บทความเรื่องนี้คัดสรรมาเพื่อผู้ที่ชอบพูดติดปากว่า “ฉันยุ่งจนไม่มีเวลาให้กับครอบครัวหรือแม้แต่กับตัวเอง !! ”
เป็นเรื่องปฏิเสธไม่ได้ว่า งาน ครอบครัว และเวลาส่วนตัว สามส่วนนี้รวมอยู่ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมงที่มนุษย์ทุกคนมีเทียบเท่ากันหมด แตกต่างกันตรงที่ว่าใครจะสามารถจัดสรรสัดส่วนให้ลงตัวได้มากกว่ากัน ความหมายของการจัดสรรลงตัวต้องตอบโจทย์ความต้องการของทั้งสามส่วนได้ตามเป้าด้วย สาเหตุหลักของปัญหาครอบครัว ปัญหาชีวิตก็มาจากเรื่องนี้ ตราบใดที่คนยังต้องการเงิน ความรัก และสนองตอบความต้องการของตัวเอง ไปพร้อมๆ กัน แถมต้องแข่งขันกับคนอื่นอีกยิ่งทำให้ความสมดุลของชีวิตถูกกระทบจนเสียศูนย์ ความสำเร็จของชีวิตไม่ได้วัดกันที่ใครมีเงินมากกว่ากัน หรือความสำเร็จก้าวหน้าในหน้าที่การงานเกินหน้าคนอื่น ในทางกลับกันก็ไม่ใช่รักครอบครัวจนทิ้งงาน ทุกสิ่งควรจะเดินไปพร้อมๆ กัน อย่างสมดุล ไม่ใช่ทุ่มกับบางอย่างจนสุดโต่งในขณะที่อีกด้านหนึ่งกำลังขมวดปมปัญหาแน่นขึ้นทุกวัน
คนเราไม่สามารถกระทำทุกสิ่งให้สำเร็จได้ในเวลาเดียวกัน ดังนั้นคุณต้องเริ่มบริหารเวลาใหม่และจัดสรรสิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับก่อนหลัง พูดง่ายๆ คือต่อไปนี้ไม่ว่าคุณจะทำอะไรต้องมีแผนทั้งเรื่องงานและเรื่องครอบครัว จัดเป็นตารางเวลาซึ่งจะทำให้ชีวิตมีระบบมากขึ้น แล้วก็ไม่ใช่เอา 24 ชั่วโมงหาร 3 เพราะเป็นไปไม่ได้ ความสมดุลของชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ใช้ไปกับสิ่งนั้น แต่อยู่ที่คุณภาพ สาระและคุณค่าที่เราได้ทำสิ่งนั้นๆ ต่างหาก ตัวเอย่างเช่น บางคนกลับบ้านค่ำเพราะมีงานมาก แต่ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวยังสนิทแนบแน่น นั่นเป็นเพราะเขามีวิธีใส่ใจ รู้จักใช้โอกาสและเวลาให้เป็นประโยชน์
จงให้คุณค่ากับสิ่งสำคัญในชีวิต เป็นปกติของคนที่ยุ่งมากที่มักจะลืมให้ความสำคัญกับสิ่งมีค่าในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพตัวเอง หรือความรู้สึกของคนในครอบครัว กว่าจะรู้สึกตัวก็สายเสียแล้ว เข้าทำนองวัวหายล้อมคอก ลองใช้วิธีตั้งคำถามตัวเองว่า “ถ้าคุณมีชีวิตอยู่ได้อีกเพียง 1 ปี จากนี้คุณต้องการจะทำอะไร?” แล้วพิจารณาคำตอบว่าสิ่งที่คุณกำลังปฏิบัติแตกต่างจากสิ่งที่คุณต้องการอย่างไร ถ้าตอบตัวเองว่าต้องการใช้เวลากับครอบครัวของคุณเป็นอันดับแรก แล้วคุณได้จัดเวลาเพื่ออยู่กับครอบครัวหรือยัง?
วางแนวทางชีวิตและอนาคต เมื่อรู้ความต้องการแท้จริงของตัวเองแล้ว ก็มองหาแนวทางที่จะทำให้สิ่งนั้นบรรลุผล อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยไม่ได้ทำอะไร เช่น อยากไปเที่ยวด้วยกัน ก็รีบจองห้องพักเสียเลยอย่ารีรอ
จัดเวลาให้เหมาะสม การทำตารางเวลาเท่ากับเป็นการวางแผนและจัดระบบตัวเองให้เข้าที่เข้าทาง ซึ่งจะทำให้คุณทราบถึงเวลาเริ่มต้น และสิ้นสุดของภาระกิจแต่ละอย่าง ต้องเคร่งครัดและมีสมาธิกับการทำงานที่รับผิดชอบจึงจะได้งานดีมีคุณภาพ สำเร็จตรงเวลา
ที่ทำงาน - ใช้หลักการให้ความสำคัญและการจัดตารางเวลาเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ ลองมองว่าอะไรเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดที่หัวหน้างานต้องการ - หากสิ่งที่ทำอยู่เป็นงานนอกเหนือจากงานที่รับผิดชอบ ควรบอกให้หัวหน้างานรับทราบว่ามีธุระ และจะกลับมาทำงานที่ค้างไว้ให้เสร็จในเวลาอื่นแทน - ชี้แจงว่าตัวเองกำลังรับผิดชอบงานบางอย่างอยู่ ให้หัวหน้าบอกว่างานส่วนใดต้องการด่วนที่สุด - บอกหัวหน้าถึงเวลาที่สะดวก และขอความเห็นว่า คิดอย่างไรกับเวลาดังกล่าว
ที่บ้าน - บอกตารางงานและกิจกรรมต่อกันและกันภายในครอบครัวเพื่อหลีกเลี่ยงการขัดแย้ง - สังสรรค์กันในครอบครัวอย่าให้ขาดอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง - ฝึกให้สมาชิกในครอบครัวดูแลและช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุดในทุกเรื่อง - ว่าจ้างพี่เลี้ยง แม่บ้านสักคนจะทำให้คุณมีเวลาเหลือในแต่ละวันมากขึ้น
สิ่งที่คุณต้องปรับตัวเพื่อปฏิบัติการตามแผนใหม่ให้สำเร็จ ต้องความตั้งใจจริง บอกตัวเองว่า “จะต้องทำให้ได้” ลืมคำว่า “เอาไว้ก่อน” ให้สนิท
ปัจจัยหลักในการสร้างความสมดุลให้ชีวิต
1. รักษาสุขภาพให้สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ย่อมนำมาซึ่งพลังงานในการทำงานและความคิดสร้างสรรค์ที่ชัดเจนเฉียบคม - สุขภาพกายดูแลได้ไม่ยาก ด้วยเรื่องอาหารการกิน พักผ่อนให้พอ และการออกกำลังกายสม่ำเสมอ - สุขภาพใจยากกว่า จิตใจที่สมบูรณ์ทำให้เกิดความกระปรี้กระเปร่า มีพลัง มองเหตุการณ์ร้ายเป็นเรื่องขบขัน เข้าถึงความสวยงามของสิ่งต่างๆ มองอุปสรรคเป็นประสบการณ์ชีวิต
2. ทำกิจกรรมที่มีความหมายต่อตนเองหรือผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม อาชีพที่ทำอยู่ เป็นอาสาสมัคร หรือแม้แต่การทำงานบ้าน เมื่อทำมากเกินไป ก็จะเกิดความไม่สมดุล ลองใช้วิธีประเมินสิ่งที่คุณหวังจากการทำงานเพื่อจัดการกับเวลาของคุณและสร้างเป้าหมายในชีวิต แน่นอนเพื่อหาเลี้ยงชีพ เพื่อให้มีปัจจัยในการซื้อหาสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต และแสดงสถานภาพทางสังคม ลองถามตัวเองดูว่าคุณทำงานเพื่ออะไร? และได้อะไรจากการทำงานนี้? ถ้ารู้สึกจำเจ ลองเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงการทำงาน เช่น เข้าอบรมระยะสั้น หรืออาสาสมัครพัฒนาโครงการใหม่เพื่อความก้าวหน้าขององค์กร การทำเช่นนี้ทำให้มีคุณค่าทั้งต่อตนเอง องค์กร และครอบครัว
ข้อคิดในการจัดการกับงาน • ทำงานที่ยาก เช่น แก้ปัญหาในเวลาที่คุณรู้สึกมีความพร้อมสูงสุดในแต่ละวัน • แบ่งงานใหญ่ให้เป็นชิ้นงานย่อย แล้วกำหนดเวลาเสร็จให้กับทุกชิ้นงาน • ศึกษาวิธีบริหารเวลาจากคู่มือ หรือจากบุคคลที่ประสบความสำเร็จ
3. เสริมสร้างความสัมพันธ์อันอบอุ่นระหว่างคนในครอบครัว เพื่อน และผู้ร่วมงาน ความสัมพันธ์ของคนนั้นแต่ละฝ่ายมักจะต้องอดทนกับการแสดงออกของกันและกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ควรทำเพื่อรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้คือระลึกถึงสิ่งดีๆ ที่คุณประทับใจหรือสิ่งที่คุณชอบในตัวเขาหรือเธอ จะพบว่ายังมีสิ่งดีมากมายที่ควรค่าแก่การรักษาไว้ ลองเปลี่ยนแปลงท่าทีที่เริ่มจะขัดเคืองนั้นเสียใหม่ โอนอ่อนให้กันมากขึ้น อาจนัดทานอาหารร่วมกัน เขียนข้อความสั้นๆ สื่อสารกันด้วยสำนวนที่ให้ความรู้สึกดีๆ เป็นต้น
• ควรหาเวลาพูดคุย และเล่นกับลูกๆ เป็นประจำวันทุกวัน ใส่ใจถามไถ่ว่าวันนี้พวกเขาเจอะเจออะไรมาบ้าง เล่าเรื่องที่ตัวคุณเองประสบมาให้ลูกๆ ฟังแลกเปลี่ยนกัน สร้างความรู้สึกว่า “เรามีกันและกัน”ให้หยั่งรากลึกในหัวใจลูกๆ และทุกคนในครอบครัว • หาเวลาพบปะญาติ เพื่อนฝูง หรืออย่างน้อยก็โทรศัพท์พูดคุยทักทายกันเสมอๆ อย่างน้อยก็อาทิตย์ละครั้ง • หาเวลาสนุกสนานเสวนากับเพื่อนร่วมงาน เช่นรับประทานอาหารร่วมกัน หรือสังสรรค์วันศุกร์สุดสัปดาห์ เชื่อมสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงานมากขึ้น
4. ความสงบสุขทางจิตใจ แม้ว่าคุณมีเรื่องวุ่นวายใจต้องขบคิดกับปัญหารอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจ เงินทอง ความสัมพันธ์กับคน ตลอดจนเรื่องของงาน ความสงบสุขทางจิตใจจะช่วยให้คุณมีสติ พร้อมฝ่าฟันอุปสรรคและความหนักใจให้ผ่านพ้นไปได้ ลองนึกถึงสิ่งที่คุณกังวลเข้าขั้นทำให้นอนไม่หลับว่ามันเป็นสิ่งที่คุณจัดการกับมันได้ด้วยตัวเองหรือไม่
ข้อคิดที่จะช่วยให้คุณจัดการกับความกังวล • ปรับปรุงระบบการเงินของคุณ เริ่มต้นจากการออมทรัพย์ ต่อจากนั้นพยายามลดหนี้ โดยเฉพาะควบคุมการรูดบัตรเครดิตของตัวเอง ลองใช้เครดิตการ์ดเพียงครึ่งเดียวจากยอดเงินที่เคยใช้ในครั้งก่อน ลดการเดินช้อปปิ้งลง นี่สำคัญมาก ! • หาพี่เลี้ยง หรือแม่บ้านดูแลคนในครอบครัวทั้งเด็กและคนชรา ตลอดจนงานบ้าน • ระวังภัยใกล้ตัว ควรสอนเด็กในบ้านให้ระวังตัวจากคนแปลกหน้า ส่งลูกเรียนศิลปะป้องกันตัว ดูแลตรวจตราเรื่องน้ำไฟภายในบ้านทุกครั้งที่ไม่ใช้ ฯลฯ • ศาสนาก็จรรโลงจิตใจให้สุขสงบขึ้นได้ ความเชื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าในการมีชีวิต
ข้อคิดที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะช่วยให้คุณสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นกับชีวิต และจะทำให้คุณพร้อมที่จะพัฒนาชีวิตของคุณไปสู่จุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ได้ไม่ยาก เพียงแต่เริ่มต้นลงมือทำเสียแต่วันนี้
ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today
|