Neric-Club.Com
|
|
|
นิตยสารออนไลน์
|
|
|
มุมเบ็ดเตล็ด
|
|
|
|
|
|
|
เรื่องราวรอบรู้ |
|
|
บทที่ 9 เทคนิคที่ทำให้การฝึกได้ผลดี การฝึกทักษะต่างๆนั้น มีเทคนิคร่วมเหมือนๆกัน ที่ช่วยให้ประสบผลสำเร็จ ดังนี้
การเอาจริง อย่างนุ่มนวล เด็กสมาธิสั้นมักลืม เผลอทำผิดบ่อยๆ บางทีตกลงกันไว้อย่างดีแล้วไม่ทำ ทั้งนี้เป็นเพราะขณะที่ทำนั้นไม่ได้ยั้งคิด ลืมข้อตกลงที่ให้ไว้ ดังนั้นหลังจากมีการตกลงเรื่องกติกาแล้ว พ่อแม่ต้องเตรียมใจยอมรับการละเมิดโดยไม่ยั้งคิดเช่นนี้ให้ได้ โดยเฉพาะในระยะแรกๆ วิธีการจัดการคือการเอาจริงสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยให้เด็กละเมิด เมื่อพบต้องการทำผิดต้องรีบจัดการทันที โดยใช้วิธีที่นุ่มนวล ไม่จำเป็นต้องดุด่ารุนแรง แต่ใช้ท่าทางจริงจัง ให้เปลี่ยนหรือแก้ไขพฤติกรรมนั้นทันที การปล่อยให้เด็กทำผิดข้อตกลงเหมือนการสอนเด็กว่า ข้อตกลงนั้นละเมิดได้ บางครั้งพ่อแม่ต้องคอยตรวจสอบด้วยว่าเด็กมีการละเมิดแล้วปกปิดด้วยหรือไม่ ถ้าพบก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ รีบจัดการแก้ไขทันที บางครั้งเด็กทำเพื่อทดสอบดูว่าพ่อแม่เอาจริงแค่ไหน ถ้าพ่อแม่ไม่เอาจริง เด็กก็ไม่ตั้งใจอยู่ในกติกา
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาเมื่อพ่อแม่เอาจริง คือ เด็กมีปฏิกิริยา ไม่พอใจ โวยวาย แล้วพ่อแม่กลัว ไม่กล้าจัดการอย่างเอาจริง ปล่อย หรือยอมตามใจเด็ก เด็กเรียนรู้ว่าถ้าเขาแสดงฤทธิ์ขนาดหนึ่ง หรือใช้ความก้าวร้าวรุนแรง เขาจัดการกับผู้ใหญ่ได้ ดังนั้นอย่าปล่อยให้เด็กควบคุมผู้ใหญ่โดยเด็ดขาด หน้าที่การควบคุมเด็กเป็นของพ่อแม่
วิธีที่ได้ผล คือ ไม่สนใจปฏิกิริยาของเขา แต่กำกับให้เขาทำตามที่ตกลงกันไว้อย่างรวบรัด
เอาจริงกับกติกาที่ตกลงอย่างสม่ำเสมอ
การใช้คำสั่งให้ได้ผล การใช้คำสั่งในเด็กเล็ก มีความจำเป็นเนื่องจากเด็กยังไม่สามารถรู้ได้ว่าควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร แต่คำสั่งที่พ่อแม่สั่งไปแล้ว ต้องคอยตรวจสอบให้แน่ใจว่าเด็กทำตามสม่ำเสมอ การสั่งแล้วปล่อยให้เด็กละเมิด เป็นการสอนเด็กไปเรื่อยๆว่า คำสั่งนั้นไม่จริงจัง ละเมิดได้ พ่อแม่ควรตรวจสอบบ่อยๆว่า ตนเองมีเวลาคอยกำกับให้เด็กทำตามคำสั่งได้มากน้อยเพียงไร เมื่อพบว่าเด็กไม่ค่อยเชื่อฟังคำสั่ง
การมีคำสั่งใหม่ๆที่เด็กยังไม่เคยรับทราบมาก่อน ก็ควรมีเทคนิคเหมือนกัน ควรให้เมื่อเด็กพร้อมรับฟัง อธิบายสั้นๆ ท่าทางจริงจัง บอกผลตามมาถ้าเด็กไม่ทำตาม สังเกตด้วยว่าขณะให้คำสั่งนี้ เด็กมีท่าทางรับฟังหรือไม่ สุดท้ายคือ ให้เด็กทวนคำสั่งนั้นให้พ่อแม่ฟังว่ามีอะไรบ้าง เป็นการทดสอบความจำของเด็ก
คำสั่งที่ดี ควรมาจากการตกลงกันที่ดีของพ่อแม่ด้วย และควรช่วยกันกำกับให้สอดคล้องกัน ถ้าพ่อหรือแม่จัดการไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งควรเข้ามาช่วยเหลือทันที ถ้าไม่แน่ใจว่าอีกฝ่ายสั่งอะไรไว้ ควรสอบถามให้แน่ใจว่าสั่งอะไร และทำตามสิ่งที่สั่งไว้ก่อน
คำสั่งที่ดี ควรง่าย ไม่มีหลายขั้นตอน เพราะเด็กสมาธิสั้นมักรับฟังคำสั่งยาวๆ หรือสลับซับซ้อนมากไม่ได้ ถ้าจะสั่งยาวๆ ต้องให้แน่ใจว่าเด็กตั้งใจฟังครบ และควรเขียนคำสั่งนั้นให้ชัดเจน
คำสั่งที่ดี น่าจะจูงใจให้เด็กอยากทำ เช่นบางคำสั่ง อาจใช้วิธีขอร้อง หรือยอเด็กให้เห็นว่า เขามีความสำคัญมากในการช่วยเหลือพ่อแม่ เช่น
“ คราวที่แล้วลูกตัดหญ้าได้เรียบร้อยดีจัง คุณแม่เขาชอบมาก คราวนี้ลูกช่วยพ่อตัดหญ้าทุกเดือนเลยนะ ”
“ ตอนนี้ลูกโตขึ้นเยอะ แล้วก็แข็งแรงด้วย พอที่จะช่วยแม่ตัดต้นไม้แล้วใช่ไหมจ๊ะ ”
“ แม่จะขอบคุณมากเลยถ้าลูกช่วยยกของนี้เข้าไปในครัว ” ในการออกคำสั่งบางกรณี ที่พ่อแม่ความคิดไม่เหมือนกัน ควรทำความตกลงกันก่อนว่าจะเอาอย่างไร หรือจะให้ใครนำ อีกฝ่ายจะต้องทำตามให้สอดคล้องกัน
ปัญหาใหญ่ของการสั่ง คือพ่อแม่มีความเห็นไม่ตรงกัน เด็กจะใช้ช่องว่างนี้เป็นทางออกของตนเอง และในที่สุดจะไม่ฟังคำสั่งของใครเลย
สรุป คำสั่งของพ่อแม่ ต้องชัดเจน จูงใจ มีทิศทางเดียวกัน เมื่อสั่งแล้วต้องกำกับให้ทำอย่างจริงจัง
การกำกับให้ทำสม่ำเสมอ ในการกำหนดพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้เด็กทำระยะแรกๆ เด็กสมาธิสั้นมักไม่สามารถเตือนตนเองให้ทำได้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ เมื่อมีสิ่งเร้าใหม่ที่น่าสนใจ เด็กจะลืมข้อกำหนดที่เคยตกลงกันไว้ก่อน แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้วเด็กอาจนึกย้อนหลัง เสียใจที่ทำผิดไป หรือไม่ได้ทำอย่างที่ควรทำ พ่อแม่จึงควรคอยกำกับให้ทำตามข้อตกลงกันในช่วงแรกๆก่อน เมื่อเด็กสามารถทำได้ด้วยตัวเอง จึงค่อยๆปล่อยให้เขาทำโดยการเตือนตัวเอง การให้คำชมเป็นแรงเสริมทางบวกกับพฤติกรรมที่ทำได้เองเป็นระยะ เมื่อทำจนสม่ำเสมอแล้ว อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ ควรมีการสุ่มตรวจสอบเป็นครั้งคราว เพราะเด็กสมาธิสั้นเผลอลืมได้อีก
การกำกับให้ทำนั้นในระยะแรกอาจเตือนกันตรงๆ ต่อมาอาจส่งสัญญาณเตือนด้วยท่าทางแทนคำพูด เด็กสมาธิสั้นไม่ชอบให้พูดซ้ำๆ เตือนบ่อยๆ บ่นบ่อยๆ ดังนั้นถ้าส่งสัญญาณเตือนหนึ่งครั้งแล้วยังไม่มีท่าทางขยับทำตาม ให้พ่อแม่เคลื่อนตัวเองเข้าไปหาด้วยท่าทีเอาจริง ถ้ายังไม่ขยับ คราวนี้พ่อแม่จับตัวเขาลุกขึ้น พาไปกำกับให้ทำทันที เมื่อเขาเริ่มทำเองก็ปล่อยให้ทำเอง พร้อมกับส่งสายตาชม แต่อย่าเพิ่งละสายตา ให้แน่ใจว่าเขาทำต่อเนื่องกันจนเสร็จ ไม่เปิดโอกาสให้เขาหลบเลี่ยงหลอกผู้ใหญ่ได้
เมื่อเด็กเริ่มทำตามบ้างแล้ว ต่อไปการเตือนอาจเปลี่ยนไปเป็นการเตือนเพื่อให้เขาเตือนตัวเอง ไม่ใช่เตือนที่พฤติกรรมตรงๆ เช่น เตือนว่า
“ เอ๊ะ ตอนนี้เป็นเวลาอะไรแล้วนะ” หรือ
“เวลานี้ควรทำอะไรจ๊ะ” หรือ
“ตอนนี้เวลาอะไรแล้วจ๊ะ” ถ้าเผลอลืมตารางเวลา อาจชวนให้เขาดูตารางเวลา เพื่อเตือนความจำตนเอง ถ้าเขาดูเวลาแล้วรู้ตัว รีบทำตามตารางเวลานั้นทันที ก็ชมเขา แต่ถ้ายังไม่ทำ หรือต่อรอง ให้เอาจริง คือเข้าไปกำกับให้เขาทำอย่างสงบ ไม่พูดมาก ไม่บ่นมาก เพราะทำให้เสียบรรยากาศ ถ้าเขามีท่าทางไม่เต็มใจ แต่ก็ร่วมมือทำ ให้เฉยอย่าไปดุว่าเขาที่ไม่เต็มใจ แต่ชมที่เขาทำ
พ่อแม่อาจมีปัญหาบ้างในการกำกับให้เด็กทำตามข้อตกลง เช่นเด็กขอผัดผ่อน ต่อรอง ขอต่อเวลาเล่นที่ยังไม่อยากเลิก เพราะกำลังติดพันหรือสนุกอยู่กับเกมหรือกิจกรรมนั้น หรือขอเวลาปิดเกมแต่ก็ไม่ปิดสักที จนรู้สึกว่านานไปหน่อย วิธีแก้ คือ เตือนเขาล่วงหน้าก่อนถึงเส้นตาย เช่น ถ้ารู้ว่าใช้เวลาปิดเกมประมาณ 5 นาที ก็บอกกันก่อนเลยว่าแม่(หรือพ่อ) จะเตือนล่วงหน้าก่อนหมดเวลา 5 นาทีนะ ให้เวลาเขาจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อย เมื่อถึงเวลาเลิกก็ต้องเลิกจริงๆ วิธีนี้ยังช่วยฝึกให้เขาวางแผนล่วงหน้าเป็นอีกด้วย และเช่นเดียวกันกับการฝึกอื่นๆ คือ เมื่อเขาปฏิบัติได้ดีขึ้น เราจะเปิดโอกาสให้เขาควบคุมตัวเอง หรือเตือนตัวเองเป็นครั้งคราว อาจบอกกันล่วงหน้าเลยก็ได้ว่าสัปดาห์นี้แม่จะลองให้ลูกเตือนตัวเองดู แล้วบันทึกว่าทำได้กี่ครั้ง อาจมีคำชมหรือรางวัลเล็กๆน้อยๆเมื่อเตือนตัวเองได้มากขึ้นกว่าเดิม เทคนิคบันทึกพฤติกรรมดีนี้ สามารถใช้ได้เวลาต้องการสร้างพฤติกรรมใดๆ โดยมีการบอกกล่าวกันก่อนว่าเราจะบันทึกพฤติกรรมใดบ้าง
กำกับพฤติกรรมสั้นๆ ตามตารางเวลา
การให้แรงเสริมทางบวกเมื่อเกิดพฤติกรรมที่ดี แรงเสริมทางบวกคือสิ่งกระตุ้นที่เมื่อให้กับพฤติกรรมใด แล้วทำให้พฤติกรรมนั้นมีมากขึ้น เหตุผลที่พฤติกรรมมากขึ้น เพราะมีความพึงพอใจที่ได้รับสิ่งกระตุ้นนั้น และอยากได้อีก แรงเสริมทางบวกมีหลายประเภท ได้แก่
- . คำชม
- . รางวัล
- . เบี้ยอัตถกร (รางวัลเป็นดาว หรือเหรียญ ที่สะสมได้ตามความดีที่ทำได้ตามที่ตกลงกันไว้)
- . การเป็นที่ยอมรับของสังคม
- . การชื่นชมตนเอง
ในระยะแรกตอนเด็กยังเล็ก แรงเสริมทางบวกมักได้รับจากผู้อื่น เช่นพ่อแม่ ครู เพื่อน เด็กทุกคนต้องการแรงเสริมทางบวก ที่สามารถทำได้ง่ายและมีผลมาก คือคำชม คำชมที่ดีควรมีท่าทางชื่นชมด้วยจริงๆ แสดงถึงความรู้สึกยอมรับ และพึงพอใจ คำชมควรเหมาะสมกับเรื่องราวและเหตุการณ์ การชมมากจนเกินไป เด็กจะรู้และไม่เชื่อถือในคำชมหรือคนที่ชมนั้น เมื่อเด็กโตขึ้นการชมอาจเสริมด้วยการกระตุ้นให้เด็กชื่นชมตัวเองด้วย เช่น
“ลูกทำได้ดีจริงๆ แม่ชื่นชมลูกมาก”
“ ลูกรู้สึกอย่างไรบ้าง รู้สึกภูมิใจในตัวเองบ้างไหม”
“ลูกคงจะภูมิใจในตัวเองใช่ไหมที่ทำได้ดีอย่างนี้” การเสริมความคิดที่ดีเกี่ยวกับตนเองเช่นนี้ จะช่วยให้เด็กสามารถชมตัวเองได้เวลาไม่มีใครชม และ การชมตัวเองได้จะทำให้เด็กไม่ยึดติดอยู่กับคำชมของผู้อื่นอย่างเดียว เด็กบางจะทำดีเพื่อให้ผู้อื่นพอใจแต่อย่างเดียว ไม่ก้าวต่อไปจนถึงการทำดีเพื่อความดีของตนเอง
แรงเสริมทางบวก ช่วยให้พฤติกรรมดีคงอยู่
การใช้หลักพฤติกรรมบำบัดในการสร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์
ในการสร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์นั้น หลักการสร้างทำได้โดย
- การกำหนดพฤติกรรมเป้าหมายร่วมกัน
พ่อแม่ควรบอกลูกว่าต้องการให้มีพฤติกรรมอย่างไรในสถานการณ์หนึ่งๆ อย่าคิดว่าเด็กรู้เองว่าควรทำอะไร เมื่อไร อย่างไร ควรคุยกันระหว่างพ่อแม่ลูกก่อนอย่างละเอียด บอกความคาดหวังของพ่อแม่ ฟังความคิดเห็นของเด็ก แล้วตกลงร่วมกันว่าจะเริ่มสร้างพฤติกรรมใด เริ่มเมื่อใด บทบาทของลูกต้องทำอย่างไร บทบาทของพ่อแม่ทำอะไร ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดเวลาอาบน้ำ พ่อแม่บอกลูกว่า ต้องการให้อาบน้ำเป็นเวลา เพื่อให้สามารถทำกิจกรรมอื่นๆได้ เวลาอาบน้ำควรเป็นเวลาใด ขอความเห็นร่วมกันกับลูกได้ ในที่สุดการตกลงอาจได้เวลาอาบน้ำที่ 18.00 น. นี่คือข้อตกลงร่วมกันที่เด็กมีส่วนร่วม คุยกันต่ออีกสักนิดว่า ถ้าลูกเผลอลืม จะให้พ่อแม่เตือนอย่างไร ในที่สุดได้ขอยุติว่า ให้เตือนก่อนถึงเวลาจริง 5 นาที ถ้ายังไม่ไปเองพ่อหรือแม่จะจัดการให้ไปทันที ไม่ว่ากันอีก
- การบันทึกพฤติกรรมที่ประสงค์
เมื่อได้ข้อตกลงในพฤติกรรมที่ต้องการแล้ว บอกเด็กว่าพ่อแม่จะสังเกตว่าลูกทำได้มากน้อยเพียงไร เพื่อให้แม่นยำ มีการบันทึกพฤติกรรมอย่างละเอียด เพื่อตรวจสอบว่ามีปัญหาอุปสรรคอยู่ที่ใดบ้าง เช่นพฤติกรรมการอาบน้ำตรงเวลาของลูก จะถูกบันทึกไว้ทุกวัน เมื่อครบหนึ่งสัปดาห์พ่อแม่สรุปให้เห็นว่า สามารถทำได้มากน้อยเพียงไร การประเมินเป็นระยะๆเช่นนี้ ทำให้เด็กเห็นว่าพ่อแม่เอาจริง และถ้าเด็กทำได้ดี มีโอกาสได้รับคำชม แต่ถ้าระยะแรกๆยังไม่ได้ผลมาก อย่าเพิ่งตำหนิเด็กให้เสียกำลังใจ แต่ควรให้ความหวังว่าทำได้บ้าง ก็ดีแล้ว แต่ถ้ามีสาเหตุที่ขัดขวางไม่ให้ทำได้ จะแก้ไขที่สาเหตุได้อย่างไร พยายามมองลูกด้านดี คาดหวังว่าเขาทำได้ เด็กจะมีกำลังใจทำมากขึ้น
บางครั้งการบันทึกพฤติกรรมอย่างเดียวช่วยให้เด็กดีขึ้นได้แล้ว ทั้งนี้เป็นเพราะเด็กรู้ว่าพ่อแม่คาดหวังอะไร ทำให้เขามีความตั้งใจทำ ไม่ใช่เพื่อไม่ถูกดุ แต่เพื่อการชื่นชมจากพ่อแม่ และการได้ชื่นชมตนเอง
- การให้แรงเสริมทางบวก
เมื่อเด็กทำได้ดี ควรมีแรงเสริมทางบวก ได้แก่การชม หรือรางวัลเป็นครั้งคราว ไม่ควรมีรางวัลทุกครั้ง หรือกำหนดรางวัลเป็นการแลกเปลี่ยน แรงเสริมอาจเป็นเบี้ยอัตถกร หรือ ได้รับดาวบันทึกสะสมไว้ เมื่อได้รับดาวมากถึงระดับหนึ่ง สามารถเปลี่ยนเป็นรางวัลใหญ่ระดับหนึ่ง ถ้าสะสมได้มากขึ้นรางวัลจะใหญ่ขึ้น เป็นการจูงใจให้รอคอยรางวัลใหญ่ ไม่รีบร้อนเอารางวัลเล็กๆ ฝึกให้รู้จักการรอคอยสิ่งตอบแทน
- การจัดการเมื่อมีการทำผิดอย่างจริงจัง
เมื่อเด็กทำผิด โดยมากมักไม่ได้ตั้งใจ ทำไปเพราะไม่ยั้งคิด แต่พ่อแม่ก็ควรจริงจัง ไม่ปล่อยให้ผ่านไป เพราะเด็กคิดว่าไม่เอาจริง การจัดการควรเอาจริงแบบนุ่มนวล เมื่อทำผิดด้วยอารมณ์ อาจใช้วิธี “ขอเวลานอก” เพื่อให้หยุดคิด อารมณ์สงบและทบทวนตัวเองได้ ประมาณ 2-5 นาที หลังจากนั้นค่อยคุยกัน สอนกัน หรือเตือนกันดีๆ
การเตือนหรือตำหนิ ให้เน้นที่พฤติกรรม ไม่ตำหนิที่ตัวเด็ก เช่น
“แม่ไม่ชอบการผัดผ่อนทำให้อาบน้ำไม่ตรงเวลา”
“พ่อไม่ชอบการนอนตื่นสาย”
“แม่ไม่พอใจที่ ยังมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น” ดีกว่าการที่พ่อแม่พูดว่า
“ลูกแย่มากที่อาบน้ำไม่ตรงเวลา” หรือ
“ลูกนี่ไม่ดีเลยที่นอนตื่นสาย”
“แกนี่เลวมากเลย พูดไม่รู้กี่หนแล้วยังทำอีก” เป็นต้น นอกจากการเตือนแล้ว การตัดรางวัล หรือสิ่งที่ควรได้ อาจเป็นมาตรการลงโทษที่ได้ผลอีกวิธีหนึ่ง เช่น การลดเวลาดูโทรทัศน์ ลดเวลาเล่นเกม การลงโทษด้วยวิธีนี้ควรมีการตกลงกันไว้ก่อน เด็กจะยอมรับด้วยดี
- การขอเวลานอก
เมื่อเด็กทำผิด วิธีจัดการที่ได้ผลวิธีหนึ่ง คือ การขอเวลานอก โดยการกำหนดสถานที่ให้เด็กอยู่นิ่งๆเงียบๆ ตามลำพัง ชั่วครู่ เช่น นั่งที่เก้าอี้ที่อยู่มุมห้อง โดยไม่มีของเล่น ไม่มีกิจกรรมสนุกทำ ทุกครั้งเมื่อเด็กทำผิด ให้มานั่งคนเดียวเงียบๆ เช่นนี้เป็นเวลา 2-5 นาที หลังจากนั้นบอกเด็กสั้นๆว่า พฤติกรรมใดที่ไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องควรทำอะไร ทำอย่างไร ในเด็กโต พ่อแม่ควรถามเด็กต่อไปว่า จะป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมนั้นได้อย่างไร ถ้าเด็กยอมรับดี บอกความตั้งใจไม่ให้เกิดพฤติกรรมนั้นอีก ให้ชมความคิดที่ดีของเด็กนั้น และแสดงความมั่นใจว่าเขาทำได้
การขอเวลานอกไม่ใช่การลงโทษ ไม่ใช่การขัง ไม่ควรขอเวลานอกในห้องปิด หรือขังเด็กไว้ในที่จำกัด และไม่ควรนานเกินไป อย่างมากไม่เกิน 10 นาที ในเด็กเล็ก ให้ขอเวลานอกสั้นๆ ประมาณเท่าอายุเด็ก เช่นเด็ก อายุ 2 ขวบ ประมาณ 2 นาที 3 ขวบ ประมาณ 3 นาที
ถ้าเด็กไม่สามารถนิ่งอยู่กับที่ได้ พ่อหรือแม่ต้องนั่งกำกับให้อยู่ให้ได้ บางครั้งอาจต้องกอดเด็กจนเขาสงบ เด็กอาจแสดงกิริยาฮึดฮัดไม่พอใจบ้างไม่ควรตอบโต้ ไม่เตือน สอน ดุ ด่า หรือลงโทษด้วยวิธีอื่นในขณะนั้น อาจพูดอธิบายสั้นๆว่า ให้นั่งสงบสติอารมณ์ตรงนี้ ด้วยตัวเองก่อน 5 นาที หลังจากนั้นแล้วเราค่อยคุยกัน
ในระหว่างเวลานอก ไม่อนุญาตให้เด็กเล่น พ่อแม่ เก็บของเล่น หนังสือ สิ่งที่ทำให้เด็กเพลิดเพลินให้หมด ให้เด็กอยู่เฉยๆ อารมณ์สงบ ได้มีโอกาสคิดทบทวนเหตุการณ์
บางพฤติกรรมพ่อแม่สามารถตกลงล่วงหน้ากับเด็กได้ว่า ถ้าเขายังไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ยังมีพฤติกรรมเช่นนั้นอีก เขาต้องมานั่งสงบสติอารมณ์ที่นี่สักพักหนึ่ง นั่งนานมากน้อยแค่ไหนแล้วแต่ความรุนแรงของพฤติกรรมนั้น
ใช้เทคนิค ขอเวลานอก เมื่อเด็กละเมิดกติกา หรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
การใช้วิธีสื่อสารแบบ “ฉัน....” มากกว่า “เธอ.....” การสื่อสารที่เหมาะกับเด็ก และเด็กรับได้ดี ควรใช้วิธีการสื่อสารแบบบอกความคิด ความรู้สึก ความต้องการของตนเอง ซึ่งเรียกว่า การสื่อสารแบบ “ฉัน..........” เช่น
“แม่อยากให้ลูกทำอย่างนั้น..................”
“พ่อไม่ชอบที่...................................”
“พ่อดีใจที่ลูกทำ...................................”
“แม่จะพอใจมากถ้า................................” การสื่อสารแบบนี้เวลาเด็กฟังแล้วรู้สึกดี อยากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเองมากกว่าการสื่อสารแบบ “เธอ” ดังตัวอย่างต่อไปนี้
“ลูกทำไมทำอย่างนั้น..........................”
“ลูกแย่มากที่.........................................”
“ลูกน่าจะ.............................................” การสื่อสารแบบ “เธอ”มักจะตำหนิตัวเด็ก ทำให้เด็กต่อต้านมากกว่า ดังนั้นก่อนที่พ่อแม่พูดกับเด็กควรลองนึกเรียบเรียงประโยคที่เป็น การสื่อสารแบบ “ฉัน” ให้มากกว่าแบบ “เธอ” จะได้ผลในทางสร้างสรรค์และทำให้เด็กยอมรับมากว่า
สรุป ใช้การสื่อสารแบบ “ ฉัน.............” มากกว่าแบบ “ เธอ...........”
หาวิธีเปลี่ยนพฤติกรรมอื่นแทนการลงโทษ การลงโทษมักได้ผลชั่วคราวเท่านั้น และอาจมีผลเสียแทรกซ้อนตามมาได้มาก เช่น การเคยชินกับการถูกลงโทษ ทำให้ต่อไปการลงโทษไม่ได้ผลเพราะเด็กไม่เกรงกลัว การลงโทษยังทำให้เสียความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูก หรือแม่ลูก ทำให้มองกันเป็นศัตรู หลังจากการลงโทษแล้วเด็กอาจไม่อยากสื่อสารกับพ่อแม่ผู้ลงโทษอีกนาน บางครั้งการลงโทษยังทำให้เด็กหลบเลี่ยง ไม่กล้าบอกความจริงในกรณีอื่นๆภายหลัง หรือเวลามีความต้องการอะไรไม่กล้าบอก เวลามีเหตุร้ายไม่กล้าปรึกษาพ่อแม่เพราะกลัวถูกว่าถูกลงโทษ
การทำผิดของเด็กมีวิธีจัดการอื่นที่อาจได้ผลเช่นกัน ได้แก่ การขอเวลานอก (timeout) การตัดรางวัล การตัดเงินค่าขนม การงดกิจกรรมที่เด็กชอบ การบำเพ็ญประโยชน์ การตีอาจเก็บไว้เป็นวิธีสุดท้าย และเวลาตี ต้องตีด้วยความสงบ เด็กต้องรับรู้สาเหตุที่ถูกตี ไม่ตีด้วยความโกรธ ไม่ควรใช้การตีพร่ำเพรื่อหรือตีรุนแรงเกินไป
การจัดการกับการกระทำผิด สำเร็จได้ด้วยการเอาจริง ไม่ปล่อยให้ผ่านไปเฉยๆ แต่ต้องเป็นวิธีที่ได้ผล และมีผลเสียน้อย
เลือกการเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม
การพยายามมองหาข้อดีของเด็ก ในขณะที่พ่อแม่พยายามจัดการแก้ไขพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของเด็กนั้น บางทีก็ลืมไปว่าลูกมีข้อดีบางอย่างเหมือนกัน การชื่นชมข้อดีของเด็กอย่างเหมาะสม ช่วยเป็นกำลังใจให้เด็กอยากทำดี บางครั้งผู้ใหญ่ต้องหาทางให้เด็กได้ทำดี เพื่อได้คำชมด้วย เช่นขอให้ช่วยงานบ้านบางอย่าง ระยะแรกๆเลือกให้ทำในสิ่งที่เขาชอบทำก่อน เด็กจะได้สนุก และอยากช่วยอีกในภายหลัง เด็กสมาธิสั้นมักบ้ายอ เนื่องจากในชีวิตไม่ค่อยมีใครชื่นชมเขานัก ส่วนใหญ่เจอแต่เสียงบ่น เสียงต่อว่าตำหนิ จนทำให้ขาดความภูมิใจในตนเอง พ่อแม่บางคนไม่กล้าชมลูก กลัวเหลิง กลัวลามปาม เลยมองเห็นแต่ข้อเสียของลูก
เมื่อเห็นข้อดีของลูกแล้วก็พยายามหาทางส่งเสริม ให้โอกาสเด็กทำดี ทำให้สนุก ให้กิจกรรมนั้นกลายเป็นจุดเด่นของเด็กในโอกาสต่อไป
ข้อดีของเด็กสมาธิสั้นที่มักถูกมองข้าม
- . การช่วยคนอื่นในการทำงาน
- . ความแคล่วคล่องว่องไว
- . ความกล้าพูดกล้าแสดงออก
- . ความมีเหตุผล(แต่อาจเป็นเหตุผลแบบเด็กๆ)
- . การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
การมองข้อดีของเด็กสมาธิสั้นอยู่เสมอ ช่วยให้เด็กสมาธิสั้นมองตัวเองดี มีความรู้สึกเห็นคุณค่าในตัวเอง ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับเด็กสมาธิสั้นจะดี
มองหาข้อดี และชื่นชมเขาเสมอ
งดการต่อรอง การต่อรองมักเป็นวิธีที่เด็กชอบใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่อยากทำแต่จำเป็นต้องทำ เด็กสมาธิสั้นใช้การต่อรองเป็นการทดสอบความหนักแน่นและเอาจริงเอาจังของพ่อแม่ วิธีป้องกันการต่อรองคือ ไม่ให้มีการต่อรอง แต่ให้ทำตามสิ่งที่วางแผนกันล่วงหน้าไว้ก่อนแล้วเท่านั้น ถ้าต้องการการเปลี่ยนแปลงแผน ขอให้ลองทำตามแผนที่ตกลงกันไว้ก่อน เช่น เรื่องนี้ขอให้ทำอย่างนี้ไปจนกว่าจะครบหนึ่งเดือน ตามที่ตกลงกันไว้ พอครบแล้วเรามาคุยกันใหม่ ถ้าจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขประการใดค่อยมาตกลงกันอีกที วิธีนี้เป็นการสอนเด็กด้วยว่า การวางแผนนั้นมีความสำคัญ และพ่อแม่กำกับให้เป็นไปตามแผนเสมอ เด็กเรียนรู้ว่าพ่อแม่เอาจริง แต่ก็มีการยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงได้ ภายใต้เงื่อนไขกติกาที่ตกลงกันไว้ ดังนั้น ข้อตกลงใดๆ ควรมีการระบุด้วยว่า เริ่มเมื่อใด สิ้นสุดเพื่อการประเมินผลตอนไหน ถ้ายังไม่แน่ใจว่าทำได้นาน ก็ควรให้ลองปฏิบัติระยะเวลาสั้นๆ เช่น สองถึงสี่สัปดาห์ เผื่อมีการเปลี่ยนแปลงจะได้แก้ไขได้เร็ว
ไม่ต่อรองตามแผนที่วางไว้แล้ว
งดเว้นการบ่น พูดมาก การพูดมาก บ่นมาก ทำให้เด็กสมาธิสั้นเบื่อ ไม่สนใจสิ่งที่ผู้ใหญ่พูดต่อไป ทำให้เขาไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย พ่อแม่ควรพยายามเตือนตนเองอยู่เสมอว่า
“ ฉันกำลังโกรธๆๆ ”
“ ฉันกำลังจะบ่นๆๆ ”
“ วิธีบ่นนี้ไม่ได้ผลๆๆ ”
“ ฉันจะพูดให้น้อยลง ทำจริงมากขึ้น”
“ มองหาข้อดี ชมส่วนที่ดีของเขาก่อน ” ถ้ารู้สึกว่าอดใจไม่ไหวจริงๆ พ่อแม่ควรขอเวลานอกตัวเอง โดยบอกกับเด็กว่า
“ แม่กำลังโกรธ ขอเวลาสงบใจตัวเองสักพัก เดี๋ยวค่อยคุยกันต่อ ”
เทคนิคนี้สอนเด็กว่า พ่อแม่บางครั้งก็ก็โกรธได้เหมือนกัน แต่เวลาโกรธไม่ใช้ความรุนแรง (แม้ด้วยวาจา) แต่ให้อารมณ์สงบก่อน ค่อยกลับมาจัดการปัญหา
เมื่ออารมณ์สงบแล้วการพูดจาทำความเข้าใจกันสั้นๆ จะได้ผลดี คือเด็กเกิดความตระหนักต่อปัญหาที่เกิดขึ้น คิดถึงการแก้ไขปัญหา หรือการป้องกันได้ดีกว่า
การบ่น ทำให้เด็กไม่ฟังสิ่งที่พ่อแม่พูดต่อไป
อย่าเจ้าระเบียบมาก การจู้จี้จุกจิก เอาเรื่องกับความผิดหรือข้อบกพร่องเล็กน้อย ไม่ได้แก้ปัญหา ไม่เปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก พยายามหลีกเลี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด เช่น เรื่อง ลายมือ กริยาท่าทาง การยุกยิกอยู่ไม่นิ่งพูดมาก สิ่งเหล่านี้ควรแก้ไขแต่อย่าใจร้อนคาดหวังเร็ว ใช้วิธีเบนความสนใจ และปรามเป็นระยะๆ อย่าบ่นมาก จ้ำจี้จ้ำไชมาก จะเสียความสัมพันธ์และพูดกันไม่รับฟัง
พ่อแม่ผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียว ความคิดเห็นของพ่อแม่ที่แตกต่างกัน อาจทำให้วิธีการแก้ปัญหาเป็นไปคนละทาง ความขัดแย้งเช่นนี้เป็นปัญหาใหญ่ต่อการจัดการกับพฤติกรรมเด็ก เด็กหาทางหลบหลีกปัญหาไปอยู่กับคนที่ตามใจเขา ในที่สุดความแตกต่างกันนี้ทำให้เกิดความขัดแย้ง ดังนั้นพ่อแม่ควรมีการพูดคุย ตกลงกันให้เป็นเสียงเดียวก่อน เรื่องใดที่ยังไม่แน่ใจ ให้ชะลอการตัดสินใจไว้ก่อน จนกว่าพ่อแม่ตกลงกันได้ ประโยคที่ใช้กับเด็กได้ในกรณีที่ยังตกลงกันไม่ได้ ได้แก่
“เรื่องนี้แม่ขอปรึกษาพ่อก่อน”
“เรื่องนี้ลูกได้ปรึกษาพ่อแล้วหรือยัง”
“เรื่องนี้อาจต้องคุยกันละเอียดหน่อย เอาไว้พ่อกลับมาก่อน แล้วเราค่อยคุยกันให้เข้าใจ”
ญาติผู้ใหญ่ในบ้านและพี่เลี้ยงเด็กต้องเล่นทีมเดียวกับพ่อแม่ บ่อยครั้งที่ปู่ย่าตายาย หรือพี่เลี้ยงเด็กมักตามใจเด็กมากจนเกินไป ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาพฤติกรรมเด็กได้ พ่อแม่ควรชี้แจงให้ทุกคนเข้าใจว่ากำลังปรับพฤติกรรมเด็กด้วยวิธีการอย่างไร เช่น การไม่ตามใจ การเน้นให้เด็กช่วยตัวเอง ช่วยงานบ้านและสอนให้พี่เลี้ยงเลี้ยงเด็กอย่างถูกวิธี พ่อแม่ต้องคอยระวังอย่าให้คนอื่นมีอำนาจเหนือพ่อแม่ในการเลี้ยงเด็กที่บ้าน ถ้าปู่ย่าตายายไม่ร่วมมือ พ่อแม่ต้องเป็นหลัก และพยายามแบ่งเวลามาช่วยดูแลลูกให้มากขึ้นด้วย
บางบ้านปู่ย่าตายายไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ในสถานการณ์เช่นนี้พ่อแม่ต้องมีเวลากับลูกให้มากกว่าปู่ย่าตายาย และคอยเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด เด็กจะอยู่ในกติกาของพ่อแม่มากกว่าได้เอง
พยายามมีเวลาใกล้ชิด ฝึกลูกด้วยตัวเอง
|
|
|