การดำเนินงานที่ผ่านมา ส่งผลเป็นที่น่าพอใจทั้งในเชิงการพัฒนาปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้และการสร้างความตระหนักแก่สาธารณชนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในพันธกิจที่จะร่วมกันพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของผู้เรียน
จากรูปแบบดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ดำเนินการจัดทำมาตรฐานความสามารถของครูสอนภาษาอังกฤษเพื่อเป็นกรอบและเป้าหมายในการดำเนินงานพัฒนา มีการประเมินความรู้ของครูด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อจัดกลุ่มพัฒนาตามระดับความสามารถและความต้องการจำเป็น เมื่อเทียบเคียงกับมาตรฐาน หลังจากนั้นได้เริ่มต้นกระบวนการพัฒนาครูภาษาอังกฤษด้วยรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งการอบรม สัมมนา จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การฝึกอบรมต่างประเทศ การศึกษาดูงานการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนต้นแบบประเภทต่างๆ โดยมีเครือข่ายการพัฒนาระดับต่างๆ ให้ความร่วมมือดำเนินการ เช่น ศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (ERIC) ซึ่งมีในทุกเขตพื้นที่การศึกษา สถาบันอุดมศึกษา สถาบันภาษาทั้งของรัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศดังมีผลการประเมิน และผลการดำเนินงานดังนี้
การพัฒนาเครือข่าย สถานศึกษาต้นแบบ สื่อ วัสดุและอุปกรณ์
ได้ดำเนินการพัฒนาปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนดังนี้
-จัดตั้งและพัฒนาศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (ERIC) ครบทุกเขตพื้นที่การศึกษา พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์เครือข่าย ฯ ระดับประถมศึกษา ในระดับอำเภอ เพื่อเป็นศูนย์พัฒนาครูภาษาอังกฤษ และให้บริการสื่อการเรียนการสอนในพื้นที่
-พัฒนาโรงเรียนต้นแบบการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษทุก สพท.
-จัดสรรอุปกรณ์สำหรับจัดมุมภาษาอังกฤษในโรงเรียนขนาดเล็ก
-จัดสรรงบประมาณให้ทุกโรงเรียนจัดซื้อสื่อการเรียนรู้ ผลิต สำเนาสื่อ ส่งให้สถานศึกษา
-จัดทำสื่อหลักสูตร ชุดฝึกอบรม คู่มือครู คู่มือการจัดการเรียนรู้ เทคนิค การสอน เผยแพร่
การพัฒนานักเรียน
จัดกิจกรรมพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของนักเรียน เช่น การจัดเวทีแสดงความสามารถด้านภาษาอังกฤษ การจัดค่ายภาษาอังกฤษ การประกวด แข่งขันทักษะภาษาอังกฤษ การฝึกทักษะทางภาษาในแหล่งท่องเที่ยว ทั้งในระดับสถานศึกษา เขตพื้นที่ และระดับประเทศ เพื่อให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ตรงและ มีเจตคติที่ดีในการใช้ภาษาอังกฤษ
แผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ปี 2550
ในปี 2549 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ปกิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพนักเรียนโดยตรง การดำเนินงานในปี2550 จึงมุ่งเน้นที่การยกระดับผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนภาษาอังกฤษของนักเรียนเป็นสำคัญ โดยกำหนดกลยุทธ์การดำเนินงาน ดังนี้
กลยุทธ์ที่ 1 ปรับกระบวนทัศน์การจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
- เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนภาษาแบบสื่อสาร โดยส่งเสริมการจัดอบรมสัมมนาปฏิบัติการสัญจร เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่
- พัฒนาผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ นิเทศ ติดตามผลการดำเนินงาน
กลยุทธ์ที่ 2 สร้างความเสมอภาคในโอกาสการเรียนรู้ภาษาอังกฤษอย่างมีคุณภาพ
- เร่งพัฒนาประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของโรงเรียนต้นแบบกลุ่มต่างๆ เช่น โรงเรียนในฝัน
จุฬาภรณ์ฯ ต้นแบบภาษาอังกฤษ รวมถึงสร้างความพร้อมแก่โรงเรียนขยายโอกาส
- วิจัยและพัฒนาการจัดการศึกษาของโรงเรียนในโครงการ EP/Mini EP/ห้องเรียนพิเศษ
กลยุทธ์ที่ 3 พัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแบบสื่อสาร
3.1 ด้านการพัฒนาหลักสูตร รูปแบบการเรียนรู้ สื่อ และการวัดประเมินผล
- วิจัยและพัฒนาหลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) รูปแบบการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ และการวัดประเมินผลทางภาษา
- จัดทำและสำเนาสื่อคู่มือหลักสูตร คู่มือการจัดการเรียนรู้ 4 ช่วงชั้น และ คู่มือแนวทางการวัดประเมินผล
ภาษาอังกฤษเผยแพร่
3.2 ด้านการพัฒนาครูภาษาอังกฤษ
จากการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาครูภาษาอังกฤษมตามเกณฑ์ข้างต้น จึงกำหนดแนวทางพัฒนาดังนี้
1) จัดประเมินความรู้ด้านภาษาอังกฤษครูมัธยมศึกษาทุกคน ตามแบบทดสอบมาตรฐานสากล เพื่อจัดกลุ่มพัฒนา
ดังนี้
- ครูที่ผลประเมินยังไม่ถึงระดับ Intermediate ทุกคน จะเข้ารับการพัฒนาแบบเข้ม เพื่อเร่งยกระดับความสามารถ สู่ Intermediate ให้ได้ตามเป้าหมาย
- ครูที่ผลประเมินอยู่ในระดับ Advanced และ Intermediate จะเข้าอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมและเข้ารับการประเมินความรู้ด้านการสอน (Teaching Knowledge) เพื่อรับประกาศนียบัตร และพัฒนาสู่ความเป็นเลิศในวิชาชีพ
2) คัดเลือกครูที่มีผลประเมินความรู้ระดับ Advanced ขั้นสูงไปฝึกอบรมหลักสูตรการเป็นวิทยากร ณ สถาบันต่างประเทศเพื่อกลับมาเป็นวิทยากรขยายผลสู่เพื่อนครูในพื้นที่ต่อไป
3.3 ด้านการพัฒนาเครือข่าย
- พัฒนาศักยภาพของศูนย์ ERIC ศูนย์เครือข่ายและชมรมครูภาษาอังกฤษในพื้นที่เพื่อเป็นเครือข่ายการพัฒนาการเรียน การสอนภาษาอังกฤษ
กลยุทธ์ที่ 4 สร้างบรรยากาศการเรียนรู้และ เพิ่มโอกาสในการใช้ภาษาอังกฤษนอกห้องเรียน
- จัดกิจกรรมพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของนักเรียน โดยสนับสนุนการจัดค่ายภาษาอังกฤษ การประกวดละครการแข่งขัน ทักษะการพูด การจัดทุนแลกเปลี่ยนเข้าศึกษาในโรงเรียน English Program โรงเรียนนานาชาติและ สถาบันการศึกษาต่างประเทศ
- พัฒนาและเผยแพร่สื่อความรู้และสื่อฝึกทักษะภาษาอังกฤษ ทั้งในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อ ICT สื่อโทรทัศน์และวิทยุ และสื่อ Online
นอกจากยุทธศาสตร์ที่นำเสนอข้างต้นแล้ว ยังมียุทธศาสตร์ในระดับพื้นที่ ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาสามารถวิเคราะห์สภาพและบริบทของตน วางแผนและขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายได้ เพื่อให้การยกระดับผลสัมฤทธิ์ด้านภาษาอังกฤษของนักเรียนบรรลุผลตามความมุ่งหวังของทุกฝ่ายต่อไป
(ผู้เขียน ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ คศ.4 ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันภาษาอังกฤษ สพฐ.)