มนุษย์เราหลีกหนี เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปไม่พ้น เมื่อย่างเข้าสู่วัยเลข 5 เมื่อนั้นความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอันไม่พึงปรารถนาก็ปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อกายแก่ จิตก็แก่ขึ้นตามไปด้วย แต่เป็น “แก่-กล้า” มิใช่ “แก่ชรา” เหมือนสังขาร บางคนอายุ 70 แต่หัวใจหยุดไว้ที่ 50 ดูกระชุ่มกระชวยรุ่มรวยอารมณ์ขัน สุขภาพจึงแข็งแรงพอที่จะหาความสำราญให้ชีวิตได้อยู่ ตรงกันข้ามบางคนเลขอายุยิ่งมาก ใจยิ่งห่อเหี่ยวขึ้นทุกวัน อย่างนี้เห็นทีจะอยู่ไม่ยึด อันนี้ไม่ได้แช่งแต่อยากแนะนำว่า มาใช้ชีวิตบั้นปลายให้มีความสุขจนหยดสุดท้ายกันดีกว่า
กายภาพเปลี่ยนไปตามวัย
อายุ 40 ความเปลี่ยนแปลงเริ่มมาเยือนเป็นการชิมลาง โดยเฉพาะลายเส้นบนใบหน้าเพิ่มมากขึ้นและดูจะถาวรเพราะเริ่มลึกลบออกยาก ผิวแห้ง ผมเริ่มมีสีเทาแซมและเส้นเล็กลง บางลงด้วย
อายุ 50 ผิวหนังเริ่มลดความยืดหยุ่นดึ๋งดั๋งลง กลายเป็นว่ายืดแล้วไม่ค่อยคืนรูป บางคนจะมีจุดด่างสีน้ำตาลปละปลายบนผิวหนังทั่วไป เป็นสัญลักษณ์ที่หลอกตัวเองยากว่าขณะนี้เรานั้นเข้าสู่วัยตกกระหรือวัยทองอย่างแท้จริง กล้ามเนื้อยืดหยุ่นน้อยลงเช่นกัน กระดูกเริ่มบางลง เรียกได้เต็มปากว่าเข้าสู่วัยเมโนพอส สำหรับผู้หญิง และแอนโดรพอสสำหรับผู้ชาย
อายุ 70 ระบบประสาทสัมผัสการรับรู้ส่วนต่างๆ เริ่มเชื่องช้า ทั้งสายตา การรับฟัง การคิด การเคลื่อนไหว ตลอดจนการรับรสของลิ้นก็ไม่ดีเหมือนเดิม จนอาจทำให้ไม่เจริญอาหาร การย่อยอาหารก็ช้าลง เส้นเลือดแข็งขึ้น คนช่วงวัยนี้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจก็เริ่มไม่ดีเหมือนเดิมด้วย
อายุ 80 การทำงานของระบบปัสสาวะจะควบคุมได้ลำบากขึ้น ความจำต่างๆ ไม่ดีเหมือนเดิม อย่างไรก็ตามไม่มีใครฝืนธรรมชาติได้ แต่ไม่ว่าอายุจะผ่านไปเท่าใดคนเราก็ควรจะดูแลตัวเอง หรือญาติผู้ใหญ่อย่างดีเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีสุขที่สุดตามวัย เรามีวิธีดูแลตัวเองง่ายๆ ที่คุณอาจลืมนึกถึง มาฝากกัน...
ผิวพรรณ
- ทามอยซ์เจอร์ไรเซอร์หลังอาบน้ำเสมอ เพื่อช่วยให้ผิวแห้งชุ่มชื่นขึ้น ปกป้องผิวจากปัญหาต่างๆ ได้ในระดับหนึ่ง เช่น ผิวแห้งอักเสบ ตกสะเก็ด คัน แล้วเผลอเกาเป็นแผล
- หลีกเลี่ยงแสงแดดช่วงกลางวัน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีต่างๆ เช่น ผงซักฟอก ถ้าจำเป็นให้ใส่ถุงมือยางเสมอ
ผม
- ใช้แชมพูอ่อนๆ สระผมทุก 3-4 วัน ใช้ครีมนวดผมเท่าที่จำเป็น
- ใช้น้ำเย็นหรือน้ำอุ่นสระผมเท่านั้น เพราะน้ำร้อนหรือน้ำอุ่นเกินไปจะทำให้รากผมหลุดร่วง
- ถ้าไม่ชอบผมขาว การย้อมสีผมอาจช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้บ้าง
ตา
- เมื่อรู้สึกว่าตามีปัญหาควรรีบไปตรวจเช็คสายตากับจักษุแพทย์ รวมทั้งอย่าลืมตรวจวัดสายตาเป็นระยะ ควรเปลี่ยนแว่นสายตาให้พอดีเสมอ
- พบจักษุแพทย์ทุก 2-3 ปี เพื่อตรวจเช็คกระจกตาและความดันโลหิตในตา
- จัดแสงในบ้านให้สว่างพอเพียง
หู
- หลีกเลี่ยงเสียงดัง
- พบแพทย์เมื่อหูหรือการรับฟังมีปัญหา และควรยอมรับการใช้อุปกรณ์ช่วยฟังหากจำเป็น
เซ็กซ์
- มนุษย์เราสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตลอดอายุขัยไม่ว่าจะอายุเท่าไรตราบที่ยังมีความปรารถนา แต่ต้องระวังหากมีโรคประจำตัว เช่นโรคหัวใจ โรคติดเชื้อ หอบหืด เป็นต้น
- สำหรับฝ่ายหญิงหลังวัยเมโนพอสอาจใช้สารหล่อลื่นช่วยได้
ระบบขับถ่าย
- ควรพบแพทย์เมื่อคุณมีปัญหาการขับปัสสาวะ เพราะปัญหาบางอย่างจำเป็นต้องได้รับการรักษา
- การใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ อาจมีความจำเป็นในบางรายที่ไม่สามารถควบคุมระบบขับถ่ายได้ ซึ่งน่าจะทำให้สะดวกสบาย ไปไหนมาไหนได้อย่างไม่ต้องกังวล
กล้ามเนื้อและหัวใจ
- ปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนออกกำลังกาย ว่ามีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง
- เลือกบริหารกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนที่เหมาะสมกับวัยสูงอายุ เช่น บริหารแขน ขา ด้วยการแกว่งไปมา หรือยกขึ้นลง
- เลือกการออกกำลังกายที่ไม่หนักเกินไป เพื่อให้กล้ามเนื้อได้เคลื่อนไหว ปอด และหัวใจ ทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้น
- การเดิน ว่ายน้ำ รำมวยจีน เป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ
- เมื่อเริ่มต้นออกกำลังกาย ให้เริ่มต้นเบาๆ อย่าหักโหม แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละนิดในวันต่อไป ควรออกกำลังกาย 3-5 วันต่อสัปดาห์ วันละ 15-60 นาที ต่อครั้ง
- หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นเมื่อออกกำลังกาย เช่น หน้ามืด เป็นลม แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ฯลฯ ควรพบแพทย์
ข้อต่อต่างๆ
- รักษาข้อต่อต่างๆ ด้วยการบริหารสม่ำเสมอ หมุนคอ ข้อไหล่ ข้อมือ ข้อเข่า ข้อเท้า เอว
- ยืดข้อศอก และเข่า - บิดหมุนลำตัวไปมา - ถ้ายัง sit ups ได้ก็ควรทำ - แกว่งขาหน้า-หลัง - บริหารนิ้วบ่อยๆ อาจจะด้วย การเล่นดนตรี พิมพ์คอมพิวเตอร์ หรือทำงานอดิเรกอื่นๆ ที่ใช้นิ้วมากๆ
- เล่นโยคะ ไทชี่ จะทำให้ข้อต่อต่างๆ มีความยืดหยุ่นดีขึ้น และทำให้การหายใจ และเลือดลมในร่างกายหมุนเวียนดี มีความสมดุลมากขึ้น
- รักษามือและเท้าด้วยการใส่ support หรือถุงเท้า ถุงมือในยามนอนตอนกลางคืน เพื่อป้องกันความเย็นทำให้กล้ามเนื้อยึดเกร็งจนเป็นตะคริวได้
กระดูก
- ในผู้หญิงมักจะพบปัญหากระดูกบางลงในคนที่อายุ 60 ปีไปแล้ว ดังนั้นควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงและเสริมด้วยผลิตภัณฑ์แคลเซียมอื่นๆ
- ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัยทองเมื่อเข้าสู่วัยเมโนพอส เพราะอาจจำเป็นต้องได้รับการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน
ฟัน
- แปรงฟันให้สะอาดทั้งเช้าและก่อนนอน เลือกยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ ใช้ไหมขัดฟันวันละครั้ง
- ในผู้สูงอายุมักจะมีปัญหาเรื่องเหงือกและฟัน คนที่ฟันเหลือน้อยควรใส่ฟันปลอมเพื่อช่วยในการเคี้ยว และควรพบทันตแพทย์ปรับเปลี่ยนฟันปลอมเมื่อรู้สึกว่ามีปัญหา เช่นไม่แน่นพอดี หรือใส่แล้วเจ็บ เป็นต้น
- พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือนเพื่อตรวจสุขภาพเหงือกและฟัน
ข้อปฏิบัติง่ายๆ เหล่านี้ จริงๆ แล้วล้วนเป็นกิจวัตร ของเราๆ ที่พึงใส่ใจอยู่เสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยผู้ใหญ่สูงอายุ แต่อาจจะลืมนึกถึงไปบ้างด้วยความเคยชิน จากนี้ไปอย่าลืมเติมความใส่ใจตัวเองมากขึ้นอีกนิดนะคะ
ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today |