ใครๆ ก็อยากมีสุขภาพดี และเราก็เชื่อว่าทุกท่านที่กำลังอ่าน HealthToday อยู่ในขณะนี้ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่รักสุขภาพของตัวเองใช่ไหมคะ?
สุขภาพจะดีได้ สิ่งสำคัญอยู่ที่ “อาหารการกิน” และการปฏิบัติตัว รวมทั้งจิตใจให้ดีด้วย
พูดถึงอาหารเป็นยาตามธรรมชาติ คนโบราณรู้เรื่องนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ใช้อาหารรักษาตัวเองมาตั้งแต่ก่อนการแพทย์สมัยใหม่จะเกิดมาเสียอีก ใครเป็นแฟนหนังแดจังกึมคงทราบดี
แต่พอมาถึงสมัยที่การแพทย์และยาเจริญมากขึ้น เจ็บไข้ไม่สบายก็มียารักษา คนเลยระวังตัวกันน้อยลง เผลอลืมเรื่องคุณค่าอาหารจนต้องเตือนกันทุกวัน ให้เลือกกิน “ของดีๆ”
กินของดี คืออะไร? ใครตอบได้บ้าง (ลองกาเครื่องหมายถูกลงในข้อที่คุณถูกใจ)
อาหารหลัก 5 หมู่ตามที่เรียนมาในวิชาสุขศึกษา
อาหารที่หากินได้ยาก ได้กินแล้วนับเป็นลาภปาก ...แน่นอน...ต้องราคาแพงหน่อยล่ะ จะพระกระโดดกำแพง หูฉลามตุ๋น หรือเป็ดเชอร์รี่ เนื้อเซอร์ลอยด์จากยูเอสเอก็ไม่เกี่ยง
ผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่วทั้งหลาย ละเว้นเนื้อสัตว์ไว้แหละดี ย่อยง่ายแถมได้บุญ
อาหารพวก “ยาโด๊ป” ทั้งหลาย กินแล้วคึกคักมีเรี่ยวมีแรง ฯลฯ
ไม่เพียงแต่กินของดีๆ เท่านั้น....ใครๆ ก็บอกว่าเราควรกิน “อาหารเพื่อสุขภาพ” จนเดี๋ยวนี้ที่ไหนๆ ก็มี “อาหารเพื่อสุขภาพ” วางจำหน่าย (เป็นจุดขายที่เข้าท่าทีเดียว) เอาเข้าจริงแล้ว คุณคิดว่า “การกินอาหารเพื่อสุขภาพ” คืออะไรกันแน่?
- กินอาหารในร้านสะอาดสะอ้าน หน้าตาดี ติดป้ายว่าไม่ใส่ผงชูรส อาหารก็เป็นพวกแกงกะทิ ของทอด ของผัด อาหารประจำวันทั่วไปแบบไทยๆ
- สาวหุ่นดีผู้ไม่นิยมข้าว งดแป้งทุกชนิด กินเกาเหลาทุกมื้อเที่ยง มื้อเย็นกินสลัด สลับกับส้มตำ
- คนรักสุขภาพที่พ่ายแพ้ต่อข้าวมันไก่มื้อกลางวัน และเค้กครีมท่วมในมื้อบ่าย ตกเย็นต่อด้วยบุฟเฟต์ วันรุ่งขึ้นรู้สึกผิดเลยหันมากินสลัดทั้งวัน หวังว่าจะช่วยถ่วงดุลได้บ้าง
- นักปาร์ตี้ที่นิยมการดริงค์แบบชิลๆ แกล้มกับแกล้มจานเล็กจานน้อย แทบทุกเย็นแทนข้าว แถมยังกะว่าจะถอนพิษออกซิแดนซ์ด้วยวิตามินซีวันละสองเม็ด และทำดีทอกซ์เดือนละหน
- นักนิยมข้าวขาหมู สลับกับกระเทียมสดและน้ำชาจีนรสเข้ม เชื่อว่าชาจีนและกระเทียมสดจะช่วยสลายไขมันที่กำลังกินเข้าไปได้
ฟังดูเหมือนแต่ละคนที่กล่าวมา มีเจตนาดีต่อสุขภาพแทบทุกข้อเลยใช่ไหม? แต่เมื่อมองพฤติกรรม หรือสไตล์การกินลักษณะที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แล้ว นักโภชนาการคงไม่สามารถให้คะแนนได้ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นเป็นวิถีทางที่ถูกต้องของการรักสุขภาพที่แท้จริง
การทำร้ายตัวเองด้วยการดื่มเหล้าเป็นกิจวัตร แม้จะบำรุงตัวเองด้วยวิตามินเสริมอาหารต่างๆ มากมายแค่ไหน ถึงช่วยก็คงไม่ได้มากเท่าไหร่ จะช่วยจริงก็ต้องเลิกดื่มแอลกอฮอล์นั่นแหละดีสุด ...เช่นเดียวกับคนที่กินมากเกินไปในมื้อหนึ่ง ไม่สามารถมาทดแทนด้วยการกินน้อยในมื้อต่อไป หรือวันต่อไปได้ ซึ่งผลก็มักจะเห็นๆ กันอยู่ว่าคนที่ทำแบบนี้มักจะน้ำหนักขึ้นเอาๆ ลดอย่างไรก็ไม่ลง เพราะร่างกายไม่สามารถใช้พลังงานจากอาหารที่กินเข้าไปในมื้อที่มากเกินได้หมด ส่วนที่เหลือจึงถูกเก็บสะสมเป็นพลังงานส่วนเกิน หรือไขมันตัวการของความอ้วน แม้มื้อต่อไปจะกินน้อยลงก็ไม่ช่วยอะไรเท่าไหร่
เรื่องนี้สำคัญ เพราะเราต่างรู้ว่าความอ้วนเป็นที่มาของโรคภัยไข้เจ็บมากมาย หลายโรคเป็นเรื้อรังไม่มีวันหาย อย่างความดันเลือดสูง เบาหวาน หลอดเลือดตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต ทุกคนกลัวอ้วน แต่พฤติกรรมการกิน หรือเรียกให้ถูก คือการเลือกอาหารที่กิน ในแต่ละวันมักจะสวนทางกับสิ่งที่ควรทำเสมอ
ตัวอย่างเช่น เวลานึกถึงอาหารที่ทำให้อ้วน หลายคนนึกถึงอาหารฟาสต์ฟู้ดแบบฝรั่ง แฮมเบอร์เกอร์ ไก่ทอด น้ำอัดลมไว้ก่อน จึงพยายามหลีกเลี่ยงโดยหันมากินอาหารไทยๆ เปิบข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย ข้าวราดแกง พะแนงไก่ต่างๆ อย่างสบายใจ แทบไม่นึกเลยด้วยซ้ำว่าอาหารเหล่านี้ก็มีส่วนผสมของน้ำมันในปริมาณมากพอที่จะทำให้คุณเกิดไขมันส่วนเกินได้ง่ายมาก
บริษัทวิจัยยักษ์ใหญ่อย่าง เอซี เนลสัน ได้ทำงานวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อสำรวจนิสัยและวิธีการกระตุ้นความสนใจในการรับประทานอาหารและดื่มนอกบ้าน ซึ่งสัมพันธ์กับโรคอ้วน งานชิ้นนี้ใช้กลุ่มตัวอย่างถึง 330 คน จากแหล่งข้อมูล 21 แห่งในทวีปอเมริกาเหนือ เอเชียเหนือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรป ให้แต่ละคนร่วมอภิปรายนานกว่า 3 ชั่วโมงเพื่อให้ทราบถึงการสร้างนิสัยด้านการกินดื่มนอกบ้าน ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่เวลาซื้ออาหารมักจะเลือกจากความเคยชินของตัวเองมากกว่าการประเมินถึงคุณค่าหรือความจำเป็น ของอาหาร
การตัดสินใจในกระบวนการเลือกยึดหลักการง่ายๆ ทั่วไป เช่น อาหารอร่อย ดูสะอาดดี ราคาไม่แพง ฯลฯ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ในที่สุดก่อให้เกิดเป็นนิสัย ในการเลือกซื้ออาหารครั้งต่อไปก็จะใช้วิธีเหมือนครั้งแรก ถ้าไม่มีสิ่งใดมาขัดจังหวะต่อการตัดสินใจหรือมากระตุ้นให้แต่ละคนทดลองสิ่งใหม่ๆ เช่น ถ้าวันหนึ่งไปตรวจเช็คสุขภาพร่างกายแล้วแพทย์บอกว่า “คุณอ้วนเกินไปแล้วนะ” หรือ “ไขมันในเลือดคุณสูงเกินไปแล้วนะ” นี้จึงค่อยกระตุกให้คนนั้นหันมาปรับนิสัยการกินการอยู่เสียใหม่ อย่างนี้เป็นต้น
ผลที่ได้จากงานวิจัยครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงการรับรู้และความเข้าใจที่ผิดๆ ของคนอีกเป็นจำนวนมากในเรื่องการเลือกอาหารเพื่อให้เหมาะกับสุขภาพของร่างกาย อย่างเช่นตัวอย่างที่คุณได้อ่านมาตั้งแต่ต้น ผู้วิจัยเขาจึงได้เสนอแนะหนทางแก้ไขไว้อยู่ 3 ประการ เอาไว้สำหรับคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องสุขอนามัยชุมชนต่างๆ นำไปใช้ปฏิบัติ หรือประชาสัมพันธ์ในคนในชุมชนของตัวเองได้ทราบ
หนึ่งคือ จำเป็นต้องบ่งชี้ และขจัดความเชื่ออย่างผิดๆ ทั่วไปที่เกี่ยวกับวิธีการควบคุมน้ำหนักตัวที่มีประสิทธิภาพ ให้คนเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง และสองคือควรมุ่งให้ข้อมูลไปที่คนตั้งแต่วัยเรียน วัยหนุ่มสาว วัยเริ่มมีครอบครัวซึ่งต่างเป็นช่วงที่คนกำลังเปลี่ยนแปลงนิสัยได้ตระหนักรู้ถึงข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการกินอาหารอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ เพื่อให้เขาได้มีทางเลือกที่จะตั้งต้นสร้างนิสัยใหม่ที่ดีต่อสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ
ส่วนข้อสามคือ การประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการกินอยู่ที่ถูกต้อง ต้องให้ชนิดที่ว่า นำไปปฏิบัติได้จริงเห็นเป็นรูปธรรม อาหารปรุงด้วยอะไรดีไม่ดี มีแคลอรีเท่าไหร่ คุณค่าทางโภชนาการมีอะไรบ้าง เค็มเกินไปไม่ควรกิน ต้องแนะนำให้คนรู้จักสังเกตได้ชัดเจนด้วยตัวเอง เพื่อเสนอโอกาสใหม่ๆ ในการเปลี่ยนนิสัยที่เคยชินมาแต่เดิมๆ ที่จะดีต่อสุขภาพ
ถึงเวลาแล้วที่ต้องทบทวนว่า อาหารที่คุณกินเข้าไป จานไหนเป็น “อาหารเพื่อสุขภาพ” ที่แท้จริงบ้าง แล้วสร้างนิสัยความเคยชินกับการกินอาหารเสียใหม่ ยังไม่สายเกินไปนะคะ
ขอขอบคุณ : ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านอาหารแห่งเอเชีย (Asian Food Information Centre) เข้าถึงได้ทาง www.afic.org ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today |