งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ Programmed Instruction
งานวิจัยในประเทศ
ศักดิ์ณรงค์ แสงพิทักษ์ (2528 : 46) ได้ผลิตรายการโทรทัศน์ประกอบการสอนแบบ Programmed Instruction เรื่องน้ำเสีย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพื่อเปรียบเทียบกับการสอนปกติ ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มที่เรียนจากการสอนโดยโปรแกรมวิดีทัศน์ มีผลสัมฤิทธิ์ทางการเรียนรู้สูงกว่ากลุ่มควบคุมที่เรียนรู้จากการสอนแบบปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
ปริญญา ปัญญามี ( 2531 : 90 ) ได้ทำการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบผลการเรียนรู้และความคงทนในการจำของนักเรียนที่เรียนจาก Programmed Instruction ธรรมดา และProgrammed Instruction เทปโทรทัศน์ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 60 คน โดยการสุ่มอย่างง่าย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มทดลองเรียนจาก Programmed Instruction เทปโทรทัศน์ ส่วนกลุ่มควบคุมเรียนจากProgrammed Instruction ธรรมดา จากนั้นอีก 2 สัปดาห์ ให้นักเรียนทั้งสองกลุ่มทำแบบทดสอบฉบับเดิมอีกครั้ง ผลการวิจัยพบว่า ผลการเรียนรู้และความคงทนในการจำของนักเรียนที่เรียนจากProgrammed Instruction เทปโทรทัศน์ สูงกว่านักเรียนที่เรียนจากโปรแกรมธรรมดา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
ณรงค์ เดิมสันเทียะ (2535 : 37) ศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความคงทนในการเรียน และแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ในวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 4 โดยใช้ Programmed Instructionเรียนเป็นคณะ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความอดทนในการเรียน และแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูงกว่านักเรียนที่เรียนจากการสอนตามคู่มือครูของ สสวท.
สมบัติ เทียบอุดม ( 2538 : 63 ) ได้เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างนักเรียนที่เรียนจากวิดีทัศน์การสอนแบบโปรแกรม กับการเรียนวิดีทัศน์การสอนปกติ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปี่ที่ 5 จำนวน 60 คน โดยการสุ่มอย่างง่าย แบ่งนักเรียนเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเรียนรู้จากวิดีทัศน์การสอนแบบโปรแกรม กลุ่มที่สองเรียนจากวิดีทัศน์การสอนแบบปกติ ผลการวิจัยพบว่านักเรียนที่เรียนโดยใช้วิดีทัศน์การสอนแบบ Programmed Instruction ให้ผลการเรียนสูงกว่านักเรียนที่เรียนจากวิดีทัศน์การสอนแบบปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
พงศ์พันธ์ อันตริกานนท์ (2539: 69) ได้ทำการพัฒนาบทเรียนวิดีทัศน์แบบโปรแกรมสำหรับการฝึกอบรมบุคลากรสาธารณสุข ในการเขียนบทวิดีทัศน์เบื้องต้น ผลปรากฏว่าการใช้บทเรียนวิดีทัศน์ด้วยตนเองส่งผลให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้เพิ่มขึ้น กล่าวคือ คะแนนหลังการอบรมสูงกว่าก่อนการอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
อัมพร น้อยสุวรรณ (2540 : บทคัดย่อ) ศึกษาผลการใช้วิดีทัศน์แบบโปรแกรม กิจกรรม
นาฏศิลป์กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อหาประสิทธิภาพของบทเรียน และผลสัมฤทธิ์ในการเรียน ผลการศึกษาพบว่า รายการวิดีทัศน์แบบโปรแกรมมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 90/90 และผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของนักเรียนจากรายการวิดีทัศน์แบบโปรแกรม สูงกว่านักเรียนที่เรียนจาการสอนปกติ อย่างมีนัยทางสถิติที่ระดับ 0.01
พรพิชิต สุวรรณศิริ (2543:บทคัดย่อ) ได้พัฒนาบทเรียนวิดีทัศน์แบบโปรแกรมวิชาพยาบาลพื้นฐาน 2 สำหรับนักเรียนพยาบาลระดับต้นปีที่ 1 โรงเรียนพยาบาล กรมแพทย์ทหารเรือ พบว่าการใช้บทเรียนวิดีทัศน์แบบโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพ 91.64/90.67 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 90/90 และผู้เรียนมีความรู้เพิ่มขึ้น กล่าวคือ คะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
งานวิจัยในต่างประเทศ
อีสเตอร์เดย์ (Easterday. 1963: 307) ได้ทดลองสอนวิชาพีชคณิตโดยใช้ Programmed Instructionกับการสอนปกติกับนักเรียนเกรด 9 พบว่านักเรียนกลุ่มที่เรียนจาก Programmed Instruction มีผลสัมฤทธิ์สูงกว่ากลุ่มที่เรียนตามปกติ
ดัทตัน (Dutton. 1963: 2882-A) ได้ศึกษาเปรียบเทียบการสอนวิชาวิทยาศาสตร์กับนักเรียนเกรด 4 เรื่อง แสง เสียง และความร้อน กลุ่มตัวอย่างจำนวน 111 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มทดลองสอนด้วยProgrammed Instruction และกลุ่มควบคุมสอนตามปกติ ใช้เวลา 5 สัปดาห์ พบว่า กลุ่มทดลองมีผลสัมฤทธิ์สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
แบงฮาร์ท และคนอื่น ๆ (Bankhart and others. 1963: 199-204) ได้เปรียบเทียบการสอนวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนเกรด 4 จำนวน 159 คน ให้นักเรียนกลุ่มทดลองเรียนโดย Programmed Instruction ส่วนกลุ่มควบคุมเรียนโดยแบบเรียนมาตรฐาน ผลปรากฎว่านักเรียนกลุ่มทดลองมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่ากลุ่มควบคุม
ฟิชเชลล์ (Fishell. 1964: 2881-A) เปรียบเทียบการสอนโดยใช้ Programmed Instruction กับการสอนแบบปกติในวิชาคณิศาสตร์และสังคมวิทยา ผลพบว่าการสอนแบบ Programmed Instruction ให้ผลสัมฤทธิ์สูงกว่าการสอนแบบปกติ
บราวน์ (Brown. 1964: 26) ได้เปรียบเทียบการสอนโดยใช้ Programmed Instruction กับการสอนตามปกติสำหรับนักเรียนเกรด 8 และ 9 ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างจากโรงเรียน 7 แห่ง ผลการวิจัยพบว่านักเรียนกลุ่มที่สอนโดยใช้ Programmed Instruction มีผลสัมฤทธิ์สูงกว่านักเรียนที่เรียนตามปกติ
โมเสส (Moses. 1965 : 5739 – A ) ได้ศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาพืชคณิตระดับอุดมศึกษาปีที่ 1 โดยใช้ Programmed Instruction กับการสอนปกติ ปรากฏว่ากลุ่มทดลองมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และพบว่านักเรียนที่เรียนอ่อนไม่สามารถเรียนโดยใช้ Programmed Instructionได้ดี
ริกส์ (Riggs. 1967: 2748-A) ทดลองสอนเรื่องกราฟกับนักเรียนเกรด 5 โดยใช้Programmed Instruction กับการสอนปกติ ปรากฏว่ากลุ่มทดลองมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ฟรานซิส (Francis. 1967: 338-A) ศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง กฎของโอห์มและกำลังไฟฟ้าของวงจรกระแสตรง โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยออกเป็น 2 กลุ่ม ๆ ละ 30 คน กลุ่มทดลองสอนโดยใช้Programmed Instruction กลุ่มควบคุมสอนโดยการบรรยายประกอบการสาธิต ผลการวิจัยไม่พบความแตกต่างของผลสัมฤทธิ์ของวิธีสอนทั้งสองวิธี
คอลลาแกน . (Collagan. 1969: 1070-A) สร้างProgrammed Instructionวิชาวิทยาศาสตร์สำหรับสอนนักศึกษาระดับวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 เปรียบเทียบกับการสอนตามปกติ ปรากฏว่ากลุ่มทดลองมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
มอริเบอร์ . (Moriber. 1969: 214-216) เปรียบเทียบการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง ทฤษฎีอะตอมและพันธเคมี โดยใช้Programmed Instructionและสอนตามปกติ พบว่านักศึกษาที่เรียนโดยProgrammed Instructionซึ่งเป็นกลุ่มทดลองมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่านักศึกษาที่เรียนตามปกติซึ่งเป็นกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ไวท์ . (White. 1970: 3373-A) สร้างProgrammed Instructionวิชาพีชคณิตเพื่อใช้กับนักศึกษากลุ่มทดลอง ส่วนนักศึกษากลุ่มควบคุมสอนตามปกติ พบว่ากลุ่มทดลองมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
เพียช ( Pierce. 1970 : 4692 – A ) ได้เปรียบเทียบการสอน 3 แบบ คือการสอนแบบปกติ การสอนแบบโปรแกรม และการสอนแบบที่ใช้โปรแกรมโสตทัศน์วัสดุ ในการสอนคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนที่เรียนอ่อน พบว่า นักเรียนที่มีความสามารถในการอ่านสูงมีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนสูงกว่านักเรียนที่ผลสัมฤทธิ์ในการอ่านต่ำ ไม่ว่าจะสอนด้วยวิธีการใดใน 3 วิธี ส่วนนักเรียนที่มีความสามารถในการอ่านต่ำ จะมีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้สูงเมื่อสอนโดยใช้Programmed Instructionโสตทัศนวัสดุ วิธีสอนแบบปกติช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จในการเรียนระยะแรกๆ ดีที่สุด
เทย์เลอร์ (Taylor. 1970: 3843-A) ทำการวิจัยผลการสอนโดยใช้ Programmed Instruction ใช้สื่อสำเร็จรูปแบบผสม และใช้การบรรยาย ผลการวิจัยพบว่าการสอนโดยใช้สื่อสำเร็จรูปแบบผสมให้ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนได้ดีกว่าวิธีอื่น
เบค (Beck. 1971: 6270-A) เปรียบเทียบผลการสอนพีชคณิตระดับวิทยาลัยโดยวิธีสอน 3 แบบ คือ การสอนตามปกติ การสอนโดยใช้ Programmed Instruction และการสอนโดยใช้สื่อสำเร็จรูปผสม ผลการวิจัยพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของกลุ่มที่เรียนจากการสอนแบบปกติและจากการสอนแบบสื่อสำเร็จรูปผสมไม่แตกต่างกัน แต่สูงกว่าผลสัมฤทธิ์ของกลุ่มที่เรียนโดยใช้ Programmed Instruction
วิลเลี่ยมส์ (Williams. 1972: 2700-A) ได้ทดลองเปรียบเทียบวิธีสอน 3 วิธี คือ วิธีสอนแบบปกติ แบบโปรแกรม และแบบสื่อสำเร็จรูปสไลด์ ในวิชาคณิตศาสตร์ธุรกิจ พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบโปรแกรม และแบบสื่อสำเร็จรูปสไลด์สูงกว่าการสอนแบบปกติ
เกอร์เบอร์ (Gerber. 1974: 1908 – A) ได้ทำวิจัยผลการสอน เรื่องการวินิจฉัยทางตรรกศาสตร์ที่มีความสามารถในการเรียนพิสูจน์ของนักเรียนระดับวิทยาลัย โดยใช้ Programmed Instruction กับการสอนปกติ พบว่านักศึกษาที่เรียนจาก Programmed Instruction ไม่ว่าจะมีความสามารถสูงหรือต่ำสามารถเขียนพิสูจน์ได้ดีขึ้นกว่าเดิม และดีกว่านักศึกษาที่เรียนตามปกติ
กล่าวได้ว่า Programmed Instruction เป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่ช่วยพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้อย่างมีนัยสำคัญ ด้วยเหตุนี้ ผู้วิจัยจึงได้นำแนวคิดในการจัดการเรียนรู้โดยใช้นวัตกรรมProgrammed Instruction มาทดลองใช้สำหรับการพัฒนาสมรรถนะครูด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน โดยคาดหวังว่าผลการศึกษาทดลองจะนำไปใช้พัฒนารูปแบบการพัฒนาสมรรถนะครูด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น