กระบวนการเรียนรู้ ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ในฐานะภาษาต่างประเทศสำหรับคนไทย
โดย ดร.วีร์ ระวัง ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
จากชุดการวิจัย เรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในฐานะภาษาต่างประเทศสำหรับคนไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาวิธีการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารที่นำไปสู่การพัฒนา คนไทยให้สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษในฐานะภาษาต่างประเทศได้อย่างมั่นใจ ถูกต้อง ชำนาญ และมีประสิทธิภาพ โดยใช้แบบแผนการวิจัยและพัฒนาเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม ตั้งแต่ พ.ศ.2542 ถึงปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วยงานวิจัย 5 เรื่อง ดังนี้
งานวิจัยหมายเลข 1 กระบวนการสื่อสารภาษาอังกฤษในฐานะภาษาแม่และภาษาต่างประเทศ
งานวิจัยหมายเลข 2 กระบวนการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในฐานะภาษาต่างประเทศสำหรับคนไทย
งานวิจัยหมายเลข 3 รูปแบบหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารผ่านกระบวนการถ่ายโอนความหมายในฐานะภาษาต่างประเทศสำหรับคนไทย
งานวิจัยหมายเลข 4 การประเมินประสิทธิภาพรูปแบบหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารผ่านกระบวนการถ่ายโอนความหมายในฐานะภาษาต่างประเทศสำหรับคนไทย
งานวิจัยหมายเลข 5 การขยายผลรูปแบบหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารผ่านกระบวนการถ่ายโอนความหมายในฐานะภาษาต่างประเทศสำหรับคนไทย
การปฏิรูปการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ในฐานะภาษาต่างประเทศสำหรับคนไทย
(ดูรูปแผนภูมิ 1-2ประกอบ)
ผลการวิจัยพบว่าสาเหตุสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารภาษาอังกฤษในฐานะภาษาต่างประเทศสำหรับคนไทย สามารถจำแนกออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับลึกกับระดับตื้น ทั้งนี้ ระดับลึกเป็นสาเหตุเกี่ยวกับ "ทักษะภายใน" ซึ่งสัมพันธ์กับ "ความถูกต้อง" ในการสื่อสารภาษาอังกฤษ ส่วนระดับตื้นเป็นสาเหตุเกี่ยวกับ "ทักษะภายนอก" ซึ่งสัมพันธ์กับ "ความชำนาญ" ในการสื่อสารภาษาอังกฤษ ด้วยเหตุนี้การพัฒนาคนไทยให้สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษในฐานะภาษาต่างประเทศได้อย่างมั่นใจ ถูกต้อง ชำนาญ และมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องจัดกระบวนการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารที่ทำให้ผู้เรียนสามารถถ่ายโอนความหมาย คำ วลี ประโยค ตอนความ และเรียงความ จากภาษาไทยไปเป็นคำ วลี ประโยค ตอนความ และเรียงความภาษาอังกฤษได้ด้วยตนเอง รวมทั้งเรียนรู้คุณสมบัติของเสียง และสัญลักษณ์ ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารซึ่งทำหน้าที่นำ "ข้อมูลข่าวสาร" ไปสู่ "ทักษะและความชำนาญ" ในการสื่อสารภาษาอังกฤษ ในขั้นตอนต่อไป
|
นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า บรรดาองค์ประกอบ "ทักษะภายใน" ของภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารนั้น "การสร้างประโยคภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร" ที่มีคุณสมบัติ 2 ประการ ได้แก่ ประการแรก มีความหมายตรงกับภาษาไทยที่กำหนดไว้ และประการสอง มีความถูกต้องตามโครงสร้างประโยคภาษาอังกฤษ เป็นปราการด่านสำคัญที่สุด ที่เป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารภาษาอังกฤษในฐานะภาษาต่างประเทศสำหรับคนไทย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า "แม้คนไทยจะรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษมากมาย แต่ถ้าไม่สามารถนำคำศัพท์มาเรียงเป็นประโยคใช้เองได้ ก็สื่อสารกับฝรั่งไม่ได้" นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ หลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารผ่านกระบวนการถ่ายโอนความหมายในฐานะภาษาต่างประเทศสำหรับคนไทย จึงจำเป็นต้องบูรณาการ "กระบวนการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร" กับ "กระบวนการสื่อสารภาษาอังกฤษ" เข้าด้วยกัน ทั้งนี้ กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนแรก ความถูกต้องเกี่ยวกับภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ขั้นตอนสอง ความชำนาญในการสื่อสารภาษาอังกฤษ และขั้นตอนสาม ประสิทธิภาพในการสื่อสารภาษาอังกฤษ
ขั้นตอนแรก ความถูกต้องเกี่ยวกับภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนไทยเรียนรู้คุณสมบัติของภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารเกี่ยวกับระบบโครงสร้าง ระบบสื่อนำสาร และระบบความหมาย ประกอบด้วยการเรียนรู้ 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก การเรียนรู้ความถูกต้องเกี่ยวกับประโยคภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ประการสอง การเรียนรู้ ความถูกต้องเกี่ยวกับข้อความภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ได้แก่ การถ่ายโอนความหมายคำ วลี ประโยค ตอนความ และเรียงความภาษาไทยไปเป็นคำ วลี ประโยค ตอนความ และเรียงความภาษาอังกฤษ และประการสุดท้าย การเรียนรู้ความถูกต้องเกี่ยวกับสื่อนำสารภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ได้แก่ การเรียนรู้คุณสมบัติของเสียง สำหรับการพูดกับการฟัง และการเรียนรู้คุณสมบัติของสัญลักษณ์ สำหรับการเขียนกับการอ่าน
|
นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังพบว่า การจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารผ่านกระบวนการถ่ายโอนความหมายในฐานะภาษาต่างประเทศสำหรับคนไทย มีความจำเป็นต้องดำเนินการตามยุทธศาสตร์ "การเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ" กล่าวคือ มีการเรียนรู้ทั้งส่วนที่เรียกว่า "หลักการ" และ "กิจกรรมปฏิบัติการ" ทั้งนี้ กิจกรรมปฏิบัติการมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ ได้แก่ ประการแรก เพื่อให้ผู้เรียนได้ตรวจสอบหรือยืนยัน "ความถูกต้องของภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร" และประการสอง เพื่อให้ผู้เรียนได้เตรียมความพร้อมที่จะเคลื่อนตัวหรือพัฒนาทักษะไปสู่ "ความชำนาญในการสื่อสารภาษาอังกฤษ" ในขั้นตอนถัดไป
อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของกิจกรรมปฏิบัติการดังกล่าว ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนแรก การเขียน ขั้นตอนสอง การอ่าน ขั้นตอนสาม การพูด และขั้นตอนสุดท้าย การฟัง ดังแผนภูมิต่อไปนี้
(ดูรูปแผนภูมิ 3 ประกอบ)
ขั้นตอนสอง ความชำนาญในการสื่อสารภาษาอังกฤษ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ตามยุทธศาสตร์ "การกระทำซ้ำนำไปสู่ความชำนาญ" ประกอบด้วยทักษะ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษสำหรับผู้ส่งสาร ได้แก่ การพูดกับการเขียน และกลุ่มสอง ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษสำหรับผู้รับสาร ได้แก่ การฟังกับการอ่าน
(ดูรูปแผนภูมิ 4 ประกอบ)
ขั้นตอนสาม ประสิทธิภาพในการสื่อสารภาษาอังกฤษ มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้ส่งสารและผู้รับสาร สามารถเข้าใจข้อมูลข่าวสารได้ถูกต้องตรงกัน รวมทั้งสามารถสื่อสารด้วยข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายประเด็น ทั้งนี้ ขั้นตอนนี้ผู้เรียนมีความจำเป็นต้องเรียนรู้เนื้อหาสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ ข้อมูลเชิงวิชาการ คำศัพท์ภาษาอังกฤษเชิงวิชาการ วัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมตะวันตก และจิตวิทยาการสื่อสาร
นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังพบว่า กระบวนการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในฐานะภาษาต่างประเทศสำหรับคนไทย ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานอีก 2 ประการ ได้แก่ ประการแรก คุณภาพของภาษาไทยเพื่อการสื่อสารในฐานะภาษาแม่ และประการสอง ความรอบรู้ในความรู้หรือข้อมูล
โดยสรุปแล้ว จึงอาจกล่าวได้ว่ากระบวนการพัฒนาคนไทยให้สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างมั่นใจ ถูกต้อง ชำนาญ และมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน ควรดำเนินการครอบคลุม 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนแรก ความถูกต้องของภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ขั้นตอนสอง ความชำนาญในการสื่อสารภาษาอังกฤษ และขั้นตอนสุดท้าย ประสิทธิภาพในการสื่อสารภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะขั้นตอนแรกเปรียบเสมือนเป็นการตอกเสาเข็มก่อนสร้างตึกสูง จำเป็นต้องมุ่งให้คนไทย "สามารถสร้างประโยคภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารได้ด้วยตนเอง" ก่อนเคลื่อนตัวไปสู่การพัฒนาความชำนาญในการสื่อสารภาษาอังกฤษโดยการกระทำซ้ำในขั้นตอนสอง และเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารภาษาอังกฤษในขั้นตอนสาม ด้วยการเรียนรู้ข้อมูลเชิงระบบ คำศัพท์ภาษาอังกฤษเชิงวิชาการ การเปรียบเทียบระหว่างวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมตะวันตก และจิตวิทยาการสื่อสาร
ดังปรัชญาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษที่กล่าวว่า "ถ้าคุณสร้างประโยคภาษาอังกฤษใช้ได้ด้วยตนเอง คุณก็สามารถพูดคุยกับฝรั่งที่ไหนก็ได้ทั่วโลก"
|