ขอบคุณ : โยคะสุตรา ชั้น 23 สาทรนครทาวเวอร์ เอื้อเฟื้อข้อมูลและสถานที่
คุณคงเคยได้ยินกันถึงวิธีการฝึกโยคะเพื่อรักษาสุขภาพกันมาบ้างแล้วใช่ไหมคะ และทราบไหมคะว่า การเล่นโยคะนั้นนอกจากจะเป็นการฝึกกล้ามเนื้อ ช่วยกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายในต่างๆ และเป็นการฝึกสมาธิแล้ว สำหรับคนที่มีน้ำหนักเกิน การฝึกโยคะเป็นประจำจะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้คุณได้ใช้พลังงานมากขึ้น แทนการออกกำลังกายแบบแอโรบิคเพื่อหลีกเลี่ยงการกระทบกระแทกของกระดูกและข้อต่างๆ
ครั้งนี้เราจึงเชิญ อ.สุธีร์ พันทอง อาจารย์สอนโยคะผู้มีประสบการณ์มานานปี ซึ่งปัจจุบันนำการสอนอยู่ที่สถานฝึกโยคะ “โยคะสุตรา” มาแนะนำท่าโยคะบางท่าซึ่งคัดเลือกมาแล้วว่าเหมาะสำหรับคนน้ำหนักเกิน เพื่อคุณอาจนำมาทดลองฝึกได้ด้วยตัวเอง
ท่าโยคะเพื่อการลดน้ำหนักนี้ประกอบไปด้วย 3 ชุดย่อย โดยดัดแปลงมาจากชุดท่าสุริยะนมัสการ หรือท่าไหว้พระอาทิตย์ ตามแนวการสอนแบบแอทแทงก้า (Attanga) ซึ่งจะเน้นการกระโดด ใช้กำลังของแขนและขามากหน่อย ช่วยกระตุ้นความร้อน โดยให้เราได้ออกแรงฝึกพลังกล้ามเนื้อจากการเคลื่อนไหว ไปพร้อมๆ กับฝึกจังหวะหายใจ ถ้าใครทำได้ต่อเนื่องก็จะสามารถปรับกล้ามเนื้อให้อยู่ตัว ช่วยในเรื่องระบบการควบคุมอาหารโดยอัตโนมัติ กินได้น้อยลง และการเผาผลาญอาหารดีขึ้น จากการหายใจที่ถูกต้อง
ก่อนจะเริ่มเล่นท่าต่างๆ เราควรเริ่มจากหาสถานที่ฝึกที่สงบเงียบ สะอาด และมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก หาเบาะแบนๆ สักผืนปูรองไว้ แล้วมาเริ่มจากการฝึกการหายใจให้ถูกหลักวิธีก่อน นั่นคือ ขณะหายใจเข้าแทนที่จะเก็บลมหายใจไว้ที่ปอด (อกพองท้องแฟ่บ) ตามความเคยชิน ให้กำหนดลมหายใจเข้าไปเก็บไว้ที่ท้อง สังเกตโดยเมื่อหายใจเข้า กระบังลม 2 ข้างขยาย และท้องป่อง เมื่อผ่อนลมหายใจออก ท้องจะแฟ่บลง หากใครยังงง ก็ลองสังเกตการหายใจเวลาที่เรานอนราบกับพื้น หรือเวลานอนหลับ เพราะธรรมชาติเราจะกำหนดการหายใจให้เป็นไปเช่นนี้โดยอัตโนมัติ เพื่อให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไปใช้ในกระบวนการสร้างเม็ดเลือด และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอต่างๆ ได้เต็มที่ยามที่เรานอน
ชุดท่าไหว้พระอาทิตย์ แนว attanga แต่ละท่าให้ทำช้าๆ ไม่ต้องรีบ ให้สัมพันธ์กับจังหวะการหายใจ ท่าไหนที่ต้องทำค้างไว้ ให้นับ 1-5 ก่อนเปลี่ยนท่า
ท่าชุดที่ 1 พนมมือ หายใจเข้ายกมือขึ้น / หายใจออกลดมือลง วางพื้น / โดดเท้าไปข้างหลัง / หายใจเข้าแหงนหน้า / หายใจออกยกสะโพก ลดศีรษะ / ก้าวขวาใกล้มือ / หายใจเข้ายกมือพนมสูง / ลดมือลง วางพื้น / ถีบขวาไปข้างหลัง / หายใจเข้าแหงนหน้า / หายใจออกยกสะโพก ลดศีรษะ / ก้าวซ้าย ใกล้มือ / หายใจเข้ายกมือพนมสูง / ลดลงวางพื้น / เกร็งซ้ายไปหลัง /
ท่าชุดที่ 2 หายใจเข้าแหงนหน้า / หายใจออกยกสะโพก / มองข้างหน้า ก้าวขวาใกล้มือ / เหยียดแขนขวา / หายใจเข้า หายใจออกลดขวา เหยียดซ้ายขึ้นบนมองตาม / ลดมือซ้ายวางพื้น / ดึงขวาไปหลัง / หายใจเข้าแหงนหน้า / หายใจออกยกสะโพก / ก้าวซ้าย ใกล้มือ / เหยียดซ้าย / หายใจเข้า / หายใจออกลดซ้าย / เหยียดขวาขึ้นบนมองตาม / ลดมือขวาวางพื้น / เกร็งขาซ้ายไปหลัง
ท่าชุดที่ 3 หายใจเข้าแหงนหน้า / หายใจออกยกสะโพก / ก้าวขวาใกล้มือ / เหยียดขวา / หายใจเข้า หายใจออกลดขวา เหยียดซ้ายขึ้นบนมองตาม / ลดศอกซ้าย ค้ำเข่า พนมมือ / ลดมือลง วางพื้น / ดึงขวาไปหลัง หายใจเข้า แหงนหน้า หายใจออก ยกสะโพก ก้าวซ้ายใกล้มือ เหยียดซ้าย หายใจเข้า หายใจออก ลดซ้าย เหยียดขวาขึ้นบนมองตาม ลดศอกขวา ค้ำเข่า พนมมือ / ลดมือลง วางพื้น ดึงซ้ายไปหลัง หายใจเข้า แหงนหน้าขึ้น หายใจออก ยกสะโพก ลดศีรษะ มองข้างหน้า งอเข่า แล้วกระโดดดึงเท้ามาจบที่มือ / หายใจเข้า แหงนหน้าขึ้น เหยียดแขน แอ่นท้อง / ลดลง
เวลาที่ฝึกโยคะที่ตำราโยคะแนะนำก็คือ ในช่วงเช้ามืดตอนพระอาทิตย์ขึ้น หรือช่วงเย็นตอนพระอาทิตย์ตก หรือหากคุณไม่สะดวกก็อาจเลือกฝึกก่อนเริ่มภารกิจประจำวัน และหากเป็นไปได้ให้ฝึกอีกครั้งในช่วงหัวค่ำ แต่ไม่ว่าจะเลือกฝึกโยคะเวลาใด สิ่งสำคัญคือการฝึกอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอทั้งด้านสถานที่และเวลา จะทำให้คุณได้รับผลดีจากการฝึกโยคะได้เต็มที่นะคะ ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today |