คุณค่าและข้อจำกัดของProgrammed Instruction
แม้ว่า Programmed Instruction จะมีคุณค่าทางการเรียนรู้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แต่
Programmed Instruction ก็ยังมีข้อจำกัดที่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจ ซึ่งมีนักการศึกษาหลายท่านได้กล่าวไว้ ดังนี้
ฉลองชัย สุรวัฒนบูรณ์ ( 2528 : 342 – 343 ) กล่าวถึงคุณค่าและข้อจำกัดของ Programmed Instruction ไว้ดังนี้
คุณค่าของ Programmed Instruction
1. การสร้าง Programmed Instruction มีกระบวนการที่น่าเชื่อถือ ทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้
อย่างอิสระและสามารถดำเนินการตามความสามารถและจังหวะเวลา
2. ทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองและมีส่วนร่วมในการเรียน โดยการแสดงปฏิกิริยาในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือคำถาม
และได้ทราบคำตอบว่าถูกหรือผิดอย่างทันที เป็นการให้รางวัลที่ดี กระตุ้นให้ผู้เรียนต้องการที่จะเรียนรู้
ข้อจำกัดของ Programmed Instruction
1. Programmed Instruction มักจะเน้นหนักในเรื่องเนื้อหา ทำให้ขาดในด้านความรู้สึก หรือ
อารมณ์ และความคิดเห็นส่วนตัว
2. Programmed Instruction แบบเส้นตรงไม่เหมาะสมกับผู้เรียนที่เรียนเก่ง เพราะผู้ที่เรียน
เก่งเมื่อทำกิจกรรมได้เสร็จก่อนและไม่มีอะไรทำอีก อาจจะทำให้เบื่อหน่ายจะต้องมีงานเพิ่มเติมให้บ่อยๆ
3. ไม่อาจใช้แทนผู้สอนได้ทุกอย่าง เพราะบางบทเรียนต้องให้คำแนะนำอยู่บ้าง
4. ในการจัดทำต้องการผู้มีความรู้ความสามารถ และต้องการเวลาในการเขียน
โปรแกรมและการทดลองภาคสนาม และไม่อาจใช้ได้บางภูมิภาคหรือบางท้องถิ่นเพราะขาดบุคลากรในการอำนวยความสะดวก
ประหยัด จิระวรพงษ์ (2522 : 228) ได้กล่าวถึงคุณค่าและข้อจำกัดของ Programmed Instructionไว้ดังนี้คือ
คุณค่าของ Programmed Instruction
1. สามารถส่งเสริมความแตกต่างระหว่างบุคคลได้ดี
2. ช่วยประหยัดเวลาในการสอน
3. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตัวเอง
ข้อจำกัดของ Programmed Instruction
1. Programmed Instruction อาจไม่ตอบสนองจุดหมายได้ทุกประการ
2. ผู้เรียนอาจเบื่อหน่ายจากการปฏิบัติซ้ำมาก ๆ
3. ผู้เรียนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ เพราะถูกจำกัดการตอบสนอง
เปรื่อง กุมุท (2527 : 6) กล่าวว่า Programmed Instruction สร้างขึ้นจากรากฐานจิตวิทยา
การเรียนรู้ทำให้เกิดระบบวิธีเรียนแบบเอกัตบุคคล ( Individual Difference)
หรือตัวต่อ ย่อมให้คุณค่าทางการเรียนรู้หลายประการ คือ
1. ทำให้เรียนรู้ได้ดี และเรียนได้ด้วยตนเอง
2. ทำให้แต่ละคนเรียนได้เร็ว-ช้าตามความสามารถของตนเอง
3. จะเรียนที่ไหน เมื่อไรก็ได้ตามที่ต้องการ คือ มีความสะดวก มีคุณค่าในด้านความเสมอภาค
4. ยกระดับมาตรฐานการเรียน ให้ทัดเทียมกันอย่างทั่วถึง
5. มีการจัดลำดับเนื้อหาและผู้เรียนได้รับการตอบสนองขณะที่เรียน
ไชยยศ เรืองสุวรรณ (2521 : 177–178) กล่าวถึง คุณค่าและข้อจำกัดของ Programmed Instruction ดังนี้
คุณค่าของProgrammed Instruction
1. ผู้เรียนมีโอกาสเรียนด้วยตนเอง และดำเนินไปตามความสามารถของตน
2. กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้
3. สนองตอบในเรื่องความสามารถและความแตกต่างระหว่างบุคคล
4. เป็นการประหยัดเวลาในการสอนบทเรียนหนึ่ง ๆ เพราะจากผลการวิจัยพบว่า
Programmed Instruction สามารถสอนเนื้อหาได้มากเท่าวิธีสอนอื่นๆ โดยใช้เวลาน้อยลง
5. ช่วยให้ผู้เรียนเกิดนิสัยมีความรับผิดชอบในตัวเองได้เป็นอย่างดี
ข้อจำกัดของ Programmed Instruction
1. ไม่อาจทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจได้ทั้งหมด เพราะบางเรื่องผู้เรียนยังต้องการคำแนะนำจากผู้สอน
2. ไม่สามารถใช้กับเนื้อหาบางวิชาได้ เช่น วิชาที่ต้องการการสนองตอบในแง่ของความคิด
3. ผู้เรียนที่เรียนเก่งอาจทำบทเรียนได้เสร็จก่อน ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า Programmed Instruction ถูกพัฒนาขึ้นมาตามหลักการพื้นฐานทางจิตวิทยาการเรียนรู้ ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการที่อาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์ จึงทำให้Programmed Instruction เป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ในทางการศึกษา ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ดีขึ้นแต่อย่างไรก็ตามProgrammed Instruction ก็ยังมีข้อจำกัดที่ต้องทำการศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อจะได้นำมาเป็นแนวทางในการจัดทำและนำ Programmed Instruction ไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด การศึกษาวิจัยผลการใช้นวัตกรรม Programmed Instruction จึงเป็นแนวทางที่จะช่วยลดปัญหาและข้อจำกัดดังกล่าว
การสร้าง Programmed Instruction
การสร้าง Programmed Instruction มีขั้นตอนทั้งการสร้างและการหาคุณภาพ ดังต่อไปนี้
ประหยัด จิระวรพงศ์ (2522 : 227–228) กล่าวว่าการสร้างProgrammed Instruction แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 วางแผนทางวิชาการ (Planning Stage)
1.1 การเลือกเนื้อหาระดับผู้เรียนและแบบ Programmed Instruction ที่จะใช้
1.2 การตั้งจุดมุ่งหมายการเรียน
1.3 การวิเคราะห์เนื้อหาแยกเป็นตอนย่อย ๆ และจัดลำดับ
1.4 การสร้างแบบทดสอบ
ขั้นที่ 2 การดำเนินการเขียนบทเรียน (Development Stage)
2.1 การเขียนกรอบสอน (Teaching Frame)
2.2 การเขียนกรอบฝึกสอน (Practice Frame)
2.3 การเขียนกรอบสรุป (Criterion Frame)
ขั้นที่ 3 การทดลองบทเรียน (Tryout Stage)
3.1 การทดลองเป็นรายบุคคลเพื่อแก้ไขปรับปรุง
3.2 การทดลองเป็นกลุ่มย่อยเพื่อแก้ไขปรับปรุง
3.3 การทดลองเป็นกลุ่มใหญ่เพื่อแก้ไขปรับปรุง
ขั้นที่ 4 การนำไปใช้ (Implementation Stage)
ก่อนที่จะนำบทเรียนไปใช้จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงจากการทดลองเป็นกลุ่มใหญ่แล้วเห็นว่าน่าเชื่อถือได้ โดยทั่วไปแล้วใช้เกณฑ์มาตรฐาน 90/90 ซึ่งหมายความว่า ผู้เรียนด้วยบทเรียนนี้สามารถตอบสนองถูกทั้งหมดร้อยละ 90 และร้อยละ 90 ตอบสนองแต่ละตอนได้อย่างถูกต้อง
เปรื่อง กุมุท (2519 : 139) กล่าวว่า การสร้าง Programmed Instruction จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
1. ศึกษาหลักสูตร เพื่อให้ทราบว่าบทเรียนจะตอบสนองอะไร มีเนื้อหาอย่างไร ผู้เรียนระดับไหน การจัดทำแผนการเรียนรู้จึงเป็นสิ่งจำเป็นในอันที่จะช่วยให้ทราบถึงลำดับการจัดการเรียนรู้ และช่วยกำหนดขอบข่ายของเนื้อหาได้ นอกจากนี้ผู้สร้างบทเรียนควรศึกษาเอกสาร ตำรา หรือต้องสัมภาษณ์จากผู้รู้ด้วย
2. ตั้งจุดมุ่งหมาย การสร้างบทเรียนโปแกรมต้องสามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียน และเหมาะสมกับความสามารถของผู้เรียน ผู้สร้าง Programmed Instruction ต้องพยายามแจกแจงจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม ซึ่งจะต้องสังเกตและวัดได้
3. วางขอบเขตของงาน การวางขอบเขตของงานหรือวางเค้าโครงเรื่อง มีประโยชน์ในการสร้างบทเรียนมากเพราะช่วยในการลำดับเรื่องราวก่อนหลัง และป้องกันการหลงลืมเรื่องราวบางตอน
4. เขียน Programmed Instruction
ชม ภูมิภาค ( 2524 : 120 – 121 ) ได้กล่าวถึงขั้นตอนในการสร้าง Programmed Instruction ไว้ดังนี้ ในการสร้าง Programmed Instruction มีอยู่ 3 ขั้นตอนใหญ่ ๆ คือ ขั้นเตรียมการ ขั้นการเขียน Programmed Instruction ขั้นทดลอง และขั้นปรับปรุงแก้ไข
1. ขั้นเตรียม แบ่งออกเป็น 5 ขั้น คือ
1.1 เลือกชื่อเรื่องโดยเลือกในเนื้อหาวิชาที่ผู้เขียนมีความรู้ในเรื่องนั้นดี
1.2 เตรียมเค้าโครงของเนื้อหา โดยให้ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดที่จะสอน ผู้สร้างโปรแกรมต้องสามารถรวมความรู้ในเนื้อหาวิชาเข้ากับความรู้ในวิธีการสอนด้วยโปรแกรมได้เป็นอย่างดี
1.3 กำหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม
1.4 สร้างแบบทดสอบสำหรับวัดพฤติกรรมเบื้องต้นซึ่งคะแนนของแบบทดสอบ
จะบอกให้รู้ว่าควรจะเริ่มพฤติกรรมที่ใด แบบทดสอบนี้ควรมีหลาย ๆ คำถาม เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เรียนไม่สามารถเดาคำตอบได้
1.5 สร้างแบบทดสอบสำหรับวัดพฤติกรรมขั้นสุดท้าย เพื่อจะได้ทราบว่าผู้เรียน
ได้รับความรู้จาก Programmed Instruction แล้ว
2. ขั้นการเขียน Programmed Instruction
หลังจากได้โครงร่างของเนื้อหาและวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมเบื้องต้น รวมทั้งกำหนดพฤติกรรมขั้นสุดท้ายแล้ว ก็จะได้แนวทางพื้นฐานที่จะนำมาใช้เป็นProgrammed Instruction โดยแยกออกเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้
2.1 เสนอเนื้อหาในรูปกรอบต่าง ๆ โดยกรอบหนึ่งๆ ก็คือเนื้อหาวิชาย่อยๆ ซึ่งจะให้ผู้เรียนสนองตอบสิ่งเร้าในขั้นต่างๆ ที่ผู้เขียน Programmed Instruction สร้างขึ้น เพื่อนำผู้เรียนไปถึงพฤติกรรมขั้นสุดท้าย โดยอาศัยหลักความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง (S-R)
2.2 ให้ผู้เรียนตอบสนองอย่างแข็งขัน โดยถือหลักว่าผู้เรียนจะยอมรับในเนื้อหาที่ตอบถูกเท่านั้น ทำให้มีแบบการตอบสนองต่างๆ
2.3 มีการยืนยันหรือตรวจแก้การตอบสนองของผู้เรียน Programmed Instruction จะมีการเปรียบเทียบค่าคำตอบที่ถูกกับคำตอบที่ผิด เมื่อผู้เรียนพบว่าการตอบสนองนั้นถูกจะได้รับการยืนยัน แต่ถ้าการตอบสนองผิดก็จะได้รับคำตอบที่ถูกต้อง
2.4 มีการใช้วิธีการปูพื้นเพื่อเป็นแนวทางในการสนองตอบของผู้เรียน ซึ่งการปูพื้นนี้เป็นเครื่องชี้ในกรอบต่าง ๆ ของโปรแกรมเพื่อนำผู้เรียนไปสู่การตอบสนองที่ถูกต้อง
2.5 จัดลำดับขั้นของกรอบต่าง ๆ อย่างระมัดระวัง ซึ่งขึ้นอยู่กับ 2 องค์ประกอบคือ
1) คำจำกัดความ และการวิเคราะห์พฤติกรรมที่โปรแกรมต้องการสอน และ 2) ภาวะการเรียนรู้ที่จำเป็น ได้แก่ การแยกแยะ การสรุป การเกิดขึ้นพร้อมกันระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง และการเสริมแรง
3. ขั้นการทดลองแก้ไข แบ่งย่อยอีกได้ 3 ขั้นตอน คือ
3.1 ขั้นการทำฉบับร่างจากต้นฉบับ (Write the Original Draft) ซึ่งอาจทำเป็น
แผ่นๆ เพื่อให้ผู้เรียนอ่านด้านหน้า และตอบสนองด้านหลัง ในขั้นนี้เป็นการนำโปรแกรมไปทดลองกับผู้เรียนคนเดียวในช่วงเวลาหนึ่ง แล้วนำมาปรับปรุง เพื่อนำไปทดลองกับผู้เรียนคนถัดไป
3.2 แก้ไขฉบับร่าง เป็นการนำฉบับร่างจากต้นฉบับมาปรับปรุงแก้ไขในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้ได้โปรแกรมที่ดีออกมา
3.3 ทดลองฉบับร่างที่แก้ไขแล้ว และพิจารณาแก้ไขอีกครั้ง แล้ว นำไปทดสอบกับผู้เรียนจำนวน 15-40 หรือมากกว่า แล้วนำมาปรับปรุงอีกครั้ง โดยถือเกณฑ์มาตรฐานให้มีอัตราความผิดพลาดเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ จึงสามารถนำไปใช้ได้
ดังนั้น การสร้าง Programmed Instruction ให้มีประสิทธิภาพจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางแผนการจัดทำแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจนและรัดกุม เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์เนื้อหา วิเคราะห์ผู้เรียน
การกำหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม การศึกษารูปแบบการเขียนProgrammed Instructionให้เข้าใจ และก่อนที่จะมีการนำเอา Programmed Instructionไปใช้จริงนั้น จะต้องผ่านกระบวนการหาประสิทธิภาพของบทเรียนให้ได้เกณฑ์มาตรฐานก่อน เพื่อให้ได้บทเรียนที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี
ผู้วิจัยได้นำนวัตกรรม Programmed Instruction มาใช้ในการพัฒนาสมรรถนะครูด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน โดยกำหนดขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ขั้นเตรียม
เป็นขั้นตอนที่ดำเนินการโดยผู้วิจัย เริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์หลักสูตร จุดประสงค์การเรียนรู้ ขอบข่ายเนื้อหาสาระ จากนั้นจึงวางแผนสร้าง Programmed Instruction ซึ่งประกอบด้วยการเลือกเนื้อหาของบทเรียน กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้หรือจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม วิเคราะห์เนื้อหาแยกเป็นตอน ๆ เรียงลำดับจากง่ายไปหายาก แล้วสร้างแบบทดสอบให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ เสร็จสิ้นจากการวางแผนแล้วจึงเริ่มเขียนProgrammed Instruction โดยเขียนกรอบสอน (Teaching frame) กรอบฝึกสอน (Practice frame) และกรอบสรุป (Criterion frame) สุดท้าย คือ การทดลองบทเรียน ได้แก่ การทดลองเป็นรายบุคคล ทดลองเป็นกลุ่มย่อย และทดลองเป็นกลุ่มใหญ่
ขั้นตอนที่ 2 ขั้นการเรียนรู้
2.1 ทดสอบครูที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนา (Pretest)
2.2 ผู้วิจัยแนะนำวิธีการเรียนรู้โดยใช้ Programmed Instruction เพื่อให้ครู
ทุกคนเข้าใจและปฏิบัติตามกติกาอย่างถูกต้อง เคร่งครัด และซื่อสัตย์
2.3 แจก Programmed Instruction ให้ครูเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างอิสระโดยไม่จำกัดเวลาและไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากครูที่มีความสามารถต่างกันอาจใช้เวลาในการเรียนรู้มากน้อยแตกต่างกันได้
ขั้นตอนที่ 3 ขั้นทดสอบและสรุปผลการเรียนรู้
3.1 หลังจากที่ครูเรียนรู้ด้วยตนเองโดยใช้บทเรียนโปรแกรมแล้ว ผู้วิจัยให้ทำแบบทดสอบหลังการเรียน (Posttest)
3.2 ครูและผู้วิจัยช่วยกันสรุปผลการเรียนรู้
ขั้นตอนการพัฒนาสมรรถนะครูด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนโดยใช้นวัตกรรม Programmed Instruction แสดงให้เห็นในแผนภูมิต่อไปนี้
ขั้นตอนที่ 1 ขั้นเตรียม: วางแผนวิชาการ สร้าง Programmed Instruction
ทดลองใช้ Programmed Instruction
|
ขั้นตอนที่ 2 ขั้นการเรียนรู้: ทดสอบก่อนการพัฒนาโดยใช้นวัตกรรม Programmed Instruction
|
ขั้นตอนที่ 3 ขั้นทดสอบและสรุปผลการพัฒนาฯ
|
แผนภูมิที่ 2
ขั้นตอนการพัฒนาสมรรถนะครูด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนโดยใช้ นวัตกรรม Programmed Instruction
|