องค์ประกอบสำคัญใน "การเรียนรู้"
การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นแต่ละครั้ง จะต้องประกอบด้วยกระบวนการของส่วนประกอบ 4 อย่าง คือ 1. สิ่งเร้า เป็นตัวการที่ทำให้บุคคลมีปฏิริยาโต้ตอบออกมา 2. แรงขับ จะทำให้เกิดปฏิกิริยาหรือพฤติกรรมที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ต่อไป 3. การตอบสนอง เป็นปฏิกิริยาหรือพฤติกรรมที่แสดงออกมาเมื่อได้รับการ กระตุ้นจากสิ่งเร้า 4. สิ่งเสริมแรง เป็นสิ่งมาเพิ่มกำลังให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองให้มีแรงขับเพิ่มขึ้น
ขั้นตอนการเรียนรู้จึงอาจสรุปเป็นลำดับขั้นได้ดังนี้ - ขั้นการสนใจปัญหา (Motivation) - ขันศึกษาข้อมูล (Information) - ขั้นนำข้อมูลมาใช้ (Application)
ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค ( Classical Conditioning ) ของ ไอวาน พาร์พลอฟ ( Ivan Pavlop )
พฤติกรรมที่จะเกิดการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิคได้มักเป็นพฤติกรรมหรือการตอบสนองที่เกิดจากปฏิกริยาสะท้อน อันมีพื้นฐานมาจากการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น การทำงานของต่อมต่าง ๆในร่างกาย การทำงานของระบบกล้ามเนื้อต่าง ๆ พฤติกรรมการตอบสนองในการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิค เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้น พฤติกรรมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเหล่านี้ เรียกว่า พฤติกรรมตอบสนอง หรือพฤติกรรมที่เป็นไปโดยไม่ตั้งใจ พาร์พลอฟ เชื่อว่าการเรียนรู้ของสิ่งมีชีวิตจำนวนมากเกิดจากการวางเงื่อนไข (conditioning) กล่าวคือ การตอบสนองหรือการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นต่อสิ่งเร้าหนึ่งมักมีเงื่อนไขหรือสถานการณ์เกิดขึ้น ซึ่งในสภาพปกติหรือในชีวิตประจำวันการตอบสนองเช่นนั้นอาจไม่มี เช่น กรณีสุนัขได้ยินเสียงกระดิ่งและน้ำลายไหล เสียงกระดิ่งเป็นสิ่งเร้าที่ต้องการให้เกิดการเรียนรู้จากการวางเงื่อนไข (เพราะโดยปกติเสียงกระดิ่งมิได้ทำให้สุนัขน้ำลายไหล แต่คนต้องการให้สุนัขน้ำลายไหลเมื่อได้ยินเสียงกระดิ่ง) พาร์พลอฟ เรียกว่า สิ่งเร้าที่มีเงื่อนไข (conditioned stimulus) และปฏิกิริยาน้ำลายไหล เป็นการตอบสนองที่เรียกว่าการตอบสนองที่มีเงื่อนไข (conditioned response)
การนำความรู้จากทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิคไปใช้ในการเรียนการสอน ในการนำทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิคไปใช้ในการเรียนการสอน ทำได้ดังนี้ - ครูสร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนการสอน อันเป็นการวางเงื่อนไขที่ดี - ครูวางตัวให้ผู้เรียนเกิดความศรัทธา เพื่อผู้เรียนจะได้รักวิชาที่ครูสอนด้วย - ครูจัดบทเรียนให้น่าสนใจและเกิดความสนุกสนาน ได้ทั้งความรู้ และความสนุกสนาน - สร้างความเป็นกันเองกับผู้เรียนและให้ความอบอุ่นกับผู้เรียน - ครูจัดสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาดี เพื่อให้ผู้เรียนรักสถานศึกษา - ครูจัดหาและใช้สื่อการสอนที่ดี เพื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
การนำความรู้จากทฤษฎีการเรียนรู้แบบต่อเนื่องหรือเชื่อมโยงไปใช้ในการเรียนการสอน ในการนำความรู้จากทฤษฎีการเรียนรู้แบบต่อเนื่องหรือเชื่อมโยงไปใช้ในการเรียนการสอนนั้น ครูควรจะปฏิบัติ ดังนี้ 1. ก่อนที่จะดำเนินการสอน ครูจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมและกระตุ้นผู้เรียนให้พร้อมที่จะเรียนเสียก่อน 2. ควรมอบหมายงาน แบบฝึกหัด หรือการบ้านให้ผู้เรียนได้ฝึกหัดกระทำเพื่อให้บรรลุตามหลักสูตรที่ว่าให้คิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น 3. ใช้หลักการให้รางวัลและลงโทษ เพื่อให้ผู้เรียนรู้ว่า "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว"
พฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากสภาพการณ์ ( Operant Conditioning )
เป็นการแสดงพฤติกรรมตอบสนองโดยจัดสภาพแวดล้อมของผู้เรียน โดยส่วนรวมให้เป็นสิ่งเร้าต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ และใช้แรงเสริม ( Reinforcement ) ช่วยส่งเสริมให้แสดงพฤติกรรมตามต้องการ แนวคิดนี้เป็นของ เบอร์รัส สกินเนอร์ ( Burrhus Skinner )
ทฤษฎีการเรียนรู้การวางเงื่อนไขการกระทำ
ทฤษฎีการเรียนรู้การวางเงื่อนไขการกระทำ พัฒนาขึ้นโดย บี เอฟ สกินเนอร์ (B.F. Skinner, 1904-1990) มีแนวความคิดพื้นฐานว่า พฤติกรรมของมนุษย์ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของเงื่อนไขการเสริมแรงและลงโทษ
การเสริมแรงมี 2 ประเภท คือ 1.การเสริมแรงทางบวก (Positive reinforcement) 2. การเสริมแรงทางลบ (Negative reinforcement)
การเสริมแรงทางบวก เป็นการกระทำชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดความพึงพอใจกับผู้เรียนและความพึงพอใจนั้นทำให้เกิดการตอบสนองที่ต้องการมากครั้งขึ้นหรือตอบสนองอย่างเข้มข้นขึ้น เช่น การให้อาหาร คำชมเชย ของขวัญ ฯลฯ การเสริมแรงทางลบ เป็นการพยายามทำให้เกิดการตอบสนองเพิ่มขึ้น หรือเข้มข้นขึ้น โดยการกำจัดสิ่งเร้าที่ไม่พึงประสงค์ออกไป เช่น การกำจัดเสียงดัง การลดการลงโทษ การลดการดุด่า เป็นต้น
การลงโทษ (Punishment) การลงโทษจะให้ผลตรงกันข้ามกับการเสริมแรง กล่าวคือ การเสริมแรงเป็นการทำให้การตอบสนองเพิ่มมากขึ้น แต่การลงโทษเป็นการทำให้การตอบสนองลดน้อยลง การลงโทษทำโดยการให้สิ่งเร้าที่ไม่พึงประสงค์หรือสิ่งเร้าที่เป็นภัย ในทันทีทันใดหลังจากการแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีหรือไม่ต้องการออกมา
ทฤษฎีการเรียนรู้การวางเงื่อนไขแบบการกระทำนั้น พฤติกรรมหรือการตอบสนองจะขึ้นอยู่กับการเสริมแรงเป็นสำคัญ
การเสริมแรง พฤติกรรมดำเนินไปอย่างซ้ำ ๆ สม่ำเสมอ พฤติกรรมการทำโทษ พฤติกรรมจะค่อย ๆ ลดลง
การนำความรู้ที่ได้จากทฤษฎีการเรียนรู้การวางเงื่อนไขแบบการกระทำไปใช้ในการเรียนการสอน การนำความรู้ที่ได้จากทฤษฎีการเรียนรู้การวางเงื่อนไขแบบการกระทำไปใช้ในการเรียนการสอน นั้น ทำได้โดยการ 1. สร้างนิสัยที่ดีให้แก่เด็ก เพื่อการสร้างคุณภาพแห่งชีวิต 2. ลบนิสัยที่ไม่ดีออกจากตัวเด็ก โดยวิธีการปรับพฤติกรรม ( Shaping Behavior ) 3.ปลูกฝังค่านิยมพื้นฐานให้แก่เด็ก 4.ให้คำยกย่องชมเชยแก่เด็กที่กระทำความดี 5.จัดประกวด เด็กดีเด่นในด้านต่าง ๆ และให้รางวัลตามความเหมาะสม 6.นำมาใช้สร้างบทเรียนสำเร็จรูป
การเรียนรู้ด้วยการหยั่งรู้ ( Insight )
เป็นแนวคิดของ โคท์เลอร์ ( Kohler ) ซึ่งการเรียนรู้ด้วยการหยั่งรู้นี้เป็นการอธิบายถึง กระบวนการรู้คิด ( Cognitive Processes ) ที่เกิดในระหว่างการเรียนรู้ โดยมีการเน้นความสำคัญของผู้เรียนว่าจะต้องเป็นผู้ลงมือกระทำหรือเป็นผู้ที่ริเริ่มและกระตือรือร้น
การนำความรู้ทฤษฎีการหยั่งเห็นไปใช้ในการเรียนการสอน การนำความรู้ทฤษฎีการหยั่งเห็นไปใช้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนมีแนวทางในการนำไปใช้ ดังนี้
1.ลักษณะของประสบการณ์การเรียนรู้ (สถานการณ์) ที่เหมาะสม โดยจัดกิจกรรมหลายรูปแบบ ให้ประสบการณ์ที่หลากหลาย ทำให้ผู้เรียนมีความรู้สะสม มีความชำนาญในการพิจารณาสถานการณ์ และปัญหา ครั้นเมื่อผู้เรียนพบปัญหาใหม่ก็จะเกิดการใคร่ครวญและจัดประสบการณ์เหล่านั้น หาคำตอบหรือวิธีการแก้ปัญหา อันจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้โดยการหยั่งเห็นได้ คือการค้นพบวิธีการ หรือคำตอบได้ในทันทีทันใด 2.ความแตกต่างทางสติปัญญาของผู้เรียน การเรียนรู้โดยการหยั่งเห็นเป็นการใช้ประสบการณ์และความสามารถทางสติปัญญาประกอบกัน ฉะนั้นผู้มีสติปัญญาสูงย่อมมีโอกาสที่จะเกิดการหยั่งเห็นได้ดีกว่าผู้มีสติปัญญาต่ำ 3.แบบการเรียนรู้ของผู้เรียน ควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้แบบการเรียนรู้ได้หลายแบบ เพราะบางแบบเหมาะกับบางคน เมื่อผู้เรียนได้พบแบบการเรียนรู้ที่เหมาะกับตน อาจเลือกไว้เป็นแบบเฉพาะเพื่อการนำไปใช้ ผู้เรียนบางคนอาจเหมาะสมกับการเรียนรู้โดยการหยั่งเห็น บางคนอาจเหมาะสมกับการเรียนรู้โดยการกระทำ หรือบางคนอาจเหมาะกับการเรียนรู้ทางปัญญา (จากการสังเกต) 4.การรู้จักผู้เรียนอย่างแท้จริง ถ้าผู้สอนรู้จักผู้เรียนอย่างแท้จริงย่อมสามารถเลือก และจัดบทเรียน ได้เหมาะสมกับสภาพและความสามารถทางการเรียนของผู้เรียน ย่อมจะรู้ดีว่าผู้เรียนคนใดมีความสามารถทางการเรียนสูง มีความสามารถทางการเรียนต่ำ หรือผู้เรียนคนใดเหมาะสมกับสถานการณ์การเรียนรู้แบบใด เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้สอนสามารถที่จะส่งเสริมการเรียนรู้แก่ผู้เรียนแต่ละคนให้เกิดขึ้นได้ และย่อมเข้าใจในผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
การเรียนรู้ด้วยการค้นพบ
เป็นแนวคิดของ บรูเนอร์ ( Brunner ) เขาเชื่อว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนได้รับข้อมูลข่าวสารจากการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและสำรวจสิ่งแวดล้อม โดยผู้เรียนได้เลือกหรือใส่ใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งในบรรดาข้อมูลหรือข่าวสารนั้น ๆ ก็จะเกิดการค้นพบ ซึ่งก็คือ ข้อความรู้นั่นเอง บรูเนอร์เชื่อว่า การรับรู้ของมนุษย์เป็นสิ่งที่เลือกหรือสิ่งรับรู้ที่ขึ้นกับความสนใจของผู้เรียนที่มีต่อสิ่งนั้น ๆ การเรียนรู้จะเกิดจากการค้นพบ เนื่องจากผู้เรียนมีความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เกิดพฤติกรรมสำรวจสภาพแวดล้อมและเกิดการเรียนรู้โดยการค้นพบขึ้น
อัลเบิร์ต บันดูรา ( Albert Bandura ) ซึ่งเชื่อว่า สิ่งแวดล้อมและผู้เรียนมีความสำคัญเท่า ๆ กัน พฤติกรรมของคนเราส่วนมากเป็นการเรียนรู้โดยการสังเกต ( Observational Learning ) หรือการเลียนแบบจากตัวแบบ ( Modeling ) และตัวแบบก็ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่มีชีวิตเสมอไปด้วย อาจเป็นสัญลักษณ์ เช่น ตัวแบบที่เห็นในโทรทัศน์ ภาพการ์ตูน หนังสือ หรือคำบอกเล่า เป็นต้น
มาสโลว์ (Maslow) ได้เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนในลักษณะที่ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเลือกที่จะเรียนรู้โดยอิสระ ซึ่งผู้เรียนควรจะสามารถเลือกในสิ่งที่เหมาะสมกับพฤติกรรมของตนเองได้
|