Neric-Club.Com
|
|
|
นิตยสารออนไลน์
|
|
|
มุมเบ็ดเตล็ด
|
|
|
|
|
|
|
เรื่องราวรอบรู้ |
|
|
บทที่ 14 ความช่วยเหลือโดยคุณครู การช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้น จำเป็นต้องได้รับจากคุณครูด้วยเสมอ เนื่องจากเด็กต้องปรับตัวกับการเรียนและสิ่งแวดล้อมที่โรงเรียน ปัญหาพฤติกรรมต่างๆเกิดขึ้นที่โรงเรียนด้วย การฝึกพฤติกรรมต่างๆในบทต้นๆ สามารถนำมาใช้ที่โรงเรียนเช่นกัน
หลักสำคัญในการช่วยโดยคุณครู
- เข้าใจเด็กสมาธิสั้น โรคสมาธิสั้นเป็นโรคที่พบได้บ่อย เป็นเอง มิได้เกิดจากการเลี้ยงดู เด็กที่อาการไม่มากอาจมีลักษณะเหมือนเด็กปกติ บางคนไม่มีอาการมากที่โรงเรียน จนครูอาจคิดว่ามิได้เป็นโรคสมาธิสั้น แพทย์จะวินิจฉัยโดยใช้ข้อมูลพฤติกรรมทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน และที่อื่นๆประกอบกัน ร่วมกับการประเมินทางจิตวิทยาและจิตเวช ถ้าครูไม่แน่ใจการวินิจฉัยโรค ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแล
- การช่วยเหลือต้องร่วมมือกัน ระหว่างแพทย์ ครู และพ่อแม่ ไปในทิศทางเดียวกัน
- ส่งเสริมให้เด็กกินยารักษา ยาไม่มีฤทธิ์ง่วง ไม่ซึม ไม่กดระบบประสาท ไม่ติดยา ไม่มีผลต่ออวัยวะภายในระยะยาว สามารถกินต่อเนื่องได้ แพทย์จะให้ยารักษายาวจนเข้าสู่วัยรุ่น กินทุกวันไม่จำเป็นต้องเว้นยา
บทบาทของครูในการช่วยเหลือ การจัดสิ่งแวดล้อม
- จำนวนเด็กสมาธิสั้นในห้องเรียน ไม่ควรมีเด็กสมาธิสั้นมากกว่า 1 คนในห้อง
- ที่นั่ง เด็กสมาธิสั้นควรนั่งหน้าชั้น ใกล้ครู มีเด็กเรียบร้อยนั่งรอบด้าน
- สิ่งกระตุ้นต่างๆในห้อง ควรมีน้อย ไม่มีการประดับมาก ลดสิ่งกระตุ้นทางสายตา
- การแต่งตัวของครู ไม่ควรมีเครื่องประดับมาก ไม่ทำให้เด็กสนใจการแต่งกายของครู
การช่วยเหลือเรื่องการกินยา เด็กสมาธิสั้นจำเป็นต้องกินยาเพื่อช่วยให้เขาควบคุมสมาธิและควบคุมตัวเองได้ ยาที่กินอาจมีมื้อกลางวัน ซึ่งเด็กมักลืม
- เด็กเล็ก บางครั้งขอความร่วมมือคุณครูช่วยจัดยาให้ในมื้อกลางวัน
- เด็กโต ครูช่วยเตือนเด็กให้กินยา
- วิธีการเตือน ควรเตือนเป็นส่วนตัว ระวังเด็กอายเพื่อน
การให้เด็กรับทราบโรคที่เป็น ครูบอกเด็กสมาธิสั้นได้ดังนี้
โรคสมาธิสั้นไม่ใช่โรคจิต โรคประสาท ไม่ใช่ปมด้อย สามารถทำทุกอย่างได้เหมือนเพื่อน
อาการของโรคสมาธิสั้นทำเรียนด้อยกว่าความสามารถที่แท้จริง อาการนี้รักษาได้ด้วยยา และการฝึก
ยาช่วยเพิ่มความสามารถในการตั้งใจ สมาธิ ความเข้าใจและความจำ การควบคุมตนเอง
การฝึกต่างๆมีความจำเป็น ครูจะช่วยฝึกร่วมกับทางบ้าน
อาการหุนหันพลันแล่น จำเป็นต้องฝึกควบคุม
เขามีข้อดีอื่นๆ ช่วยกันให้เกิดข้อดีมากขึ้น ครูมองเห็นข้อดีของเขาเช่นกัน
ข้อควรหลีกเลี่ยง
- หยุดยาเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
- ล้อเลียน ประกาศ แซว ประชดประชันอาการหรือโรคที่เด็กเป็น หรือส่งเสริมให้เพื่อนล้อเลียน
- ทำให้เป็นจุดเด่นจากอาการของโรค
- ลงโทษรุนแรงหรือทำให้อับอาย
- ไม่สนใจเด็ก ไม่เอาใจใส่ หรือให้เพื่อนๆเลิกยุ่งกับเด็ก
จะบอกเด็กอื่นๆอย่างไร
- ควรบอกเพื่อนๆเด็กว่า โรคสมาธิสั้นไม่ใช่โรคน่าอาย ไม่ล้อเลียนกันในห้อง
- ควรช่วยเหลือเพื่อนที่สมาธิสั้นอย่างไร เช่น ไม่ชวนคุย ชวนให้ตั้งใจเรียน ชวนให้ทำงานให้ครบ เตือนเมื่อลืม
- ไม่ปิดบังว่าใครเป็นโรคสมาธิสั้น แต่ไม่ต้องประกาศให้เด็กอาย หรือรู้สึกว่าเป็นจุดเด่นของห้องเกินไป
- ให้โอกาสเขาทำตัวให้เป็นประโยชน์ตามโอกาส
บทบาทครูในห้องเรียน
- สร้างแรงจูงใจในการเรียน ทำให้การเรียนสนุก ตื่นเต้น ท้าทาย ให้เด็กอยากติดตาม
- จัดระบบการเรียนให้ชัดเจน และกำกับให้เด็กทำตามระบบอย่างสม่ำเสมอ
- คอยดึงความสนใจเด็กกลับมาสู่การเรียน เมื่อวอกแวกหรือขาดสมาธิ
- เวลาพูดกับเด็กให้แน่ใจว่าเด็กกำลังฟัง ไม่ได้สนใจสิ่งอื่นอยู่
- แบ่งงานเป็นช่วงสั้นๆพอที่เด็กจะทำเสร็จ กำกับให้ทำจนสำเร็จทั้งหมด มีจังหวะพักเป็นระยะ
- ชมเมื่อเด็กทำได้ ทำเสร็จหรือพยายามทำ
- วางเฉยกับอาการที่ไม่รบกวนหน้าที่ เช่น ยุกยิก อยู่ไม่สุข ลายมือไม่สวย เจ้าอารมณ์
- ติดตามงานอย่าให้หลุด ให้งานเสร็จ จดการบ้านเสร็จ ติดตามการบ้านสม่ำเสมอ
- อนุญาตให้ใช้เทปบันทึกเสียง เพื่อกลับไปฟังซ้ำ
- เพิ่มเวลาในการทดสอบ หรือการทำงานที่เด็กอาจช้ากว่าเพื่อนมาก
- ใช้สัญญาณเตือนทุกรูปแบบ จนเด็กสามารถเตือนตนเองได้
- ให้เด็กช่วยงานครู ใช้ความอยู่ไม่นิ่งให้เป็นประโยชน์
- ชมเมื่อเด็กทำดี ให้เพื่อนชมเมื่อทำตัวเป็นประโยชน์ มีรางวัลเป็นครั้งคราว
- ใช้เทคนิค “ขอเวลานอก” เมื่อเด็กละเมิดกติกา
- ใช้การลงโทษอย่างระมัดระวัง หาวิธีหลายรูปแบบ เช่น ตัดรางวัล บำเพ็ญประโยชน์
- ไม่ควรลงโทษกับปัญหาเหล่านี้ สะเพร่า เลินเล่อ ขาดระเบียบ ขาดความสนใจ ลายมือไม่สวย
- อนุญาตให้พิมพ์งานส่ง ในกรณีที่มีปัญหาลายมือมากๆ หรือเขียนช้ามากๆ
- หาทางให้เด็กระบายพลังงาน หรือความก้าวร้าว ออกเป็นกิจกรรมที่เหมาะสม เช่น กีฬา ศิลปะ ดนตรี ตามความชอบ ความถนัดของเด็ก
- พูดคุยเป็นส่วนตัวเป็นครั้งคราว รับฟังความทุกข์ใจ ปัญหาที่เกิดขึ้น และให้ความรู้ คำแนะนำ การปฏิบัติตัว ชมในเรื่องที่เด็กทำได้ดี คาดหวังในทางที่ดีต่อเด็กเสมอ
ครูช่วยพ่อแม่ได้อย่างไร
- ช่วยฝึกทักษะต่างๆ ให้สอดคล้องกับที่บ้าน โดยการติดตามกับพ่อแม่และแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
- ติดตามให้เด็กจดการบ้านให้ครบ
- ติดตามการบ้าน งานที่ค้าง เมื่อเด็กลืมหรือไม่ส่งงาน ให้แจ้งทางบ้านทันที
- สอนเสริมรายบุคคล ตรวจสอบว่าเด็กมีปัญหาการเรียนเฉพาะด้านหรือไม่ ให้ความช่วยเหลือด้านการเรียน
- ให้ความมั่นใจพ่อแม่ในการรักษาอย่างต่อเนื่อง อย่าให้ขาดการไปพบแพทย์ตามนัด ถ้าไม่แน่ใจในการรักษาให้กลับไปปรึกษาแพทย์ผู้รักษา
ครูช่วยหมอได้อย่างไร
- ตอบแบบสอบถามพฤติกรรมที่แพทย์ส่งไปผ่านพ่อแม่ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยและการรักษาต่อเนื่อง
- สร้างทักษะที่เด็กยังขาดอยู่
- ติดต่อแพทย์เมื่อมีข้อสงสัย
- แจ้งแพทย์ผู้รักษาเมื่อมีปัญหาฉุกเฉิน
- หากิจกรรมใช้ความอยู่ไม่นิ่งให้เป็นประโยชน์ เช่นบำเพ็ญประโยชน์ กีฬา ศิลปะ ดนตรี
- ช่วยให้เด็กหาเอกลักษณ์ของตน เมื่อเข้าสู่วันรุ่น
- เมื่อเด็กเลื่อนชั้น แจ้งให้ครูคนต่อไปทราบ และช่วยเหลือต่อไป
|
|
|