Neric-Club.Com
|
|
|
นิตยสารออนไลน์
|
|
|
มุมเบ็ดเตล็ด
|
|
|
|
|
|
|
เรื่องราวรอบรู้ |
|
|
บทที่ 10 ข้อควรระวังในการดูแลเด็กสมาธิสั้น พฤติกรรมต่อไปนี้พบได้บ่อยๆในเด็กสมาธิสั้น พ่อแม่ควรติดตามดูว่ามีเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้ามี ควรรีบจัดการแก้ไขโดยเร็ว
" การติดเกม " เด็กสมาธิสั้นติดเกมกด เกมตู้ หรือเกมคอมพิวเตอร์ง่ายกว่าเด็กทั่วๆไปมาก เมื่อติดแล้วเลิกยากกว่าด้วย ดังนั้น ไม่ควรส่งเสริมให้เด็กสมาธิสั้นเล่นเกม หรือถ้ามีเกมในบ้าน ต้องตกลงกติกากันก่อนเริ่มเล่นเกม เช่นจำกัดเวลาเล่น ให้เล่นได้เฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ วันละไม่เกิน 1 ชั่วโมง ไม่ควรให้เล่นในวันธรรมดาโดยเด็ดขาด เมื่อตกลงกติกากันแล้วพ่อแม่ต้องมีเวลาคอยกำกับให้เป็นไปตามนั้นอย่างเคร่งครัด อย่าปล่อยให้เด็กหลบเลี่ยง แอบเล่นเวลาพ่อแม่ไม่อยู่ การไม่กำกับให้เป็นไปตามกฎ เด็กเรียนรู้ว่าพ่อแม่ไม่เอาจริง เวลาจัดการเอาจริงเรื่องอื่นจะทำได้ยาก ถ้าพ่อแม่เห็นเด็กละเมิดกติกา วิธีการจัดการ คือ ลดเวลาเล่นของวันต่อมาลงครึ่งหนึ่ง หรืองดเล่นในวันต่อมา
เด็กสมาธิสั้นบางคนแอบไปเล่นเกมที่ร้านเกมนอกบ้าน ทำให้พ่อแม่บางคนตัดสินใจซื้อเกมไว้ที่บ้าน การป้องกันเรื่องนี้อาจทำได้โดยการจำกัดการให้เงินค่าขนม จัดตารางเวลาให้ดี ถ้าให้เล่นเกมในบ้าน ต้องเป็นไปตามเวลาที่ตกลงกัน และไม่ให้เสียการเรียน นั่นคือ การบ้านต้องทำเสร็จ ไม่มีงานค้าง จึงจะเล่นเกมได้
" การหลบเลี่ยงงานหรือการบ้าน " เด็กสมาธิสั้นมักลืมข้อตกลงกันได้ง่าย ไม่ค่อยคิดเตือนตัวเองว่าเคยตกลงหรือสัญญาอะไรไว้ งานบ้านหรือการบ้านจึงควรกำหนดเวลาล่วงหน้าให้ชัดเจน สม่ำเสมอ เหมือนกันทุกวัน และเขียนไว้ให้เห็นชัดเจน เหมือนตารางเวลากิจกรรมที่บ้าน ระยะแรกๆอาจต้องคอยกำกับให้ทำตาม เมื่อทำได้ต่อเนื่องนานพอสมควรแล้ว จึงค่อยลองปล่อยให้ทำเองโดยไม่ต้องเตือน ถ้าเด็กทำด้วยตัวเองโดยไม่ต้องเตือน ให้พ่อแม่ควรชม ให้เด็กเห็นว่าพ่อแม่รู้และชื่นชมพฤติกรรมที่ดีของเขา แต่ถ้ายังไม่ทำคอยกำกับให้ทำอย่างจริงจังไปก่อน ไม่ควรบ่นว่าตำหนิบ่อยๆ เพราะไม่ได้ผลและเด็กเบื่อไม่อยากฟังพ่อแม่พูด
เรื่องงานที่ครูมอบหมายให้ทำ หรือการบ้าน อย่าปล่อยให้เด็กหลบเลี่ยง
พ่อแม่ไม่ควรถามเด็กว่า
“มีการบ้านมั๊ย”
“การบ้านเสร็จแล้วหรือยัง” การถามเช่นนั้นจะเปิดโอกาสให้เด็กหลบเลี่ยง หรือโกหก
พ่อแม่ควรถามว่า
“ไหนเอาการบ้านที่ทำแล้วมาให้แม่ดูทีซิ” (มองและคาดหวังเขาในแง่ดีก่อน)
“มีอะไรให้พ่อช่วยเรื่องการบ้านไหม” พ่อแม่ควรมีเพื่อนลูกสองสามคนที่สนิทสนมคุ้นเคย เพื่อจะโทรศัพท์ไปถามได้เมื่อลูกลืมการบ้าน หรือไม่แน่ใจว่าการบ้านมีอะไรบ้าง ถ้าไม่มีจริงๆ หรือลืมจดการบ้านมา ให้พ่อแม่มอบการบ้านลูกเอง โดยดูตามบทเรียนครั้งสุดท้าย วิธีนี้ทำให้เด็กเรียนรู้ว่าการลืมการบ้าน(เจตนาหรือไม่ก็ตาม) จะได้ผลเหมือนกันคือต้องทำการบ้านเสมอ ไม่มีเหตุจูงใจให้เลี่ยงการทำการบ้าน เพราะถึงอย่างไรก็ต้องทำ แถมการลืมยิ่งทำให้ต้องทำงานมากขึ้น
" ดื้อเงียบ " พฤติกรรมดื้อเงียบในเด็กสมาธิสั้นเกิดได้สองแบบ แบบแรกเกิดจากการที่เด็กไม่สนใจคำสั่งพ่อแม่ โดยเฉพาะเวลาเด็กกำลังเล่นเพลินๆ หรือกำลังสนุกกับกิจกรรมบางอย่าง เด็กไม่มีความจดจ่อกับคำสั่งคำพูดของคนอื่น แบบนี้เด็กไม่ได้มีเจตนาดื้อ แต่เป็นอาการของเด็กสมาธิสั้น
พฤติกรรมดื้อแบบที่สอง เกิดจากการตั้งใจดื้อ มักเกิดจากปัญหาอารมณ์หรือความโกรธที่เด็กมีต่อพ่อแม่ การที่พ่อแม่มักหงุดหงิดกับเด็กบ่อยๆ และลงเอยด้วยการบ่น ดุ ด่า ตำหนิ หรือลงโทษด้วยอารมณ์ ด้วยความรุนแรง เด็กบางคนเก็บความโกรธไว้ วิธีแก้แค้นที่ได้ผล คือการต่อต้านเงียบๆ ด้วยการไม่ทำตามโดยไม่โต้ตอบ ทำให้พ่อแม่หงุดหงิดได้มากที่สุด
วิธีการป้องกันการดื้อเงียบ คือ เวลาพูดหรือออกคำสั่ง ควรพูดใกล้ๆ ต่อหน้าเด็ก ให้เขาเห็นปากของผู้พูด และมองไปในดวงตาเด็กให้แน่ใจว่าเขาใส่ใจในคำพูดของผู้พูดจริงๆ ให้เขาเลิกเล่นหรือหยุดกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ก่อน(มิฉะนั้นเขาไม่ใส่ใจคำสั่ง และลืมง่าย) เมื่อสั่งเสร็จแล้วให้เขาทบทวนสิ่งที่พ่อแม่พูดกับเขา หรือสั่งเขา ถ้าเขาตอบได้ถูกต้องก็ชม ถ้าไม่ถูกตรงไหน ให้พูดใหม่จนกว่าจะแสดงว่าจับใจความสำคัญให้ได้จริงๆ และทวนความจนแน่ใจว่าเขารับได้ครบ
เทคนิคในการสั่งให้เด็กสมาธิสั้นทำได้ถูกต้องคือ คำสั่งต้องสั้นๆ เข้าใจง่าย สั่งให้ทำทีละอย่างจะได้ผลดีที่สุด
" การโกหก " เด็กสมาธิสั้นมีแนวโน้มโกหกมากกว่าเด็กทั่วๆไป การโกหกมักเป็นการปิดบังความผิด ปิดบังสิ่งที่เด็กคาดว่าถูกดุถูกว่าถูกตำหนิถูกทำโทษ หรือไม่แน่ใจว่าพ่อแม่โกรธมากหรือไม่ เด็กบางคนคุยโวอวดโอ้เพื่อให้ตัวเองเป็นจุดเด่น หรือให้พ่อแม่ชื่นชม เนื่องจากที่ผ่านมาเด็กมักมองตนเองไม่ดี ขาดความภูมิใจในตนเอง การป้องกันการโกหก พ่อแม่ควรปฏิบัติดังนี้
อย่าเปิดโอกาสให้เด็กโกหก เวลาพ่อแม่รู้แน่ว่าเด็กทำผิด ไม่ควรใช้คำถามเพื่อบีบให้เด็กรับ เช่น
การถามว่า “ขโมยเงินแม่หรือเปล่า” เด็กมักจะบอกว่าเปล่า ทั้งๆที่ขโมยจริง
การถามว่า “รังแกน้องหรือเปล่า” เด็กมักจะบอกว่าเปล่า ทั้งๆที่รังแกจริง
การถามว่า “แกล้งเพื่อนหรือเปล่า” เด็กมักจะบอกว่าเปล่า ทั้งๆที่แกล้งจริง วิธีถามที่ดี น่าจะเป็นดังนี้
“แม่อยากรู้ว่าลูกเอาเงินแม่ไปทำอะไรบ้าง ไหนลองเล่าว่าลูกต้องการใช้เงินทำอะไร”
“แม่คิดว่าลูกคงโกรธน้องบางอย่างจึงทำให้รุนแรงกับน้อง แม่อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น”
“พ่อเคยมีเรื่องกับเพื่อนเหมือนกันตอนเด็กๆ ลูกก็คงมีใช่ไหม ลองเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้พ่อฟังหน่อย” โปรดสังเกตว่ามีคำถามสำคัญที่ประโยคท้าย ซึ่งไม่คาดคั้นให้ยอมรับในช่วงแรก เด็กมักจะตอบด้วยความรู้สึกว่าพ่อแม่สนใจอยากรู้เบื้องหลังของการกระทำ ไม่ว่าจะเป็น การ “ขโมย” “รังแก” “แกล้งเพื่อน” ซึ่งการเปิดเผยดูจะไม่เป็นภัยต่อตัวเอง การตอบในคำถามท้ายนั้นเท่ากับการยอมรับในพฤติกรรมนั้น แต่พ่อแม่ต้องใจเย็นต่อการยอมรับความจริงนี้อย่างสงบและจริงจัง ไม่โวยวาย ไม่ดุด่าว่ากล่าวเขาในตอนนี้ และยังไม่ควรสั่งสอนอะไรมาก อาจชมเขาหน่อยที่เปิดเผยความจริงตรงนี้
ต่อไปพ่อแม่พยายามถามนำเพื่อให้เขาตอบในรายละเอียดพฤติกรรม เช่น ก่อนทำคิดอย่างไร คิดนานเท่าไร (ประเมินว่าทำด้วยความคิดชั่ววูบหรือวางแผนล่วงหน้า) ถ้ามีการวางแผน คิดอย่างไร กลัวผลที่จะตามมาหรือไม่ เมื่อทำไปแล้วคิดอย่างไร เสียใจหรือไม่ ถ้าเปลี่ยนแปลงได้อยากจะแก้ไขอดีตที่ทำไปแล้วอย่างไร
บางคนอาจสงสัยว่า ถ้าเด็กไม่ได้ทำจริงละ จะไม่เป็นปัญหาหรือ
คำตอบคือ ให้ดูทีท่าขณะเด็กตอบว่า เขายอมรับ หรือไม่ยอมรับ แบบมีพิรุธหรือไม่ ถ้าเด็กไม่ได้ทำจริง เขามักปฏิเสธแบบยืนยันอย่างหนักแน่น และไม่สนใจที่จะตอบคำถามท้าย ถึงตอนนั้นพ่อแม่อาจ “ออกตัว” ด้วยการยอมรับว่า พ่อแม่อาจเข้าใจผิดหรือได้ข้อมูลไม่ถูกต้องก็ได้ ถ้าเขาไม่ได้ทำจริงก็ขอโทษ แต่ชี้ให้เขาเข้าใจว่าเรื่องเช่นนี้ถ้าเกิดพ่อแม่เห็นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจ ป้องกัน หรือแก้ไขทันที
อย่าเปิดโอกาสให้เด็กโกหก
" อย่าปล่อยให้เด็กหลบเลี่ยง " เด็กสมาธิสั้นมักไม่ค่อยชอบทำงานหรือการบ้าน เมื่อครูมอบหมายให้ทำการบ้าน งานประดิษฐ์ มักจะหลบเลี่ยงปิดบัง บางครั้งก็ลืมไปเลย ถ้าเด็กไม่ได้จดการบ้านมา พ่อแม่มักตรวจสอบได้ยาก เมื่อเด็กหลบเลี่ยงได้ผล จะทำซ้ำๆจนติดเป็นนิสัยหลบเลี่ยงงาน
วิธีการป้องกันการหลบเลี่ยงงาน ทำได้ดังนี้
- ฝึกให้เด็กจดงาน จดการบ้านให้ครบ
- . พ่อแม่ตรวจสอบการจดการบ้านสม่ำเสมอ
- . ถ้าลืมจดการบ้าน ให้พ่อแม่ตรวจสอบโดยการโทรศัพท์ถามเพื่อนของลูกทันที
- . กำกับให้ทำการบ้านสม่ำเสมอทุกวัน วันใดไม่มีการบ้าน ให้พ่อแม่มีการบ้านพิเศษ 1-2 ข้อ
- . มีการลงโทษถ้าลืมจดการบ้าน ด้วยการให้การบ้านพิเศษ 1-2 ข้อ
- . ตกลงกับทางโรงเรียนว่า ถ้ามีงานค้าง หรือไม่ได้ส่งการบ้านเมื่อใด ขอให้ครูรีบแจ้งพ่อแม่โดยตรง
- . เมื่อเด็กทำการบ้านครบ ให้ชมเชย
" การคุยโวโอ้อวด "
บางครั้งเด็กมักพูดเกินความจริงเพื่อให้เป็นที่สนใจ บางครั้งพูดไปตามจินตนาการที่อยากให้เกิด เช่น
“ ผมได้รางวัลการพูดหน้าชั้น อาจารย์ใหญ่เชิญออกไปรับรางวัลในห้องประชุมนักเรียนเลยนะแม่” ทั้งที่ความจริง คือ เด็กรางวัลจากคุณครูในห้องเรียนเท่านั้น วิธีการที่พ่อแม่ควรจัดการเรื่องนี้(เมื่อรู้ความจริงจากครู)คือพูดกับเด็กว่า
“ลูกคงดีใจที่ได้รางวัลจากการพูดในชั้น จนบางทีนึกอยากจะได้รับรางวัลเช่นนี้ในที่ประชุมใหญ่” การพูดเช่นนี้อาจช่วยให้เด็กแยกแยะความจริงและความฝันหรือความหวังจากกันได้
พ่อแม่ควรหาสาเหตุว่า การที่เด็กต้องการเป็นจุดเด่น เป็นที่สนใจนั้นเกิดจากอะไร เด็กบางคนไม่ค่อยมีใครชื่นชม บางคนถูกดุถูกว่ามากจนขาดความภาคภูมิใจในตนเอง
การแก้ไขที่ตรงจุดน่าจะเป็นการช่วยเสริมความมีคุณค่าในตัวเองของเด็ก เช่น ลดการดุตำหนิที่ไม่จำเป็น( และไม่ได้ผล) แต่ส่งเสริมให้เด็กมีโอกาสทำดี มีคนชื่นชม
" การกล่าวหาเพื่อนหรือครู " เด็กสมาธิสั้นหลายคนมักมีเรื่องทะเลาะชกต่อยกับเพื่อนในโรงเรียน แต่จะมาบอกพ่อแม่ว่า ตนเองถูกแกล้งก่อน ซึ่งตรงกันข้ามกับความจริง พ่อแม่อย่าเพิ่งไปกล่าวหาลูกก่อน แต่ชวนคุยให้เหตุการณ์เปิดเผย
“ลูกคงโกรธเพื่อน จนบางทีอาจเข้าใจว่าเพื่อนเขาแกล้งลูกก่อน” (สะท้อนความรู้สึกลูกก่อน เขาจะรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน)
“ลองเล่าเหตุการณ์อย่างละเอียดอีกครั้ง”
“แล้วลูกทำอย่างไร”
“ผลเป็นอย่างไร”
“ครั้งก่อนมีบ้างไหม ที่เขาไม่พอใจลูก” (ให้เด็กมองจากตัวเอง)
“เป็นไปได้ไหมว่า เขายังโกรธแค้นลูกจากเมื่อครั้งก่อน” (ให้แง่คิดอีกมุม ที่แตกต่างออกๆไป)
“ถ้ายังมีการตอบโต้กันไปมาอย่างนี้ มันจะหยุดได้หรือ” ( เสนอทางเลือกที่เหมาะ คือการยุติ ไม่ตอบโต้กันไปมาอีก)
“ลูกคงไม่พอใจครู จนเข้าใจว่าครูลำเอียง” (สะท้อนความรู้สึกลูก)
“ครูอาจไม่มีเวลาคุยกันจนเข้าใจเรื่องราวได้ละเอียดก็ได้” (ให้แง่คิดอีกมุม ที่แตกต่างออกๆไป)
" การคบเพื่อน " การคบเพื่อนของเด็กสมาธิสั้นอาจเป็นปัญหาได้มาก เพราะเด็กสมาธิสั้นมักคบเพื่อนที่มีลักษณะคล้ายๆกัน เช่น ซน คุยเก่ง ชอบเล่น ชอบสนุกสนานเฮฮา หรือก้าวร้าวเกเร เวลาอยู่ในห้องเรียนมักจับคู่กันชวนคุย ชวนเล่น ทำให้ห้องเรียนปั่นป่วนได้ คุณครูจึงมักจัดที่นั่งให้เด็กสมาธิสั้นนั่งห่างๆกัน
พ่อแม่และครูควรติดตามการคบเพื่อนของเด็กอย่างใกล้ชิด ป้องกันมิให้เด็กสมาธิสั้นใกล้ชิดกันมาก ซึ่งจะเร้ากันเองให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา พยายามให้เขามีเพื่อนที่ดี เป็นแบบอย่างที่ดีต่อลูกได้
พ่อแม่ควรช่วยสอนเพื่อนของลูกด้วย ในกรณีที่เพื่อนของลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่นเล่นซนมากจนเกินไป ละเมิดกฎเกณฑ์กติกา บางทีต้องช่วยให้กลุ่มเพื่อนของลูกมีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แทนการปล่อยให้เล่นกันเอง
" การใช้สารเสพติด " อาการหนึ่งที่พบบ่อยในเด็กสมาธิสั้น คือ ขาดการยั้งคิด อาการนี้ทำให้เด็กสมาธิสั้นชอบลองในสิ่งที่เป็นอันตรายได้ง่าย เช่น เล่นเสี่ยงๆ เล่นแบบอันตราย หรือลองยาเสพติด จนในที่สุดอาจติดยาเสพติดได้ การฝึกทักษะการควบคุมตนเอง การคิดล่วงหน้า การคิดถึงผลตามมาจากการกระทำ และความรู้สึกเห็นคุณค่าของตนเอง จะช่วยให้เด็กสมาธิสั้นไม่ลองใช้ยาเสพติด
เด็กสมาธิสั้นมักจะลองใช้ยาเสพติดตอนวัยรุ่น มักจะลองตามคำชวนของเพื่อนๆ ถ้าเด็กสมาธิสั้นอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่ดี ไม่ใช้ยาเสพติด เด็กก็จะมีโอกาสใช้น้อย การป้องกันที่ดีจึงต้องเสริมทักษะต่างๆที่จะช่วยป้องกันการลองใช้ และให้มีกลุ่มเพื่อนที่ดี
เด็กสมาธิสั้นที่ไม่ลองใช้ยาเสพติด มีลักษณะดังนี้
- . มีภูมิคุ้มกันยาเสพติดในตัวเอง
- . มีความรู้และตระหนักในโทษของยาเสพติด
- . กลุ่มเพื่อนไม่ได้ใช้ยาเสพติด
ภูมิคุ้มกันยาเสพติดในวัยรุ่น คือคุณลักษณะที่เกิดจากการเลี้ยงดูโดยพ่อแม่ และครูอาจารย์ที่โรงเรียน ประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้
- . มีทักษะในการเรียนรู้
- . มีความรับผิดชอบ
- . มีอาชีพและช่องทางดำเนินชีวิตที่ดี
- . มีทักษะในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข
- . มีความภูมิใจในตัวเอง
การฝึกให้เด็กสมาธิสั้นมีทักษะที่ดี มีความรู้เรื่องยาเสพติด และอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่ดี จะช่วยป้องกันไม่ให้เด็กเริ่มลองยาเสพติด
ฝึกให้เด็กมีภูมิคุ้มกันยาเสพติด เป็นการป้องกันจากตัวเด็กเอง
|
|
|