ธิติมา ปฏิพิมพาคม
ปากกับใจตรงกัน เมื่อไหร่ แล้วคุณไม่รู้จักยับยั้ง รับรอง “ความอ้วน” คงไม่หนีไปไกลจากตัวคุณแน่ ก็เพราะตามใจปาก ไม่ค่อยได้ใช้พลังงาน น้ำหนักก็เลยขึ้นเอาๆ สุดท้ายก็เลยต้องศึกษาหาโปรแกรมการลดน้ำหนักมาปรับน้ำหนักตัวเองลง ในปัจจุบันมีหลายรูปแบบ มีทั้งสื่อที่เป็น วีดีโอ ซีดี วีซีดี หนังสือ สถาบันลดน้ำหนักซึ่งถ้าลองทำอย่างจริงจังตั้งใจแล้วรับรองว่าได้ผลแน่นอน อย่างเราเป็นประชาชนคนอ้วนธรรมดาๆ ถ้าคิดจะลดน้ำหนักก็ควรเลือกโปรแกรมการลดน้ำหนักที่เป็นตัวเองจริงๆ หรือถ้าต้องเสียค่าใช้จ่ายก็ควรจะเสียอย่างเหมาะสมและเป็นประโยชน์ปลอดภัยได้ผลมากที่สุด ก่อนอื่นถามใจคุณดูก่อนว่าเอาแน่ไหม
ว่ากันว่าการลดน้ำหนักให้ได้ผลนั้น ต้องมีความตั้งใจจริง สำคัญที่สุด นิสัยคนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยเคร่งวินัยกับตัวเอง หวังพึ่งคนอื่นเสียมาก การลดน้ำหนักจึงเป็นงานท้าทายที่คุณจะต้องสร้างวินัยและเคร่งครัดกับตัวเอง ในการต่อสู้กับความเคยชินโดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน
หัวใจสำคัญของการลดน้ำหนักคือ การควบคุมอาหารให้ถูกวิธี “ห้ามอดอาหาร” แต่ให้ เลือก หรือจำกัดชนิดอาหารที่มีผลต่อน้ำหนัก เพิ่มการออกกำลังกายและต้องทำสม่ำเสมอ หากต้องพึ่งยาลดน้ำหนัก ต้องใช้ตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
ในชีวิตจริงเราใช้เครื่องทุ่นแรงกันตลอดเวลา พลังงานจึงถูกใช้น้อย ส่วนที่เกินจึงสะสมไว้ในร่างกาย เวลาที่ร่างกายใช้พลังงาน ร่างกายจะเลือกว่าต้องใช้พลังงานจากน้ำตาลในเลือด ซึ่งเป็นอาหารที่มาจากแป้ง น้ำตาล ที่กินเข้าไป หรือร่างกายจะนำไขมันที่สะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ ออกมาใช้เป็นพลังงาน ถ้าใช้พลังงานอย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่ได้รับประทานอาหารเพิ่มเติมก็จะทำให้ร่างกายผอมลง ดังนั้นกิจกรรมต่างๆ ที่ทำควรมากกว่า 15 นาที เพื่อให้ร่างกายมีการใช้ไขมันที่สะสมอยู่ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการลดน้ำหนัก แต่ถ้าคุณได้ออกกำลังเกินกว่า 30 นาที แต่ไม่เกิน 1 ชั่วโมงอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ก็มีส่วนช่วยกล้ามเนื้อหัวใจให้แข็งแรงขึ้น ป้องกันโรคหัวใจ โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูงเป็นรายการแถมมาจากน้ำหนักที่ลดลง
การลดน้ำหนักด้วยตัวเอง ในทางปฏิบัติอาจจะไม่ง่ายและไม่ทันใจ แต่วิธีลดน้ำหนักที่ปลอดภัยและได้ผล คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินซึ่งให้ผลระยะยาว ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความตั้งใจ ความเต็มใจที่จะเปลี่ยนนิสัยการกิน ควบคุมอาหาร การใช้พลังงานร่วมกับการออกกำลังกายด้วย
“ความอ้วน” มาจากไหน จะเห็นว่าคนที่สามารถรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานปกติได้ มักจะเป็นผู้ที่มีการควบคุมพฤติกรรมการกิน และมีการใช้พลังงานอย่างเหมาะสมปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ แต่ผู้ที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักเพิ่มๆ ลดๆ ที่เรียกว่า “โยโย” นั้น หลังจากเลิกควบคุมอาหารแล้ว มักจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่าลด เนื่องจากพยายามลดน้ำหนักแต่ทำได้ไม่สม่ำเสมอ ความจริงแล้วในช่วงแรกที่น้ำหนักลดส่วนใหญ่จะเป็นส่วนของน้ำในร่างกาย ระยะต่อมาถึงจะเป็นส่วนไขมัน ส่วนที่พลอยลดไปกับไขมันด้วยโดยไม่ตั้งใจคือกล้ามเนื้อซึ่งเป็นโปรตีน หลังจากนั้นน้ำหนักจะคงที่
หากไม่ปฏิบัติต่อจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นคือ ไขมันไม่ใช่โปรตีน การลดน้ำหนักที่ถูกต้องนั้นจึงต้องออกกำลังกายร่วมกับการควบคุมอาหาร เป็นการเพิ่มการป้องกันไม่ให้โปรตีนในกล้ามเนื้อลดลง การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อทำให้ร่างกายใช้พลังงานจากไขมันมากกว่าพลังงานจากโปรตีนในกล้ามเนื้อ และเท่ากับเพิ่มอัตราการเผาผลาญของร่างกายด้วย
อาหารที่ใช้ควบคุมน้ำหนัก ต้องการลดปริมาณไขมันลงซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากหากคิดน้ำหนักของสารอาหารหลัก ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน แล้วไขมันจะให้พลังงานมากเป็น 2 เท่าของอาหารประเภทโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต คือ ไขมัน 1 กรัมให้พลังงาน 9 แคลอรีคาร์โบไฮเดรต 1 กรัมให้พลังงาน 4 แคลอรี และโปรตีน 1 กรัมให้พลังงาน 4 แคลอรีเช่นกัน
พลังงานจากไขมันในอาหารจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันในร่ายกายได้ง่ายกว่าพลังงานจากโปรตีน และคาร์โบไฮเดรต กรณีที่ร่างกายได้รับพลังงานเกิน ไม่ว่าจะเป็นอาหารไขมัน โปรตีน หรือคาร์โบไฮเดรต พลังงาน 2 ส่วนที่เกินนี้จะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันเก็บไว้ตามหน้าท้อง ต้นแขน ต้นขา สะโพก แต่ประสิทธิภาพการสะสมไขมันจากอาหารไขมันนั้นมีมากกว่า ดังนั้นในบางคนการลดอาหารไขมันที่อยู่ในอาหารจะช่วยลดพลังงานลงได้โดยไม่จำเป็นต้องลดปริมาณอาหาร ถ้าอาหารนั้นเป็นอาหารที่มีไขมันต่ำและมีเส้นใยอาหารสูงในแต่ละมื้อ
การลดปริมาณไขมันในอาหารไม่ง่ายนัก เพราะคนที่รับประทานอาหารประเภทไขมันมากมักจะชอบและคุ้นเคยกับรสชาติ ฉะนั้น ในการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคจากที่เคยบริโภคอาหารที่มีไขมันมาก ๆ มาเป็นอาหารที่มีไขมันน้อยลง น้อยลง จึงควรจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปเป็นวิธีที่จะได้ผลมากกว่าการที่จะงดไขมันทันที เนื่องจากต้องอดทนใช้เวลาปรับตัวให้เข้ากับรสชาติที่ไม่คุ้นเคย |