ไข่ไก่ นอกจากจะเป็นอาหารคู่ครัวและเป็นหนึ่งในเมนูอาหารยอดนิยมของผู้บริโภคแล้ว ไข่ไก่ยังถือเป็นแหล่งโภชนาการชั้นเลิศ เพราะอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย ทั้งโปรตีนคุณภาพดี ที่มีกรดอะมิโนที่สำคัญต่อร่างกายถึง 9 ชนิด รวมทั้งวิตามินเอ วิตามินบี2 วิตามินอี โอเมก้า3 โฟเลต ไรโบฟลาวิน โคลีน ลูทีน และแร่ธาตุต่างๆ ทั้งโพแทสเซียม สังกะสี ทองแดง ซีลีเนียม ฯลฯ ที่สำคัญไข่ไก่ยังอุดมไปด้วยเลซิตินที่เป็นสารธรรมชาติที่ประกอบด้วยกรดไขมันจำเป็น ฟอสฟอรัส และวิตามินบี 2 ตัว ได้แก่ โคลีน (Choline) และอิโนซิทอล (Inositol) โดยเลซิตินมีความจำเป็นต่อขบวนการทำงานภายในเซลล์ต่างๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยบำรุงสมองและช่วยเสริมสร้างความจำ บำรุงและชะลอการเสื่อมของตับ และเป็นตัวช่วยสำคัญในการเร่งการเผาผลาญของคอเลสเตอรอล ช่วยลดความเสี่ยงต่อการอุดตันในเส้นเลือด โดยเฉพาะโคลีน สารสื่อประสาทที่มีอยู่ในไข่ในรูปเลซิทิน ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่พบในเยื่อหุ้มเซลล์สมอง และเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างเซลล์สมอง ตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์จนถึงสิ้นอายุขัย และยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของ อะเซทิลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งเป็นสารเคมีในเซลล์สมองที่ทำหน้าที่เป็น สารสื่อประสาท (neurotransmitter) ที่ช่วยให้การทำงานของสมองเป็นไปอย่างสมบูรณ์ ที่สำคัญอะเซทิล โคลีน ยังมีความสัมพันธ์โดยตรงกับโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ (alzheimers) ซึ่งเป็นภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด และเป็นโรคที่รักษาไม่หาย การป้องกันจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ที่ผ่านมาจึงมีการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับปัจจัยที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ ดังเช่น รายงานของ Standing Committee on the Scientific Evaluation of Dietary Reference Intake, Food and Nutrition Board, Institute of Medicine. สหรัฐอเมริกา ที่ทำการศึกษาสารอาหารหลายชนิด มีข้อสรุปว่า โคลีน มีผลต่อขบวนการส่งกระแสประสาทที่เกี่ยวข้องกับความจำและการรับรู้ มีบทบาทต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้โดยเฉพาะระบบความจำ เนื่องจากเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างเซลล์สมอง นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์กลุ่มดังกล่าวเชื่อว่า สารอะเซทิล โคลีน ช่วยทำให้มนุษย์มีความสามารถในการจดจำ และหากในสมองมีปริมาณของสารนี้ลดลง จะส่งผลให้เซลล์สมองมีปัญหาในการสื่อสาร จากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอะซีติลโคลีนกับโรคอัลไซเมอร์ พบว่าในสมองของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ จะมีปริมาณของอะซีติลโคลีนลดลงไปมากถึงร้อยละ 90 และเชื่อว่าเป็นเหตุทำให้ความสามารถในการจำและการใช้เหตุผลของผู้ป่วยลดลงตามไปด้วย ซึ่งรายงานดังกล่าวสอดคล้องกับการผลงานวิจัยของ Clin Ther (Jan 2003) ที่ศึกษาผลกระทบของสารอาหารต่อโรคอัลไซเมอร์ โดยสรุปผลว่าสารอะเซทิลโคลีน สามารถป้องกันและรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้ ที่สำคัญยังมีการวิจัยหลายชิ้นสรุปผลอย่างเห็นพ้องต้องกันว่าไข่แดงของไข่ไก่ เป็นอาหารที่มีโคลีนอยู่ในปริมาณมากที่สุดชนิดหนึ่ง โดยมีมากถึงร้อยละ 20 ของปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน คือ 425 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับผู้หญิง และ 550 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับผู้ชาย และโคลีนยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดปฏิกิริยาการเผาผลาญอาหารจำนวนมาก และยังช่วยในการขนส่งไขมันในร่างกาย เมื่อการกินไข่มีผลโดยตรงต่อการเพิ่มประสิทธิภาพความจำและความสามารถในการเรียนรู้ และยังช่วยชะลอการสูญเสียความทรงจำในผู้สูงอายุ และช่วยป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือดและหลอดเลือดหัวใจ เหตุผลเหล่านี้จึงทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสารอาหารในปัจจุบัน กำหนดให้โคลีนเป็นสารอาหารจำเป็นที่คนทุกเพศทุกวัยต้องบริโภค แม้ว่าร่างกายของคนเราจะสามารถผลิตโคลีนได้เอง แต่ปริมาณที่ได้ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จำเป็นต้องกินเพิ่มเติม โดยนอกจากไข่ไก่ที่มีโคลีนอยู่มากแล้ว ยังพบในเนื้อวัว ตับ ถั่วเหลือง บร็อกโคลี ดอกกะหล่ำ กะหล่ำปลี ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วดำ เมล็ดแฟลกซ์ และเมล็ดงา ดังนั้นหากต้องการมีสุขภาพสมองและสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ไข่ไก่อาหารมหัศจรรย์ที่อัดแน่นไปด้วยคุณประโยชน์เต็มฟอง แถมราคาประหยัดและหาซื้อง่าย สามารถรับประทานได้ทุกเพศทุกวัย แม้แต่ผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไป ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพสามารถบริโภคได้ทุกวัน จึงเป็นตัวเลือกที่ดีของผู้ที่รักสุขภาพอย่างแท้จริง
|