วิตามินซีขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มอัศวินที่ทำหน้าที่เป็นแอนตี้ออกซิแดนท์ให้กับร่างกายของเราปลอดภัยจากอนุมูลอิสระ โดยสภาพแวดล้อมและอาหารการกินที่เผชิญอยู่ทุกวันนี้ เราก็ได้รับมลพิษมากมายพออยู่แล้ว แต่ด้วยพฤติกรรมที่เพิ่มขึ้นของบางคน เช่น สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์ ยิ่งทำให้ปริมาณวิตามินซีในร่างกายนั้นลดต่ำลงกว่าปกติ จนอาจทำให้อวัยวะและระบบการทำงานต่างๆ ในร่างกายอ่อนแอลง เปิดโอกาสให้โรคต่างๆ รุมกันเข้าหาก็เป็นได้
จะว่าไปแล้วมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีความเหนือกว่าสัตว์อื่นใดทั้งปวง แต่ยังกลับมีความน่าแปลกอยู่อย่างหนึ่ง เห็นจะเป็นความที่ไม่สามารถสร้างวิตามินซีขึ้นใช้เองได้ในร่างกาย ทั้งที่เป็นสารอาหารจำเป็นที่ร่างกายต้องการ ในขณะที่สัตว์ส่วนใหญ่ในโลกนี้สามารถสร้างวิตามินซีขึ้นได้ด้วยตัวมันเองทั้งนั้น นอกจากมนุษย์แล้วก็ยังมีสัตว์อีกบางชนิดที่ต้องอาศัยวิตามินจากอาหาร เช่น ลิง และหนูตะเภา เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตร้อนที่อุดมไปด้วยพืช ผัก ผลไม้ คนเราจะได้วิตามินซีเข้าไปใช้ในร่างกายอย่างพอเพียงต้องได้จากการกินอาหาร จำพวกผักสด ผลไม้ต่างๆ ให้มากพอและสม่ำเสมอ
วิตามินซีกับมลพิษในร่างกาย วิตามินซีมีความสำคัญต่อร่างกายคนเราหลายอย่าง เช่น ช่วยสร้างและเสริมคอลลาเจน หรือเนื้อเยื่อเซลล์นับล้านๆ ตัวทั่วร่างกาย ดังนั้นถ้าขาดวิตามินซีก็จะทำให้คอลลาเจนไม่สมบูรณ์แข็งแรง กระดูก เอ็น และผนังหลอดเลือดก็จะอ่อนแอลงด้วย มีผลให้แบคทีเรียและไวรัสแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย เกิดการอักเสบติดเชื้อตามมา ซึ่งตราบใดที่เนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกายแข็งแรง ก็จะเป็นปราการหรือด่านชั้นดีที่คอยสกัดกั้นและต่อต้านสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่เข้ามาในร่างกาย
มีรายงานวิจัยทางการแพทย์ในสหรัฐอเมริกาพบว่าการได้รับวิตามินซีปริมาณสูง นอกจากจะช่วยบำรุงเนื้อเยื่อเส้นเลือดแดงให้แข็งแรงแล้ว ยังมีส่วนในการลดระดับโคเลสเตอรอลในเส้นเลือดด้วย โดยช่วยเปลี่ยนโคเลสเตอรอลให้เป็นกรดน้ำดีที่ตับแล้วกำจัดทิ้งไป โดยเพิ่มระดับสารไลโปโปรตีนชนิด High Density Lipoprotein (HDL) ในเลือด ทำให้ไขมัน Low Density Lipoprotein (LDL) ที่สะสมตามเส้นเลือดถูกกำจัดมากขึ้น อันเป็นต้นเหตุทำให้เส้นเลือดอุดตัน จึงช่วยลดความเสี่ยงของเส้นเลือดหัวใจตีบได้
วิตามินซีจะถูกใช้ไปในหลายๆ ระบบการทำงานของร่างกาย ซึ่งบางครั้งอาจมีปัจจัยแปรที่ทำให้วิตามินซีถูกดึงออกมาใช้มากผิดปกติจนเหลือปริมาณต่ำได้ โดยเฉพาะในคนที่สูบบุหรี่เป็นประจำ เพราะวิตามินซีทำหน้าที่เป็นแอนตี้ออกซิแดนท์ จะถูกดึงมาใช้ต่อต้านอนุมูลอิสระที่มากับควันบุหรี่จำนวนมากจนเหลือปริมาณวิตามินซีต่ำผิดปกติ อาจทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะขาดวิตามินซีได้ อะเซ็ตตอลดีไฮด์ เป็นสารพิษที่ก่อตัวขึ้นในร่างกายจากควันบุหรี่และแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ทำลายวิตามินในร่างกาย คุณลองคิดดูสิว่าบุหรี่ 1 มวนสามารถทำลายวิตามินซีถึง 25 มิลลิกรัมเลยทีเดียว
สารพิษจากบุหรี่ไม่ว่าจะเป็นนิโคติน คาร์บอนมอน็อกไซด์ ทาร์ ไซยาไนต์ ฯลฯ ล้วนเป็นสาเหตุก่อโรคต่างๆ เช่น โรคปอด โรคมะเร็ง ระบบสมองเสื่อมถอย สมรรถภาพทางเพศเสื่อมถอย ผิวพรรณแห้งเหี่ยวย่นก่อนวัย ความดันโลหิตสูง โรคกระเพาะ และโรคหัวใจ บุหรี่นอกจากจะเป็นปัจจัยทำให้สารแอนตี้ออกซิแดนท์ในร่างกายไม่ว่าจะเป็นวิตามินซี วิตามินเอ วิตามินอี หรือเซลิเนียม ถูกดึงมาใช้มากจนลดจำนวนลงแล้ว ควันบุหรี่ยังเพิ่มระดับพลาสมาในเลือดให้สูงขึ้น และยังทำให้การออกซิเดชั่นโคเลสเตอรอลไม่ดีพอ กระทบต่อหลอดเลือดแดงทำให้แข็งตัว ดังนั้นร่างกายของคนสูบบุหรี่เป็นประจำส่วนใหญ่จึงต้องการวิตามินซีมากกว่าปกติ
วิตามินซียังมีประสิทธิภาพเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และทำลายเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ เช่น เริม ไวรัสตับอักเสบ โปลิโอ หัด วัณโรค และทำหน้าที่กระตุ้นการผลิตสารอินเตอร์เฟียรอน ในการผลิตเม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่โจมตีเชื้อโรคที่หลุดเข้ามาในร่างกายด้วย บางครั้งที่คุณเป็นไข้สูง อาจจะเพราะเป็นไข้หวัด หลังจากเจาะเลือดแล้วพบว่าเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติ คุณหมออาจจะไม่ได้สั่งยาใดๆ ให้คุณเลยก็ได้ เพียงแต่บอกให้คุณทานผัก ผลไม้ ที่มีวิตามินสูงมากเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ พักผ่อนและดื่มน้ำมากๆ ความไม่สบายนั้นก็จะหายไปได้เอง
แม้ว่าวิตามินซีจะเปี่ยมไปด้วยสรรพคุณเพียงไหน แต่ถ้าหากรักตัว กลัวโรคภัยแล้วล่ะก็ ต้องเลือกที่จะละ และเลิก สูบ หรือเสพย์ มลพิษต่างๆ เข้าสู่ร่างกายเสียที แต่ถ้ากลัวเหงาปากล่ะก็ลองเลือกผลไม้สดๆ มาเคี้ยวแทน หรือดื่มน้ำผักผลไม้ก็น่าจะดีกว่าเป็นไหนๆ
ถ้าขาดวิตามินซี คุณอาจจะมีอาการ…
อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หงุดหงิดง่าย เลือดออกตามไรฟัน ภูมิคุ้มกันต่ำ และถ้าขาดเป็นเวลานานๆ จะทำให้เกิดความปวดเมื่อยตัว เจ็บกล้ามเนื้อ ผิวแห้ง แผลหายช้า เส้นเลือดเปราะ ปวดข้อต่างๆ เป็นต้น
แหล่งวิตามินซี
ผัก ผลไม้ที่มีปริมาณวิตามินซีสูงอันดับต้นๆ ได้แก่ มะกอกไทย มะขามป้อม มะปราง ฝรั่งกลมสาลี่ มะละกอสุก พริกชี้ฟ้าเขียว บร็อคโคลี คะน้า ฯลฯ ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today |