นพ. สมพล สงวนรังศิริกุล
ในขณะที่เรามีการก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ไม่ว่าจะเป็นการได้รับตำแหน่งที่สูงขึ้น หรือมีกิจการรุ่งเรืองก้าวหน้า สิ่งที่ตามมาก็มักจะเป็นลักษณะของงานที่ต้องใช้เวลาในการนั่งคิดและวางแผน การประชุมปรึกษาหารือ มากกว่าลักษณะงานที่มีการเคลื่อนไหวของร่างกาย จึงไม่แปลกเลยที่เห็นท่านผู้มีความก้าวหน้าทางอาชีพการงาน มักจะมีรูปร่างที่ดูอ้วนท้วนสมบรูณ์ขึ้น และสาเหตุที่มีรูปร่างแบบหุ่นอาเสี่ยนี้ ก็คงไม่มีใครปฏิเสธว่าการเกิดจากการสะสมของไขมันในร่างกายเพิ่มขึ้นจากการที่มีการกินอาหารเกินความต้องการของร่างกายนั่นเอง
เมื่อไหร่ก็ตามที่คนรอบข้างหรือเพื่อนร่วมงานเริ่มทักบ่อยๆ ว่าหมู่นี้ดูตัวใหญ่ขึ้น และตัวเราเองก็แน่ใจว่าเราไม่ได้ไปออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อที่ไหน ประกอบกับเสื้อผ้าที่ใส่(โดยเฉพาะอย่างยิ่งกางเกง) เริ่มจะคับขึ้น ก็สามารถคาดเดาได้เลยว่าสิ่งที่มันทำให้เราดูอวบๆ ขึ้นมาคือไขมันส่วนเกินเป็นแน่แท้ หรือถ้าอยากให้แน่ใจก็ต้องไปชั่งน้ำหนัก และวัดส่วนสูง แล้วมาคำนวณหา ค่าดัชนีมวลกายกันดูก่อนว่า ตัวเรานี่อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักเกินหรืออ้วนกันแน่ ดัชนีมวลกายนั้นคำนวณได้จากน้ำหนักตัว(กิโลกรัม) หารด้วยค่าของส่วนสูง(เมตร)ยกกำลังสอง ถ้าค่าที่คำนวณได้น้อยกว่า 25 ถือว่าปกติ ค่าระหว่าง 25 -30 ถือว่าน้ำหนักเกิน และถ้ามากกว่า 30 ก็เรียกได้ว่าอ้วนแน่นอน แต่ไม่ใช่ว่าคำนวณแล้วพบว่าเพิ่งอยู่ในเกณฑ์น้ำหนักเกินนิดหน่อยแล้วปลอบใจตัวเองว่า ยังอีกนานกว่าจะอ้วนจริงๆ จงพึงระลึกอยู่เสมอว่าสิ่งที่ทำให้ดัชนีมวลกายเพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลมาจากร่างกายมีปริมาณไขมันเพิ่มขึ้นทั้งนั้น เพราะถ้าเผลอเมื่อไหร่น้ำหนักอาจจะขึ้นอีกหลายกิโลก็ได้ และการลดน้ำหนักนั้นถ้ารีบลดในช่วงน้ำหนักเกิน จะได้ผลดีกว่าช่วงที่อยู่ในเกณฑ์อ้วน หรือท่านผู้ใดอยากรู้มากกว่านั้นว่าร่างกายมีไขมันกี่เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว คงต้องอาศัยเครื่องมือที่วัดปริมาณโดยเฉพาะซึ่งก็มักจะมีในสถานพยาบาลที่เกี่ยวกับการดูแลเรื่องโรคอ้วน โดยปริมาณไขมันในร่างกายมากเกินไปก็คือปริมาณที่มากกว่า 20% ในผู้ชาย และ 30% ในผู้หญิง
เมื่อในร่างกายเรามีไขมันสะสมมากเกินไปจะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ร่างกายมีความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น โรคของระบบ ข้อ กระดูก และกล้ามเนื้อจากการที่มีน้ำหนักตัวมากขึ้น โรคของระะบบหัวใจและหลอดเลือด รวมไปทั้งโรคเบาหวาน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่เราจะต้องพยายามให้ไขมันในร่างกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยมีหลักการง่ายๆ (แต่ปฏิบัติได้ยาก)อยู่ 2 ประการคือ การควบคุมไม่ให้มีการสะสมเพิ่มขึ้น และการลดไขมันส่วนเกินลงให้อยู่ในระดับปกติ
การควบคุมไม่ให้มีการสะสมเพิ่มขึ้น ได้แก่ การควบคุมการกิน ทั้งชนิดของอาหาร และพฤติกรรมการกิน การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการกินนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ เพราะบางครั้งรสชาติเย้ายวนของอาหาร และความเคยชินมันทำให้เรากินมากเกินความต้องการของร่างกายโดยไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างเช่น อาหารว่างจำพวก ชา กาแฟ และขนมเบเกอรี่ และอาจจะมีผลไม้ร่วมด้วยในระหว่างการประชุมต่างๆ จะสังเกตเห็นว่ามากกว่าครึ่งของผู้เข้าร่วมประชุม จะรับประทานทุกอย่างที่มีการจัดหามาให้จนหมด ทั้งๆ ที่ อีกไม่เกิน 1-2 ชั่วโมงก็จะมีการรับประทานอาหารมื้อหลักกันแล้ว แบบนี้ไม่นานก็คงได้มีการเปลี่ยนขนาดรอบเอวของกางเกงเป็นแน่ หลักโดยทั่วไปก็คือให้ค่อยๆ ลดการกินอาหารกลุ่มที่มีรสหวาน และกลุ่มอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันในสัดส่วนที่สูงลงไปเรื่อยๆทีละน้อยในแต่ละวัน เพราะอาหารเหล่านี้แต่ละอย่างนี่อร่อยทั้งนั้นขืนลดลงแบบหักดิบไม่เคยเห็นใครสำเร็จซักราย
สำหรับการลดไขมันในส่วนที่เกิน ถ้าไม่นับการดูดไขมันโดยวิธีทางศัลยกรรมแล้ว การที่ทำให้กล้ามเนื้อมีการทำงานในระดับเบาๆ และเป็นเวลานานประมาณ 1 ชั่วโมงขึ้นไป ถือเป็นการทำให้ร่างกายนำเอาสารไขมันไปใช้ประโยชน์ในการเป็นแหล่งพลังงานในกล้ามเนื้อมากที่สุด เพื่อที่จะให้เข้าใจถึงเหตุผลข้างต้น ผมขอเล่าถึงความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการใช้พลังงานของกล้ามเนื้อ แบบย่อพอให้เข้าใจ
คือ ตามปกติกล้ามเนื้อจะได้สารพลังงานเพื่อใช้ในการหด-คลายตัวของกล้ามเนื้อจากสารต่างๆ ดังนี้
- สาร ATP และ creatine phosphate สารทั้งสองตัวนี้เป็นสารที่เกิดปฏิกิริยาทางชีวเคมีในกล้ามเนื้อแล้วสลายให้พลังงานเพื่อใช้ในการหดตัวของกล้ามเนื้อได้รวดเร็วมาก แต่สารนี้ถูกเก็บสะสมในกล้ามเนื้อในปริมาณที่น้อย ว่ากันว่าถ้ากล้ามเนื้อใช้เฉพาะสารทั้งสองชนิดนี้เป็นสารให้พลังงาน กล้ามเนื้อจะสามารถหดและคลายตัวได้ประมาณ 100 ครั้ง(หรือในเวลาประมาณ 20 วินาที )ก็ใช้หมดแล้ว
- สารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต เช่น glycogen ที่สะสมในใยกล้ามเนื้อและในตับ ถือว่าเป็นสารพลังงานที่สำคัญที่สุดในการทำงานของกล้ามเนื้อ เพราะถ้ากล้ามเนื้อมีความต้องการใช้สารพลังงานในปริมาณที่มากและมีอัตราการความต้องการสารพลังงานต่อหน่วยเวลาที่สูง เช่น การวิ่งแข่งระยะสั้น เซลล์กล้ามเนื้อก็จะมีการสลาย glycogen ที่เก็บสะสมไว้ในเซลล์ โดยปฏิกิริยาทางชีวเคมีแบบไม่ต้องอาศัยออกซิเจน (glycolysis) ซึ่งจะให้สารพลังงานที่สามารถทำให้กล้ามเนื้อทำงานอย่างเต็มที่ประมาณ 2 นาทีแล้วจะเกิดการเหมื่อยล้าตามมา จากสาเหตุที่ ปฏิกิริยาทางชีวเคมีแบบไม่ต้องอาศัยออกซิเจนทำให้มีกรด lactic สะสมในกล้ามเนื้อ แต่ถ้ากล้ามเนื้อไม่ได้มีความต้องการพลังงานในอัตราที่สูงมากนัก เช่น การวิ่งจอกกิ้ง การเต้นแอโรบิก เซลล์กล้ามเนื้อจะใช้ปฏิกิริยาทางชีวเคมีแบบอาศัยออกซิเจนซึ่งจะให้สารพลังงานได้มากกว่าและไม่มีการสะสมของกรดlactic กล้ามเนื้อจะทำงานได้นานกว่าและเกิดการเหมื่อยล้าน้อยกว่า
- สารไขมัน (free fatty acid และ triglyceride) ในกล้ามเนื้อและในเซลล์ไขมัน สารนี้จะให้พลังงานมากกว่าสารกลุ่มคาร์โบไฮเครตถึงกว่า 10 เท่า แต่มีข้อเสียคือปฏิกิริยาทางชีวเคมีดังกล่าวนั้นมีอัตราการสร้างสารพลังงานต่อหน่วยเวลาค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับสารคาร์โบไฮเดรต
|