การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน หมายถึง การสร้างโปรแกรมบทเรียนหรือหน่วยการเรียน ซึ่งอาจจะต้องมีภาคแบบฝึกหัด บททบทวนและการถามตอบไว้พร้อมให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ด้วยตนเอง และเป็นรายบุคคล โดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยเป็นสื่อในการเรียนการสอน CAI : Computer Assisted Instruction หรือ Computer Aided Instruction
หลักการคอมพิวเตอร์ช่วยการเรียนการสอน
ระบบคอมพิวเตอร์ช่วยการเรียนการสอนซึ่งมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษแตกต่างกันออกไป หลายชื่อ เช่น Computer Assisted Instruction,Computer Based Instruction และ Computer Based Teaching and Learning System แต่อย่างไรก็ตามหลักการของระบบ คอมพิวเตอร์ช่วยการเรียนการสอนทุกแนวคิดมุ่งที่จะใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในฐานะสื่อระบบการเรียนการสอน ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตของระบบการเรียนการสอนให้มีคุณภาพสูงสุด โดยใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด เจมส์ เอส สกินเนอร์ (Jame S. skinner) นักจิตวิทยาการศึกษาได้กล่าวว่าระบบการเรียนการสอนที่ดี จะต้องสร้างสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ 5 ประการ คือ
1. ระบบการเรียนการสอนที่ดีจะต้องแบ่งเนื้อหาวิชาเป็นตอน ๆ มีความยาวเหมาะสมกับวุฒิภาวะ ทางการรับรู้ของผู้เรียน (gradual approximation ) โดยคำนึงถึงหลักการทางพฤติกรรมศาสตร์ ( behavioral science ) ตามทฤษฎีที่ว่า "ถ้าเราแบ่งเนื้อหาวิชาที่จะถ่ายทอดให้ผู้เรียนเป็นตอน ๆ ทีละน้อยเหมาะสมกับวุฒิภาวะของผู้เรียน ผู้เรียนจะสามารถรับความรู้ได้ดีกว่าการให้ความรู้แก่ผู้เรียน ครั้งละมาก ๆ " ระบบคอมพิวเตอร์ช่วยการเรียนการสอนสามารถเก็บและเรียกข้อมูลเนื้อหาวิชาทีละ ตอนได้สะดวกและรวดเร็วมาก
2. จัดประสบการณ์เพื่อให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมกิจกรรมอย่างกระฉับกระเฉง ( active participation) หมายถึง การที่ใช้คอมพิวเตอร์กำหนดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้ตอบสนองอย่างชัดเจน
3. จัดประสบการณ์เพื่อให้ผู้เรียนได้ทราบผลการเรียนรู้และกิจกรรมที่ปฏิบัติ ทันทีที่ปฏิบัติสำเร็จ (immediatly feed back) หมายถึง การเฉลยคำตอบหรือปฏิบัติกิจกรรมนั้นสำเร็จโดยฉับพลัน ซึ่ง ข้อนี้เป็นจุดเด่นของระบบคอมพิวเตอร์ที่ดีกว่าสื่ออื่น ๆ
4. จัดประสบการณ์เพื่อให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์แห่งความสำเร็จ (successive experience) คือ การดำเนินการจัดการชักนำเข้าสู่กิจกรรมที่ถูกต้อง (Leading of prompt) ตาม หลักเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อที่ผ่านมาโดยเคร่งครัดคือ
(1) แบ่งเนื้อหาวิชาเป็นตอนสั้น ๆ เหมาะสมกับวุฒิภาวะของผู้เรียนเพื่อขจัดปัญหาการรับรู้และการจำการลืมกับเนื้อหาวิชาจำนวนมาก ๆ ในเวลาอันสั้น
(2) ให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมกิจกรรมอย่างกระฉับกระเฉงเพื่อเป็นการคิด ปฏิบัติทดลองและทบทวนความรู้ทุก ๆ ขั้นตอนเป็นระยะสั้น ๆ
(3) จะต้องมีการเฉลยผลกิจกรรมที่ผู้เรียนกระทำทันทีที่ปฏิบัติสำเร็จโดยฉับพลันรวดเร็ว
5. จัดประสบการณ์เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการเสริมแรงที่ดี (Positive reinforcement) เช่น การให้รางวัลเป็นข้อความชมเชย หรือรางวัลเป็นรูปอื่น ๆ เมื่อผู้เรียนประสบความสำเร็จในแต่ละชั้น แต่ถ้าผู้เรียนเกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติ ก็ไม่ติเตียนแต่ต้องเป็นการให้กำลังใจเพื่อที่ผู้เรียน จะพยายามกระทำกิจกรรมต่อไปให้ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมอยากเรียนรู้สูงกว่า การเรียนปกติ และไม่เลิกเรียนกลางคัน การเสริมแรงมีอิทธิพลต่อการเรียนของผู้เรียนสูงมาก |