต่เราแปรสภาพ
เราไปอีกก้าวหนึ่ง เพราะฉะนั้นอย่าไปนึกว่าผมผูกขาด ผมผูกขาดก็ชั่วคราว แล้วก็สร้างให้คนเห็น แล้วเขาก็เอาไปเป็นตัวอย่าง เพราะเราห้ามเขาทำตามไม่ได้
คำถาม : ต้องเปลี่ยนเป็นว่า ซี.พี.เป็นผู้บุกเบิก
ถ้าผมทำ ผมต้องทำให้กำไรด้วย เขาถึง จะมาcopy ไปทำ ถ้าเราทำแล้วล้มเหลว ใครจะกล้ามาทำ แต่รับรอง ทำครั้งแรกเราได้ 100 แต่ทำไปแล้วนโยบายผมเหลือ 25 พอแล้ว แค่นี้ก็มหาศาลแล้ว
ในโลกนี้ไม่มีคำว่า “ผูกขาด” เขาเรียกว่า “เสรีภาพ”
ทุกคนเอาอย่างได้ ดึงคนซี.พี.ไปช่วยทำก็ได้ ผมเปิดเผยทุกอย่าง
คุณมาดูงานได้เลย พอมั่นใจแล้วไปทำได้เลย
แล้วอย่างนี้เราจะผูกขาดได้อย่างไร
คนไม่ค่อยเชื่อผม ผมไม่เคยคิดทำลายคู่แข่ง ทฤษฏีของผม
ถ้าผมรู้ว่าเขาสู้ผมไม่ได้แล้ว ถ้าเขาจะล้ม
ผมต้องพยายามดึงเขาไว้ไม่ให้เขาล้ม สู้ต่อไป เราไปทำเขาล้มทำไม
พอเขาล้มแบงก์ก็ยึดไป แล้วขายทอดตลาดจากราคา 10 บาท ขายเหลือ 2 บาท เหลือ 5
บาท เอาคนฟิตจัดมาทำ ต้นทุนก็ถูก มาต่อยกับเราอีก
คนไม่เข้าใจ คิดว่าเราต้องมาแย่งกันตรงนี้ เอาพลัง เอาเงิน เอาคนไปหาโอกาสใหม่ๆดีกว่า
คำถาม : ธุรกิจเกษตรซีพีทำมานาน คุณธนินท์ยังสนใจเกษตร คิดว่าเกษตรยังไปได้อีกเยอะ
แน่นอน อาหารคู่กับมนุษย์ วันไหนที่ไม่มีมนุษย์ถึงจะไม่มีอาหาร
คุณจะจนอย่างไรก็ต้องกิน ประหยัดอย่างอื่นได้ ประเทศที่รวยก็กินแบบหนึ่ง
ประเทศที่จนก็กินอีกแบบหนึ่ง ธุรกิจอาหารทำยาก
แต่เป็นเรื่องที่มั่นคงที่สุด ไม่ว่าเศรษฐกิจแย่อย่างไร คนต้องกิน
เซฟอย่างอื่นได้หมด แต่อาหารเซฟไม่ได้ แล้วเราต้องพยายาม ใช้เทคโนโลยี
มาทำให้ต้นทุนถูกลง ก็ต้องอินทิเกรต เอาทุกขั้นตอนมาเหลือหนึ่งขั้นตอน
คำถาม : ตัวอย่างการทำนาวิธีใหม่ที่กำแพงเพชร เคยเสนอรัฐบาลไหมว่าการปลูกข้าวควรจะทำแบบนี้จึงจะช่วยชาวนาได้จริงๆ
เสนอไปก็ฟังไม่รู้เรื่อง ต้องมาดู ผมพูดให้ฟังอย่างนี้ ถ้าไม่ได้ไปดูพื้นที่จริงก็ไม่ได้เข้าใจ 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วมันเป็นไปได้ที่จะทำเป็นเกษตรอุตสาหกรรม วันนี้
ปลูกข้าวเป็นอุตสาหกรรมแล้ว เพาะกล้าในโรงงาน แล้วดำนาก็ใช้เครื่องดำ
ไม่ใช่เอาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินเหมือนในอดีตแล้วปีหนึ่งสมมติปลูก 2 คร็อป
ผมทำเกษตรเป็นอุตสาหกรรมไฮเทค
คำถาม : จะทำให้ข้าวให้เหมือนไวน์เลยหรือไม่
เพราะเป็นเรื่องของความมั่นคงทางอาหารอันหนึ่ง อย่างบรูไน
เขาซื้อข้าวหอมมะลิจากไทย ทำสัญญา 5 ปี
สิ่งที่เขาต้องการให้ประเทศไทยทำให้เขาทุกแพคเกจ
ถ้าเขาเกิดอุบัติภัยสามารถโยนจากเครื่องบินลงมาได้
แล้วข้าวที่จะขายให้กับเขา ต้องเป็นข้าวที่เก็บไว้ 1 ปี อุณหภูมิประมาณ 14
องศา ติดแอร์ตลอด 24 ชั่วโมง จนกระทั่งข้าวที่จะนำมาบรรจุหีบห่อ
อุณหภูมิห้องคือ 18 องศา แล้วเวลาสีข้าว อะไรที่หลงเข้ามาเครื่องจะดีดออก
สีทีละเม็ด ราคาสูงกว่า 20,000 บาท
ใช่ ต่อไปการผลิตข้าวต้องเป็นอุตสาหกรรมไฮเทค
ผมต้องเชิญไปโรงงานสีข้าวของบริษัทที่อยุธยา เราขายไปทั่วโลก
วันนี้ซีพีมีความรู้เรื่องการหุงข้าว ซึ่งการหุงข้าวมีเทคโนโลยีอย่างสูง
ข้าวของบริษัทจะหอมกว่า อร่อยกว่า กลับบ้านไปหุงเองทำไม่ได้อย่างนี้
ทำไมรู้ไหมครับ เราใช้เครื่องจักร เราควบคุม อุณหภูมิได้
แต่หม้อหุงข้าวมันร้อนไม่เท่ากัน ของเราใช้เครื่องจักรจะร้อนเท่ากัน
อย่างไข่ต้ม หอมอร่อย กลับไปบ้านต้มเอง ต้มอย่างไรก็ไม่ได้ แต่เครื่องจักร
ความร้อนมันค่อยๆ ร้อน ไม่ใช่เดือดเต็มที่ เดือดนานไปก็สุกไป
เอาขึ้นเร็วก็ไม่สุก แต่เครื่องจักรอุณหภูมิจะค่อยๆ เพิ่มแล้วค่อยๆ ลดลง
เป็นเทคโนโลยี ซื้อไข่ต้มซีพีอาจจะถูกกว่าไปต้มไข่กินเอง
ของเราเป็นโรงงานอุตสาหกรรม แล้วอย่างที่คุณว่า ข้าวจะอร่อยจริงๆ
เราต้องเก็บข้าวเปลือกไว้ในอุณหภูมิเท่าไร แล้วเวลาจะหุงค่อยสี
ไม่ใช่สีเอาไว้ ดังนั้น ต้องมองเกษตรเป็นอุตสาหกรรม ไม่ใช่แบบเดิม
คำถาม : คนในภาคเกษตรของไทยต้องลดลงใช่ไหม
แน่นอน ภาคการเกษตรเจริญ จำนวนเกษตรกรต้องเหลือ 1 เปอร์เซ็นต์
การมีเกษตรกรจำนวนมากไม่มีประโยชน์ วันนี้เกษตรกรญี่ปุ่นอาจจะเหลือ 5
เปอร์เซ็นต์ ไต้หวันเหลือ 5 เปอร์เซ็นต์ อเมริกาเหลือ 1 เปอร์เซ็นต์
แต่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเกษตรรวมแล้วก็ 5 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่อุตสาหกรรมประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์ เป็นระบบอัตโนมัติ
แรงงานนับเป็นชั่วโมง และ 86 เปอร์เซ็นต์เป็นอุตสาหกรรมบริการ
คำถาม : นายกรัฐมนตรีของไทยที่คุณธนินท์คุยด้วย คนไหนที่รู้เรื่องเกษตร
คนที่รู้ดีที่สุด นายกฯ เกรียงศักดิ์ (ชมะนันทน์)
แต่ก็เป็นรัฐบาลอายุสั้น คนที่สอง นายกฯทักษิณ ชินวัตร เพราะเขามีทีมงาน
14 ตุลา พวกที่เคยเข้าป่า แล้วเขาเคยจนจนจะล้มละลาย
เขารู้ว่าคนจนลำบากอย่างไร อันนี้สำคัญ และถ้านายกฯ เกรียงศักดิ์เป็นนายกฯ
ต่ออีกช่วงหนึ่ง โฉมหน้าประเทศไทยจะเปลี่ยนเลย แล้วนายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัน
เคยไปอยู่ต่างประเทศ รู้เรื่องเศรษฐกิจ เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า
คำถาม : คุณธนินท์ไปเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลพม่า ไปทำอะไรบ้าง
ไปสอนเขา ทำโครงการหมู่บ้านละล้าน ผมช่วยเขา 50 หมู่บ้าน
ทำเป็นตัวอย่างให้เขาเห็น รัฐบาลเขากำลังจะทำอีก 1,000 หมู่บ้าน
รอดูตัวอย่างผม
คำถาม : ช่วยทำอะไรบ้าง
อย่างแรก ไปแก้เรื่องการเงิน เห็นผลทันตาเห็น เพราะดอกเบี้ยเขา 20-30
เปอร์เซ็นต์ สูงมาก แล้วข้าวราคาต่ำมาก ของไทยโครงการหมู่บ้านละล้าน
สำเร็จประมาณ 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ สำเร็จอย่างไร
เงินหมู่บ้านละล้านห้ามผ่านนักการเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน
ผู้ใหญ่บ้าน เงินล้านหนึ่งส่งตรงถึงหมู่บ้านแล้วให้หมู่บ้านคัด 16 คน
เลือกกันเอง ห้ามผู้ใหญ่บ้านไปยุ่ง เลือกคนมาเป็นกรรมการดูแลเงินก้อนนี้
แล้วให้คนในหมู่บ้านกู้ดอกเบี้ยต่ำมาก ไม่ต้องไปกู้นอกระบบ
มีหมู่บ้านหนึ่งที่ผมไปเรียนรู้จากเขา อยู่ที่อยุธยา
มีหลายหมู่บ้านที่วันนี้จากล้านหนึ่งเพิ่มเป็น 10 กว่าล้านบาท
ตอนวิกฤติน้ำท่วมปี 2554 ไม่ต้องรอเงินรัฐบาล เขามีเงินอยู่ 10
กว่าล้านให้ชาวบ้านยืมไปปลูกบ้าน ถ้ามัวรอเงินรัฐบาลก็นาน และแปลกมาก
คนที่ถูกเลือกเป็นหัวหน้าโครงการ ชาวบ้านไม่เลือกเขาเป็น ส.จ.
อย่างนี้ถูกต้อง เราต้องเลือกคนที่มาดูแลการเงิน เลือกคนที่ทำงานจริงๆ
ไม่ใช่คนมีอิทธิพล ในคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านก็จะมีครูที่เกษียณแล้ว
แล้วส่วนใหญ่กรรมการกว่าครึ่งจะต้องเป็นผู้หญิง
เวลาโหวตให้ผู้หญิงเสียงมากกว่า เพราะไม่กินเหล้า ไม่ใช้จ่ายสุหรุ่ยสุร่าย
ผมรู้เลย สุดท้ายพลังที่ดีที่สุดคือแม่บ้าน ไม่ใช่พ่อบ้าน
ร้อยคนมีพ่อบ้านสัก 10 เปอร์เซ็นต์ที่ดูแล อีก 90
เปอร์เซ็นต์เป็นแม่บ้านดูแลหมด ผมไปส่งเสริมโครงการที่ศรีราชา
ปวดหัวมากที่สุด 2 เรื่อง คือ เรื่องใช้เงินเกินตัว จากยากจนเป็นร่ำรวย
จากร่ำรวยเป็นยากจน แล้วต้องขายทิ้งเพราะเป็นหนี้รุงรัง
ผ่อนตู้เย็นยังไม่ทันหมดก็ซื้อมอเตอร์ไซค์อีกแล้ว ซื้อรถยนต์
ใช้เงินเกินตัว อีกเรื่องหนึ่งคือผัวเมียหย่ากัน พอมีเงินแล้วก็มีปัญหา
ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทลำบากต้องส่งผู้จัดการไปเลี้ยงแทนก่อน
ไม่เช่นนั้นไก่ตายเป็น 10,000 ตัว ต้องไปสอนให้รู้จักทำบัญชี รู้จักบริหาร
เหมือนกับนักธุรกิจย่อย เล็ก ล่มเพราะใช้เงินเกินตัว บริหารเงินไม่เป็น
วันนี้ผมไปช่วยพม่า ถ้าเขารวยเมื่อไรก็ซื้อสินค้าไทย มอเตอร์ไซค์์ รถปิ๊กอัพ เวียดนามก็ซื้อมอเตอร์ไซค์จากเมืองไทย
คำถาม : ในแง่ของประเทศไทยเองคุณธนินท์ก็ใส่เงินเข้าไปพอสมควร
ล่าสุดที่ซื้อแม็คโคร ซึ่งในอดีตซีพีเคยทำโลตัส แล้วขายออกไป ยังงงว่า
เหตุผลใดที่ซื้อแม็คโคร
หนึ่ง ทีมงานแม็คโครเป็นทีมงานที่เข้มแข็งมาก ทีมงานระดับบริหารมาจาก 16
ประเทศ ทำได้ผล ต้นทุนถูกมาก ที่ประเทศอื่นเขาขายหมดทั้งเอเชีย ญี่ปุ่น
เกาหลี สิงคโปร์ รวมทั้งจีน ขายทิ้งหมด เหลือเมืองไทยเขาไม่ยอมขาย
เพราะทีมเขาเป็นทีมเวิร์กที่เยี่ยมมาก แล้วเขาก็บีบไว้ไม่ให้โต
เขาพอใจผลประกอบการอย่างนี้ กำไรชัวร์ๆ ไม่ต้องลงทุนอีกทุกปี กดเอาไว้
พอผมซื้อมา มันระเบิดเลย แล้วทีมงานก็แฮปปี้มาก
เพราะเจ้าของเดิมเขาบีบไว้ไม่ให้ขยาย ตอนนี้ก็สู้ทั้งวันทั้งคืน
เมืองไทยยังขยายได้อีกหลายเท่า เพราะลูกค้าเขาคือร้านโชห่วย กับภัตตาคาร
เรียกว่าตั้งแต่หาบเร่ไปจนถึงภัตตาคารยิ่งใหญ่ เพราะบิลแน่นอน ไม่มีใต้โต๊ะ
เจ้าของกิจการไม่ต้องห่วง ไม่ต้องถือตระกร้าไปซื้อของเอง
ไปเอาสินค้าจากแม็คโคร
ฉะนั้นลูกค้าของแม็คโครคือร้านโชห่วย พื้นที่ไหนที่เซเว่นไปไม่ได้
ต้องเป็นร้านโชห่วย หลายพื้นที่เซเว่นยังไม่คุ้มที่จะไป ถ้าเซเว่นไปได้
โชห่วยจะเปลี่ยนจากร้านโชห่วยเป็นแฟรนไชส์เซเว่น มันไม่ขัดกัน
เพราะถ้ารายได้ไม่ถึงขั้นตรงนั้น ไปเปิดเซเว่นก็เจ๊ง
พอรวยเขาก็มาเปลี่ยนเป็นเซเว่น มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ด้วย
แต่เถ้าแก่ร้านโชห่วยต้องทำงานทั้งเสาร์-อาทิตย์
แล้วเดี๋ยวนี้แม็คโครไปสอนโชห่วยให้จัดร้านอย่างไร คนอยากเข้า
หรือไปสอนพวกแม่ค้าหาบเร่ ต้องปรุงอาหารอย่างไรให้อร่อย
ซีพีต้องสอนให้ลูกค้าเรายิ่งใหญ่ เขาใหญ่ เราก็ใหญ่ ถ้ากับข้าวของเขาอร่อย
คนก็กินของเขาเยอะ
ผมจะขยายในอาเซียน รวมอินเดีย จีน ทีมงานนี้เท่ากับเป็นแม่พิมพ์
ถ้าจะไปอินเดียก็เอาคนอินเดียมาเรียนรู้ เพราะจะมาหลอมในวัฒนธรรมที่ถูกต้อง
อินเดียยังมีโอกาสเยอะ จีนก็มีโอกาสเยอะ
SAIC Motor ที่เครือซีพีร่วมลงทุนผลิตรถยนต์ยี่ห้อMG
คำถาม : คุณธนินท์มีบริษัทเยอะแยะ มีเวลาตอนไหนที่จะมาศึกษาหลายๆ จุดที่พูดอยู่ตอนนี้
ธุรกิจที่สำเร็จแล้ว ผมประชุมกับเขาบางทีหลายเดือนครั้งหนึ่ง
บางทีไม่ต้องประชุมเลย คุยทางโทรศัพท์ก็ได้
เขาทำดีกว่าที่ผมไปยุ่งกับเขาอีก ส่วนของอะไรใหม่ๆ ทำทีแรกต้องขาดทุน อยู่ๆ
เอาคนที่ทำดีอยู่ กำไรอยู่ ให้เขาไปทำเรื่องขาดทุน เขาไม่เอา
เสียชื่อเปล่าๆ สู้ให้เขาทุ่มเทตรงที่เขาทำกำไรจาก 10,000 เป็น 100,000
ดีกว่า ง่ายกว่าไปทำของใหม่ ไปทิ้งของดีไปเริ่มใหม่
ส่วนของใหม่ผมต้องเริ่มเอง แล้วสร้างทีมใหม่
คำถาม : เวลาจ้างผู้บริหารระดับสูง คุณธนินท์ดูอะไรเป็นหลัก
เราดูโหงวเฮ้งบ้าง ดูดวงบ้าง แต่ก็ไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์
เพราะจิตใจจริงๆ เราดูไม่ออก แต่ดูได้ว่าคนนี้ต่อไปจะราบรื่นหรือไม่ราบรื่น
มีอุปสรรคไหม อันนี้ดูออก แต่ผมไม่ได้เก่งพอ พวกนี้มีตำรา
เป็นศาสตร์ชนิดหนึ่ง แต่อย่าไปเชื่อ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีอะไร 100
เปอร์เซ็นต์ในโลก จิตใจเราดูไม่ออก
เพราะบางทีสิ่งแวดล้อมทำให้เขาเปลี่ยนได้ มีหลายเหตุผล แต่ช่วงไหนดี
ช่วงไหนมีปัญหา อันนี้พอดูออก แต่คนที่จะเป็นนายกฯ บุญต้องหนัก
กรรมต้องหนักด้วย ถ้ามีแต่บุญไม่มีกรรม รับรองไม่ได้เป็น(หัวเราะ)
http://thaipublica.org/2014/04/dhanin/