Norton Ghost โปรแกรมช่วย แบคอัพฮาร์ดดิสก์ เก็บไว้เผื่อยามฉุกเฉิน
ครั้งหนึ่ง สมัยที่ผมเองหัดใช้งาน Windows ช่วงแรก ๆ ก็ซนพอสมควร มีการลองของคือ ทดลองลงโปรแกรมต่าง ๆ เดี๋ยวใส่ เดี๋ยวเอาออก ไม่นานเท่าไรนัก Windows ตัวเก่งก็เพี้ยนไปเลย ต้องมาลง Windows ใหม่อีก เรียกได้ว่าต้องลง Windows ใหม่ทุกสัปดาห์เลยก็ว่าได้ เป็นอย่างนี้อยู่ค่อนข้างนานพอสมควร ในสมัยนั้นผมเองก็คิดหาวิธีที่จะทำการ copy ตัวซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เก็บไว้เป็นแบคอัพสำรองเอาไว้ เพื่อที่เวลามีปัญหา จะได้นำเอาไฟล์ที่ทำแบคอัพนั้นมาใช้งาน จนกระทั่งมาพบกับโปรแกรม Norton Ghost ที่มีความสามารถเก็บข้อมูลทั้งหมดใน พาร์ติชันของฮาร์ดดิสก์ ไว้ได้แบบที่เรียกว่า ทุกกระเบียดนิ้วเลยทีเดียว อีกทั้งตัวโปรแกรมก็ทำงานบน DOS ซึ่งเป็นการทำงานที่ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก และสามารถทำงานหลังจากที่ทำการ ฟอร์แม็ต ฮาร์ดดิสก์ ได้ทันที ใช้เวลาในการทำ แบคอัพ และนำกลับคืนไม่นานมากนัก ดังนั้น จึงขอแนะนำให้ท่านที่มีฮาร์ดดิสก์ ที่มีพื้นที่เหลือมากพอ หลังจากที่ทำการลง Windows ใหม่และติดตั้งซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว ทำการเก็บแบคอัพข้อมูลและ Windows เก็บไว้ ครั้งต่อไป หากมีปัญหาที่ตัว Windows ก็จะได้ไม่ต้องมาทำการลงโปรแกรมใหม่ทั้งหมดครับ
ก่อนอื่น ต้องหาโปรแกรม Norton Ghost นี้มาใช้งานกันก่อน ลองดูจาก http://www.symantec.com/sabu/ghost/ghost_personal/ นะครับ หรือถ้าหาไม่ได้ ก็โหลดจาก ที่นี่ หรือ ที่นี่ ก็ได้ครับ โปรแกรมจะมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก หลังจากดาวน์โหลดมาแล้วก็ให้ทำการ unzip และเขียนไฟล์ ใส่แผ่นดิสก์ไว้ก่อน จากนั้น จะบูตเครื่องจากแผ่นดิสก์ที่ได้นี้ หรือจะ copy เฉพาะไฟล์ ghost.exe เก็บไว้ใน โฟล์เดอร์ต่างหาก เพื่อที่จะใช้งานโดยตรงเลยก็ได้
ทำความเข้าใจกับฮาร์ดดิสก์ในเบื้องต้นก่อน
ก่อนการใช้งาน Norton Ghost อยากจะให้ทำความเข้าใจ ระบบการเก็บข้อมูลและการแบ่งพาร์ติชันของฮาร์ดดิสก์ กันก่อน เพราะตรงนี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ หากเราไม่เข้าใจและทำโดยใส่ไดร์ฟหรือพาร์ติชันผิด ข้อมูลต่าง ๆ อาจจะหายไปทั้งหมดเลยก็ได้ ดังนั้น ขอให้พยายามศึกษาคำว่า Drive และ Partition ให้เข้าใจจริง ๆ ก่อน
Drive ในที่นี้หมายถึง ตัวฮาร์ดดิสก์ คือ ในคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องสามารถที่จะทำการติดตั้ง ไดร์ฟต่าง ๆ ได้หลาย ๆ ตัวเช่น Drive A: คือฟลอปปี้ดิสก์ Drive C: คือฮาร์ดดิสก์ตัวแรก ส่วน Drive D: คือซีดีรอม เป็นต้น สำหรับกรณีของฮาร์ดดิสก์ จะมีพิเศษกว่านั้น คือเราสามารถทำการแบ่งฮาร์ดดิสก์ 1 ตัวให้เป็นหลาย ๆ ไดร์ฟได้ เช่น ฮาร์ดดิสก์ 1 ตัวแต่ถูกแบ่งออกเป็น Drive C: และ Drive D: โดยที่ซีดีรอม ก็จะกำหนดให้เป็น Drive E: แทนเป็นต้น
Partition ก็คือการแบ่งพื้นที่ของฮาร์ดดิสก์ ออกเป็นหลาย ๆ ไดร์ฟ หรือเรียกว่าการแบ่งเป็นหลาย ๆ Partition นั่นเอง จากตัวอย่างข้างบน คือ เราสามารถที่จะแบ่งฮาร์ดดิสก์ 1 ตัวออกเป็นได้หลาย ๆ พาร์ติชัน หรือแบ่งออกเป็นหลาย ๆ ไดร์ฟนั่นเอง ดูวิธีการจัดการกับพาร์ติชันได้ที่นี่
ทีนี้ ลองสำรวจเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานอยู่กันก่อน ว่ามีฮาร์ดดิสก์ติดตั้งอยู่กี่ตัว และมีการแบ่งการใช้งานหรือแบ่งพาร์ติชัน ต่าง ๆ ออกเป็นอย่างไรบ้าง อย่างเช่นฮาร์ดดิสก์ของเครื่องที่ผมใช้งาน มี 1 ตัวแต่แบ่งออกเป็น 2 พาร์ติชัน ดังนั้น ในระบบ Windows เครื่องผมก็จะมองเห็นว่ามีไดร์ฟ C: กับ D: เป็นฮาร์ดดิสก์ ส่วนซีดีรอม ก็จะเป็นไดร์ฟ E: แทน ที่ต้องให้ทำความเข้าใจกับเรื่อง Drive และ Partition ตรงนี้ก่อน ก็เพราะว่า ในการใช้งาน Norton Ghost จะต้องมีการอ้างถึงสองคำนี้ และเพื่อเป็นการป้องกัน การผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ จากการใส่หรือระบุ Drive หรือ Partition ผิดครับ
ฮาร์ดดิสก์ที่จะทำแบคอัพได้ ต้องเป็นอย่างไร
จากที่ได้บอกแล้วว่า การใช้งาน Norton Ghost นี้จะเป็นการทำสำรองหรือแบคอัพข้อมูลทั้งพาร์ติชัน ของฮาร์ดดิสก์ ดังนั้น ฮาร์ดดิสก์หรือคอมพิวเตอร์ที่จะทำการแบคอัพแบบนี้ได้ จะต้องมีการแบ่งพาร์ติชัน ออกเป็นอย่างน้อย 2 พาร์ติชัน หรือจะต้องมีไดร์ฟ อยู่ในเครื่องอย่างน้อย 2 ไดร์ฟนั่นเอง ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ก็คือ เราจะทำการเก็บทุกอย่างใน Drive C: นำเอาไปเก็บไว้ใน Drive D: เพื่อที่จะได้ทำการฟอร์แมต Drive C: ได้ หลังจากนั้น ก็ทำการนำข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ใน Drive D: มาใส่คืนใน Drive C: ใหม่ หรือที่เรียกว่าการ Restore นั่นเอง ดังนั้น หากใครมีฮาร์ดดิสก์แค่เพียง Drive C: ตัวเดียว คงจะต้องเริ่มต้นวางแผน การจัดแบ่งพาร์ติชันของฮาร์ดดิสก์ กันใหม่ก่อนนะครับ อย่างน้อยที่สุดก็ควรที่จะแบ่งออกเป็น 2 ไดร์ฟ เพื่อใช้สำหรับลง Windows ไดร์ฟหนึ่ง และอีกไดร์ฟที่เหลือก็สำหรับเก็บข้อมูลและไฟล์ที่จะทำแบคอัพด้วย Norton Ghost ด้วย หากเครื่องใครที่คิดว่าพร้อมแล้ว ก็เริ่มต้นทดลองใช้งานกันได้เลย
เริ่มต้นเรียกใช้งานโปรแกรม Norton Ghost
หลังจากที่หา ดาวน์โหลด มาแล้วก็ทำการ unzip และเก็บไว้ในโฟลเดอร์ที่สร้างขึ้นมาใหม่ จะได้ไฟล์ GHOST.EXE ซึ่งในการใช้งาน จะต้องทำใน MS-DOS Mode เท่านั้น วิธีการเข้า DOS Mode ทำได้โดยการสั่ง Shutdown และเลือกที่ Restart in MS-DOS mode หรือเมื่อบูทเครื่องใหม่ กดปุ่ม F8 ค้างไว้และเลือกที่ MS-DOS mode หรือจะเป็นการบูทเครื่องจากแผ่น Startup Disk Windows 98 ก็ได้ หลังจากเข้า MS-DOS mode แล้วก็ใช้คำสั่งเปลี่ยนโฟลเดอร์ไปที่ ๆ เก็บโปรแกรม Norton Ghost เรียก ghost และกด Enter จะมีโลโก้ของโปรแกรม กดที่ปุ่ม OK เพื่อเริ่มต้นการใช้งาน
การทำแบคอัพหรือทำสำเนาฮาร์ดดิสก์เก็บไว้
ขั้นตอนแรก คือการทำแบคอัพเก็บไว้ก่อน โดยการเรียกโปรแกรม Norton Ghost และกดที่ OK เพื่อเริ่มต้นการทำงาน จะเห็นเป็นเมนูต่าง ๆ ให้เลือก
ในการทำแบคอัพเก็บข้อมูล หลังจากเรียกโปรแกรมแล้ว ให้เลือกที่เมนู Local >> Partition >> To Image (ใช้ปุ่มลูกศรซ้ายขวา และกด Enter เพื่อเลือก) คือเป็นการสั่งให้ทำกับ Partition ให้สร้างเป็น Image ไฟล์เพื่อเก็บไว้ใช้งาน (Image คือไฟล์แบคอัพ ที่จะเก็บข้อมูลทั้งหมดของฮาร์ดดิสก์ครับ) กดปุ่ม Enter เพื่อเลือกการทำ Partition to Image ครับ
ทำการเลือก Drive ที่ต้องการจะทำแบคอัพสำรองข้อมูล คือ Drive ที่ 1 นั่นเอง (ตัวอย่างนี้มีฮาร์ดดิสก์ 1 ตัวในเครื่องนี้) ใช้ปุ่ม Tab เพื่อเลื่อนปุ่มไปที่ OK และกด Enter (กดที่ปุ่ม Tab ไปเรื่อย ๆ เพื่อเปลี่ยนตำแหน่งของการกดปุ่มได้)
จากนั้นทำการเลือก Partition ของ Drive ที่ต้องการจะทำแบคอัพ เช่นในที่นี้มีอยู่ 2 partition (คือ C: กับ D: นั่นเอง) ให้เลือกที่ Partition 1 คือ Drive C: และเลือกที่ OK (โดยกดปุ่ม Tab สำหรับเปลี่ยนตำแหน่งการกดปุ่มนะครับ)
จากนั้น เลือกชื่อไฟล์ของ Image file ที่จะเก็บเป็นข้อมูลไว้ เช่น win98th หรืออะไรก็ได้ กดที่ Open เพื่อทำงานต่อไป
โปรแกรมจะมีการถามถึงระดับของการบีบอัดข้อมูล เลือกที่ Fast ครับ
โปรแกรมจะถามยืนยันอีกครั้ง ก็กดที่ Yes เพื่อเริ่มต้นทำการแบคอัพทันที
ภาพตัวอย่างขณะที่โปรแกรมกำลังทำการก็อปปี้หรือทำแบคอัพครับ รอจนจบก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการแบคอัพแล้ว ซึ่งเราจะได้ไฟล์ win98th.gho หรือชื่อไฟล์ตามที่เราตั้งไว้ ที่มีขนาดใหญ่มาก ๆ เก็บสำรองไว้
----------------------------------------------------------------------------
การนำข้อมูลที่เก็บไว้มาใช้งานใหม่หรือที่เรียกว่า Restore
หลังจากนี้ หากวันดีคืนดี Windows มีอันต้องเป็นไปด้วยเหตุผลใดก็ตาม หากเราต้องการที่จะนำเอาข้อมูลและโปรแกรมต่าง ๆ ที่ได้ทำการสำรองเก็บไว้ออกมาใช้เหมือนเดิม วิธีการก็จะคล้าย ๆ กันคือ เรียกโปรแกรม Norton Ghost ก่อน (จาก MS-DOS mode นะครับ)
ในการนำข้อมูลกลับมา หลังจากเรียกโปรแกรมแล้ว ให้เลือกที่เมนู Local >> Partition >> From Image คือเป็นการนำเอา Image file มาใส่ลงใน Partition นั่นเอง
เลือกไฟล์ที่ต้องการจะนำข้อมูลมาใช้งาน แล้วเลือกกดที่ Open
เลือก Partition ของข้อมูลที่อยู่ใน Image file และกด OK
เลือกฮาร์ดดิสก์ที่จะใส่ข้อมูลจาก Image file ควรระมัดระวัง Drive ให้ถูกต้องด้วยนะครับถ้ามีฮาร์ดดิสก์หลายตัว
ถ้าหากฮาร์ดดิสก์ที่เลือกใส่ข้อมูลกลับลงไปมีหลายพาร์ติชัน ให้ทำการเลือก Partition ที่ต้องการ เช่น Drive C: ก็คือ Partition ที่ 1 นั่นเอง กดที่ OK
โปรแกรมจะมีการถามเพื่อยืนยันการทำงานอีกครั้ง หากมั่นใจว่าไม่มีอะไรใส่ผิดก็กดที่ Yes เพื่อเริ่มต้นการนำข้อมูลจาก Image file มาใส่ลงใน Partition ได้เลยครับ หลังจากที่โปรแกรมทำการก็อปปี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ในกรณีเช่นนี้จะต้องทำการ Restart Computer ใหม่เสมอ หากไม่มีอะไรผิดพลาด เราก็จะได้ Windows ตัวเดิมเมื่อครั้งที่ยังไม่มีปัญหากลับคืนมาเหมือนเดิมครับ
ข้อควรระวังอย่างมากคือ การเลือก Drive และ Partition เพราะหากทำผิด Partition อาจจะทำให้ข้อมูลต่าง ๆ หายได้ ดังนั้น ก่อนที่จะทำ ควรจะทำการสำรองข้อมูลที่สำคัญมาก ๆ เก็บไว้ก่อน เพื่อความปลอดภัยของข้อมูลนะครับ
นอกจากนี้ หากลองดูให้ดี ๆ ในเมนูต่าง ๆ จะเห็นว่า เราสามารถที่จะทำการ โคลนนิ่งระหว่างฮาร์ดดิสก์ 2 ตัวได้เลย โดยการเลือกที่ในเมนู Drive ซึ่งจะทำให้การ copy ข้อมูลทุกอย่างในฮาร์ดดิสก์ ไปใส่ไว้ในฮาร์ดดิสก์อีกตัวหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว วิธีนี้ ร้านค้าที่ประกอบคอมพิวเตอร์ขายนิยมใช้กันมาก เพราะใช้เวลาไม่เกิน 20 นาทีก็สามารถลงโปรแกรมต่าง ๆ ในฮาร์ดดิสก์ของเครื่องลูกค้าได้แล้ว หากใครมีเครื่องคอมพิวเตอร์หลาย ๆ ชุดที่มีอุปกรณ์ต่าง ๆ เหมือนกัน โดยเฉพาะตามร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ ต่าง ๆ ที่มักจะมีปัญหากับซอฟต์แวร์ต่าง ๆ บ่อย ๆ (เนื่องจากมีผู้ใช้งานหลายคน) ก็สามารถที่จะทำการ โคลนนิ่งฮาร์ดดิสก์โดยวิธีนี้ได้ด้วยนะครับ
|