WBT : Web-Based Training เทคโนโลยีเพื่อการฝึกอบรมครูในอนาคต
ปรัชญนันท์ นิลสุข
สภาพปัจจุบันของการพัฒนาครูประจำการ การพัฒนาโดยการฝึกอบรมเท่าที่ดำเนินการอยู่โดยกรมเจ้าสังกัดมีอยู่น้อยมาก กิจกรรมการพัฒนาฝึกอบรมครูประจำการที่กรมเจ้าสังกัดหรือสถาบันอุดมศึกษาร่วมกับกรมเจ้าสังกัดดำเนินการอยู่คือ การให้ครูเข้ามาฝึกอบรมหรือร่วมสัมมนาประชุมปฏิบัติการ หลักสูตรตั้งแต่ 3-5 วัน ถึง 1 เดือน ครูประจำการก็ได้รับวิธีการใหม่ ๆ ทางการศึกษาได้พบเพื่อนครู และเปลี่ยนบรรยากาศจำเจจากงานประจำได้บ้าง แต่ปัญหาที่พบในการฝึกอบรมครูโดยให้ครูมาเข้าชั้นเรียนดังกล่าวคือ ครูจะต้องทิ้งการสอนในชั้นเรียนจากโรงเรียนมาเข้ารับการฝึกอบรม ให้นักเรียนไม่ได้รับการสอนจากครูเต็มตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสวงหารูปแบบการพัฒนาครูประจำการที่สามารถพัฒนาครูไปพร้อม ๆ กับครูได้ปฏิบัติหน้าที่ครูคือการสอนนักเรียนของตนไปด้วย (พลสัณฑ์ โพธิ์ศรีทอง. 2541 : 11)
หน่วยงานราชการจำนวนมากจะกำหนดงบประมาณเพื่อการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร โดยกำหนดไว้เพื่อแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานมีการพัฒนาบุคลากร มีการวางแผนกำหนดหัวข้อเรื่องในการฝึกอบรมเอาไว้พร้อม กำหนดงบประมาณในการดำเนินการเป็นไปในลักษณะของงบเหลือจ่าย ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นการกำหนดงบประมาณเอาไว้เพื่อเป็นงบประมาณสำหรับตัดทิ้ง เมื่อเวลามีนโยบายประหยัด เพราะไม่ส่งผลกระทบที่เป็นรูปธรรมต่อหน่วยงาน ปัญหาของการฝึกอบรมจึงมีตั้งแต่ยังไม่เริ่มการฝึกอบรม จนกระทั่งอบรมไปแล้วก็ไม่เกิดมรรคผลอันใดอันมีสาเหตุมาจาก
1. หน่วยงานเห็นความจำเป็นของการฝึกอบรมโดยให้ความสำคัญกับงบประมาณ เป็นอันดับ แรก ถ้าไม่มีงบประมาณก็ไม่ต้องอบรมบุคลากร 2. การฝึกอบรมผูกติดอยู่กับกระบวนการที่ต้องกระทำอย่างเป็นขั้นตอนเป็นระบบ กำหนด วัน เวลา สถานที่ วิทยากร หัวข้อเรื่อง ผู้เข้าอบรม จนดูเป็นงานประจำมากกว่างานพัฒนาที่ควรต้องกระทำตามปัญหาที่เกิดขึ้น 3. การฝึกอบรมกระทำได้ไม่ทั่วถึง การพัฒนาบุคลากรไม่ตรงเป้าหมาย ผลการอบรมเป็นไป ในแบบการอบรมเชิงสังสรรค์มากกว่าการอบรมเชิงสร้างสรรค์ 4. การฝึกอบรมมักมีระยะสั้น ผู้เข้าอบรมเมื่อไม่เข้าใจก็ไม่สามารถทบทวนใหม่ หรือไม่มี โอกาสได้ฝึกอย่างเพียงพอในการฝึกอบรม 5. การฝึกอบรมขาดการติดตามผล เมื่ออบรมเสร็จสิ้นก็จบอยู่แค่วันที่ฝึกอบรม ไม่มีการติดตามว่าผู้เข้ารับการอบรม เข้าใจสิ่งที่อบรมไปหรือไม่ นำผลที่จากการอบรมไปใช้หรือไม่ และการ อบรมที่ผ่านไปนั้นเกิดประโยชน์อะไรกับเขา
การใช้เว็บเพื่อการฝึกอบรม
การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการฝึกอบรมจะเป็นเทคโนโลยีเพื่อการฝึกอบรมแห่งอนาคต เมื่อเปรียบเทียบกับสื่อทันสมัยแบบเดิม ๆ อย่างเช่น วีดิโอเทป หรือคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ซึ่งมีสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาในระบบอินเทอร์เน็ตที่ช่วยให้การฝึกอบรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะการศึกษาโดยผ่านระบบอินเทอร์เน็ตก็จัดได้ว่าเป็นการศึกษาทางไกลแบบหนึ่ง คลาร์ค (Clark, 1996) ได้ให้คำจำกัดความของการใช้อินเทอร์เน็ตหรือเว็บฝึกอบรม (Web-Based Training : WBT) ว่า เป็นการสอนรายบุคคลที่ส่งข้อมูลเป็นสาธารณะหรือเป็นการส่วนตัวด้วยคอมพิวเตอร์ และแสดงผลโดยด้วยการแสดงด้วยหน้าจอของเว็บ โดยที่ไม่ได้ถ่ายทอดข้อมูลในแบบคอมพิวเตอร์ฝึกอบรม (CBT : Computer-Based Training) แต่เป็นไปตามความต้องการในการฝึกอบรม โดยการเก็บข้อมูลในแหล่งจัดเก็บและเข้าถึงข้อมูลได้โดยระบบเครือข่าย โดยที่เว็บฝึกอบรมสามารถปรับเปลี่ยนข้อมูลให้ทันสมัย ได้รวดเร็ว และการเข้าถึงข้อมูลการฝึกอบรมควบคุมได้โดยผู้ออกแบบการฝึกอบรม
การใช้เว็บเพื่อการฝึกอบรมกับการฝึกอบรมการใช้เว็บ เป็นการให้ความหมายที่แตกต่างกันในขณะที่การเรียนการสอนเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตในประเทศ ยังเป็นลักษณะของการฝึกอบรมการใช้อินเทอร์เน็ตในลักษณะหลักสูตรระยะสั้นหรือการจัดประชุมปฏิบัติการ (ถนอมพร ตันพิพัฒน์. 2539 : 9) จึงไม่ใช่การใช้เว็บเพื่อฝึกอบรมดังนั้นถ้าเราใช้เว็บฝึกอบรม (Web-Based Training : WBT) ก็หมายถึง การฝึกอบรมโดยการใช้เว็บเป็นสื่อในการนำเสนอข้อมูล การสืบค้นข้อมูล การอภิปราย เสนอความคิดเห็น โดยใช้เครื่องมือผ่านเวิลด์ไวด์เว็บที่ได้รับการออกแบบและจัดกระบวนการอย่างเป็นระบบเป็นขั้นตอน มีกระบวนการเหมือนกับการฝึกอบรมโดยในห้องอบรม แต่เป็นการเชื่อมโยงระหว่างผู้เข้าอบรมกับผู้จัดการอบรมโดยระบบอินเทอร์เน็ต
ในขณะที่ ไดรสคอลส์ (Driscoll, 1997) ได้ให้ความหมายของ อินเตอร์เพื่อการฝึกอบรม เอาไว้ว่า เป็นการใช้ทักษะหรือความรู้ต่าง ๆ ถ่ายโยงไปสู่ที่ใดที่หนึ่งโดยการใช้เวิลด์ไวด์เว็บ เป็นช่องทางในการเผยแพร่สิ่งเหล่านั้น ซึ่งลักษณะของการฝึกอบรมโดยการใช้ระบบอินเทอร์เน็ต ถ้าแบ่งตามรูปแบบของเครื่องมือที่ใช้บนอินเทอร์เน็ตก็จะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ
1. แบบที่เป็นข้อมูลอย่างเดียว (Text-Only) เป็นลักษณะของการฝึกอบรมโดยอาศัยอินเทอร์ เน็ต ซึ่งมีข้อจำกัดบางอย่างในการเข้าถึงข้อมูล โดยมีลักษณะที่เป็นข้อความอย่างเดียว เช่น
- ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electromic Mail : e-mail) - กระดานข่าวสาร (Bulletin Board) - ห้องสนทนา (Chat Room) - โปรแกรมดาวน์โหลด (Software downloading)
ซึ่งเป็นเครื่องมือที่อยู่ภายในระบบอินเทอร์เน็ตที่สามารถนำมาใช้ในการฝึกอบรมได้ โดย ที่ไม่ต้องใช้ความสามารถของเครื่องคอมพิวเตอร์มากนัก
2. แบบที่เป็นมัลติมีเดีย (Multimedia) เป็นแบบที่สองของอินเทอร์เน็ตเพื่อการฝึกอบรม ที่มีโครงสร้างลักษณะเป็นกราฟิก การสืบค้นโดยใช้ภาพในรูปแบบของเว็บ ซึ่งทำให้มีชื่อเรียกหลายลักษณะ ได้แก่
- เว็บฝึกอบรม (Web-Based Training) - เว็บช่วยสอน (Web-Based Instruction) - เว็บเพื่อการศึกษา (Web-Based Edcuation) - เว็บช่วยการเรียนรู้ (Web-Based Learning) - อินเทอร์เน็ตฝึกอบรม (Internet-Based Training) - อินเทอร์เน็ตช่วยสอน (Internet-Based Instruction) - เวิลด์ไวด์เว็บฝึกอบรม (WWW-Based Training) - เวิลด์ไวด์เว็บช่วยสอน (WWW-Based Instruction)
ซึ่งลักษณะของ WBT จะเป็นแบบที่นิยมในการใช้อธิบายคุณลักษณะของการใช้อินเทอร์ เน็ตเพื่อการฝึกอบรมมากที่สุด การฝึกอบรมหรือการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอนผ่านระบบเวิลด์ไวด์เว็บ (WWW : World Wild Web) ถือได้ว่าเป็นแหล่งข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั่วโลกเข้าด้วยกัน (ไพรัช ธัชยพงษ์. 2540 : 28)
รูปแบบของเว็บเพื่อการฝึกอบรม
การใช้เว็บในการฝึกอบรมก็ต้องคำนึงถึงคุณลักษณะของเว็บเป็นสำคัญ เมื่อการอบรมนั้นไม่จำเป็นต้องเดินทางไปอบรมในห้องฝึกอบรม แต่เป็นการฝึกอบรมโดยการสื่อสารทางไกล จะทำอย่างไรให้การฝึกอบรมโดยเว็บมีคุณภาพและประสิทธิภาพเท่าเทียม หรือดีกว่าการฝึกอบรมในห้องฝึกอบรมอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต ผู้เขียนจึงกำหนดกรอบคิดหลักของเว็บเพื่อการฝึกอบรม (WBT) จะต้องคำนึงถึงแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะคือ
1. เว็บฝึกอบรมในด้านการให้การศึกษา นั่นคือ เว็บฝึกอบรมจะอยู่ในกรอบ 3 ประการคือ
1.1 เวิลด์ไวด์เว็บ (World Wild Web : WWW) เว็บฝึกอบรมเป็นส่วนหนึ่งของระบบอินเทอร์เน็ตจึงต้องอยู่ในกรอบของเวิลด์ไวด์เว็บ 1.2 การศึกษาทางไกล (Distance Education) การฝึกอบรมบนเว็บเป็นการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ในการจัดการศึกษาทางไกล ระบบอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งในกรอบของการศึกษาทางไกล 1.3 การพัฒนาระบบการสอน (Instructional System Development : ISD) การฝึกอบรมบนเว็บอยู่ในกรอบของ WWW เมื่อเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทางไกล การฝึกอบรมก็ต้องมีการออกแบบและพัฒนาระบบเพื่อให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ จึงต้องอยู่ในกรอบของการพัฒนาระบบการสอน
2. เว็บฝึกอบรมในด้านการพัฒนาคน นั่นหมายความว่า เว็บการฝึกอบรมก็จะอยู่ในกรอบ 3 ประการเช่นกันคือ
2.1 เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology : IT) การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาคนโดยเว็บเป็นพัฒนาในยุคสังคมสารสนเทศ ซึ่งภายในเว็บซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เป็นฐานข้อมูลใหญ่ที่สุดในโลก เว็บฝึกอบรมจึงเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสังคมสารสนเทศ โดยมี WWW เป็นเครื่องมือจึงอยู่ในขอบเขตเดียวกัน 2.2 การศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) เป็นการฝึกอบรมที่มุ่งให้ผู้อบรมได้เรียนรู้ตามความสนใจ ในสภาพของเครือข่ายการเรียนรู้ในทุกที่ทุกเวลา ซึ่งอยู่ใช้การศึกษาในแบบทางไกล จึงอยู่ในขอบเขตเดียวกัน 2.3 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development : HRD) เนื่องจากการฝึกอบรมเป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่เน้น 3 ด้านคือ การฝึกอบรม การศึกษาและการพัฒนา จึงจัดกรอบนี้ในกลุ่มเดียวกับการพัฒนาระบบการสอนซึ่งไม่อาจแยกจากกันได้
รูปที่ 1 แบบจำลองแนวคิดเว็บฝึกอบรม (Model of Web-Based Training) ของปรัชญนันท์ (2541)
เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตได้แสดงให้เห็นว่าเป็นสื่อที่ทรงพลัง ที่จะเข้ามาพัฒนาใช้ในการฝึกอบรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระทำได้ทั้งภายในและภายนอกสถานที่ ทุกแห่งหนทุกสถานที่จะเป็นแหล่งที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการฝึกอบรมได้ เนื่องจากสามารถเข้าถึงได้ในทุกที่ของหน่วยงานที่มีระบบนี้ติดตั้งอยู่ อินเทอร์เน็ตเป็นมิตรกับผู้ใช้ เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายตลอด 24 ชั่วโมง เรียนรู้ในเวลาใดก็ได้ มีประสิทธิภาพสูงเมื่อเทียบกับราคา ไม่ต้องกล่าวถึงความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน สามารถอบรมได้ด้วยตนเองทั้งที่ทำงานและที่บ้าน เป็นมิติใหม่ของเครื่องมือและกระบวนการในการฝึกอบรม (Pollack and Masters, 1997) ซึ่งเราสามารถแสดงให้เห็นประโยชน์ของการใช้อินเทอร์เน็ตในการฝึกอบรมได้แก่
1. การฝึกอบรมเข้าถึงทุกหน่วยงานที่มีอินเทอร์เน็ตติดตั้งอยู่ 2. การฝึกอบรมกระทำได้โดยผู้เข้ารับการอบรมไม่ต้องทิ้งงานประจำเพื่อมาอบรม 3. ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ของว่าง ฯลฯ 4. การฝึกอบรมกระทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง 5. การจัดฝึกอบรมมีลักษณะที่ผู้เข้าอบรมเป็นศูนย์กลาง การเรียนรู้เกิดขึ้นกับตัวผู้เข้าอบรมเองโดยตรง (Self-directed) 6. การเรียนรู้เป็นไปตามความก้าวหน้าของผู้เข้ารับการฝึกอบรมเอง (Self-pacing) 7. สามารถทบทวนบทเรียนและเนื้อหาได้ตลอดเวลา 8. สามารถซักถามหรือเสนอแนะ หรือถามคำถามได้ ด้วยเครื่องมือบนเว็บ 9. สามารถแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างผู้เข้ารับการอบรมได้โดยเครื่องมือสื่อสารในระบบอินเทอร์เน็ตทั้ง ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) หรือห้องสนทนา (Chat Room) ฯลฯ 10. ไม่มีพิธีการ
แต่การฝึกอบรมโดยการใช้อินเทอร์เน็ตซึ่งจัดเป็นการฝึกอบรมทางไกลโดยผ่านระบบคอมพิวเตอร์เครือข่ายนับว่าเป็นสิ่งใหม่ ปัญหาที่มักพบในการเรียนการสอนทางไกลผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์คือ ผู้เรียนและผู้สอนมีปัญหาในการใช้คอมพิวเตอร์ (ปัทมาพร เย็นบำรุง. 2541 : 70)ปัญหาความไม่รู้คอมพิวเตอร์ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่ไม่รู้เท่านั้น แม้แต่ครูผู้สอนคอมพิวเตอร์ตามโรงเรียนต่าง ๆเป็นจำนวนมาก บางคนยังไม่รู้ว่ายังมีโปรแกรมอีกมากมายและทันสมัยกว่าโปรแกรมที่ใช้สอนอยู่ ซึ่งโปรแกรมที่สอนอยู่ทั่วไปอย่างเวิล์ดโปรเซสเซอร์ มีความสามารถต่ำเกินไปในการรองรับงานปัจจุบัน นอกจากนี้ครูจำนวนมากยังรู้แต่วิธีใช้โปรแกรมการประมวลผลคำ แต่ไม่รู้วิธีการเขียนโปรแกรม บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีการเขียนโปรแกรมอยู่ในโลก (ครรชิต มาลัยวงศ์, 2541 : 14) ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่จะยังมีครูผู้สอนหรือนักฝึกอบรมจำนวนมากที่ยังไม่รู้จัก ไม่รู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการฝึกอบรม การที่เราจะพัฒนาครูเพื่อให้มีความรู้เพิ่มเติมขึ้นได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องให้ครูฝึกอบรมให้ห้องแต่ให้หันมาใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่ทำได้ ครูสามารถปรึกษาหารือเกี่ยวกับประสบการณ์การสอนกับเพื่อนครูจากทั่วโลก และใช้ WWW ให้การหาข้อมูลต่าง ๆ ได้เข้ากลุ่มสนทนาเกี่ยวกับการศึกษาในอินเทอร์เน็ต กับกลุ่มที่มีความสนใจเช่นเดียวกัน (ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, 2539) แต่ปัญหาของความไม่แพร่หลายในการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการฝึกอบรมก็คือคือ
1. ค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง ค่าเช่า ค่าโทรศัพท์ทางไกล กรณีอยู่ต่างจังหวัดยังสูงมาก 2. การขาดนักออกแบบระบบการฝึกอบรมโดยใช้อินเทอร์เน็ต 3. ทัศนคติของผู้ใช้ยังเห็นว่าอินเทอร์เน็ตเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ใช้ค้นหาหรือติดต่อสื่อสารพูดคุยกันมากกว่า 4. อุปสรรคด้านภาษา เนื่องจากข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ 5. การติดตั้งอินเทอร์เน็ตยังมีปริมาณน้อย 6. ความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์และขาดความเข้าใจ 7. คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนยังไม่เพียงพอ จึงไม่เห็นความจำเป็นในการต้องติดตั้งอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้ในการศึกษาทั่วไป 8. ขาดการสนับสนุนจากผู้บริหารซึ่งไม่เข้าใจเทคโนโลยี
ความแตกต่างระหว่างการฝึกอบรมโดยการใช้คอมพิวเตอร์ฝึกอบรม ไม่ว่าจะในรูปของแผ่นดิสก์ หรือซีดีรอมเพื่อการฝึกอบรม จะยังเป็นสื่อสำหรับการฝึกอบรมต่อไป ตราบใดที่ระบบอินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย และยังขาดผู้รู้หรือเข้าใจในกระบวนการออกแบบระบบเพื่อการฝึกอบรม และไม่ใช่ว่าเว็บฝึกอบรมจะมีคุณสมบัติที่ดีกว่าเสมอไป เพียงแต่เราจะต้องรู้ว่าในสภาพหรือสถานการณ์ใดเราควรจะใช้สื่อชนิดไหน ไม่จำเป็นเสมอไปที่จะต้องใช้เว็บเพื่อการฝึกอบรม ถ้าองค์กรหรือหน่วยงานยังไม่มีความพร้อมในด้านของระบบอินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์เพื่อการฝึกอบรมก็ยังคงใช้ได้ดีอยู่เช่นเดียวกัน
บทสรุป
การฝึกอบรมโดยใช้เว็บอบรมแม้จะไม่ใช่สิ่งใหม่ในต่างประเทศ แต่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ยังมีให้เห็นน้อยในบ้านเมืองเราหรืออาจยังมาไม่ถึงหรืออาจไม่เกิดขึ้นในอนาคต ถ้าหน่วยงานหรือองค์กรไม่ได้ติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตในหน่วยงาน หรือถึงแม้จะมีการติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตในหน่วยงานแล้วก็ตามทีแต่ยังขาดนักการศึกษาหรือผู้บริหารขาดความเข้าใจ ไม่มีวิสัยทัศน์ในการมองการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา เว็บฝึกอบรมก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ คงไม่มีใครตำหนิถ้าไม่ติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตในหน่วยงาน แต่มีการพัฒนาบุคลากรด้วยวิธีการฝึกอบรมแบบอื่น ๆ แต่จะน่าเสียดายถ้าหน่วยงานใดติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ต แต่ไม่มีเว็บฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรในหน่วยงาน เพราะนั่นคือการสูญเสียโอกาสในการเป็นผู้นำในยุคข้อมูลข่าวสารที่คุณภาพและประสิทธิภาพของคนคือหัวใจของหน่วยงาน
ปรัชญนันท์ นิลสุข อาจารย์ 1 ระดับ 5 วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม e-mail : mailto:prachyanun@thaimail.com URL : http://www.geocities.com/collegepark/field/8210%20
บรรณานุกรม
ครรชิต มาลัยวงศ์. แนวทางไอทีไทย. สาร NECTEC ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ แห่งชาติ. 5(20), มกราคม-กุมภาพันธ์ 2541 : 11-17.
คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ, ศูนย์. ชวนกันไปโรงเรียนทางอินเทอร์เน็ต. ศูนย์เทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, 2539.
ถนอมพร ตันพิพัฒน์. อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา. วารสารครุศาสตร์. 25(1), กรกฏาคม-กันยายน 2539 : 1-11.
ปัทมาพร เย็นบำรุง. เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาทางไกล. วารสารสุโขทัยธรรมาธิราช. 11(2), พฤษภาคม-สิงหาคม 2541 : 65-73.
พลสัณฑ์ โพธิ์ศรีทอง. การพัฒนาครูประจำการที่ใช้โรงเรียนเป็นฐานและมุ่งผลให้เกิดต่อการเรียนรู้ ของผู้เรียนโดยตรง. วารสารข้าราชการครู. 18(5), มิถุนายน-กรกฏาคม 2541 : 11-14.
ไพรัช ธัชยพงษ์. อุดมศึกษาผ่านสื่อทางไกล : โอกาสทางการศึกษา คุณภาพ ความคุ้มทุน และความ เป็นไปได้. Information Research. 1(9), มกราคม-กุมภาพันธ์ 2540 : 1-50.
Chute, A.G., Sayers, P.K. and Gardner, R.P. Networked Learning Environment. In Teachning and Learning at a Distance : What It Takes to Effectively Design, Deliver, and Evaluate Programs. T.E. Cyrs (Ed). San Francisco : Jossey-Bass Publishers, 1997.
Clark, G. Glossary of CBT/WBT Terms, 1996. [on-line] Available: http://www.clark.net/pub/nractive/alts.html, page1 and 2
Driscoll, M. Defining Internet-Based and Web-Based Training. Performance Improvement. 36(4), April 1997 : 5-9.
Pollack, C. and Masters, R. Using Internet Technologies to Enhance Training. Performance Improvement. 36(2), February 1997 : 28-31.
|