แนวการสอนภาษาเพื่อสื่อความหมาย ( Communicative Approach )
ในระยะ 10 ปีนี้แนวคิดเกี่ยวกับการสอนภาษาได้เปลี่ยนไปเน้นการสอนเพื่อให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาในการสื่อความหมายในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับบุคคลที่ตนติดต่อด้วย บทเรียนมิได้ยึดถือเนื้อหาทางไวยากรณ์เป็นหลักดังแต่ก่อน แต่ยึดจุดประสงค์ในการพูดเพื่อสื่อความหมายเป็นหลัก
ด้วยเป้าหมายในการสอนมุ่งให้นักเรียนใช้ภาษาได้จริง ผู้เขียนบทเรียนจึงเน้นเนื้อหาที่จะใช้ในการสื่อสารมากกว่าที่จะเน้นการยึดเสียงและรูปแบบประโยคการเรียนการสอนยึดกิจกรรม เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้ใช้ภาษาโต้ตอบกันไปมาเป็นการฝึกใช้ภาษาให้คล่องแคล่วแบบฝึกหัดอีกประเภทหนึ่งจะเป็นการฝึกเกี่ยวกับมารยาทในการพูด และการเลือกใช้คำศัพท์ สำนวนที่ถูกต้องตามสถานการณ์นั้น ๆ เช่น ไม่พูดสุภาพจนเกินไปกลายเป็นประชดประชันหรือพูดห้วนจนกลายเป็นหยาบกระด้าง ในการฝึกภาษาผู้เรียนจะต้องหัดแสดงท่าทางประกอบเพื่อทำให้การใช้ภาษานั้นดูเป็นธรรมชาติและให้ความหมายชัดเจนขึ้น ดังนั้นคำศัพท์ ไวยากรณ์และการออกเสียงจึงบรรจุอยู่ในบทสนทนาเท่าที่นักเรียนจำเป็นจะต้องใช้
แนวการสอนแบบนี้อิงหลักการของ function notional syllabus ซึ่งเป็นประมวลเนื้อหาทางภาษาที่ผู้เรียนควรจะรู้ในการสื่อความหมาย ประมวลเนื้อหานี้เป็นผลงานของ Council of Europe และเผยแพร่โดย D.A. Wilkins ในหนังสือชื่อ Notional syllabus พิมพ์ใน ค . ศ . 1676
เพื่อให้เข้าใจแนวการสอนภาษาเพื่อสื่อความหมาย จะขออธิบายเรื่องของ function – notional syllabus โดยสังเขป
โดยทฤษฎีนั้น function – notional syllabus เป็นประมวลเนื้อหาทางภาษาที่ยึดหน้าที่ของภาษาและจุดประสงค์ที่ผู้ใช้ภาษาต้องการจะแสดงออกแต่ละครั้ง การประมวลเนื้อหานี้อาศัยหลักทางภาษาศาสตร์เชิงสังคมวิทยา และภาษาศาสตร์เชิงจิตวิทยา
|