เสียงดนตรีอยู่ร่วมกับมนุษย์มานานแล้วจึงเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อจิตใจของมนุษย์มาก ดังเช่น ในอดีตเราใช้เสียงดนตรีในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือพิธีกรรมต่าง ๆ ในยุคกรีกโบราณก็มีการนำดนตรีมาใช้ในการรักษาโรคในรูปเวทย์มนต์คาถา ชาวอียิปต์ก็เรียกดนตรีว่า "ยาแห่งวิญญาณ" หรือในประวัติศาสตร์ของชาวยิวก็ได้มีการดีดพิณเพื่อช่วยให้กษัตริย์คลายจากอารมณ์สิ้นหวังได้ ในสังคมวัฒนธรรมไทยเองก็มีการนำดนตรีมาใช้เช่นกัน ดังการเห่กล่อมลูกน้อยในเปลจะทำให้เด็กมีความอบอุ่นใจ มีความสุขและหลับสบาย ดังนั้นจึงเป็นที่เชื่อถือกันว่าเสน่ห์ของเสียงดนตรีสามารถทำให้คนเราคลายความเศร้าหมอง สนุกสนานร่าเริงหรือมีความสุข ขณะที่ก็สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยของโรคได้อย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งเสียงดนตรีทุกชนิดสามารถบำบัดกาย-ใจ-อารมณ์ได้ทั้งนั้นอยู่ที่ว่าพื้นฐานและความชมชอบของดนตรีของแต่ละคน เช่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีร็อค คลาสสิก ออเคสตรา แจ๊สช้า ๆ หรือเพลงบรรเลง เป็นต้น เลือกใช้ดนตรีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างไร? 1. เลือกฟังดนตรีที่มีจังหวะปานกลางหรือเท่ากับอัตราการเต้นของหัวใจมนุษย์ในภาวะปกติ เช่น เพลงบรรเลง เพลงร้องแบบพื้นบ้านหรือลูกทุ่ง ลูกกรุงไทย-สากล ฯลฯ เสียงไม่ดังมากเกินไป และไม่สูงเกินไป 2. ควรหาโอกาสฟังเพลงก่อนเวลาเริ่มเรียน เริ่มทำงาน หรือช่วงพัก จะทำให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีสุขภาพจิตดีขึ้น ช่วยลดความเหนื่อย ความเครียดลงได้ แต่ก็ไม่ควรฟังเพลงพร้อมกับทำงานที่ต้องใช้ความคิด อาจได้งานที่ไม่มีประสิทธิภาพพอ และการับรู้เสียงเพลงอาจเป็นไปไม่ได้เต็มที่ เพราะสมองต้องทำงานมากขึ้น เว้นแต่ผู้ที่ได้รับการฝึกฝนมาดีแล้ว ดังนั้นควรฟังก่อนหรือหลังการทำงานจะได้ผลดีกว่า 3. ควรเลือกฟังเสียงดนตรีหรือเสียงนักร้องที่ฟังชัด ใส กังวาน ทุ้ม นุ่มนวล เช่น เปียโน กีต้าร์ ไวโอลิน พิณ แอคอเดียน เม้าท์ออแกน ขิม เสียงธรรมชาติ เช่น นกร้อง น้ำตก เสียงคลื่น เป็นต้น และฟังเพลงที่มีเสียงไพเราะ นุ่มนวลมีชีวิตชีวา สร้างสรรค์ ให้ความหมายที่ดี 4. นอกจากเพลงที่ชอบฟังเป็นประจำแล้ว หากมีเวลาควรฟังเพลงให้ได้หลากหลายประเภท โดยฟังจากที่ต่าง ๆ เช่น ฟังรายการเพลงทางวิทยุ โทรทัศน์ ชมการแสดงดนตรีประเภทต่าง ๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และประสบการณ์การฟัง เราควรต้องฝึกการเป็นผู้ฟังที่ดี ฝึกการพูดจาด้วยน้ำเสียงที่มีคุณภาพเหมือนเสียงดนตรี ให้มีความไพเราะ นุ่มนวล ชัดเจน มีความหมายในทางสร้างสรรค์ด้วยกริยาท่าทางที่สุภาพ งดงามและสง่าผ่าเผย 5. ไม่ควรฟังชาวเบาท์นานเกินไป การฟังเสียงที่ดังอึกทึก เสียงสูงแหลม หรือเสียงที่มีจังหวะเร็วเร่งเร้าเป็นเวลานานจะทำให้ประสาทหูเสื่อมเร็ว และอาจนำมาซึ่งความเจ็บป่วยทางจิตใจและร่างกายได้ จึงควรหลีกเลี่ยงเสียงที่มีมลพิษ นอกจากนี้ ควรฝึกร้องเพลงที่ชอบและถนัดบ่อย ๆ เลือกเพลงที่ร้องได้ดีที่สุดและรู้สึกสบายที่สุด หรือแม้แต่การท่องบทสวดมนต์ให้ถูกต้องขึ้นใจ และควรหัดเล่นเครื่องดนตรีให้เป็นอย่างน้อย 1 ชิ้น เลือกที่สามารถพกพาไปได้สะดวก เช่น ขลุ่ย กีตาร์ ซอ ควรฝึกการเคลื่อนไหวประกอบเพลง ไม่ว่าจะเป็นจังหวะช้า ราบเรียบนุ่มนวล จังหวะปานกลาง จังหวะเร็ว โดยเริ่มจากการใช้ร่วมกับการฝึกสมาธิ ฝึกโยคะ ร่ายรำ ลีลาศ จนถึงเต้นแอโรบิค และประการสำคัญควรหาเวลาทำกิจกรรมดนตรีร่วมกันทั้งครอบครัว หรือในสังคมเพื่อนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ความรักสามัคคีและความสนุกสนานเพลิดเพลิน ดังที่กล่าวมาดนตรีจึงเปรียบได้กับสิ่งที่ช่วยปลดปล่อยทางอารมณ์และความเครียดให้กับเราได้อย่างดีที่สุด ด้วยดนตรีมีหลากหลายอารมณ์ที่ดีต่อการจรรโลงใจ ดังนั้นคุณสาว ๆ ก็ลองมาเลือกทำกิจกรรมทางดนตรีกันนะค่ะ ซึ่งก็มีอยู่หลากหลายรูปแบบ ทั้งการฟัง การเล่น การทำกิจกรรมเข้าจังหวะ การใช้ดนตรีประกอบการวาดภาพ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับตนเองทั้งสิ้นเพราะการทำกิจกรรมทางดนตรีนั้นเป็นหนทางในการกระตุ้นอารมณ์มโนภาพและลักษณะต่าง ๆ เปรียบเสมือนสะพานที่ใช้ในการค้นหาและการแสดงอารมณ์ความรู้สึกในตัวของเราให้เกิดความพึงพอใจ ขอขอบคุณข้อมูล/ภาพประกอบจากlauriermybrand.com
|