วิธีแปล ( Translation Method )
การสอนวิธีนี้บางทีก็มีคนเรียกว่าเป็นวิธีไวยากรณ์และแปล ( Grammar - Translation Method ) เพราะเน้นในการเรียนกฎเกณฑ์การใช้ภาษา ข้อยกเว้นต่าง ๆ และวิธีแปล
การเรียนแบบนี้ครั้งหนึ่งมีผู้นิยมกันมาก วิธีสอนแบบนี้ใช้วิธีแปลเป็นหลักโดยถือว่าภาษานั้นประกอบด้วยคำเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีความหมายตรงกับคำในภาษาอื่น เช่น คำอังกฤษว่า “ bird ” ตรงกับคำไทยว่า “ นก ” ฉะนั้นตำราที่เกี่ยวกับการสอนภาษาอังกฤษจึงยึดเอาการเรียนให้รู้คำศัพท์เป็นจำนวนมากเป็นเกณฑ์ แบบฝึกหัดต่าง ๆ นั้นก็ได้แก่การให้ประโยคภาษาไทย ให้นักเรียนแปลเป็นภาษาอังกฤษ และให้ประโยคภาษาอังกฤษเพื่อให้นักเรียนแปลเป็นภาษาไทย หรือมิฉะนั้นครูก็จะให้นักเรียนกางหนังสือออกในชั้น พออ่านเสร็จแล้วก็ให้นักเรียนแปล ตรงไหนนักเรียนแปลไม่ได้ครูก็แก้ให้ ถ้าไม่เข้าใจครูก็อธิบาย
ในการสอนไวยากรณ์นั้น ก็สอนไปในทำนองให้ท่องกฎเกณฑ์และชื่อศัพท์เฉพาะต่าง ๆ ในไวยากรณ์มากกว่าที่จะเรียนระบบโครงสร้างของภาษาอังกฤษ และครูเน้นที่ข้อยกเว้นต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งก็เป็นคำหาที่ใช้ยาก และนอกจากนั้นเวลาจะแปลก็ต้องนึกถึงหลักของไวยากรณ์ ต้องคิดระวังทุกด้าน เช่น อะไรเป็นประธาน พจน์อะไร กาลอะไร กว่าจะเขียนได้สักประโยคก็ใช้เวลานานเหลือเกิน ทำให้นักเรียนเห็นว่าภาษาอังกฤษนี้ยาก นอกจากตำราแล้ว เครื่องมืออีกอันหนึ่งที่สำคัญสำหรับนักเรียนคือพจนานุกรม ภาษาไทย – อังกฤษ
วิธีสอนในชั้นนั้น ในบางครั้งนักเรียนอาจจะเรียนคำศัพท์ใหม่จากแต่ละบท คือ 20 – 30 คำ นักเรียนจะต้องท่องตารางคำศัพท์ให้ได้โดยไม่คำนึงว่า คำเหล่านั้น เวลาเข้าอยู่ในรูปประโยคแล้วมีลักษณะอย่างไร ด้วยเหตุนี้ เวลาที่นักเรียนเขียนประโยคต่าง ๆ ของนักเรียนเองจะปรากฏว่ามีประโยคที่ผิด ๆ เต็มไปหมด
การทดสอบสำหรับการสอนวิธีนี้ ปรกติจะประกอบด้วยบัญชีคำศัพท์ต่าง ๆ ซึ่งจะประเมินผลความสามารถของนักเรียนในด้านความเข้าใจ ความสามารถในการจดจำกฎไวยากรณ์ต่าง ๆ และการแปลข้อความจากภาษาอังกฤษเป็นไทย และจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ
ข้อเสีย
จะเห็นได้ว่า การสอนแบบแปลนี้ นักเรียนไม่ได้เรียนตามธรรมชาติของภาษาเลย นักเรียนที่เรียนแบบนี้จะฟังภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่องและพูดไม่ได้ หรือถ้าพูดได้ก็ไม่คล่องแคล่วปราศจากความชำนาญ
ในด้านการอ่านนั้น นักเรียนจะอ่านให้รู้เรื่องและทำความเข้าใจทันทีแบบ Reading comprehension ไม่ได้ จะต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษและแปลเป็นภาษาไทยอีกทีหนึ่งจึงจะเข้าใจได้ เป็นการเสียเวลา และบางทีอาจจะไม่ทราบความหมายโดยตลอด
ในด้านการเขียน การสอนแบบนี้ก็ไม่ช่วยให้การเขียนภาษาอังกฤษของนักเรียนดีขึ้น เพราะนักเรียนทราบแต่ศัพท์ เมื่อนำมาเขียน นักเรียนก็จะใช้ศัพท์เหล่านั้นในประโยคโดยที่นักเรียนไม่แม่นในรูปแบบของประโยค และบังเกิดความเคยชินกับการคิดเป็นภาษาไทยก่อนเสมอแทนที่จะคิดเป็นภาษาอังกฤษเลยทีเดียว จะปรากฏว่านักเรียนใช้คำภาษาอังกฤษจริงแต่รูปประโยคจะเป็นภาษาไทย เช่น นักเรียนจะใช้ประโยคว่า “ The music enjoyed very much ” แทน “ I enjoyed the music very much .” เพราะประโยคข้างบนนั้นนักเรียนเขียนเทียบกับภาษาไทยว่า “ เพลงสนุกมาก ” และ “ He gave the book me ” แทน “He gave me the book” เพราะในภาษาไทยเราใช้ “ เขาให้หนังสือฉัน ” ตัวอย่างอื่น ๆ เช่น “ I afraid you .” จากประโยคภาษาไทยว่า “ ฉันกลัวคุณ ” แทน “ I am afraid of you . ” “ I don’t fall down with him . ” แทนประโยคว่า “ I don’t agree with him .” เพราะตรงกับภาษาไทยว่า “ ฉันไม่ตกลงกับเขา ”
แม้แต่ในการแปล การสอนแบบนี้ก็ไม่ได้ผลเต็มที่ นักเรียนอาจจะแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยได้ แต่การแปลจากภาษาไทยเป็นภาษา อังกฤษนั้นนักเรียนจะเขียนประโยคที่ผิด ๆ ลงไปเสียเป็นส่วนมาก เพราะนักเรียนไม่คุ้นเคยกับการใช้ประโยคภาษาอังกฤษและนอกจากนั้นนักเรียนจะเรียบเรียงภาษาอังกฤษจากประโยคภาษาไทย เช่น ภาษาไทย : ฉันไม่รู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน นักเรียนอาจจะแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “ I do not know that he is where ” หรือ “ I do not know that where he is ? ” หรือ “ I do not know that where is he ? ” ดังนี้เป็นต้น แทนประโยคที่ถูกต้องว่า “ I do not know where he is . ”
จากตัวอย่างข้างบนนี้ยกมาเพื่อแสดงให้เห็นว่า ไม่มีภาษาใดที่จะมีคำและโครงสร้างที่ให้ความหมายเหมือนกันโดยตลอด ดังนั้นการใช้ภาษาเดิมของนักเรียนมาช่วยในการสอนนั้นจึงทำให้เกิดความสับสนขึ้น
การแปลนั้นมิได้หมายความว่า นักเรียนจะเข้าใจภาษาอังกฤษ เพราะคำที่นักเรียนเข้าใจนั้นเป็นคำไทยที่ครูใช้ในการแปล ไม่ใช่ตัวภาษาอังกฤษที่นักเรียนอ่าน ถ้าครูอ่านภาษาอังกฤษนักเรียนจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าครูแปลเป็นไทยจึงจะเข้าใจ ดังนั้นที่นักเรียนเข้าใจคือ ภาษาไทยไม่ใช่ภาษาอังกฤษ
นอกจากนั้นการแปลยังไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนคิดเป็นภาษาอังกฤษโดยตรง นักเรียนจะคิดประโยคเป็นภาษาไทยก่อน แล้วจึงแปลเป็นภาษาอังกฤษทีหลัง เป็นการสนับสนุนให้นักเรียนใช้คำภาษาอังกฤษมาเรียงเข้าประโยคแบบไทย ดังนั้นการแปลจึงไม่ใช่แง่ที่จะส่งเสริมให้นักเรียนเข้าใจภาษาได้ เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า การแปลนั้นต้องการทักษะพิเศษดังได้กล่าวมาแล้วว่าเป็นการยากที่จะให้ภาษา 2 ภาษามีลักษณะปลีกย่อยคล้ายกันทั้งในด้านความหมายและวิธีใช้ คนที่แปลเก่งต้องรู้ภาษา ทั้ง 2 ภาษาอย่างดีทัดเทียมกัน จึงจะแปลจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่งได้ถูกต้องสละสลวย ด้วยเหตุที่ความมุ่งหมายในการเรียนภาษาอังกฤษเป็นไปเพื่อให้ผู้เรียนสามารถฟัง พูด อ่าน และเขียนได้ทั้ง 4 ทักษะ การสอนด้วยวิธีแปลอย่างเดียวจึงไม่ถูกตามความมุ่งหมายของการเรียนภาษาอังกฤษในเบื้องต้น แต่เมื่อนักเรียนมีความแม่นยำในภาษาดีแล้ว อาจจะแยกสอนการแปลออกมาเป็นวิชาหนึ่งต่างหากได้ ดังนั้นที่ที่เหมาะสมจะสอนแปลจึงเป็นการศึกษาในระดับสูง มิใช่การเรียนเบื้องต้น
ข้อดี
1. การสอนแบบนี้ จะมีประโยชน์สำหรับผู้เริ่มเรียนในระยะแรก ๆ คือ ในเวลาที่ผู้เรียนยังไม่รู้จักเสียง โครงสร้าง และความหมายมากพอ การแปลศัพท์ที่มีความหมายตรงกัน ( word for word translation ) ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจแจ่มแจ้ง และไม่เสียเวลามาก แต่ครูจะต้องค่อย ๆ ลดการแปลลงทีละน้อย ๆ เมื่อนักเรียนรู้ภาษาอังกฤษมากขึ้น โดยการนำคำและโครงสร้างที่นักเรียนทราบมาใช้แทนที่
2. การแปลยังเป็นประโยชน์ในการช่วยทดสอบความเข้าใจของนักเรียน ในเรื่องที่สอนไปแล้ว แต่ในการฝึกเป็นภาษาอังกฤษ ไม่จำเป็นต้องฝึกแปลจากไทยเป็นอังกฤษหรือจากอังกฤษเป็นไทย
|