ประเทศภูฏาน ตั้งอยู่ในแถบขุนเขาหิมาลัยระหว่างอินเดียกับจีน (ติดกับทิเบต) เป็นประเทศที่มีเทือกเขาเป็นจำนวนมาก จนได้รับการขนานนามว่า "สวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย" เดิมเคยผูกพันอยู่กับทิเบต แต่ แยกออกมาเป็นรัฐอิสระตั้งแต่ ค.ศ.1630 ภูฏาน เป็นประเทศเล็กๆ มีพื้นที่ 47,000 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่เหนือรัฐอัสสัมของประเทศอินเดีย มีสถานที่ท่องเที่ยวเหมาะกับคนที่ชอบธรรมชาติที่งดงามและวัฒนธรรมดั้งเดิม • เทือกเขาหิมาลัยอันปกคลุมไปด้วยหิมะตลอดทั้งปีทอดตัวยาวผ่านตอนบนของภูฏานทั้งแถบ ลดหลั่นลงมาบรรจบกันเป็นหุบเขาในบริเวณตอนกลางของประเทศ แล้วค่อยๆ ลดระดับลงจนจรดที่ราบทางตอนใต้ที่ต่อเนื่องมาจากอินเดีย ทำให้ภูฏานมีภูมิประเทศหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันสุดขั้ว ตั้งแต่ยอดเขาสีขาวโพลนที่สูงกว่า 7,000 เมตรทางตอนเหนือ ไปจนถึงที่ราบลุ่มเขียวขจีสูง 300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตามแนวขอบประเทศทางตอนใต้ • ทิศเหนือและทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดกับ ทิเบต (จีน) • ทิศใต้ ติดกับ แคว้นอัสสัมและเบงกอลตะวันตก (อินเดีย) • ทิศตะวันออก ติดกับ แคว้นอรุณาจัลประเทศ (อินเดีย) • ทิศตะวันตก ติดกับ แคว้นสิกขิม (อินเดีย) • ภูฏาน เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล แต่มีแม่น้ำหลายสายที่ไหลลงมาจากยอดเขาหิมาลัย ตัดผ่านประเทศตามแนวเหนือ-ใต้ ความอุดมสมบูรณ์ของภาคกลางและใต้ ส่งผลให้ชาวภูฏานส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณหุบเขาตอนกลางของประเทศ (ระดับความสูง 1,100 ถึง 2,600 เมตร) และบริเวณตอนใต้ (ระดับความสูง 300 ถึง 1,600 เมตร) เทือกเขาสูงชันจากเหนือไปใต้ที่ลดหลั่นลงมาจากหิมาลัย เป็นกำแพงกั้นระหว่างหุบเขาตอนกลางต่างๆ ตัดขาดชุมชนออกจากกัน ทิ้งให้หมู่บ้านส่วนใหญ่อยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่สามารถไปมาหาสู่ระหว่างกันได้สะดวก • เขตที่อุดมสมบูรณ์และมีประชากรหนาแน่นมากที่สุดของประเทศคือ บริเวณพรมแดนทางตอนใต้ เขตเชิงเขาหิมาลัยที่ความสูงระหว่าง 300-1,600 เมตร ก่อนหน้าที่จะปิดพรมแดนด้านที่ติดกับทิเบตในปี ค.ศ. 1959 ทิวเขาสูงในหิมาลัยถือเป็นเส้นทางหลักในการสัญจรไปยังหลายๆท้องที่ ทำให้ภูฏานกับทิเบตมีการติดต่อค้าขายและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันมาแต่ครั้งโบราณ ช่วงครึ่งแรกในศตวรรษที่ 20 ท้องที่บางแห่งที่เข้าถึงได้ง่ายในเขตภาคใต้ของภูฏานมีชาวเนปาลผู้คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตในที่ลุ่ม เดินทางเข้ามาตั้งรกรากอยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่ ต่อมาปี ค.ศ.1962 ทางรัฐบาลภูฏานได้สร้างถนนราดยางสายเหนือ-ใต้ เพื่อเชื่อมกับทิมพูเข้ากับพุนโซลิงในภาคตะวันตกเฉียงใต้สำเร็จ • ภูฏานภาคใต้ : เชิงผาหิมาลัย • แต่เดิม เขตที่ราบภาคใต้เรียกว่า เขตดัวร์ แปลว่า ปากประตู กับเขตเชิงเขาหิมาลัยที่ความสูงไม่เกิน 1,700 เมตร กลายมาเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ เนื่องจากอยู่ใกล้ตลาดในภาคเหนือของอินเดียและบังคลาเทศ อาณาบริเวณแถบนี้จึงเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว มีเมืองศูนย์กลางการค้าเล็กๆเกิดขึ้นมากมาย ประชากรในภาคใต้ของภูฏานส่วนใหญ่เป็นชาวนาเชื้อสายเนปาล ที่อพยพเข้ามาในปลายศตวรรษที่ 19 ไล่เรื่อยมาจนถึงปี ค.ศ.1950 มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า โฮตซัมปา พูดภาษาเนปาล ส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู • ส่วนเขตหิมาลัยตอนกลาง คือแถบหุบเขาพาโร ทิมพู ปูนาคา วังดีโปดรัง ฮุนซี และบางส่วนของตาชิกัง เป็นถิ่นฐานของชาวไร่ชาวนาและคนเลี้ยงสัตว์กลุ่มมองโกลอยด์ พูดภาษาในตระกูลทิเบต-พม่า ที่เรียกตนเองว่า ดรุ๊กปะ นิยมสร้างบ้านเรืออยู่กระจัดกระจายห่างไกลกัน แต่ปัจจุบัน เริ่มมีชุมชนเมืองเกิดขึ้นรอบ ซอง(ป้อมและอาราม) ซึ่งเป็นป้อมปรากรป้องกันข้าศึกรุกรานและเป็นศูนย์กลางบริหารและการปกครองท้องที่แต่ละแห่งในสมัยโบราณ มีเทือกเขาดำน้ำทำหน้าหน้าที่เป็นสันปันน้ำ แยกเขตลุ่มแม่น้ำสองแห่งออกไว้คนละฟากข้าง โดยแม่น้ำทั้งสองสายจะไหลจากเหนือลงใต้ ไหลไปออกยังที่ราบในเขตอินเดีย กลายเป็นสี่แควใหญ่ของแม่น้ำพรหมบุตร (โตชา ไรดัก สันโกศ และมานัส) มีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าสูงถึง 30,000 เมกะวัตต์ ปัจจุบัน ภฏานได้สร้างโรงไฟฟ้าขึ้นแล้วหลายแห่ง โดยได้รับความช่วยเหลือจากทั้งอินเดียและออสเตรเลีย • ภูฏานตะวันตก : หุบเขาทั้งห้า • พื้นที่ภาคตะวันตกของภูฏานเกิดจากการรวมตัวของหุบเขาฮา (2,700 เมตร) ปาโร (2,200 เมตร) และทิมพู (2,300 เมตร) ในขณะที่ปูนาคากับวังดีโปรดัง ประกอบกันขึ้นเป็นหุบเขายาว ความสูง 1,300 เมตร หุบเขาทั้งห้าที่ประกอบขึ้นเป็นภาคตะวันตก เป็นถิ่นฐานของพวก งาลง แปลว่า ผู้ลุกขึ้นเป็นกลุ่มแรก พูดภาษา ซงคา แปลว่ ภาษาของป้อม ซึ่งเป็นภาษาของภูฏานในปัจจุบัน เป็นคนกลุ่มแรกที่หันมายอมรับนับถือพุทธศาสนา ผู้คนแถบนี้มีฐานะค่อนข้างดี และรัฐบาลภูฏานก็เข้ามาดูแลอุตสาหกรรมป่าไม้อย่างเข้มงวด • ภูฏานภาคกลาง : บุมทังภูมิหลังอันยาวนาน • ภาคกลางประกอบขึ้นจากหลายท้องที่ แต่ละที่จะมีภาษาถิ่น (คา) ของตนเอง (อาทิ บุมทังคา เค็งคา กูร์เตคา) เป็นภาษาเก่าแก่ จัดอยู่ในกลุ่มภาษาโบดิชโบราณที่แยกย่อยออกมาจากภาษาในตระกูลทิเบต-พม่าอีกต่อหนึ่ง มีช่องเขายูตงลา (3,300 เมตร เป็นประตูสู่เขตบุมทัง ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของหุบเขาสี่แห่งที่ระดับ 2,700-4,000 เมตร หุบเขาชูเมะและโชโกร์เป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ ส่วนหุบเขาตังและอูราจะทำการปศุสัตว์ บ้านเรือนส่วนใหญ่กอด้วยหินมากกว่าใช้ดินอัด ลวดลายดูบางตากว่าทางตะวันตก บุมทังได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่รุ่มรวยด้วยศิลปะและมีภูมิหลังอันยาวนาน ขนบประเพณีทางศาสนายังเป็นที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาโดยมิได้หายสูญ วัดวาแต่ละแห่งล้วนมีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ • ภูฏานตะวันออก : ดินแดนแห่งท้องนาและผ้าทอ • ภูฏานตะวันออกมีพื้นที่ครอบคลุมเขตมงการ์ ตาชิกัง เปมากาเช และซัมดรุปจงคา มีหุบเขาเป็นรูปตัว V มีท้องทุ่งและบ้านเรือนตั้งอยู่บนเนินอันโล่งเตียน บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านทรงภูฏานขนานแท้ ภาคตะวันออกเป็นถิ่นที่อยู่ของพวก ชาชปปะ (ซังลา) ซึ่งมีภาษาพูดเป็นของตนเอง ชาวชาชปปะเคร่งครัดศรัทธาในศาสนาจนขึ้นชื่อ ละแวกนี้จึงมีวัดเล็กๆ ตั้งอยู่ทั่วไป วัดในท้องที่ห่างไกลจะมี กมเซ็น (พระบ้าน) อยู่ประจำร่วมกับครอบครัว สตรีชาชปปะมีฝีมือในการทอผ้าทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้าย ที่หุบเขายาดีและพงเมจึงได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งท้องนาและผ้าทอฝีมือประณีต • ภูฏานภาคเหนือ : ภูผาหิมาลัย • ภาคเหนือของภูฏานเป็นจุดตั้งต้นเขตภูผาหิมาลัย ด้วยความสูงกว่า 3,500 เมตร เขตลิงเซ ลายะ และลูนานา มีวิถีชีวิตคล้ายกับเขตหุบเขาสูงอย่างเมรักกับซักเต็งในภาคตะวันออก ผู้คนยังชีพด้วยการเลี้ยงจามรีและเพาะปลูกเล็กๆ น้อยๆ โดยปลูกได้เพียงข้าวบาร์เล่ย์กับพืชมีหัวใต้ดิน เพราะมีความสูงเป็นข้อจำกัด อาหารหลักคือ นม เนย เนยแข็งและเนื้อจามรี ชาวบ้านเป็นพวกเลี้ยงสัตว์เร่ร่อน ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในหนึ่งปีอาศัยอยู่ในกระโจมสีดำที่ทอขึ้นจากขนจามรี • เวลา : เวลาที่ภูฏานช้ากว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง • ไฟฟ้า : ใช้ไฟฟ้า 220 โวลต์ • สกุลเงิน : สกุลเงินของภูฏานคือ งุลดรัม (Ngultrum) เรียกสั้นๆว่า นู (Nu) โดยค่าเงินของภูฏานผูกไว้กับค่าเงินรูปีของอินเดีย สามารถใช้เงินรูปีซื้อของได้
|