ชาวภูฏานปัจจุบันซึ่งเรียกว่า ดรุกปะ (Drukpas) ไม่ใช่เป็นพลเมืองดั้งเดิมของประเทศแห่งนี้ และอาณาเขตทางภูมิศาสตร์ในปัจจุบันก็มิใช่อาณาเขตดั้งเดิมเมื่อพันปีมาแล้ว อย่างไรก็ตามก็ได้มีผู้เสนอทฤษฎีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ตอนต้นไว้หลายทฤษฎี ทฤษฎีหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า ประเทศแห่งนี้แต่เดิมเป็นที่อาศัยของเผ่าอินโด-มองโกลอยด์ ข้อสนับสนุนสำหรับเรื่องนี้ก็ตรงที่ได้พบพิธีกรรมโบราณ ภาพเขียนสีน้ำและเครื่องมือดนตรีของชาวภูฏานมีลักษณะคล้ายคลึงกับสิ่งเดียวกันนี้ของอาณาจักรฮินดูโบราณ • อย่างไรก็ตามประเด็นที่เหมือนกันนี้เป็นผลมาจากอิทธิพลของศาสนาพุทธของธิเบตที่มีต่อภูฏาน ซึ่งศาสนาพุทธจากธิเบตก็ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียอีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีข้ออ้างอิงอีกว่า อาณาบริเวณที่เป็นประเทศภูฏานในปัจจุบันนี้ถูกปกครองโดยหัวหน้าเผ่าต่างๆกันมาก บางคนก็มีเชื้อสายชาวอินเดีย และมีความจงรักภักดีต่อผู้ปกครอง Kamrup (อัสลัม) นี่ก็เป็นเหตุผลพอฟังได้ แต่ก็ไม่มีข้อพิสูจน์ทางประวัติศาสตร์ที่เด่นชัดที่จะสนับสนุนทฤษฎีนี้ อันที่จริงและแน่นอนและเป็นที่ยอมรับกันก็คือ ภูฏานได้รับอิทธิพลอย่างลึกซึ้งจากวัฒนธรรมอันเดียว แม้ว่ามันจะเป็นอิทธิพลที่รับผ่านจากธิเบตก็ตาม กล่าวคือ การเข้ามาของศาสนาจากธิเบตได้เริ่มมีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 แล้วขณะที่ธิเบตกำลังเป็นเพื่อนบ้านที่มีอำนาจมากขึ้นก็เป็นเวลาเดียวกับที่บรรดาหัวหน้าเผ่าต่างๆ ตามแว่นแคว้นต่างๆ ของภูฏานกำลังเสื่อมอำนาจ
• ประวัติศาสตร์ภูฏานตอนต้น • ประวัติศาสตร์ของภูฏานมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับศาสนาพุทธ หลักฐานชิ้นแรกที่อ้างอิงได้ว่ามีอิทธิพลมีอิทธิพลพุทธศาสนาในประเทศแห่งนี้ ก็คือ เหตุการณ์ในรัชสมัยของกษัตริย์สตรองเสน แกมโบ (Strongtsen Gampo) แห่งธิเบต ผู้ซึ่งประกาศเอาศาสนาพุทธมาเป็นศาสนาประจำชาติธิเบตและสร้างวัดวาอารามเป็นจำนวนมาก ทั้งในประเทศธิเบตและดินแดนใกล้เคียง ซึ่งรวมทั้งดินแดง 2 แห่งในภูฏาน คือ คิชู(Kyichu) ในหุบเขา บัมทัง (Bumthang) • สิ่งที่แสดงถึงอิทธิพลของศาสนาพุทธในภูฏานอีกประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 9 คือ นักบุญชาวอินเดียที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งชื่อ คุรุ ปัทมสัมภวะ (Guru Padmasambhava) มีฉายาว่า Lotus Born ได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อตั้งศาสนาพุทธในธิเบต (คำสอนของเขามีชื่อเรียกว่า Nyingma) ท่านผู้นี้ได้เดินทางมาเยือนภูฏานถึงสองครั้ง ครั้งแรกก็โดยการเชิญของบุคคลกึ่งนิยายถึงประวัติศาสตร์ชื่อ สินธุ ราชา (Sindhu Raja) ซึ่งเป็นกษัตริย์อินเดีย เชื่อกันว่า เป็นผู้ปกครองที่บัมทัง เรื่องราวการเดินทางมาเยี่ยมภูฏานของคุรุ ปัทมสัมภวะ นั้นอยู่ในตำนานซึ่งรวบรวมโดย Gelong Nyerchen Drepa และได้รับการแปลโดย Michael Aris ดังมีสาระดังนี้ พระเจ้าสินธุ ราชา ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองแคว้นหนึ่งของอินเดียได้หนีออกจากแคว้นของพระองค์เพราะ เกิดกบฏ และได้เข้ามาที่ Chakhar ในบัมทัง เมื่อมาถึง ณ เมืองนี้ก็ได้สร้างประสาทราชวัง 9 ชั้นขึ้น ในระยะนี้ได้มีเรื่องขัดแย้งทางพรมแดนระหว่างอินเดียกับมอน (Mon ชื่อเดิมของ ภูฏาน) สินธุ ราชา ยกกองทัพเข้ารุกรานกษัตริย์ Nawache ผู้ซึ่งมีดินแดนติดต่อกัน ในระหว่างสงคราม โอรสของราชา ชื่อ Tala Membar ก็สามารถรุกรานและเอาผู้คนไปยึดครองดินแดนต่างๆได้ดังนี้ Darje Drag ในธิเบต , Khangsar ในมอน , Lingor ใน Hor ใน Sindhapari ในอินเดีย แม้ว่า Tala จะมีอาณาจักรกว้างใหญ่ไพศาลดังกล่าวนี้ แต่ในที่สุดพระองค์ก็ถูกกษัตริย์ Nawoche ฆ่าตายเมื่ออายุได้ 20 ปี เพื่อเป็นการแก้แค้น สินธุ ราชา ก็ยกกองทัพและเข้าทำการเผาที่ตั้งมั่นขแงกษัตริย์ Nawoche ก็ตอบแทนโดยการเข้ายึดป้อม 20 แห่งของสินธุ ราชา ฝ่ายสินธุ ราชาก็ฆ่าผู้ติดตาม กษัตริย์ Nawoche 16 คน และฆ่าหัวหน้า เสนาบดีคนหนึ่งพร้อมบุตรชายอีกด้วย หลังจากนั้นมาก็มีข่าวลือไปทั่วว่า ถ้าบอน (Bons) ประสบความสำเร็จ อินเดียก็จะถูกพิชิต ถ้าอินเดียประสบความสำเร็จบอนทั้งหมดก็จะถูกพิชิต • สินธุ ราชา มีความเดือดดาลเมื่อสูญเสียลูกชายไป พระองค์จึงเตรียมการแก้แค้นโดยที่ไม่ได้ทำการบวงสรวงต่อภูตผีวิญญาณที่เคยคุ้มครองอยู่ เป็นผลให้เทวดา ปีศาจ นาคา ไม่พอใจขัดเคือง ภูตผีวิญญาณและเทวดาเหล่านี้จึงพากันโกรธแค้น สินธุ ราชา และทำการลงโทษโดยทำให้สินธุ ราชา เจ็บปวดจนไม่มีหนทางรักษาได้ ขณะนั้นมีเข้าครองแคว้นเล็กๆที่พรมแดนได้มาบอกแก่สินธุ ราชา กษัตริย์ Nawoche มี lami องค์หนึ่งชื่อ ปัทมสัมภวะ เป็นชาวอินเดียมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มากสามารถรักษาพระองค์ให้หายได้ สินธุ ราชา ก็เชื่อและส่งคนพร้อมกับทองคำผงไปให้แก่ปัทมสัมภวะ และเชิญมายังพระราชวังที่ Chakhar และขอร้องให้รักษาให้หายและพระองค์ก็จะตอบแทนให้ทุกอย่างที่ปัทมสัมภวะต้องการ ปัทมสัมภวะก็ทำพิธีนั่งสมาธิติดต่อกับวิญญาณเหล่านั้น และในที่สุดก็ช่วยทำให้ สินธุ ราชา หายจากความเจ็บป่วยได้เป็นปลิดทิ้งแล้ว คุรุ ปัทมสัมภวะ ก็ได้ชี้แจงเหตุผลถึงความยุ่งยากที่เกิดขึ้นระหว่างสินธุ ราชากับ Nawoche ว่าการทะเลาะวิวาทระหว่างท่านทั้งสองนำความหายนะและความตายให้เกิดแก่คนทั้งสองฝ่ายเพื่อให้วิญญาณเหล่านี้มีความสุขก็ขอให้เลิกทะเลาะวิวาทกันเสีย และให้เป็นมิตรกันตลอดไป และทั้งสองฝ่ายก็ตกลงตามที่คุรุขอร้องและมีการกล่าวคำสาบานต่อกันว่าจะเป็นมิตรกันตลอดไป มีการปักเสาหินไว้ตรงพรมแดนมิให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดลุกล้ำเข้าไป ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนภูตผีวิญญาณจะลงโทษทันที แล้วทุกฝ่ายก็สาบานกัน หลังจากนั้นทุกฝ่ายก็แยกย้ายกันไป คุรุก็เดินทางกลับอินเดีย
• อิทธิพลของธิเบตต่อภูฏาน • ตามตำนานปรากฏว่าอิทธิพลของธิเบตมีมากต่อภูฏาน นั้นได้เริ่มต้นเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 เมื่อกองทหารของธิเบตได้บุกเข้าไปในภูฏาน ตามคำเชื้อเชิญของชาวภูฏานเพื่อให้ไปขับไล่ผู้บุกรุกจากอินเดีย ครั้นเมื่อชาวธิเบตทำงานสำเร็จแล้ว ก็ไม่ยอมกลับประเทศ เพราะติดใจภูฏาน ดังนั้นจึงมีชาวธิเบตอยู่ในภูฏานตั้งแต่บัดนั้น ต่อมาได้มีการฆ่าพระภิกษุสงฆ์เป็นจำนวนมากโดยพวก Bons ในธิเบต ทำให้ชาวธิเบตอพยพเข้ามาในภูฏานมากขึ้น จนกระทั่งถึงคริสตศตวรรษที่ 17 เมื่อ Ngawang Namgyal ขึ้นปกครองภูฏาน ทำให้อิทธิพลและการอพยพมาของชาวธิเบตลดน้อยลงไป อย่างไรก็ตาม ระยะนี้ได้มีการเคลื่อนไหวของพวกลามะจากธิเบต ส่วนใหญ่ก็มาเพื่อเผยแพร่ศาสนาพุทธในอาณาบริเวณตะวันตกและตอนกลางของภูฏาน • การเข้ามาของลามะจากธิเบตนั้นมากันหลายนิกาย และมามากขึ้นในระยะศตวรรษต่อมา ลามะที่มีชื่อเสียงซึ่งเป็น ลักขะ-ปะ-ลามะ (Sakya-pa-lama) ชื่อ Trinley Rabgyang เดินทางมาภูฏาน ในตอนครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ 15 และได้มาสร้างวัดขึ้นหลายแห่ง แม้ว่าอิทธิพลนิกายของเขาจะมีช่วงระยะเวลาที่สั้นก็ตาม พวกลามะนิกายตันตริก (Tantrik lamas) ได้เดินทางมากันเป็นจำนวนมากและมาพำนักอยู่ในภูฏานตะวันตก พวกนี้มาเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 12-14 อิทธิพลของลามะพวกนี้มีมากทีเดียว ในคริสตศตวรรษที่15 Terton Pemalingpa เชื่อกันว่า เป็นคุรุปัทมสัมภวะมาเกิดใหม่ในบัมทัง เขาได้แสดงการร่ายรำให้เห็นถึงชีวิตบนสวรรค์ซึ่งจะนำประชาชนไปสู่สวรรค์ในชีวิตหน้า ชีวิตบนสวรรค์ดูจะเป็นเครื่องดึงดูดใจของทุกศาสนาที่เดียว ผู้สืบต่อจาก Pemalingpa ก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในประเทศแห่งนี้ และอ้างว่า Jigme Namgyal ซึ่งเป็นปู่ของปู่ของกษัตริย์องค์ปัจจุบันของภูฏานนี้สืบเชื้อสายจาก Pemalingpa • ประมาณคริสตศตวรรษที่13 นิกายดรุกปะ (Drukpa) ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของนิกายหมวกแดง (Red Cap) ได้เข้ามาในภูฏานโดยลามะ ฟาโจ (Lama Phajo) ซึ่งเป็นสานุศิษย์ของ Sangye Onre ผู้ซึ่งเป็นสาวกของ Yeshe Dorje เป็นผู้ก่อตั้งนิกายคนหนึ่งชื่อของนิกายนี้เอามาจากการเห็นตัวมังกรในท้องของ Yeshe Dorje ในขณะที่เขากำลังสร้างวัดอยู่ตามตำนาน คุรุ ปัทมสัมภวะ ได้ทำนายไว้แต่แรกไว้ว่า สาวกคนหนึ่งของ Yeshe Dorje จะมาที่หุบเขามงคลแห่งนี้และจะสร้างวัดขึ้นที่นั่น • ภายหลังจากที่ศาสนาพุทธเสื่อมลงในอินเดีย ธิเบตก็ไม่ได้ยึดอินเดียเป็นผู้นำทางศาสนาของตนอีกต่อไป ดังนั้นในระยะนี้จึงเกิดมีนิกายต่างๆเกิดขึ้นมากมาย และมีการแข่งขันกันเพื่อจะได้เป็นใหญ่ในธิเบต ในที่สุดนิกายหมวกเหลืองหรือเรียกว่า Geluk-pas ซึ่งมี Dalai Lama เป็นหัวหน้า ซึ่งเป็นนิกายที่ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อคริสตศตวรรษที่14 โดยนักปฏิรูปชาวธิเบตที่มีชื่อเสียงชื่อ Tshongkhapa ก็สามารถทำให้นิกายอื่นๆไปสร้างอิทธิพลใหม่ในขณะเดียวกันก็เป็นผลให้นิกายหมวกแดงหรือ Kagyu-pas ต้องถอนร่างตัวเองไปอยู่ทางใต้และมามีอิทธิพลที่เข้มแข็งอีกในภูฏาน เนปาลและสิกขิม ในขณะที่นิกายต่างๆจากธิเบตพยายามแข่งขันกันแย่งชิงความเป็นใหญ่ในภูฏาน ในที่สุดก็มี Drukpas สามารถเอาชนะได้ในคริสตศตวรรษที่17 ผู้สร้างอำนาจและอิทธิพลนี้คือ Ngawang Namgyal แห่งราชวงศ์ Gya ที่ Ralung ในธิเบต กล่าวกันว่าสืบเชื้อสายโดยตรงจากน้องชายของ Yeshe Dorje (เป็นผู้หนึ่งของผู้ก่อตั้งนิกาย) Ngawang Namgyal เป็นผู้ที่มีพรสวรรค์สูงส่ง และมีสติปัญญาฉลาดเฉียบแหลม เขาอ้างว่าตนเป็น Pema Karpo แห่ง Ralung กลับชาติมาเกิด ซึ่งถือว่าเป็นนักปราชญ์และนักบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของนิกาย Drukpa แต่เมื่อเขาพบคู่แข่งเข้า ทำให้เรื่องความเชื่อของการเกิดใหม่ดังกล่าวนี้เสื่อมไป เขาจึงต้องหนีออกจากธิเบตและเข้าไปในภูฏานในปี 1616 ที่ภูฏานเขาก็สามารถสร้างอิทธิพลอาณาจักรและอิทธิพลทางศาสนาได้ และเขาได้เป็นที่รู้จักกันในนามของShabdung Rimpoche หรือ Dharma Raja ในระหว่างที่ปกครองภูฏานอยู่ 35 ปี เขาได้ทำลายกองทัพของ Deba Tsangpa แห่งธิเบตสำเร็จ ชัยชนะครั้งนี้ได้สร้างมิติใหม่ให้แก่อำนาจและอิทธิพลของพระองค์ ในที่สุดพระองค์ก็ได้ทำลาย Deba และครอบครัวของ Deba โดยอาศัยพิธีกรรมของนิกายตันตริกนั้นเอง พระองค์ยังแต่งบทรำอีกหลายประเภทและตีความใหม่ให้กับการร่ายรำแบบเก่า
• ประวัติศาสตร์ภูฏานในสมัยของ Ngawang Namgyal • พระองค์ยังได้นำเอาระบบการปกครองแบบทวิระบบที่เรียกว่า chhosi เข้ามาใช้ ซึ่งเป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับลามะ ทั้งด้านศาสนาและทางโลก บางครั้งธรรมราชาจะมอบหมายหน้าที่ให้กับหัวหน้า Khenpo(หรือเจ้าวัด) ทำหน้าที่ทางด้านศาสนาแทนพระองค์ ส่วนในเรื่องเกี่ยวกับอาณาจักรธรรมราชา พระองค์ก็จะแต่งตั้ง Deba Raja ให้ทำหน้าที่ทางด้านการปกครองโดยทั่วๆไปและยังจัดหน้าที่ที่เกี่ยวกับทางโลกด้านอื่นๆ ให้กับ Deba raja ทำอีกด้วย อันที่จริงแล้วในระยะเริ่มแรกนั้น Deba Raja หลายคนที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของวัด แต่ต่อมา มีการตีความคำว่า chhosi เสียเป็นอีกความหมายหนึ่ง ซึ่งการตีความใหม่นี้ก็คือ ยอมรับว่าทั้งลามะและฆราวาสต่างก็สามารถเกี่ยวข้องได้ทั้งการปกครองของประเทศทั้งด้านศาสนาและบ้านเมือง • Ngawang Namgyal เป็นผู้สร้างที่ยิ่งใหญ่เป็นผู้สร้างวิหาร (Dzong) ที่เก่าแก่ที่สุดในภูฏานคือ วิหาร Simtokha ซึ่งตั้งอยู่ตรงทางเข้าของหุบเขา Thimpher พระองค์ยังได้สร้างวิหาร Punakha ที่มีชื่อเสียงอีกด้วยและได้ทำ Punakha เป็นนครหลวงยามเหมันต์ ส่วนนครหลวงยามวสันต์นั้นคือที่ Thimphu ณ ที่ Thimphu นี่เองเป็นที่พระองค์ประกาศใช้ระบบการปกครอง ทวิระบบที่มีชื่อเสียงของพระองค์ ปัจจุบันนครหลวงย้ายไปที่ Thimphu แล้ว แต่ Punakha ก็ยังคงใช้ประกอบพิธีสำคัญๆ เช่น การสถาปนาพระเจ้าแผ่นดินและหัวหน้าลามะ คือ Je Khenpo ก็ยังคงปฏิบัติในวิหาร Punakha เท่านั้น ยังมีวิหาร Wangdiphodrang และวิหาร Tashichho ซึ่งพระองค์สร้างไว้ที่ Thimphu ที่เป็นสถานที่ใช้ประกอบศาสนาพิธีของรัฐอีกด้วย พระองค์ยังสร้างวิหาร Drukgyel ในพาโร เพื่อเป็นที่ระลึกถึงชัยชนะครั้งหนึ่งของพระองค์เหนือชาวธิเบต • อำนาจของ Ngawang Namgyal หรือ Shabdung Rimpoche เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในหมู่ของรัฐประเทศเพื่อนบ้าน และพระองค์สามารถตีกองทัพอันมหึมาที่ส่งโดย Gusbi Khan ได้สำเร็จ Gusbi Khan เป็นหัวหน้าเผ่ามองโกลผู้ซึ่งได้มบดขยี้กองทัพของพวก Tartar ที่ได้รับการสนับสนุนจากนิกาย “หมวกแดง” มาแล้ว และพระองค์ก็ได้แต่งตั้ง Dalai Lama องค์ที่5 ขึ้นในธิเบต ชัยชนะของพระองค์ครั้งนี้ทำให้พระองค์มีอำนาจมากที่สุด เป็นผลให้ธิเบตที่พยายามที่จะเล่นงานพระองค์ต้องพ่ายแพ้เสมอไป และในที่สุดก็ต้องยอมรับอำนาจของพระองค์ • Ngawang Namgyal เป็นผู้ปกครองคนแรกที่สร้างระบบกฎหมายและการปกครองให้กับภูฏาน พระองค์ทำให้ระบบการปกครองของธิเบตเข้มแข็งขึ้นด้วยการใช้ระบบ dzongs ในภูฏาน ในตอนเริ่มต้นก็แบ่งภูฏานตะวันตกออกเป็นหลาย dzongs ก็แต่งตั้ง penlop (ข้าหลวง) หรือเรียกว่า dzongpon (ผู้บังคับการป้อม) ประจำในแต่ละ dzong ดินแดนเหล่านี้ก็มีการแบ่งย่อยลงไปอีก กฎหมายของประเทศแห่งนี้ใช้หลักทฤษฎีทางศาสนา 10 ข้อ และกฤษฎีกาทางโลกอีก 16 ข้อ ซึ่งเป็นกฤษฎีกาของพระเจ้า Strongsten Gampo แห่งธิเบต • ประวัติศาสตร์ภูฏานภายหลังสมัยของ Ngawang Namgyal • พอพ้นสมัยของ Ngawang Namgyal ผู้เข้มแข็งไปแล้ว ประเทศภูฏานก็ค่อยๆดิ่งลงสู่ความไม่สงบ กล่าวคือ ระบบการปกครองแบบมี Deba Rajas นี้ได้ทำให้เกิดการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันในหมู่เหล่านั้น จะเห็นได้ว่าในช่วงระยะเวลาประมาณ 250 ปี มี Deba Rajas มากกว่า 50 องค์ ในช่วงนี้ภูฏานก็ยังรักษาเอกภาพของตนไว้ได้ และยังพยายามต่อสู้กับการคุกคามของประเทศเพื่อนบ้านไว้ได้อย่างแข็งขัน • ในปี 1697 ภูฏานถูกโจมตี 3 ด้านจาก Zhazang Khan หัวหน้าเผ่ามองโกลของธิเบตตอนกลาง 3 ด้านคือ Paro, Bumthang และ Tashigang แต่แล้วทัพมองโกลก็ถูกตีพ่ายแพ้ไป อย่างไรก็ตาม ก็มีศึกมาจากธิเบตอีกเป็นปัญหาเกี่ยวกับการยอมรับการเกิดใหม่ของ Shabdung Rimpoche ได้ทำให้เกิดสงครามล้างผลาญกันระหว่างภูฏานกับธิเบตอีกในปี ค.ศ.1730 ในที่สุดธิเบตก็สามารถยึดครองดินแดนบางส่วนของภูฏานไว้ได้มีการลงนามสงบศึกกัน โดยภูฏานยินยอมส่งผู้แทนไปยัง Lhasa เพื่อแสดงความคารวะและของขวัญกำนัลให้แก่รัฐบาลธิเบต ระบบนี้เป็นที่รู้จักกันคือ lochak ซึ่งปฏิบัติมาจนถึงค.ศ.1951 และมายกเลิกเมื่อจีนได้เข้ามาครอบครองธิเบต • นอกจากนี้ภูฏานก็ยังมีเรื่องขัดแย้งกับรัฐบาลอินเดีย Cooch Behar ซึ่งขึ้นอยู่กับแคว้นเบงกอล ความขัดแย้งสืบเนื่องมาจากแต่ละฝ่ายต่างก็อ้างสิทธิเหนือดินแดนตามชายแดนด้วยกันทั้งสองฝ่าย ครั้นเมื่ออำนาจของโมกุลเสื่อมลง ในระยะต้นคริสตศตวรรษที่18 เป็นเหตุให้ภูฏานเป็นต่อยิ่งขึ้น Sonam Lhendup เป็นที่รู้จักกันในนามของ Shidar และภายหลังได้แป็น Deba Raja ในค.ศ.1768 ก็ได้ดำเนินนโยบายบีบคั้น Cooch Behar เป็นการใหญ่ • ในค.ศ.1772 Raikat Ramnarayan ผู้ครอง Cooch Behar ถูกฆ่าตาย โดยฝ่ายที่แย่งชิงอำนาจ เหตุการณ์นี้ได้เปิดช่องทางให้กับภูฏาน กล่าวคือ Shidar ได้เข้าโจมตี Cooch Behar และแต่งตั้งผู้ปกครองแคว้นเสียเอง ต่อมาไม่นานใน Cooch Behar ก็เกิดสงครามการสืบราชสมบัติขึ้นอีก Shidar ก็ได้ส่งกองกำลังจำนวนมหาศาลภายใต้การบังคับบัญชาของหลานชายของเขาเข้ายึดนครหลวง และแต่งตั้งคนของตนขึ้นครองบัลลังก์ กลุ่มที่แย่งชิงอำนาจที่เลวร้ายที่สุดใน Cooch Behar ซึ่งนำโดย Khagendranarayan ได้ร้องเรียนต่ออังกฤษในอินเดียเพื่อขอความช่วยเหลือ ซึ่งก็พร้อมที่จะช่วย ขณะนั้น Warren Hastings ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษในอินเดียขณะนั้นก็ตระหนักว่า อังกฤษมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าควบคุม Cooch Behar ดังนั้นเมื่อได้รับคำร้องเรียนก็รีบเร่งส่งกองกำลังไปช่วยทันที ด้วยความช่วยเหลือครั้งนี้ จึงเป็นผลให้ยอมรับอำนาจของบริษัทอังกฤษอินเดียตะวันออกเหนือแดน Cooch Behar ตามสนธิสัญญาที่ทำกันในกัลกัตตา Khagendranarayan ยินยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายสำหรับกองกำลังที่ส่งไปช่วยเขา และยินยอมให้รายได้ของรัฐครึ่งหนึ่งให้กับชาวอังกฤษในภูฏานอีกด้วย ส่วน Shidar ก็ไม่สามารถที่จะตอบโต้กับกองทหารของอังกฤษได้ และในขณะเดียวกันก็ถูกปฏิวัติซ้อนขึ้นในภูฏานจึงทำให้เขาต้องล่าถอย
• ประวัติศาสตร์ภูฏานในสมัยของ Panchen Lama III • ภูฏานได้ทำการสนธิสัญญาสันติภาพกับ Warren Hastings ในวันที่ 25 เมษายน ค.ศ.1774 ตามสนธิสัญญาดังกล่าวนี้ ภูฏานจะต้องเคารพดินแดนของอังกฤษในอินเดีย นอกจากนี้สนธิสัญญาดังกล่าวยังนำมาซึ่งการเริ่มต้นความสำนึกของอังกฤษต่อเส้นทางการค้าผ่านหิมาลัยไปยังธิเบตอีกด้วย ซึ่งสิ่งนี้ได้มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับภูฏานในสมัยต่อมา • ในอีก 2-3 ปีต่อมา Hastings ได้ส่งเจ้าหน้าที่ของเขา 2 คน คือ George Bogle ในปี 1774 และ Alexander Hamilton ใน ค.ศ.1776 ไปยังธิเบตและภูฏานตามลำดับ Bagle ประสบความสำเร็จในการชักชวนให้ Deba Raja ยินยอมให้ใช้เส้นทางค้าขายผ่านภูฏานไปยังธิเบตได้ Captain Samuel Turner ได้แวะเยี่ยมภูฏาน ค.ศ.1783 แต่เขาไม่สามารถเรียกร้องให้ภูฏานอ่อนข้อยินยอมในเรื่องอื่นๆได้อีก ในค.ศ.1785 อังกฤษก็ตกลงยกดินแดน Falakala ให้กับภูฏานเพื่อเป็นการแสดงไมตรี • ในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่18 เกิดสงครามระหว่างเนปาลกับธิเบตขึ้นซึ่งชาวธิเบตสงสัยว่า การสงครามครั้งนี้จะมีอังกฤษเข้าไปมีส่วนรู้เห็นด้วย สงครามดังกล่าวนี้แน่นอนทีเดียวที่มีผลกระทบกระเทือนต่อการค้าระหว่างอังกฤษกับธิเบต ผลประโยชน์ของอังกฤษในภูฏานก็ลดน้อยลงไปอันเนื่องจากการขัดขวางการค้าดังกล่าวและความไม่มั่นคงภายใน ความอ่อนแอของอำนาจ Deba Raja ในภูฏานเป็นเหตุให้หัวหน้าท้องถิ่นพากันมีอำนาจมากขึ้น และได้เข้าบุกรุกชายแดนของอัสสัม ซึ่งเรียกว่า Duars ซึ่งเป็นของกษัตริย์แห่งอัสสัม และในที่สุดก็ถูกกองกำลังยึดได้ การกระทำดังกล่าวนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างภูฏานกับอังกฤษอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อังกฤษได้เข้ามาผนวกอัสสัมใน ค.ศ.1826 • ในปี 1838 อังกฤษก็ได้พยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้ากับภูฏานอีกโดยส่งกัปตัน R.B. Pemberton ไปเจรจา ซึ่งก็ประสบความสำเร็จทั้งๆที่ครั้งแรกภูฏานไม่เต็มใจต้อนรับคณะของกัปตันผู้นี้ Pemberton สามารถชักชวนให้ Deba Raja เซ็นสัญญาได้ แต่แล้วความพยายามของเขาก็ต้องสิ้นหวังเพราะ Penlop of Tongsa ผู้ซึ่งมีอำนาจมากที่สุดในราชสำนัก ภูฏานได้เข้าทำการขัดขวาง ดังนั้น เมื่อเขาเดินทางกลับอินเดีย เขาก็ได้เสนอต่อรัฐบาลให้ใช้นโยบายที่แข็งกร้าวซึ่งรวมทั้งให้เข้าผนวกดินแดนDuars ซึ่งภูฏานยึดครองอยู่นั่นเป็นการถาวรเสียเลย ยังไม่ทันไรภูฏานก็รีบจับกุมชาวอังกฤษเป็นเชลยเสีย นี่จึงเป็นเหตุให้อังกฤษใช้เป็นข้ออ้างเข้าผนวก Duars ในปี 1841 และ อังกฤษยินยอมชดเชยเงินสดให้ปีละ 10,000 รูปีแก่ภูฏาน • ทั้งๆที่มีเรื่องขัดแย้งกันภายในภูฏาน แต่สถานการณ์ก็กลับเป็นประโยชน์ต่อนโยบายการทูตของอังกฤษ กล่าวคือภูฏานยังต้องถูกทอดทิ้งให้จัดการภายในเองเพราะอังกฤษยังมีภาระยุ่งยากกับอินเดียอันเนื่องจากกบฎและความยุ่งเหยิงต่างๆ ที่ชาวอินเดียก่อขึ้นเป็นการต่อต้านการปกครองของอังกฤษ อำนาจส่วนกลางในภูฏานขณะนั้นก็ไม่สามารถจะควบคุมประเทศได้ทั้งนี้เนื่องมาจากสงครามกลางเมืองนั่นเอง สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก จนรัฐบาลกลางไม่สามารถจะควบคุมได้อีกต่อไป ในค.ศ.1863 Ashley Eden เป็น Secretary ของรัฐบาลที่เบงกอล ถูกส่งเป็นตัวแทนไปยังภูฏาน เพื่อไปชักชวนภูฏานให้ยอมรับบทบาทของอังกฤษมากขึ้น ตามหลักฐานของอังกฤษ กล่าวว่าขบวนทูตชุดนี้ก็ได้ถึง Punakha ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1864 ภายหลังจากที่ได้ประสบกับความลบหลู่ดูหมิ่นมากมายหลายประการ อย่างไรก็ตามชาวภูฏานก็อ้างว่ามีปฏิกิริยาของอังกฤษที่เป็นไปเช่นนั้นสืบเนื่องมาจากความเข้าใจผิด • อย่างไรก็ตาม Deba Raja ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของ Tongsa Penlop โดยสิ้นเชิงและ Eden ก็ถูกบังคับให้เซ็นสัญญายินยอมถอนตัวออกจากดินแดนทั้งหมดที่ภูฏานอ้างสิทธิ์ เมื่อEdenเดินทางกลับ รัฐบาลของอังกฤษในอินเดียปฏิเสธการเซ็นสัญญาดังกล่าว และประกาศสงครามกับภูฏานทันที ภูฏานทำการต่อสู้อย่างแข็งขัน แต่ในที่สุดก็พ่ายแพ้อังกฤษ และถูกบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญา เมื่อพฤศจิกายน ค.ศ.1865 ซึ่งเรียกว่า Treaty of Sinchula เป็นสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับภูฏานตลอดมา การยอมจำนนของภูฏานในครั้งนี้ ก็คือยินยอมให้มีการค้าเสรี ยินยอมให้อังกฤษมีสิทธิจัดการเกี่ยวกับกรณีพิพาททุกประเภทอาจเกิดขึ้นระหว่างภูฏานกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้เพื่อเป็นการตอบแทนอังกฤษก็ให้เงินอุดหนุนจำนวนหนึ่งแก่ภูฏาน เพื่อเป็นการยับยั่งไม่ให้ภูฏานเที่ยวปล้นสะดมบ้านเรือนของชาวอินเดียอีกต่อไป • ความพ่ายแพ้ของภูฏานครั้งนี้ก็ยิ่งทำให้สถาบัน Deba Raja ที่ไม่มั่นคงอยู่แล้วยิ่งเสื่อมลงเร็วขึ้น และศัตรูภายในซึ่งได้แก่พวก Penlops แห่ง Tongsa และ Paro บัดนี้ก็ได้เข้ายึดอำนาจส่วนกลางไว้ ต่อมา Jigme Namgyal ซึ่งเป็นปู่ของกษัตริย์องค์ปัจจุบันนี้ ได้มีอำนาจมากขึ้นและได้กลายเป็น Deba Raja ในค.ศ.1870 และมีชัยชนะเหนือ Drongpon แห่ง Wangdiphodrang เมื่อพระองค์ทรงพระชราในปี 1874 ก็แต่งตั้งน้องชายคือ Kyitselpa เป็น Deba ต่อมาและผู้เป็นน้องชายผู้นี้ก็ได้โจมตีกองทัพร่วมระหว่าง Paro Penlop และPunakha Dzongpon พ่ายไปได้และทั้งสองก็ได้หลบหนีลี้ภัยไปอยู่ที่อินเดีย ดังนั้นผู้ปูรากฐานของอำนาจทางการเมืองของราชวงศ์ปัจจุบันนี้คือ Jigme Namgyal เป็นที่รู้จักกันในนาม Deba Nagpo หรือ Black Deba • ประวัติศาสตร์ภูฏานสมัยของ Ugyen Wangchuck • Ugyen Wangchuck โอรสของ Jigme Namgyal ได้เป็น Paro Penlop เมื่อายุได้ 15 และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็น Tongsa Penlop จากปี 1881-1904 ในปี1884 พระองค์ได้โจมตีคู่แข่งของพระองค์สองคนพ่ายแพ้ไปคือคนหนึ่งถูกฆ่าตายในการรบ และอีกคนหนึ่งหนีไปยังธิเบต ชัยชนะครั้งนี้ของ Ugyen ทำให้เขากลายเป็นผู้ที่มีอำนาจมากที่สุด และเป็นกษัตริย์ที่มีคุณธรรมมากที่สุในประเทศ การที่ภูฏานเข้มแข็งขึ้นมาโดยมีผู้นำที่มีความสามารถเช่นนี้เป็นสิ่งที่อังกฤษต้องการ เพราะอังกฤษมองเห็นว่า อังกฤษสามารถจะยกระดับฐานะของตนในธิเบตได้ดีขึ้นเพื่อเผชิญกับอำนาจและอิทธิพลของรัสเซียที่กำลังขยายมาในบริเวณเอเชียตอนกลางนี้ ซึ่งอังกฤษสามารถทำได้โดยเพียงแต่ให้กองทัพของอังกฤษผ่านภูฏานไปโดยไม่ต้องมีอะไรเป็นสิ่งกีดขวาง Ugyen Wangchuck ก็ตระหนักถึงผลประโยชน์ที่จะได้จากการสนับสนุนของอังกฤษที่จะทำให้อำนาจของตนเข้มแข็งขึ้น ดังนั้น Wangchuck คอยระมัดระวังเรื่องผลประโยชน์ของอังกฤษในธิเบต และความสำคัญของภูฏานในทางยุทธศาสตร์ที่อาจจะส่งเสริมผลประโยชน์ของอังกฤษในธิเบต และยังหยั่งรู้ว่าจีนจะเข้ามาเล่นเกมส์ครั้งนี้ด้วย พระองค์จึงปฏิเสธข้อเสนอ ทำไมตรีของจีนเสียอย่างชั้นเชิง เมื่อครั้งที่ Amban มาจาก Lhasa และตัดสินใจยื่นชะตาให้กับอังกฤษ • พระองค์ได้เดินทางร่วมไปกับคณะของอังกฤษภายใต้การนำของ Younghusband ไปยัง Lhasa ในปี 1903 และปฏิบัติตนเป็นสื่อกลางระหว่างอังกฤษและธิเบต เนื่องจากพระองค์และคณะชาวภูฏานที่เดินทางไปด้วยนั้นเป็นที่เคารพของชาวธิเบต จึงทำให้ Younghusband สามารถลงนามในข้อสัญญากับบรรดาพระชั้นสูงและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธิเบตได้ในเดือนกันยายน ค.ศ.1904 ในการระลึกถึงบุญคุณของพระองค์ท่านอังกฤษจึ่งส่ง Claude White ซึ่งต่อมาเป็น Political official ในสิกขิมไปยังภูฏานเพื่อนำเอาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตำแหน่ง Knight Commander of india ถวายแก่ Ugyen Wangchuck White ได้รับความประทับใจอย่างยิ่งเมื่อได้พบกับบุคลิกภาพของ Sir Ugyen และความรับผิดชอบอย่างสูงของพระองค์ในการที่จะปรับปรุงสถานภาพของประเทศและอาณาประชาราษฎร์ของพระองค์ให้ดียิ่งๆขึ้นไ • White ได้บันทึกความประทับใจของเขาไว้ในขณะที่เขาพำนักอยู่ในภูฏานในหนังสือชื่อ Sikkim and Bhutan:Twenty-one Years on The North-East Frontier White ได้ใช้เวลาเป็นอันมากในการร่วมเดินทางไปกับ Sir Ugyen ในระหว่างที่เดินทางไปท่องเที่ยวตามท้องถิ่นเป็นเวลา 2 ครั้ง และเขาได้พบคุณลักษณ์ที่ดีที่หายากในตัวของ Sir Ugyen • Sir Ugyen เมื่อครั้งยังหนุ่มได้สมรสกับผู้หญิงที่งามน่ารักยิ่งผู้หนึ่ง และให้ความรักใคร่อย่างมาก แต่เธอมาเสียชีวิตภายหลังจากคลอดธิดาคนที่ 2 สร้างความเสียใจให้แก่ Sir Ugyen อย่างมากถึงกับล้มป่วยลง และภายหลังจากหายป่วยแล้วเขาก็ไม่สนใจกับเรื่องความสนุกสนานรื่นเริงอีกต่อไป เป็นคนที่รอบรู้ในประวัติศาสตร์และตำนานประเทศภูฏานอย่างดี และได้รับการยกย่องว่าทรงเป็น “ยิ่งกว่าลามะเสียอีก” พระองค์เป็นบุคคลเดียวที่ White พบว่า ในภูฏานไม่มีใครอีกแล้วที่จะมีความสนใจอย่างจริงจังต่อกิจการของประเทศไม่ว่าจะเป็นกิจการภายใน หรือกิจการต่างประเทศได้เท่ากับพระองค์ และพระองค์ก็ไม่ดื่มและเสพย์เครื่องดองของเมาเลย เป็นโชคดีของภูฏานที่ในภาวะที่เกิดความยุ่งยากนั้นได้มีคนอย่าง Sir Ugyen เกิดขึ้น ภายหลังอังกฤษได้เชื้อเชิญพระองค์ไปยังอินเดียเพื่อไปร่วมงานพิธีต้อนรับ Prince of Wales ในปี 1906 และต่อมา Ugyen ก็ได้รับเกียรติและ Prince of Wales พร้อมกับ Viceroy ได้เสด็จไปเยี่ยมตอบแทนที่ภูฏาน • ความคิดของ Sir Ugyen ในการที่จะทำให้ประเทศมั่นคงด้วยการเสนอระบบกษัตริย์แบบสืบตระกูล (hereditary monarchy) ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จาก Claude White ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็น Political officer สำหรับภูฏานเป็นการตั้งเพิ่มอีกตำแหน่งหนึ่งซึ่งเดิมเป็น Political officer สำหรับสิกขิมเมื่อ Deba Raja Chhole Tulku Yeshe Ngodrup ลาออกจากตำแหน่งใน ค.ศ.1907 บรรดาพระสงฆ์และหัวหน้าเผ่าต่างๆ ก็มีมติเอกฉันท์ให้เชิญ Sir Ugyen ขึ้นเป็นกษัตริย์ของภูฏาน • เพื่อตัดหน้าและดักหน้าจีนในการที่จะมายึดที่มั่นภูฏาน Claude White จึงเสนอแนะให้รัฐบาลอังกฤษเข้าแสวงหาผลประโยชน์ในภูฏานมากขึ้นกว่าเดิม การเข้ามาของอังกฤษมิได้เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของภูฏาน และเข้ามาเพื่อเป็นผู้คอยแนะนำภูฏานในเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ต่างหาก ซึ่งก็สามารถบรรลุผลได้ด้วยการขยายข้อความในสนธิสัญญาเก่าคือสนธิสัญญา Sinchula ในสนธิสัญญาฉบับใหม่ ซึ่งลงนามกันที่ Punakha ในวันที่ 8 มกราคม ค.ศ.1910 รัฐบาลภูฏานยินยอมให้รัฐบาลอังกฤษเข้ามาให้คำแนะนำเกี่ยวกับกิจการต่างประเทศ จำนวนเงินอุดหนุนที่รัฐบาลอังกฤษจ่ายให้ภูฏานตามสนธิสัญญา Sonchula เพิ่มขึ้นจาก 50,000 รูปี เป็น 100,000 รูปี การลงนามในสนธิสัญญาเช่นนี้อาจจะเปลี่ยนสถานภาพของภูฏานเป็นประเทศเอกราชได้ แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษจะได้ประกาศว่าการลงนามในสนธิสัญญาใหม่นี้ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย อินเดียก็ยอมรับว่า ภูฏานเป็นเพื่อนบ้านที่มีสัมพันธ์พิเศษต่อกัน • Sir Ugyen Wangchuck ภายในปี 1926 ซึ่งเป็นระยะที่พระองค์สามารถขจัดปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศได้สำเร็จแล้ว โอรสคือ Jikme Wangchuck ได้สืบราชสมบัติต่อมาและสิ้นพระชนม์ในปี 1952 พระองค์ได้ทำการปฏิรูปประเทศ จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ผลงานของ Jigme ก็คือ พระองค์เริ่มโครงการเปิดโรงเรียนและโอสถศาลาขึ้นหลายแห่งและซ่อมแซมวัดวาอารามต่างๆ พระองค์ขอร้องให้อังกฤษคืน Dewangiri ให้แก่ภูฏานและขอร้องให้เพิ่มเงินสนับสนุน แต่อังกฤษไม่อนุมัติ • ภูฏานได้เปิดความสัมพันธ์กับอินเดีย(เมื่อได้เอกราช) โดยส่งผู้แทนไปยังเดลฮี ในเดือนเมษายน ค.ศ.1948 และมีการลงนามในสนธิสัญญาระหว่างอินเดียกับภูฏาน เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.1948 ตามสนธิสัญญา รัฐบาลอินเดียยอมคืนดินแดน Dewangiri ให้แก่ภูฏานและยินยอมเพิ่มเงินอุดหนุนอีกเป็น 5 แสนรูปี ส่วนภูฏานก็ยินยอมให้รัฐบาลอินเดียเป็นผู้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีนโยบายทางเศรษฐกิจร่วมกันอีกด้วย คือ เปิดให้มีการค้าเสรีกันระหว่างประเทศอินเดียและภูฏาน สนธิสัญญาดังกล่าวนี้ทำให้ประเทศทั้งสองมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน • ก่อนที่จะกล่าวถึงภูฏานต่อไปจะขอกล่าวสั้นๆ เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านสักเล็กน้อย ซึ่งมีอินเดีย ปากีสถาน พม่า ธิเบต และเนปาล ซึ่งกล่าวโดยย่อแล้ว ในระยะเวลาเดียวกันนั้น ทุกประเทศกำลังประสบกับความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทีเดียว บางประเทศก็ประสบความร่มเย็นเป็นสุข แต่บางประเทศก็พบกับยุ่งยาก พลังทางประชาธิปไตยในบางแห่งก็เจริญเติบโตได้ดี แต่ในบางแห่งก็ต้องล้มลุกคลุกคลาน แต่ในที่สุดสังคมแบบระบบเจ้าขุนมูลนายในประเทศต่างๆก็สิ้นสุดแล้วโดยเรียบร้อย • เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเหล่านี้แล้ว จะเห็นว่าภูฏานในระยะที่สิ้นสมัยของ Jigme Wangchuck ในค.ศ.1952 นั้น กลับมีลักษณะแตกต่างไป กล่าวคือ ภูฏานไม่ได้ประสบกับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในครึ่งหลังของศตวรรษ หรือตั้งแต่ได้สถาปนาระบบสมบูรณาญาสิทธิราชขึ้น สังคมของชาวภูฏานเป็นแบบระบบเจ้าขุนมูลนาย ซึ่งทุกสิ่งขึ้นอยู่กับกษัตริย์ผู้ซึ่งมีอำนาจมากมายเป็นที่น่าเกรงขาม เช่น ในบัมทัม ประชาชนหากจะเดินผ่านพระราชวังพร้อมกับม้าเขาจะต้องคอยอุดปากม้ามิให้ทำเสียงออกมารบกวน กษัตริย์ ดำรัสของพระองค์เป็นกฎหมาย และพระองค์มีอำนาจมากถึงกับสามารถบันดาลให้มีชีวิตหรือความตายให้แก่ประชาชนของพระองค์ได้เสมอ ใครก็ตามที่จะมาเฝ้าสู่พระพักตร์ของพระองค์จะต้องหมอบกราบต่อพระพักตร์พระมหากษัตริย์ ตำแหน่งที่สำคัญๆต่างๆของประเทศจะต้องตกอยู่ที่สมาชิกของราชสำนักหรือไม่ก็ต้องตกแต่คนสนิทของพระมหากษัตริย์ นี่อาจจะเป็นเพราะเหตุผลที่ต้องการความไว้วางใจและความจงรักภักดีต่อราชสำนักก็ได้ และเป็นเพราะว่าระบบสมบูรณาญาสิทธิราชแบบนี้เพิ่งมีขึ้นนั้นเอง • ภูฏานก็เหมือนกับระบอบเจ้าขุนมูลนายอื่นๆ ตรงที่มีระบบทาส ส่วนใหญ่นิยมปฏวัติกันในภูฏานตะวันออก ซึ่งเป็นอาณาเขตที่มีเจ้าของที่ดินผู้มั่งคั่ง และชนชั้นสูงของสังคมอาศัยอยู่ คนจำพวกนี้มีทาสทำงานอยู่ในที่ดินของตนเป็นจำนวนมาก ทาสเหล่านี้ได้รับสิ่งตอบแทนคือ ผลผลิต1% ของผลผลิตที่ได้มาทั้งหมดต่อปีและเสื้อผ้าปีละ 1 ชุด แรงงานบังคับซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า “ula” นั้นก็มีอยู่ทั่วไปไม่เพียงแต่มีไว้เพื่อรับใช้ dzongs แต่ยังมีไว้เพื่อทำงานให้กับรัฐบาลประเภทอื่นๆอีก การเก็บภาษีสำหรับสามัญชนก็เป็นภาระที่หนักมาก ทั้งนี้เพราะประชาชนต่างก็ต้องให้แรงงานแก่รัฐบาลอยู่แล้วสำหรับภาษีก็คือทุกๆครอบครัวจะต้องเอาขี้เถ้าใส่ถุงเป็นจำนวนมาก เพื่อเอาไปทำกระดาษและประชาชนจะต้องแบกน้ำและไม้ไปยัง dzongs • การเก็บภาษีอย่างหนักเป็นสิ่งของนี้ ไม่เป็นแต่สิ่งบีบคั้นเพียงประการเดียวในขณะนั้น ยังมีสิ่งอื่นอีก นั่นคือการปฏิบัติอันเก่าแก่ในการให้รางวัลแก่ข้าราชสำนัก โดยการส่งบุคคลเหล่านั้นไปท่องเที่ยวยังท้องถิ่นต่างๆ เพื่อไปสำแดงถึงอำนาจของรัฐบาลกลาง เจ้าหน้าที่เหล่านี้ เมื่อไปถึงหมู่บ้านต่างๆก็เรียกเก็บภาษีเอากับประชาชนเป็นการส่วนตัว เพราะถือว่าเป็นรางวัลที่ได้รับจากการที่ตนได้รับใช้ราชการ ยิ่งไปกว่านั้น พวกเจ้าหน้าที่เหล่านี้ยังได้ข่มขู่บังคับประชาชนให้บริการเรื่องความบันเทิงและให้อำนายความสะดวกในการเดินทาง ตามหมู่บ้านต่างๆไม่พอใจต่อความประพฤติของบุคคลเหล่านี้ และรุนแรงมากขึ้น แต่ที่มีความรู้สึกขุ่นเคืองมากที่สุดก็ได้แก่สถานที่ที่มีน้ำพุที่เป็นน้ำแร่ธาตุ ซึ่งเป็นที่ที่พวกข้าราชบริพารเหล่านี้ชอบใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งต้องการให้ประชาชนในบริเวณนี้จัดสถานที่อาบน้ำให้เป็นอย่างดีสำหรับพวกเขา ฉะนั้นจึงทำให้ผู้คนในท้องถิ่นนั้นได้รับความเดือดร้อนมาก เป็นเหตุให้ชาวบ้านพากันทำลายแหล่งน้ำพุนั้นเสีย เพื่อจะไม่เป็นสิ่งชักชวนให้พวกข้าราชการเหล่านี้เดินทางไปอีก อย่างไรก็ตามหากจะดูเรื่องความยุติธรรมก็เห็นว่ากฎหมายให้ความยุติธรรมดี โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับการข่มขู่ประชาชน การลงโทษรุนแรงมากไม่เฉพาะแต่คดีดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังรวมทั้งอาชญากรรมทุกประเภทด้วย ชีวิตของชาวภูฏานทั้งๆที่ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนาแต่สภาวะของชีวิตกลับมีแต่ความยากลำบากทั้งนี้เพราะสภาพแวดล้อมนั่นเอง และสภาพแวดล้อมในภูฏานดังกล่าวนี้จึงไม่เหมาะสมกับคนอ่อนแอ • อารยธรรมทุกแห่งพัฒนาขึ้นมาโดยอาศัยแรงงานทาสเป็นสิ่งสำคัญ ในภูฏานก็เช่นเดียวกัน กล่าวคือ เมื่อเริ่มสร้าง dzongs ในคริสต์ศตวรรษที่17 จะต้องใช้แรงงานบังคับจำนวนมหาศาล ซึ่งไม่สามารถหาได้พอเพียงจากแรงงานภายในประเทศ ดังนั้นภูฏานจึงต้องอาศัยแรงงานจากภายนอกคือ คอยปล้มสดมภ์กวาดต้อนผู้คนจากบริเวณที่ราบมาทำงานสร้าง dzongs แม้เมื่อสร้าง dzongs เสร็จแล้วก็ยังจำเป็นต้องเอาคนเหล่านี้ไว้สำหรับรักษาดูแลอีกด้วย แม้ในระหว่าง 50 ปีแรกๆของศตวรรษนี้ ก็ยังพบครอบครัวเป็นจำนวนมากที่สืบเชื้อสายมาจากพวกทาสที่เข้ามาก่อสร้าง • ลักษณะของสังคมมีลักษณะโดดเดี่ยวอย่างยิ่ง กล่าวคือ แต่ละหมู่บ้านในแต่ละหุบเขามีสภาพแบบเลี้ยงตนเองหรือพอกินพอใช้เฉพาะหมู่บ้านของตน ไม่ค่อยจะได้มีความสัมพันธ์กับหมู่บ้านอื่นนัก กฎหมายก็ไม่มีความเป็นแบบแผน และอาชญากรรมประเภทเดียวกันอาจถูกลงโทษแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นต่างๆ ผู้บริหารเป็นผู้ที่จะพิจารณาคดีตัดสินข้อพิพาทซึ่งเป็นลักษณะของสังคมแบบเจ้าขุนมูลนาย นี่เป็นสภาพของสังคมที่ Jigme Dorje Wangchuch จะต้องปกครอง เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ในปี 1952 กษัตริย์องค์ใหม่นี้มีพระชนมายุเพียง 24 ปี ถูเลี้ยงดูในราชสำนักที่มีระเบียบวินัยเคร่งครัด และได้รับการศึกษาไม่มากนัก แต่สิ่งที่ได้รับมากก็คือขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวภูฏาน ตั้งแต่เริ่มต้นแล้วด้วย พระองค์ได้แสดงเจตนาอย่างแรงกล้า ด้วยการปรับปรุงอุปนิสัยให้ใจคอกว้างขวางขึ้นด้วยการอ่านหนังสือประเภทต่างๆเป็นอันมาก จนกระทั่งทรงมีความรอบรู้ทั้งไม่ว่าจะเป็นปรัชญา หรือการสงคราม ด้านการแพทย์ พุทธศาสนา อาวุธ หรือแม้แต่เรื่องสวยงาม พระองค์เป็นผู้มีความทรงจำดีเลิศซึ่งมาสารถเข้าใจและจดจำได้ในทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์อ่านและพบมา การที่พระองค์ได้อ่านหนังสือมากทำให้พระองค์ได้เข้าใจถึงแนวคิดแบบประชาธิปไตยและทรงยอมรับแนวความคิดดังกล่าวนี้ ทัศนทางการเมืองของพระองค์ ทรงได้รับอิทธิพลจากเนห์รูมาก ผู้ซึ่งพระองค์ทรงยกย่องอย่างสูง พระองค์เหมือนกับเนห์รูตรงที่รักประเทศและประชาชนของพระองค์มาก และยังเป็นผู้ที่มีสายตาไกลเหมือนเนห์รูอีกด้วย และทรงมีอุดมการณ์สูงส่ง พระองค์ทรงใฝ่ฝันที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศของพระองค์ให้เป็นประชาธิปไตยและพัฒนาประเทศในทันสมัย • ประวัติศาสตร์ภูฏานในสมัยของ Jigme Dorje Wangchuck (1952-1972) • จึงไม่น่าแปลกใจที่ปี 1952 ซึ่งเป็นปีที่พระองค์เสด็จเสวยราชย์นั้นจะเป็นปีแห่งความรุ่งเรืองของประวัติศาสตร์ภูฏาน คือ พระองค์ได้พยายามเปลี่ยนสังคมระบบเจ้าขุนมูลนายให้เป็นประชาธิปไตย จริงอยู่ประเทศและประชาชนของพระองค์แทบจะไม่ได้มีการเตรียมตัวเพื่อรับกับมาตรการที่พระองค์ทรงริเริ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ของพระองค์เอง พระองค์ทรงล้ำหน้าไปถึง 50 ปีทีเดียว และเวลาเท่านั้นที่จะพิสูจน์ได้ให้เห็นได้ว่าประเทศได้รับเอาแนวความคิดทางประชาธิปไตยไว้ได้เพียงใด แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้ทำให้ทั้งความกล้าหาญของพระองค์และความเพียรพยายามอย่างใหญ่หลวงของพระองค์น้อยลงไปเลย แต่มันกลับเน้นให้เห็นถึงเกียรติคุณของความเป็นผู้มีสายตาไกลและความจริงใจต่ออุดมการณ์ของพระองค์ • ระบบการปกครองจะได้อธิบายอย่างละเอียดในบทอื่น แต่ก็ควรจะกล่าวถึงมาตรการต่างๆของประชาธิปไตยทรงริเริ่มใช้ ซึ่งได้แก่มีการตั้งสภาแห่งชาติ (National Assembly) มีศาลสูง (Hight Court) สภาคณะรัฐมนตรี (Council of Ministers) และสภาที่ปรึกษาแห่งราชสำนัก (Royal Advisory Council) มีการยกเลิกระบบทาส ประเพณีหมอบกราบต่อหน้ากษัตริย์ก็ยกเลิกไปไม่ต้องปฏิบัติ การศาลก็แยกออกมาจากฝ่ายบริหาร และมีการประมวลกฎหมายขึ้น สร้างระบบข้าราชการขึ้น มีการเข้าควบคุม สำรวจที่ดิน และเตรียมทำบันทึกประวัติศาสตร์ของที่ดิน กษัตริย์ยอมรับอำนาจของการยับยั้ง และกฎหมายที่ออกโดยสภาแห่งชาติถือเป็นกฎหมายสูงสุด ในไม่ช้าสภาแห่งชาติก็ได้ออกกฎหมายที่ทำให้กษัตริย์ต้องยอมการออกเสียงวางใจทุกๆ 3ปี แต่ถ้าหากออกเสียงไม่ไว้วางใจพระองค์จะต้องสละราชสมบัติ มาตรการต่างๆ เหล่านี้ได้เป็นที่ยอมรับทั้งๆที่ภูฏานก็ยังมีระบบกษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราช พระองค์เต็มใจที่จะยกอำนาจทั้งหมดของพระองค์ให้กับสภาแห่งชาติ และลดฐานะของพระองค์เป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ว่ากษัตริย์องค์นี้ทรงมีความรักเสรีภาพและประชาธิปไตยเพียงใด • บุคลิกภาพของพระองค์แสดงให้เห็นว่าทรงรับผิดชอบต่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงอุทิศตนเองให้กับงานสร้าง ปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย ในขณะเดียวกันก็คงไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมอันสูงส่งของประเทศไว้ จริงอยู่ประเทศต่างๆส่วนมากเมื่อปรับปรุงประเทศให้มีความก้าวหน้าทางวัตถุ แล้วก็มักจะทำให้ความเจริญทางจิตใจและวัฒนธรรมอันสูงส่งของตนพลอยเสื่อมลงไป แต่สำหรับพระองค์แล้วทรงรักษาดุลย์ระหว่างความก้าวหน้าทางวัตถุกับคุณค่าทางวัฒนธรรมด้วยการยึดนโยบาย “สายกลาง” ตามกติกาของศาสนาพุทธ • จะต้องเป็นที่จดจำกันในประวัติศาสตร์ว่า King Jigme Dorje Wangchuck ไม่เพียงแต่เป็นสถาปนิก หรือผู้สร้างภูฏานสมัยใหม่เท่านั้น พระองค์ยังเป็นผู้ปกครองที่มีสติปัญญาฉลาดเฉียบแหลม และมีสายตาไกล และมีพระทัยรักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง พระองค์สมควรได้รับสมญานามอย่างสมภาคภูมิในการเป็นกษัตริย์ที่ดีเลิศและกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ พระองค์ทรงเปลี่ยนนโยบายดั้งเดิมของประเทศที่อยู่โดดเดี่ยว ด้วยการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1971 • อย่างไรก็ตามพระองค์ก็มาสวรรคตในปีต่อมา คือ วันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ.1972 ที่ Nairobi ซึ่งถือเป็นวันที่แสนเศร้าโศกของประเทศ ผู้ที่ปกครองสืบต่อมาก็ก็คือ โอรสของพระองค์ Jigme Singye Wanchuck • ประวัติศาสตร์สู่ยุคราชวงศ์วังชุก • จิกมี นัมเกล วังชุก เจ้าเมืองตองสา เมื่อชนะศึกภายนอกแล้วก็ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำฝ่ายฆราวาส แต่ศึกภายในยังไม่สงบ ได้เกิดความขัดแย้งกับสังฆราชาผู้นำศาสนจักรในขณะนั้น ไม่ลงรอยกันในการปกครองเมืองพาโร ทำให้เกิดการสู้รบกัน ชาวดรุกยุลส่วนมากเข้าร่วมสนับสนุน จิกมี นัมเกล ร่วมรบเต็มกำลัง เมื่อจิกมี นัมเกล ได้รับชัยชนะจึงแต่งตั้งให้ อุเกน วังชุก บุตรชายเป็นเจ้าเมืองพาโร แต่บรรดาแว่นแคว้นก็ยังไม่ยอมสยบ จิกมี นัมเกล จึงนำกำลังออกปราบจนราบคาบ และได้อำนาจการปกครองอย่างเบ็ดเสร็จ หลังจากรวมเมืองใหญ่น้อยเป็นหนึ่งเดียว จิกมี นัมเกล วังชุก จึงเป็นปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์วังชุก โดยมี อุเกน วังชุก ผู้ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับบิดาร่วมปกครองเมืองสำคัญ เป็นรัชทายาท • อุเกน วังชุก สวรรคตในปี พ.ศ.2468 พระราชโอรสพระนามว่า จิกมี ดอร์จี วังชุก ขึ้นครองราชย์ต่อจากบิดาเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 3 ในปี พ.ศ. 2495 สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 3 จิกมี ดอร์จี วังชุก ทรงได้สมญานามว่า “พระบิดาแห่งภูฏานยุคใหม่” พระองค์นำภูฏานเข้าสู่แผนพัฒนาแห่งชาติแห่งชาติ ทรงเปิดรับวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาในภูฏาน แต่พระราชาธิบดี จิกมี ดอร์จี วังชุก ก็มีพระชนมายุสั้น พระองค์สวรรคตที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 • สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก มกุฎราชกุมาร เข้าสู่พระราชพิธีราชาภิเษกเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2517 เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 4 ขณะมีพระชนมายุ 18 พรรษา ท่ามกลางอาคันตุกะผู้มีเกียรติจากนานาประเทศ ในท่ามกลางพระราชพิธีทางโหราศาสตร์ ศาสนศาสตร์ และจารีตประเพณีแต่โบราณกาล หลังจากขึ้นครองราชย์ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ได้รับการขนานนามว่าเป็น“พระบิดาแห่งปวงชน” จากการที่ทรงมีนโยบายยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาประเทศ • เจ้าฟ้าชายจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก มกุฎราชกุมารสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย นัมชุก พระราชบิดาของพระองค์ทรงสละราชสมบัติพระราชทานให้แก่เจ้าฟ้าชายจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก มกุฎราชกุมาร พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2549 • สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังซุก ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ลำดับที่ 5 แห่งราชวงศ์วังชุก โดยทรงมีพระราชดำริในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอย่างแรกด้วยการพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันชาติของภูฎาน หลังจากนั้นประมาณสองปี ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 พระองค์ได้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกเป็นกษัตริย์อย่างเป็นทางการ ณ พระราชวังในกรุงทิมพู
|