Computer vision syndrome
เรื่อง ศ.พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
มีคนกล่าวว่าในยุคปัจจุบันถ้าจะให้ดำเนินชีวิตมีความสุข มีความก้าวหน้าไปถึงจุดสูงสุดตามความสามารถของตนแล้วจะต้องมีความรู้ 3 ภาษาให้ถ่องแท้ ภาษาแรก คือภาษาแม่ ภาษาชาติที่ตนกำเนิดมาสำหรับพวกเราก็คือภาษาไทย ภาษาที่สองคือภาษาอังกฤษ เพื่อการสื่อสารกับชาวโลกเพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล ในยุคก่อนการรู้แค่ 2 ภาษา ก็เพียงพอแล้ว ภาษาที่เพิ่มขึ้นมาในยุคนี้เป็นภาษาที่ 3 คือ ภาษาคอมพิวเตอร์
ภาษาคอมพิวเตอร์ ซึ่งย่นโลกเราให้มาอยู่ใกล้ชิดกันเป็นโลกที่ไร้พรมแดน ความรู้ที่ได้จากภาษาคอมพิวเตอร์มีมากมายเหลือคณานับ และก็เป็นไปตามสัจธรรม สิ่งใดมีแต่คุณไม่มีโทษนั้นหายาก ภาษาทางคอมพิวเตอร์หรือสื่อทาง internet จากคอมพิวเตอร์ก็เช่นกัน มีคุณประโยชน์มากมาย แต่ก็มีโทษเช่นกันเพราะอาจเป็นสื่อในทางไม่ดี เป็นช่องทางของมิจฉาชีพก่อให้เกิดผลร้ายแรงต่อผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ นอกจานี้การใช้คอมพิวเตอร์นานๆ อาจก่อให้เกิดการเจ็บปวดทางร่างกาย หรือที่หลายๆ คนเรียกกันว่า “computer vision syndrome” อันหมายถึง อาการผิดปกติหลายๆ อย่างอันเนื่องมาจากจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นั่นเอง กล่าวกันว่าอาการเหล่านี้พบได้ถึงร้อยละ 75 ของบุคคลที่ใช้คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี อาการในบางคนอาจเป็นเล็กๆ น้อยๆ ไม่บั่นทอนการทำงานหรือพักการใช้คอมพิวเตอร์สักครู่ก็หายไป บางคนอาจต้องว่างเว้นการใช้เป็นวันก็หายไป บางรายอาจต้องใช้ยาระงับอาการ หรือบางคนถึงกลับเลิกใช้คอมพิวเตอร์ไปก็มีบ้าง อาการของภาวะนี้พบได้หลายอย่าง เช่น
- ตาเมื่อยล้า
- ตาแห้ง
- แสบตา
- ตาสู้แสงไม่ได้
- ตาพร่ามัว
- ปวดศีรษะ
- ปวดเมื่อยบ่า ไหล่ คอ หรือปวดหลัง
อาการเหล่านี้เกิดจากสาเหตุอะไรกันบ้างและจะแก้ไขได้อย่างไร
- สาเหตุเพราะผู้ใช้คอมพิวเตอร์ไม่ค่อยกระพริบตา ปกติแล้วเราทุกคนจะต้องกระพริบตาอยู่เสมอ เป็นการเกลี่ยน้ำตาให้คลุมผิวตาให้ทั่วๆ โดยมีอัตราการกระพริบ 20 ครั้งต่อนาที หากเราอ่านหนังสือหรือนั่งจ้องคอมพิวเตอร์ อัตราการกระพริบจะลดลง โดยเฉพาะการจ้องคอมพิวเตอร์การกระพริบตาจะลดลงกว่า 60 % ทำให้ผิวตาแห้ง ก่อให้เกิดอาการแสบตา ตาแห้ง รู้สึกฝืดๆ ในตา
วิธีแก้ไข ถ้ารู้สึกตัวว่าจ้องหน้าจอนานเกินไป ก็ให้กระพริบตาให้บ่อยขึ้น หรือพักสายตาโดยการละสายตาจากคอมพิวเตอร์ หลังจากใช้ไปประมาณ 15-30 นาที หรืออาจใช้ยาหล่อลื่นลูกตาประเภทน้ำตาเทียม
- แสงจ้า และแสงสะท้อน (Glare reflection) จากจอคอมพิวเตอร์ทำให้ตาของเราเมื่อยล้า ทั้งแสงจ้าและแสงสะท้อนมายังจอภาพ อาจเกิดจากแสงสว่างไม่พอเหมาะ มีไฟส่องเข้าหน้าหรือหลังจอภาพโดยตรง หรือแม้แต่แสงสว่างจากหน้าต่างส่องปะทะหน้าจอภาพโดยตรง ก่อให้เกิดแสงจ้าและแสงสะท้อนเข้าตาผู้ใช้ทำให้เมื่อยตาล้าง่าย
วิธีแก้ไข จัดแสงไฟและตำแหน่งจอภาพให้เหมาะสม อย่าให้จอภาพหันหน้าเข้าหน้าต่างหรืออยู่หน้าต่อหน้าต่าง โคมไฟที่ส่องหน้าตรงๆ ลงมาอาจทำให้เกิดแสงจ้า น่าจะเปลี่ยนเป็นหลอดไฟที่กระจายทั่วๆ ไป หรือโคมไฟที่ส่องเฉพาะกระดาษอย่าให้แสงปะทะกับจอภาพและตาผู้ใช้
นอกจากนี้ควรปรับคลื่นแสงที่หน้าจอ (Refresh rate) ซึ่งเครื่องส่วนใหญ่จะปรับอยู่ที่ 60 Hg ซึ่งขนาดนี้ทำให้เกิดแสงกระพริบ ทำให้ภาพบนจอเต้นกระตุ้นให้เราต้องปรับตาเพื่อโฟกัสใหม่อยู่เรื่อยๆ ทำให้ตาเมื่อยล้าได้ ควรปรับความถี่ให้อยู่ระดับ 70-80 Hg จะทำให้จอภาพเต้นน้อยลง สบายตาขึ้น
- การออกแบบและการจัดภาพ ระยะทำงานที่ห่างจากจอภาพให้เหมาะสม ควรจัดจอภาพให้อยู่ในระยะพอเหมาะที่ตามองสบายๆ ไม่ต้องเพ่ง โดยเฉลี่ยระยะจากตาถึงจอภาพควรเป็น 0.45 ถึง 0.50 เมตร ตาอยู่สูงกว่าจอภาพ โดยเฉพาะผู้ที่ใช้แว่นตาแบบ Bifocal (คือแว่นสายตาที่มองทั้งระยะใกล้และไกล) จะต้องตั้งจอภาพให้ต่ำกว่าระดับตาเพื่อตาจะได้มองตรงกับเลนส์แว่นตาที่ใช้มองใกล้ การตั้งจอคอมพิวเตอร์สูงกว่าระดับ จะทำให้ผู้ใช้ต้องแหงนหน้ามอง การแหงนหน้าอยู่ประจำทำให้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณคอและไหล่ได้ง่าย
สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องใช้แว่นสายตามองทั้งระยะไกลและใกล้ หากใช้แว่นตานั้นทำงาน คอมพิวเตอร์นานๆ มีอาการปวดเมื่อยในตามาก อาจต้องปรึกษาจักษุแพทย์พิจารณาทำแว่นสายตาที่เห็นระยะจอคอมพิวเตอร์และตัวหนังสือที่เหมาะสม
- สายตาที่ผิดปกติอยู่เดิม เช่น มีสายตาสั้น ยาว หรือเอียง หรือสายตาผู้สูงอายุ ควรแก้ไขสายตาให้มองเห็นชัดที่สุด จะได้ไม่ต้องเพ่งโดยไม่จำเป็น มีอยู่เสมอๆ ที่มีสายตาผิดปกติไม่มากถ้าทำงานตามปกติไม่มีอาการอะไร แต่ถ้ามาทำงานกับจอคอมพิวเตอร์ทำให้ต้องจ้องจอภาพ ต้องมองแสงกระพริบจากจอภาพ มองแสงสะท้อนตลอดจนแสงจ้าจากจอรับภาพ ทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าหรืออาการของ “Computer vision syndrome” ได้ การแก้ไขสภาวะบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ที่มีอยู่ทำให้อาการผิดปกตินี้ทุเลาลงไปได้
- บางรายหากมีโรคบางอย่างอยู่ เช่น ต้อหินเรื้อรัง ม่านตาอักเสบ หรือแม้แต่เยื่อบุตาอักเสบ ตลอดจนโรคทางกาย เช่น โรคไซนัสอักเสบ ไข้หวัด ร่างกายทั่วไปอ่อนเพลีย จะทำให้การปรับสายตาเพื่อการมองเห็นชัดทำให้เกิดการปวดเมื่อยนัยน์ตาได้ง่าย
- ที่ไม่ควรละเลยอีกอย่างของภาวะนี้ก็คือ การทำงานจ้องจอภาพนานเกินไป ไม่ว่าจะเกิดจากงานเร่ง หรือมีหน้าที่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างเดียวก็ตาม ย่อมเกิดอาการได้ง่าย ทุก 2 ชั่วโมง ที่จ้องจอภาพควรพักสายตาประมาณ 15 นาที โดยมองออกไปไกลๆ หรือหลับตาเฉยๆ หากเป็นไปได้ควรทำงานที่ต้องจ้องจอภาพวันละไม่เกิน 4 ชั่วโมง เวลาที่เหลือไปทำงานอย่างอื่นบ้าง
โดยสรุปอาการของ Computer vision syndrome แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง แต่ก็ทำให้รำคาญ ทำให้ประสิทธิภาพของงานลดลง หากได้รับการแก้ไขจะทำให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำงานอย่างเป็นสุขขึ้นและวิธีการแก้ไขส่วนใหญ่ทำได้ไม่ยาก
ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today