นพ.สุรวุฒิ ปรีชานนท์
มนุษย์เกิดมาก็ต้องกิน เพราะถ้าไม่กินก็ต้องตาย แต่เมื่อใกล้ตายก็ไม่ค่อยอยากกิน ผู้มีอันจะกินทั้งหลายควรต้องใส่ใจในการกินให้มากๆ ศึกษาให้แน่ก่อนว่าควรจะต้องกินอะไร อย่างไร แค่ไหน และอะไรคือความเหมาะสม อย่ากินไปตามกิเลส คือจิตอยากกินจิตก็สั่งให้กายกินเพื่อสนองตัณหาของจิต คุณควรระลึกไว้เสมอว่า “ความอร่อยเป็นเพียงอุปาทาน” น่าจะช่วยเตือนตนเองให้ลดความอยากลงได้บ้าง หากคุณไม่ทำความเข้าใจให้ดีแล้วการกินตามใจปากจะก่อให้เกิดพิษ ก่อโทษ ภัยได้ง่ายมาก เรื่องของความอ้วนจึงเป็นกันมากในปัจจุบัน ทางแก้ต้องแก้ที่จิตของคนคนนั้นก่อนอื่นใด
ต้องเพิ่มกำลังของสติ เวลากินอาหาร ไม่ใช่ปล่อยตามใจปากแล้วไปแก้ด้วยการใช้ยาลดความอ้วน ความจริงก็คือถ้าไม่กินมากก็ไม่อ้วน แต่ถ้ายังอ้วนแสดงว่ายังกินมากไป อาหารมี 2 ประเภทคือ...
อาหารของกาย หมายถึงอาหารที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้ เพื่อบำรุงร่างกาย ส่วนอาหารของจิต คือความคิด ถ้าจิตคิดดีจิตจะได้อาหารดี ถ้าจิตคิดมาก จิตฟุ้งซ่าน จิตก็จะอ้วนไม่คล่องตัว แต่ตรงกันข้ามถ้าไม่คิดอะไรจิตก็จะไร้ปัญญา ดังนั้นต้องฝึกจิตคิดให้พอเหมาะพอดี คิดให้ถูกต้อง ทำให้จิตมีปัญญา ซึ่งจะทำให้ควบคุมกายและวาจาได้ดี การแสดงออกก็จะดีด้วยเช่นกัน
ดังนั้นการจะเลี้ยงร่างกายให้อยู่ได้นานๆ ก็ต้องบำรุงให้พอดี ที่จริงแล้วความอยากกิน หรือกินมากไป เป็นพฤติกรรมของจิต
อาหารของกายที่สมควรกิน ควรเป็นอาหารชั้นหนึ่ง คืองอกออกมาจากดินโดยตรง ได้แก่ พืช ผัก ผลไม้ เมล็ดพันธุ์ธัญญาหาร และสมุนไพรต่างๆ
สำหรับเนื้อสัตว์ถือเป็นอาหารชั้นสอง เพราะสัตว์ต้องกินพืช หรือสัตว์ด้วยกัน ก่อนที่จะแปรสภาพเป็นเนื้อสัตว์ ไม่ได้มาจากดินโดยตรง
การกินอาหารก็เพื่อให้ได้พลังงาน และซ่อมแซมบ้าน (กาย คือบ้าน) อุปกรณ์ที่ใช้ซ่อมบ้านก็จึงควรเป็นอุปกรณ์ใหม่ คืออาหารชั้นหนึ่ง ถ้ากินเนื้อสัตว์การย่อยสลายของร่างกายต้องสลับซับซ้อนกว่า ต้องเผาผลาญมากกว่าจะได้โมเลกุลเล็กๆ ไปใช้ประโยชน์ได้ แล้วก็จะมีขยะหรือของเสียจากการเผาผลาญจำนวนมากเกิดขึ้นในร่างกาย ร่างกายก็ต้องกำจัดออกไปโดยตับและไต ทำให้ตับและไตต้องทำงานหนัก ที่สำคัญเราคงเลี่ยงไขมันที่มากับเนื้อสัตว์ยาก หากเมื่อสะสมไปนานๆ ก็อาจมีผลของโคเลสเตอรอลในเส้นเลือด และโรคหัวใจได้ง่าย ทำให้ร่างกายของคนที่กินเนื้อสัตว์ต้องทำงานหนักกว่าคนที่กินพืช ผัก แต่การกินพืชผัก ผลไม้ ก็ต้องกินหลายๆ ชนิดอย่ากินซ้ำซาก เพื่อให้ได้สารอาหารจำเป็นที่ร่างกายต้องการครบ
ดังนั้นการกินจึงมีความสำคัญมาก ควรมีสติกำกับตลอด รู้จักสำรวมการกินเป็นส่วนหนึ่งของการระวังปาก ระวังลิ้น ซึ่งปากมีหน้าที่กินและพูดให้ถูกต้อง ดังนั้นต้องใช้สติหรือจิตในการกระทำทุกๆ อย่าง การปฏิบัติธรรมก็เป็นหนทางหนึ่งที่อาจช่วยคุณได้ในการป้องกันไม่ให้กิเลสเข้ามาในลักษณะของรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ความนึกคิด และการพูด
ลองมองดูตัวคุณเองว่ายังอ้วนมีพุงพลุ้ยอยู่หรือไม่ หากว่าใช่แสดงว่าคุณยังสำรวมการกินได้ไม่ดีพอ การปล่อยให้มีน้ำหนักมากเกินไปนั้นจะทำให้โรคต่างๆ ตามมาอีกมาก เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคข้อเสื่อม เป็นต้น ดังนั้นคุณควรจะเอาชนะความอยาก เพื่อควบคุมการกินให้ลดลง
การสำรวมการกิน ถือเป็นระดับอนุบาลของการปฏิบัติธรรม หลักการกินอย่างมีสติ ทำได้ดังนี้
1. ก่อนกินอาหารให้มองจ้องดูอาหารประมาณ 15 นาที ก่อนทุกครั้ง และพิจารณาดูว่าอะไรเป็นพิษเป็นภัย อะไรกินแล้วเป็นประโยชน์อะไรกินแล้วเกิดโทษ จะกินขนาดไหนถึงจะพอดี จะเลือกอาหารอย่างไรดี
2. ขณะจ้องอาหาร ให้พิจารณาว่าจะกินสารอาหารเหล่านี้เพื่อบำรุงร่างกาย เพื่อให้ร่างกายมีพลังทำประโยชน์ต่อไป
3. ให้ใช้ช้อนเล็กๆ ตักเข้าปาก โดยกินคำเล็กๆ เคี้ยวช้าๆ ประมาณ 20-30 ครั้งก่อนกลืน เคี้ยวจนกว่าอาหารในปากจะหมดรสชาติ แล้วค่อยกลืน อย่าคิดว่าอร่อยหรือไม่อร่อย แต่เคี้ยวเพื่อให้รู้รสชาติ เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เป็นต้น คิดเสียว่าสารอาหารเหล่านี้มีประโยชน์ ถ้ากินพอดีก็จะดี กินมากไปก็ไม่ดี
4. พยายามเลือกกิน พืช ผัก เมล็ดพันธุ์ ธัญญาหาร สมุนไพรต่างๆ และผลไม้เป็นหลัก กินเนื้อสัตว์แต่น้อยๆ การกินผัก ผลไม้ จะทำให้ย่อยง่ายและสารอาหารถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายช้าๆ กากใยของพืชจะช่วยอุ้มน้ำไว้ในลำไส้ และค่อยๆ ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายช้า จะทำให้ไม่กระหายน้ำบ่อย นอกจากนี้กากใยจากพืชจะช่วยดูดซับสารพิษให้เข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง และขับออกไปทางการขับถ่าย ขณะเดียวกันกากใยก็จะทำให้การขับถ่ายดีขึ้นด้วย
5. กินเนื้อสัตว์แต่น้อยๆ และทุกครั้งที่กินให้เคี้ยวช้าๆ ละเอียดๆ เพื่อให้ย่อยง่าย แล้วอย่าลืมแผ่เมตตาด้วยนะครับ
หากว่าคุณมีสติในการกิน รู้ว่าอะไรควรกิน อะไรไม่ควรกิน จะกินเท่าไหร่ รู้จักหักห้ามใจไม่ให้เพลิดเพลินหลงใหลไปกับการกิน จงใช้สติบังคับจิตให้กินอย่างถูกต้อง อย่าหลงใหลในรสชาติ คุณก็น่าจะเป็นคนที่มีสุขภาพดีทั้งจิตและกายคนหนึ่งเลยทีเดียว
ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today