ข้อคิดในการดำเนินชีวิต...บางอย่างที่คุณมองข้ามอาจมีข้อคิดอันลึกซึ้งแก่คุณได้
“การที่เราจะทำอะไรได้สำเร็จสักอย่างหนึ่ง สิ่งสำคัญก็คือความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในเรื่องนั้นๆ มีความรักและเอาใจใส่กับสิ่งที่ตัวเองกำลังทำ ยิ่งการเข้าถึงศิลปะของความสุขในชีวิตด้วยแล้ว เราผู้เป็นเจ้าของชีวิตก็ต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ในทุกรายละเอียด สามารถซึมลึกลงถึงคุณค่าที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจให้ได้แล้ว เราก็จะพบว่าการสร้างชีวิตให้มีความสุขไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป”
“ความกลัวหรือความหวาดวิตกที่เกิดขึ้นในชีวิตล้วนปรากฏขึ้นในจิตใจของเราเป็นหลัก อาจซ่อนไว้ในรูปแบบของความทรงจำเก่าๆที่มีมานาน หรือเกิดขึ้นจากความคิดที่เรากำหนดไม่ทัน หากเราจมอยู่กับความคิดที่มีฝ่ายเดียว เรื่องเหล่านั้น ก็จะทำให้เรารู้สึกสับสนวุ่นวายตลอดไป แต่หากรู้จักกำหนดรู้เรื่องที่เกิดขึ้นด้วยสติ เรื่องที่เกิดขึ้นก็จะเป็นเพียงมโนภาพที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ แล้วก็จะสลายตัวไปในเวลาที่รวดเร็ว”
“การทำจิตใจให้ว่างเป็นเสมือนการรู้จักสร้างพื้นที่ในการรองรับสิ่งต่างๆด้วยความพร้อม เพราะจิตที่ไร้การพันธนาการจากอารมณ์ ย่อมทำให้เกี่ยวข้องกับเหตุปัจจัยต่างๆด้วยภาวะที่สมดุลที่สำคัญจิตที่ดำรงอยู่ในภาวะของความว่างนั้น ย่อมนำไปสู่อิสรภาพอันเป็นความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงได้ หลวงพ่อพุทธทาสกล่าวไว้ว่า ต้องทำงานและเรียนรู้ชีวิตด้วยจิตว่าง คือว่างจากความรู้สึกยึดถือว่าเป็นของเรา ว่าสิ่งที่มีอยู่มีเราเท่านั้นเป็นเจ้าของ แต่ให้อยู่กับความรู้สึกที่เป็นกลาง ไม่ซัดส่าย ความรู้สึกไปในทางที่ชอบจนออกนอกหน้าเวลาที่สมหวัง และไม่ทำให้ตนเองตกต่ำเวลาที่ปัญหากระหน่ำเข้ามาแล้วยังแก้ไขไม่ได้
การเข้าใจธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่ดำรงอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง และรู้จักยอมรับเมื่อความแตกต่างนั้นมาถึง ชื่อว่าเป็นจุดกำเนิดของความสุขที่ชีวิตทุกคนควรใฝ่หา เพราะหากเข้าใจระบบของสิ่งมีชีวิตทั้งที่เป็นเหตุปัจจัยภายนอกคือวัตถุ และเหตุปัจจัยภายในคือจิตใจได้แล้ว เราย่อมรู้จักเกี่ยวข้องสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่ตั้งอยู่ สิ่งที่ดับไป ด้วยใจที่เป็นกลางได้ เมื่อนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมนำไปสู่ความสุขที่สมดุลได้ด้วยความลงตัว”
“ความเชื่อที่เกิดขึ้นในจิตใจ เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อชีวิตของคนเรา หากความเชื่อเป็นไปในทางที่ติดลบ ความเชื่อนั้นย่อมนำไปสู่ความหมองเศร้าในชีวิต แต่หากความเชื่อมีปัญญากำกับรู้ สิ่งที่เชื่อย่อมทำให้เกิดการกระทำที่ดีงามตามมา ดังนั้น เมื่อจะเชื่อสิ่งใด จงเรียนรู้ที่จะเกี่ยวข้องกับความเชื่อนั้นด้วยปัญญา เพราะหากตัดสินใจเชื่อแล้ว ความคิดและการกระทำที่มี ย่อมมีความโน้มเอียงไปสู่สิ่งที่เชื่อเสมอ”
“การที่มีจิตปลอดโปร่งหรือว่างจากการถูกรึงรัดของอารมณ์ ชื่อว่าเป็นการเชื่อมโยงไปสู่ความสุขในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นกายที่โปร่งเบาสบายเพราะไร้พันธนาการที่ชวนให้อึดอัด หรือใจที่รุ่มร้อนจากอารมณ์ที่เข้ามากระทบ ภาวะที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ย่อมเป็นพลังที่จะทำให้ตัวเราได้ทำสิ่งต่างๆ ที่นำมาซึ่งคุณค่าทั้งต่อตนเองและผู้อื่น รวมไปถึงสังคมที่กว้างขยายออกไปมาก อย่างน้อยก็ทำให้รู้สึกว่า ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นในดวงจิต ย่อมไม่สามารถที่จะทำร้ายเราให้อับเฉาได้แต่อย่างใด
ชีวิตของคนเราเกิดมาท่ามกลางการทดสอบด้วยความดีและความชั่ว ความเสียสละและความเห็นแก่ตัว ขึ้นอยู่กับที่ว่าใครจะรู้จักค้นหาสิ่งใดให้ตนเอง เป็นเสมือนกับการเวียนมาเพื่อใช้ชีวิตชั่วคราว เพราะสุดท้ายก็ต้องโบกมือลาจากกัน ดังนั้น เมื่อรู้ว่าชีวิตของเราเป็นสิ่งที่เกิดมาเพียงชั่วคราวแล้วก็ต้องเสื่อมสลายลง เราก็ควรรู้จักเลือกว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร โดยอาศัยปัญญาเป็นเครื่องวินิจฉัยของแต่ละคนเป็นสำคัญ”
“โลกนี้กว้างใหญ่ไพศาลนัก เราไม่ควรที่จะยึดติด อยู่เฉพาะกับความคิดของตัวเองฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ควร รู้จักเปิดใจให้กว้างขึ้น เพื่อเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างที่เรายัง ไม่เคยรู้ แล้ววันข้างหน้าเราจะมีโลกทัศน์และมุมมองชีวิต ที่กว้างขึ้น เพราะเราไม่ควรทำตัวเหมือนเต่าทะเลที่รู้มาก แต่ก็รู้จักวางท่าทีต่อเรื่องราวที่เกี่ยวข้องอย่างอ่อนน้อม ถ่อมตน”
“ในบรรดาสัตว์โลกทั้งหลาย มนุษย์มีแนวโน้มของความประเสริฐมากกว่าสัตว์โลกประเภทอื่นหากมีการฝึกฝน แต่หากไร้ซึ่งการฝึกฝนตนเองแล้ว คนที่ถูกเรียกว่ามนุษย์ก็มีแนวโน้มที่จะมีชีวิตที่เลวร้ายมากกว่าสิ่งอื่นใด ดังนั้น เมื่อเราได้ชีวิตความเป็นมนุษย์มาแล้ว จงรู้จักพัฒนาตนเองด้วยคุณธรรมและสติปัญญาที่ได้มา เพื่อการก้าวไปสู่ความประเสริฐที่น่ายกย่องอย่างแท้จริง”
(ธีระพงษ์ คงเจริญศักดิ์)
|