****************************************
โครงการสัมมนาทางวิชาการ
++ ระดมสมองนักวิชาการ ม.มหามกุฏ-ออกซฟอร์ด
++ ดันวิชาพระพุทธศาสนาพัฒนาสู่ระดับสากล
ปัจจุบัน พระพุทธศาสนา มิได้แพร่หลายอยู่ในเฉพาะซีกโลกตะวันออกเท่านั้น แต่กลายเป็นศาสนาสากลที่แพร่หลายไปทั่วทุกมุมโลก!!!
และเมื่อเร็วๆ นี้ทาง “มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย” ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาของไทย ได้จัด โครงการสัมมนานานาชาติ ในหัวข้อ “can we know what the Buddha meant?” หรือ “เราสามารถจะเข้าใจพระพุทธเจ้าได้ไหม” โดย พระเทพปริยัติวิมล รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นประธานเปิดสัมมนานานาชาติในครั้งนี้ พร้อมทั้งนักวิชาการทางด้านพระพุทธศาสนาชั้นนำของโลกจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และนักวิชาการภายในประเทศเข้าร่วมสัมมนา ณ ห้องประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ภายในวัดบวรนิเวศวิหาร ถนนพระสุเมรุ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
โดยการจัดสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในด้านการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นการแสวงหาความร่วมมือ ทางวิชาการ เพื่อปรับวิธีการและกระบวนการในการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน นับเป็นการพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการในระดับสากล
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสที่อาจารย์ นักวิชาการ นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจทางด้านพระพุทธศาสนา จะได้มีโอกาสฟังมุมมองของผู้เชี่ยวชาญทางพระพุทธศาสนาชั้นนำของโลกว่า เขาศึกษาพระพุทธศาสนากันอย่างไร
วันแรกของการ “จัดสัมมนานานาชาติ” เป็นการสัมมนาในหัวข้อ “Metta as a means to Nibbana” หรือ “เมตตาธรรมวิถีสู่นิพพาน” เพื่อให้ อาจารย์
นักวิชาการ นักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกของสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ได้มีโอกาสฟังและศึกษาวิธีคิดของผู้เชี่ยวชาญ พระพุทธศาสนาชั้นนำของโลก และร่วมเสวนากับ ศ.ดร.ริชาร์ด กอมบริช เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างนักวิชาการนานาชาติและไทย ผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบไปด้วย อาจารย์ นักวิชาการ และนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาอื่นๆ การสัมมนาในครั้งนี้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก
วันที่สองเป็นการสัมมนาในหัวเรื่อง “can we know what tke bubbha meant ?” ซึ่งจะมีการแปลเป็นภาษาไทย เป็นการสัมมนามุ่งให้อาจารย์ นักศึกษาทุกระดับและทุกสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยและผู้สนใจทั่วไป ได้มีโอกาสทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีคิดและการตีความพระพุทธศาสนาของผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของโลก
พระเทพปริยัติวิมล กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า พระพุทธศาสนาจำเป็นอย่างยิ่งที่เราชาวพุทธหรือผู้ที่สนใจ ควรศึกษาร่วมทำความเข้าในแง่มุมต่างๆ เพื่อจะได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน หรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางธรรมซึ่งกันและกัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์ความร่วมมือร่วมใจกันระหว่างชาวพุทธด้วยกัน และเป็นผลดีต่อการนำพุทธธรรมไปสร้างสรรค์สันติสุขให้แก่ชาวโลก
การที่เราจะหยิบยื่นสิ่งใดให้แก่ผู้อื่นนั้น ควรที่เราเองจะต้องมีความชัดเจนและแน่ใจในสิ่งนั้นก่อนเป็นคนแรก มิฉะนั้นแล้ว คนอื่นก็จะมีความชัดเจนและมั่นใจในสิ่งที่หยิบยื่นให้ได้ยาก อาตมภาพคิดว่า เรื่องนี้เป็นภารกิจสำคัญของเราทุกคนที่ควรได้ตระหนักเกี่ยวกับพุทธศาสนา และกิจกรรมในครั้งนี้ นับว่าเป็นผลิตผลของความร่วมมือทางวิชาการด้านพุทธศาสน์ศึกษาระหว่างสองมหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ทั้งนี้ความร่วมมือระหว่างสองสถาบันที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาวิจัย
พระพุทธศาสนาระหว่างกันและกัน โดยมีศูนย์ออกซฟอร์ดเพื่อพุทธศาสน์ศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นหน่วยงานเชื่อมสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดีเยี่ยม
การจัดสัมมนาครั้งนี้คงจะให้ความรู้สิ่งอันมีคุณค่าแก่การศึกษาพระพุมธศาสนาเป็นอย่างมาก!!!
สยามรัฐ หน้าศาสนา เรื่อง โครงการสัมมนาทางวิชาการ - 30/1/2550