พิพิธภัณฑ์แห่งชาติภูฏาน • พิพิธภัณฑ์แห่งชาติภูฏาน ตั้งอยู่เหนือพาโรซอง ซึ่งตั้งอยู่ในป้อมตาซองที่เป็นหอสังเกตการณ์ในยุคโบราณของพาโรซอง ซึ่งป้อมตาซองสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1651 แต่ไม่มีหลักฐานยืนยัดแน่ชัด ผู้สร้างคือเต็นซิน ดรุ๊กกา น้องชายต่างมารดาของท่านซับดรุงนาวัง นัมเกล สร้างขึ้นเมื่อครั้งที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นลปแห่งพาโรอยู่ • ป้อมตาซองนี้เคยเป็นที่คุมขังอูเก็น วังชุก (ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งภูฏาน) สมัยที่ปรากกบฎในปี ค.ศ.1872 ครั้นถึงกลางทศวรรษที่ 1950 ก็ถูกทิ้งร้างให้ปรักหักพัง จนปี ค.ศ. 1965 พระเจ้าจิกมี โดร์จี วังชุก (รัชกาลที่ 3 แห่งภูฏาน) จึงโปรดฯ ให้บูรณะป้อมตาซองขึ้นมาใหม่ให้เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติภูฏาน และทำพิธีเปิดเมื่อปี ค.ศ. 1968 • พิพิธภัณฑ์แห่งชาติภูฏาน เปิดทำการวันอังคารถึงวันเสาร์ เวลา 09.00-17.00 น. และปิดในวันหยุดนักขัตฤกษ์ ภายในเย็นจัด เพราะมีศาสนวัตถุที่เก็บรักษาอยู่มาก การเที่ยวชมต้องเดินชมเวียนขวาตามเข็มนาฬิกา • ภายในพิพิธภัณฑ์ไม่ได้มีแต่เพียงงานศิลปะแต่ยังมีงานหัตถกรรมที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ซากสัตว์ที่สตาฟฟ์ไว้ เครื่องแต่งกาย อาวุธชุดเกราะ และแสตมป์ ช่วยให้ผู้มาเยือนตระหนักถึงความร่ำรวยทางวัฒนธรรมของภูฏานได้โดยใช้เวลาไม่นานนัก ภายในตัวป้อมจะพบห้องโถงจัดแสดงเครื่องแต่งกาย ผ้าทอ หน้ากาก หมวกเครื่องบังเหียนอาม้าเงินดุนลาย คัมภีร์โบราณ และเรื่องราวประวัติศาสตร์ยุคแรกเริ่มของภูฏาน • ห้องโถงชั้นสองจัดแสดงภาพทังกา หรือ พระบฏ นอกจากนี้ยังมีผ้าอัปปลิเกที่สะท้อนทักษะความชำนาญในงานฝีมือแขนงนี้ของชาวภูฏานได้อย่างเห็นชัด ที่น่าสนใจคือ ด้ายฟั่นขนาดยักษ์อันเป็นที่สถิตของวิญญาณชั่วร้าย • ห้องแสดงแสตมป์ มีแสตมป์ภูฏานให้ชมทั้งแสตมป์กลม แสตมป์ผ้าไหม แสตมป์สามมิติ แสตมป์นูนที่ระลึกในงานพระราชพิธีราชาภิเษก และแสตมป์สามเหลี่ยมรูปเยตี นอกจากนี้ ยังมีห้องบูชาที่เก็บรักษารูปประติมากรรมดินเหนียวอยู่อีกห้องหนึ่ง
วังดี โปดรัง (Wangdi Phodrang) • เมืองวังดี โปดรัง เรียกสั้นๆ ว่า วังดี อยู่ที่ความสูง 1,350 เมตร ตั้งอยู่เหนือจุดบรรจบของแม่น้ำ 2 สายคือ แม่น้ำปูนาคาและแม่น้ำดัง เป็นเมืองในอดีตที่สำคัญของประวัติศาสตร์ภูฏาน ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองปูนาคาประมาณ 13 กิโลเมตร มียอดเขา กังก้า พุนซุม (Gangkhar Phuensum) ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก (ที่ยังไม่มีผู้ใดสามารถปีนขึ้นไปได้) ซึ่งสูงถึง 7,500 เมตร
• วังดีโปดรังซอง (Wangdi Phodrang Dzong) • วังดีโปดรังซองสร้าง ในปี ค.ศ.1638 ซองแห่งนี้ตั้งอยู่บนสันเขาระหว่างแม่น้ำ พูนาค และแม่น้ำดาง ตามตำนานเล่าว่า ท้าวมหากาฬได้มาสำแดงตนให้ท่านซับดรุงเห็น และกล่าวคำทำนายว่า "บนยอดเนินหินตรงที่แม่น้ำสองสายไหลมาบรรจบกัน ณ ตำแหน่งที่ฝูงกาบินออกไปยังสี่ทิศ ท่านจะสร้างป้อมขึ้นที่นั่นหลังหนึ่ง" ครั้นถึงปี ค.ศ. 1638 ท่านซับดรุงได้เดินทางมาถึงสถานที่ตามคำทำนายนั้น จึงสร้างป้อมขึ้น และให้ชื่อว่า วังดีโปดรัง แปลว่า "วังซึ่งสยบสี่ทิศไว้ใต้อำนาจ (ของท่านซับดรุง)" • ตัวป้อมนั้นมุงหลังคาด้วยกระเบื้องแผ่นแบบชนบท ลานชั้นแรกรายล้อมด้วยอาคารกรมกองการปกครอง อาคารด้านข้างมีรูปทรงคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้ามากกว่าจัตุรัส พื้นที่ป้อมฝั่งนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 16383 ตามคำสั่งของท่านเต็นซิน รับเย พื้นที่ส่วนที่สองมีหุบห้วยเล็กๆ กั้นออกจากส่วนแรก แต่เชื่อมถึงต่อกันทางสะพานสั้นๆ มีลานชั้นในที่ค่อนข้างแคบทอดไปหาบันไดทางขึ้นไปสู่หอกลาง ฟากทางได้มีลานอีกแห่งหนึ่ง ศาลาการเปรียญที่ตั้งอยู่ตรงปลายสุดเป็นที่ประดิษฐพระพุทธรูปพระพุทธเจ้าแห่งกาลสาม • ความเชื่อเกี่ยวกับธรรมบาลธรรมบาลแต่ละตนจะมีฐานะเทียบเท่าโพธิสัตว์และต่างมีหน้าที่คุมทัพปีศาจจำนวนมหาศาลเพื่อมาทำสงครามปราบปรามปิศาจชั่วร้ายที่เป็นศัตรูต่อพระพุทธศาสนาโดยมิยอมผ่อนโทษให้ ฉะนั้น รูปลักษณะของธรรมบาลแต่ละตนจึงน่าเกลียดน่ากลัวเพื่อเป็นการข่มขวัญฝ่ายศัตรูนั่นเอง แต่แท้จริงไม่มีใจดุร้ายเหมือนรูปร่างหน้าตา
• ธรรมบาลทั้ง 8 มีชื่อดังต่อไปนี้ 1.มหากาล (Mahakala ; สันสกฤต ; Palden Lhamo ; ซองคา) มีรูปร่างหน้าตาหลายแบบ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่มีมากเศียรมากกร และกายสีดำ 2.กาลเทวีหรือมหากาลลี (Mahakali ; สันสกฤต ; Palden Lhamo ; ซองคา) เป็นธรรมบาลหญิงที่มีหน้าที่ปกป้องพระพุทธศาสนาโดยตรง เทพทั้งหลายจึงมอบเทพศัตราไว้ให้ เป็นต้นว่า พระพรหมประทานพัดหางนกยูง พระวิษณุประทานมณี วัชรปราณีประทานขวาน ฯลฯ ปกตินางทรงลา เคียงข้างด้วยผู้รับใช้ 2 ตน ตนหนึ่งจูงลา อีกตนหนึ่งถือมีดอีโต้ ลุยไปในทะเลสาบเลือด ซึ่งมีกะโหลกและกระดูกมนุษย์ลอยระเกะระกะ 3.ซังสะละปา หรือพรหมสีขาว มี 4 พักตร์ ทรงม้าขาวเป็นพาหนะ มีพระแสงดาบเป็นอาวุธประจำกาย หน้าตาดุร้ายน้อยกว่าธรรมบาลตนอื่นๆ 4. เบคตลีธรรมบาล ตนนี้ไม่มีชื่อในภาษาสันสกฤต ตำนานเล่าว่ายกทัพมารจำแลงเป็นสัตว์ต่างๆ เข้าขัดขวาง คุรุปัทมสัมภวะ จึงร่ายคาถาแปลงร่างเป็นพระอวโลกิเตศวร 6 กร ทรงเทพศัตรา 4 กร ส่วนกรอีกคู่อยู่ในท่าพนม รอยเท้าของม้าที่พระอวโลกิเตศวรทรงได้บังเกิดเป็นอักขระมนตร์ “โอม มณี ปัทเม หุม” เบคตลีเห็นความมหัศจรรย์นี้เลยกลับใจเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา 5. พระยมธรรมบาล มีมุนีตนหนึ่งเข้าฌานอยู่ในถ้ำ มีกำหนด 50 ปี จึงจะเข้าสู่นิพพาน เผอิญในคืนของปีที่ 49 11 เดือน กับอีก 29 วัน คือขาดอีก 1 วันจะครบ 50 ปีเต็ม ก็มีโจร 2 คนนำโคที่ลักขโมยมาเข้าไปในถ้ำ ขณะหัวขโมยเหลียวไปเห็นมุนีดังกล่าว เกรงจะเป็นพยานจึงคิดฆ่าเสีย มุนีไหวตัวทันจึงร้องขอชีวิต โดยยกเหตุที่ตนกำลังจะเข้าสู่นิพพาน หากประหารเสียในขณะนี้ ผลตบะที่ได้บำเพ็ญไว้จะสูญเปล่า โจรทั้งสองไม่เชื่อ จึงตัดศีรษะมุนี ทันใดนั้น มุนีกลายร่างเป็นยักษ์หัวโคแผดเสียงร้องดังลั่นพร้อมกับฆ่าโจรทั้งสอง แล้วเอากะโหลกโจรตักโลหิตโจรมาดื่ม นับแต่นั้นบังเกิดความกระหายเลือดถึงกับสาบานจะทำลายมนุษย์ในทิเบตให้สิ้น พระโพธิสัตว์มัญชูศรีจึงต้องรีบแปลงกายเป็น “ยมานตะกะ” มาปราบ 6. ท้าวกุเวฬ ธรรมบาลตนนี้มีประวัติในลัทธิฮินดู ซึ่งสำหรับในลัทธิลามะ ท้าวกุเวฬรับหน้าที่ทั้งที่เป็นทางโลกบาลและธรรมบาล 7. หยัครีพ เป็นธรรมบาลที่มีเศียรมากกรเช่นเดียวกับธรรมบาลอื่นๆ ว่ากันว่า ถ้าขณะอ้อนวอนบูชาแล้ว ได้ยินเสียงร้องเหมือนม้า แสดงว่ารับบูชา ซึ่งเสียงดังกล่าวสามารถขับไล่ภูติผีปิศาจชั่วร้ายไปสิ้น 8. ยมานตะกะ (Yamantaka ; สันสกฤต : Shinje She ; ซองคา) แปลว่า ที่ตายของพระยม คือปางหนึ่งของพระโพธิสัตว์มัญชูศรี ซึ่งได้อวตารมาปราบพระยมธรรมบาล • เหตุที่ชาวภูฏานนับถือธรรมบาล 2 ตนแรกมากกว่าตนอื่นๆ เพราะสืบเนื่องมาว่า ในปี ค.ศ. 1616 งาวัง นัมเกล เกิดเหตุขัดแย้งในทิเบตจึงถูกปองชีวิต ก็ได้ธรรมบาลมหากาล (Yeshe Gompo) และมหากาลี (Palden Lhamo) สองตนนี้ไปเข้าฝันท่านงาวัง นัมเกล และนำพามายังดินแดนภูฏาน ตรงหน้าพูนักฮาซองในปัจจุบัน อย่างปลอดภัย • นกดุเหว่า มาจากรูปลักษณ์ของมหากาล ที่ปรากฎต่อสายตาท่านซับดรุง งาวัง นัมเกลทุกครั้ง มีร่างเป็นมนุษย์ ในขณะที่มีหัวเป็นนกดุเหว่า โดยฝูงนกดุเหว่าดังกล่าวได้แยกย้ายออกสู่ 4 ทิศทาง คือ ทิศเหนือ-พูนักฮา , ทิศใต้ – ดากานา , ทิศตะวันออก-ตองสา และทิศตะวันตก –ทิมพู ดังนั้น ตำแหน่งของวังดีโปดรังซองจึงเป็นชุมทางของทั้ง 4 ทิศ โดยเฉพาะในสมัยโบราณ วังดีโปรซองแห่งนี้ มีความสำคัญไม่ยิ่งหยอ่นไปกว่าซองที่เป็นศูนย์กลางการบริหารประเทศ • หลังจากซับดรุง งาวัง นัมเกลเฝ้าดูฝูงนกดุเหว่าบินสู่ทิศทางใดแล้ว ก็เดินสำรวจบริเวณรอบๆ ได้เข้าไปทักทายเด็กชายคนหนึ่งที่กำลังก่อปราสาททรายอยู่ริมแม่น้ำ พอทราบว่าเด็กคนนี้ชื่อวังดี เลยตัดสินใจตั้งชื่อซองทันทีว่า “วัดี โพดรังซอง” (โพดรังซอง ในภาษาซองคา แปลว่า วัง) • ปัจจุบัน บริเวณด้านหน้าวังดีโปรดังซอง เป็นสถานที่บริหารราชการประจำเขต ซึ่งส่วนนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1683 โดยคำบัญชาของเจ้าผู้ครองนครคนที่ 4 (Fourth Desi ;Tenzing Rabgye) เลยเข้าไปด้านหลังเป็นส่วนของสงฆ์ สิ่งปลูกสร้างในบริเวณนี้สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1638 สมัยของซับดรุง งาวัง นัมเกล ซึ่งมีอายุอ่อนกว่าพูนัคฮาซองเพียงปีเดียว
|