เรื่อง ตวงพร เครือวัฒนกุล
สมัยนี้คุณคงจะเห็นเป็นเรื่องชินตา ที่พอตกตอนเย็นไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ก็จะออกมาเต้นแอโรบิคกันอย่างเมามันตามสวนสาธารณะหรือลานตามห้างสรรพสินค้า นับว่าแอโรบิคในปัจจุบันเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขว้างเลยทีเดียว แต่นอกเหนือจากแอโรบิคบนบกแล้ว ก็ยังมีแอโรบิคอีกประเภทหนึ่งที่น่าสนใจ และได้รับประโยชน์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นั่นก็คือ แอโรบิคน้ำ (AQUA-AEROBICDANCE) กีฬาที่เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย
เท่าที่ผ่านมาในอดีต แอโรบิคน้ำอาจจะยังมีผู้ที่ให้ความสนใจเฉพาะกลุ่มเล็กๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ใช้บำบัดผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเสื่อม และผู้ป่วยหลังการผ่าตัด รวมทั้งนักกีฬาที่อยู่ในช่วงพักฟื้นจากอาการบาดเจ็บ ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ไม่สามารถออกกำลังกายโดยใช้แรงมากๆได้ จึงจะต้องออกกำลังกายโดยใช้วิธีแอโรบิคในน้ำแทน ซึ่งการเคลื่อนไหวในน้ำจะสามารถช่วยลดแรงกระแทกในขณะออกกำลังกายได้เป็นอย่างดีเพราะฉะนั้นอัตราเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจึงมีน้อยมาก
ร.ศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก ผู้อำนวยการวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เล่าถึงจุดเด่นของการเต้นแอโรบิคน้ำว่า...
“ เป็นเรื่องที่น่าทึ่งมากทีเดียวที่ร่างกายคนเราเมื่ออยู่ในน้ำ น้ำหนักตัวจะลดลงไปกว่าครึ่งของน้ำหนักปกติ การออกกำลังกายในน้ำ จึงสามารถลดแรงกระแทกได้มากกว่าการออกกำลังกายบนบก ซึ่งในปัจจุบันแอโรบิคน้ำไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงกลุ่มผู้ป่วยเท่านั้น แอบิคน้ำได้ขยายวงกว้างออกไปมากขึ้น เริ่มได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากก็ออกกำลังกายด้วยแอโรบิคน้ำเพื่อลดน้ำหนัก สตรีมีครรภ์ก็เล่นแอโรบิคน้ำได้เพื่อเป็นการออกกำลังกายอีกทางหนึ่งที่นับว่าปลอดภัยทั้งแม่และลูก หรือแม้แต่คนที่มีสุขภาพแข็งแรงทั่วไป ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ให้ความสนใจในกีฬาแอโรบิคน้ำกันมากขึ้น”
แอโรบิคน้ำก็เหมือนกับแอโรบิคทั่วไป ที่ใช้จังหวะดนตรีเพื่อประกอบการเต้น แต่มีข้อแตกต่างในเรื่องสถานที่ ซึ่งเปลี่ยนจากที่เคยเต้นกันบนบกก็มาเต้นกันในน้ำแทน สระน้ำที่ใช้ควรเป็นสระที่ได้ออกแบบมาสำหรับการออกกำลังกายในน้ำโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีความลึกในระดับเดียวกันทั้งสระ โดยให้มีปริมาณน้ำอยู่ที่ระดับอก เพื่อให้ผู้เล่นได้ออกแรงและใช้กำลังกล้ามเนื้อทุกๆ ส่วนของร่างกายภายใต้แรงต้านทานของน้ำอย่างเต็มที่ ซึ่งจะทำให้ได้ประโยชน์และเกิดการเผาผลาญพลังงานที่ไม่แตกต่างกับการแอโรบิคบนบก
ขั้นตอนของแอโรบิคน้ำ Warm up ไม่ว่าจะเล่นกีฬาประเภทใด การ warm up คงจะต้องเป็นสิ่งแรกที่จำเป็นจะต้องทำอยู่เสมอ เพราะการ warm up จะเป็นการอบอุ่นร่างกายและเตรียมกล้ามเนื้อของผู้เล่นให้พร้อมที่จะออกกำลังกายด้วยท่าทางและจังหวะที่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ โดยจะเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายในจังหวะช้าๆ เช่น ย่ำเท้าอยู่กับที่ในน้ำ และแกว่งแขนขึ้นลงตามไปด้วย เดินก้าวเท้าไปด้านข้าง ซ้าย ขวาสลับกันข้างละ 3 ก้าว ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที
Exercise หลังจากที่ร่างกายได้ปรับสภาพและพร้อมที่จะออกกำลังกายแล้ว ก็จะเข้าสู่ช่วงของการ Exercise ที่เป็นการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง เพิ่มจังหวะการเต้นของหัวใจให้มากขึ้น โดยจะให้ทุกๆ ส่วนของร่างกายได้เคลื่อนไหวอย่างเต็มที่ การเคลื่อนไหวอย่างเต็มที่ในน้ำนั้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว แต่หมายถึงการเคลื่อนไหวร่างกายโดยให้เกิดแรงต้านของน้ำมากที่สุดเท่าที่ร่างกายของแต่ละคนจะทำได้ โดยมีเทคนิคง่ายๆ เช่น วิธีการยืดแขนออกไปวาดน้ำให้กว้างขึ้น การเรียงนิ้วมือให้ชิดติดกัน ทั้งสองวิธีนี้เป็นการเพิ่มแรงต้านทานของน้ำ เพื่อให้ผู้เล่นสามารถออกแรงในการเคลื่อนไหวให้มากขึ้น หรือกระโดดตบใต้เข่าในน้ำ ข้างละ 5 ครั้งสลับกัน ก้าวเท้าออกด้านข้าง และใช้มือแหวกน้ำตามไปด้วย
Cool Down เมื่อร่างกายได้ผ่านการออกกำลังมาอย่างเต็มที่แล้ว ช่วงนี้ก็จะให้ผู้เล่นค่อยๆ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อลง ซึ่งอาจจะเป็นท่าการออกกำลังกายเดียวกับช่วง Exercise แต่จะลดความหนักในการออกแรงลงมาจะกระทำเช่นเดียวกันกับในท่า Exercise แต่จะลดความหนักหน่วง และแรงให้น้อยลง เพื่อให้กล้ามเนื้อค่อยๆ คลายตัวลง
Toning ในช่วงนี้จะเป็นการฝึกกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน เช่น กล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อแขนและขา การออกกำลังกายเฉพาะส่วนอย่างช้าๆ เช่น การวาดแขนสลับกันไปมาอยู่กับที่ บิดเอวสลับซ้ายขวาอย่างช้าๆ เป็นช่วงสุดท้าย |