เพลงภาษาอังกฤษเพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้
เพลงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการจัดการเรียนรู้ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้การจัดกิจกรรมในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ(ภาษาอังกฤษ)ก็เช่นเดียวกัน ครูผู้สอนสามารถใช้เพลงสอดแทรกเข้าไปในบทเรียนหรือในขณะดำเนินการสอนทุกขั้นตอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสอดคล้องในเนื้อหาสาระและจุดประสงค์การเรียนรู้ที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียน
ผู้เรียนในระดับช่วงชั้นที่1 และช่วงที่ 2 อยู่ในวัยที่กำลังเจริญเติบโตทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ธรรมชาติของเด็กชอบการเล่นสนุกสนาน ต้องการแสดงออก และการร้องเพลงอยู่แล้ว หากครูผู้สอนได้นำเพลงภาษาอังกฤษมาประกอบการเรียนการสอน ย่อมจะช่วยให้การสอนภาษาอังกฤษมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่จำกัดอยู่แค่การจดจำกฎเกณฑ์เพียงอย่างเดียว
วัตถุประสงค์ในการสอนเพลงภาษาอังกฤษ
1. เพื่อให้บทเรียนมีความหมาย น่าสนใจและสนุกสนานมีชีวิตชีวา
2. เพื่อทบทวนเนื้อหาได้เรียนรู้ไปแล้ว เช่น คำศัพท์ การออกเสียง แบบฝึกกระสวนประโยค และรูปแบบของไวยากรณ์ ซึ่งทำให้ผู้เรียนจดจำได้ดียิ่งขึ้น
3. เพื่อผู้เรียนได้ฝึกออกเสียงโดยผ่านกิจกรรมการร้องเพลง ทำให้ผู้เรียนไม่เกิดความเบื่อหน่ายในสิ่งที่ผู้เรียนจะได้ฝึกในขณะร้องเพลงได้แก่ เสียงพยัญชนะ สระ การออกเสียงเน้นหนักในคำ การเชื่อมโยงคำในประโยค และทำนองเสียงสูง-ต่ำในประโยค เป็นต้น
4. เพื่อให้ผู้เรียนได้เปลี่ยนอิริยาบถ
5. เพื่อปลูกฝังเจตคติที่ดีต่อภาษาอังกฤษ
การเลือกเพลงภาษาอังกฤษเพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้
สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( ม.ป.ป. :20 ) ได้กล่าวถึงการเลือกใช้เพลงในห้องเพลงไว้ดังนี้
1. เพลงนั้นต้องไม่ยาวเกินไป
เพลงควรมีทำนอง คำร้องที่ชัดเจน และไม่ยาวจนเกินไป
2. เพลงควรมีทำนองที่ซ้ำกัน ซึ่งเป็นการง่ายต่อการเรียน
3. เนื้อหาควรถูกต้องตามไวยากรณ์ เช่น Subject Verb, Agreement และ Word Order
4. เลือกเพลงให้เหมาะสมกับอายุและระดับชั้นของผู้เรียน
ดังนั้น ก่อนการนำเพลงมาใช้ประกอบการเรียนการสอน จึงควรพิจารณาลักษณะของเพลงว่าเหมาะสมเพียงไร
ลำดับขั้นตอนการสอนเพลงสำหรับผู้เริ่มเรียน
นิตยา สุวรรณศรี (2536 :70 ) ได้อธิบายขั้นตอนการเพลงสำหรับผู้เริ่มเรียนไว้ดังนี้
วันที่ 1
1. เสนอ Structure
2. เสนอคำศัพท์ในเพลง
วันที่ 2
1. ให้ตัวอย่างสิ่งที่เป็นปัญหา
2. ทบทวนบทเรียนครั้งก่อน
3. ร้องเพลงท่อนแรก (ตามครู / เปิดเทป)
4. ถามคำถามเพื่อทดสอบความเข้าใจ
5. เปิดเทปท่อนแรกอีกครั้งหนึ่งถ้าจำเป็น
6. เปิดเทปท่อนต่อไป
7. เปิดเทปเพลงทั้งหมด
8. ถ้านักเรียนอยากร้องต่อไปก็ให้ร้องในช่วงนี้แต่ควรให้ร้องด้วยความเต็มใจและไม่บังคับ
ศิธร แสงธนู และ คิด พงศทัต (2521:108) ได้กล่าวลำดับขั้นตอนการสอนเพลงไว้ดังนี้
1. ครูอธิบายสั้นๆให้นักเรียนเข้าใจ เป็นบทเพลงเกี่ยวกับอะไร ครูอาจใช้อุปกรณ์การสอนช่วยแสดงความหมายของคำศัพท์บางคำที่นักเรียนไม่เคยเรียนมาก่อน
2. ครูร้องให้นักเรียนฟัง 1-2 จบ
3. ครูร้องนำ 1 หรือ 2 บรรทัด ให้นักเรียนร้องตามเมื่อแน่ใจว่านักเรียนร้องได้ถูกต้องทั้งคำร้องและทำนองจึงร้องนำบรรทัดต่อไป โดยร้องทวนบรรทัดต้นๆก่อนทุกครั้ง
4. ครูร้องพร้อมกับนักเรียนตั้งแต่ต้นจนจบ
ถ้าเนื้อเพลงยาวและมีคำยาก ครูอาจเขียนเนื้อเพลงให้นักเรียนดูในขั้นตอนก็ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรเขียนเนื้อเพลงให้นักเรียนดูก่อน เพราะจะทำให้นักเรียนเป็นกังวลต่อการอ่านหรือสะกดตัวมากไป
5. ครูเขียนเนื้อเพลงให้นักเรียนอ่านและคัดลอกลงในสมุด
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การสอนเพลงให้ถูกวิธีต้องปฏิบัติอย่างมีขั้นตอน ครูผู้สอนต้องวางแผน เตรียมสื่ออุปกรณ์ต่างๆให้พร้อมโดยเฉพาะตัวครูเอง ต้องมีความพร้อมเป็นอับดับแรก อย่างไรก็ตามก่อนการร้องเพลงทุกครั้งต้องไม่ลืมที่จะบอกผู้เรียนว่าเพลงนั้นๆเป็นคำร้องและทำนองของใคร(ถ้าทราบ) เพื่อให้เกียรติผู้แต่งคำร้องและทำนองนั่นเอง
ข้อเตือนใจในการสอนเพลง
ในการสอนเพลงภาษาอังกฤษ ไม่ใช่แต่ต้องการให้ผู้เรียนสามารถร้องเพลงได้ถูกต้องทั้งคำร้อง ทำนองและจังหวะเท่านั้น แต่ครูผู้สอนยังต้องใช้วิธีการต่างๆให้ผู้เรียนร้องเพลงอย่างเข้าใจความหมายและวัฒนธรรมเจ้าของภาษา และใช้เพลงเป็นเครื่องมือเสริมประสบการณ์ต่างๆได้ด้วยตนเอง ดังที่ ศิธร แสงธนู และคิด พงศทัต (2521:109) ได้กล่าวถึงการใช้เพลงเป็นเครื่องมือเพิ่มพูนประสบการณ์ด้วยวิธีการต่างๆดังนี้
1. เล่าเรื่องหรือสร้างเรื่องปากเปล่าเกี่ยวกับเพลงนั้น
2. เขียนเรื่องเกี่ยวกับเพลงนั้น
3. ดัดแปลงเนื้อเพลงเป็นบทสนทนาสั้นๆ
4. นำแบบประโยคที่พบในบทเพลงที่เรียนในบทที่แล้วมาเป็นตัวอย่างในการสร้างประโยคใหม่
5. หาคำใหม่มาใช้ประโยคเดิมในบทเพลงนั้น
6. คิดหาท่าง่ายๆหรือการแสดงประกอบจังหวะง่ายๆมาใช้ประกอบ
ดังนั้น สรุปได้ว่า การใช้เพลงเพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ทางภาษาจะมีประโยชน์โดยตรงต่อผู้เรียนมาก หากครูผู้สอนเข้าใจจุดประสงค์การสอนเพลง เลือกเพลงได้เหมาะสมกับระดับของผู้เรียน และปฏิบัติอย่างมีขั้นตอน
ต่อไปนี้ เป็นเพลงภาษาอังกฤษเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับนักเรียนช่วงชั้นที่ 1 และ ช่วงชั้นที่ 2 ซึ่งผู้รับผิดชอบโครงการ และคณะทำงานได้รวบรวมและบันทึกเสียงร้องและดนตรีไว้ในลักษณะของแถบบันทึกเสียง และซีดีเพื่อใช้เป็นสื่อนวัตกรรมการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในลักษณะต่างๆ เช่น การฝึกเรียกชื่อตัวอักษร (Alphabet) การเรียนรู้ความหมายและฝึกออกเสียงคำศัพท์ ( Vocaburaly and Pronunciation) การฝึกพูดตามบทสนทนา (Dialogue) การฝึกไวยากรณ์ (Structure Practice) การเรียนรู้ประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ (Culture)
|