ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จะแสดงอริยสัจจ์ข้อทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ปฏิปทาข้อปฏิบัติ หรือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อันเรียกว่ามรรค อันเป็นอริยสัจจ์ข้อที่ ๔ พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้มรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ว่าได้แก่มรรคคือทางมีองค์ ๘ อันได้แก่สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะความดำริชอบ สัมมาวาจาเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะการงานชอบ สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะเพียรชอบ สัมมาสติระลึกได้ชอบ สัมมาสมาธิตั้งใจมั่นชอบ
๏ มรรค ๘ เอโกมรรคโค
มรรคมีองค์ ๘ นี้ พึงเข้าใจว่าไม่ใช่หมายถึง ๘ ทาง แต่ว่าเป็น
เอโกมรรคโค คือเป็นทางอันเดียว ซึ่งประกอบด้วยองค์คุณ หรือองค์สมบัติ ๘ ประการ รวมเป็นเอโกมรรคโคคือทางอันเดียว
ข้อแรก สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ก็ได้แก่
ญาณ คือความหยั่งรู้จักทุกข์ ความหยั่งรู้จักทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์ ความรู้จักทุกขนิโรธความดับทุกข์ ความรู้จักทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา หรือมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ สำหรับ ๓ ข้อแรกคือ ทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ ได้แสดงมาแล้วโดยลำดับ ในข้อมรรคมีองค์ ๘ ที่กล่าวในวันนี้ ก็เป็นมรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ที่ตรัสสอนไว้นี้คือสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ
สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ก็ได้แก่
เนกขัมมะสังกับโป ความดำริออก คือออกจากกาม ออกจากเครื่องข้องขัดทั้งหลาย ก็คือกามนั้นเอง
อัพยาปาทสังกัปปะ ความดำริไม่ปองร้าย
อวิหิงสาสังกัปปะ ความดำริไม่เบียดเบียน นี้คือสัมมาสังกัปปะความดำริชอบ
สัมมาวาจา เจรจาชอบก็ได้แก่ เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียดยุยงให้เขาแตกกัน เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล นี้คือสัมมาวาจาเจรจาชอบ
สัมมากัมมันตะ การงานชอบก็ได้แก่ เว้นจากการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ เว้นจากความประพฤติผิดในกามทั้งหลาย หรือเว้นจากอพรหมจริยกิจ กิจที่มิใช่กิจของพรหมจรรย์ นี้คือสัมมากัมมันตะการงานชอบ
สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ ก็คือเว้นจากมิจฉาอาชีวะเลี้ยงชีวิตในทางผิด สำเร็จชีวิตด้วยสัมมาอาชีวะ อาชีวะที่ถูกชอบ นี้คือสัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ เพียรชอบ ก็คือเพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรยังกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งอยู่ ไม่เสื่อมตกต่ำแต่ให้ทวียิ่งขึ้นจนบริบูรณ์ นี้คือสัมมาวายามะเพียรชอบ
สัมมาสติ ระลึกได้ชอบก็ได้แก่สติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ ตั้งสติพิจารณากาย ตั้งสติพิจารณาเวทนา ตั้งสติพิจารณาจิตใจ ตั้งสติพิจารณาธรรมะคือเรื่องในจิตใจ นี้คือสัมมาสติระลึกได้ชอบ
สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ ก็ได้แก่ความทำจิตให้เป็นสมาธิ คือตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว อย่างสูงก็ถึงฌานทั้ง ๔ คือความเพ่งทั้ง ๔ คือทำจิตให้สงบระงับจากกามทั้งหลาย สงบระงับจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน ฌานที่ ๑ ที่มี
วิตก ความยกจิตขึ้นสู่สมาธิ
วิจาร ความประคองจิตไว้ให้ตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธินั้น
ปีติ ความอิ่มใจ
สุข ความสบายกายสบายใจ อันเกิดจากวิเวกคือความสงบสงัด
๏ องค์ฌาน ปฐมฌาน นี้จึงมีองค์ ๕ อันได้แก่
วิตก ความยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของสมาธิ
วิจาร ความประคองจิตไว้ในอารมณ์ของสมาธิ
ปีติ ความอิ่มใจ
สุข ความสบายกายสบายใจ และ
เอกัคคตา คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว นี้เป็น
ฌานที่ ๑ เมื่อได้ฌานที่ ๑ แล้ว ทำสมาธิต่อไปก็เลื่อนขึ้นเป็นฌานที่ ๒ คือ สงบระงับวิตกและวิจาร เข้าถึง
ทุติยฌาน ฌานที่ ๒ ซึ่งมีความผ่องใสแห่งใจในภายใน มีธรรมะอันเอกคืออันเดียวผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร แต่มี ปีติ มี สุข อันเกิดจากสมาธิ ฌานที่ ๒ จึงมีองค์ ๓ คือละวิตกวิจาร มีแต่
ปีติ สุข และเอกัคคตา ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว นี้เป็นทุติยฌาน
ฌานที่ ๒ เมื่อทำสมาธิต่อไป ก็เลื่อนขึ้นเป็น
ฌานที่ ๓ คือสงบปีติคือความอิ่มใจเสียได้ มีอุเบกขาคือความเข้าไปเพ่งเฉยอยู่ ซึ่งพระอริยะทั้งหลายกล่าวไว้ว่า มีอุเบกขา มีสุข อยู่เป็นสุข ดั่งนี้ เข้าถึงตติยฌาน ฌานที่ ๓ ซึ่งมีลักษณะดั่งนี้ ฌานที่ ๓ จึงมีองค์คือมี
สุข และเอกัคคตา รวมเป็น ๒ นี้เป็นฌานที่ ๓
เมื่อทำสมาธิต่อไปก็เลื่อนขึ้นเป็น
ฌานที่ ๔ ละสุขละทุกข์ได้ มีโสมนัสและโทมนัสดับไป เข้าถึงฌานที่ ๔ ซึ่งไม่มีสุขไม่มีทุกข์ มีสติที่บริสุทธิ์เพราะอุเบกขา ฌานที่ ๔ นี้จึงมีองค์ ๒ คือมี
เอกัคคตา ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว และ
อุเบกขา ความเข้าไปเพ่งเฉยอยู่ นี้เป็นฌานที่ ๔ ฌานที่ ๔ นี้ก็เป็นที่สุดของฌานทั้ง ๔ นี้คือสัมมาสมาธิความตั้งจิตมั่นชอบ
๏ บริกัมมสมาธิ อุปจาระสมาธิ อัปปนาสมาธิ อันสมาธินี้ที่เป็นถึงฌานเรียกว่าเป็นสมาธิขั้นสูง หากจะกล่าวโดยลำดับก็อาจจะกล่าวได้ว่า สมาธิขั้นต่ำเป็น
บริกัมมสมาธิ สมาธิในขณะที่บริกรรม คือปฏิบัติรวมจิตเข้ามากำหนดอารมณ์ของสมาธิ เช่นกำหนดพิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม ก็ได้สมาธิในบริกรรม คือในการเริ่มปฏิบัติ นี้เป็นบริกัมมสมาธิ
เมื่อปฏิบัติได้บริกัมมสมาธิต่อไปจิตก็จะสงบตั้งมั่นขึ้น แต่ยังไม่แน่วแน่ ใกล้จะแน่วแน่ ก็เรียกว่า
อุปจารสมาธิ สมาธิที่เป็นอุปจารคือใกล้ที่จะแน่วแน่ เมื่อปฏิบัติในอุปจาระสมาธิต่อไป จิตก็จะเป็นสมาธิที่แนบแน่นขึ้น เป็น
อัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น อย่างสูงก็เข้าลักษณะแห่งองค์ฌาน ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ดังที่กล่าวมาแล้ว
อนึ่ง ก็น่าพิจารณาว่าองค์ฌานที่ ๑ นั้น เป็นองค์สมบัติของผู้ปฏิบัติสมาธิตั้งแต่ในเบื้องต้น คือตั้งแต่ในขั้นบริกัมมสมาธิ ในขั้นอุปจารสมาธิ ตลอดจนถึงในขั้นอัปปนาสมาธิ ในขั้นปฐมฌาน ก็จะต้องอาศัยองค์ฌานทั้ง ๕ นี้นั้นเอง คืออาศัย วิตก วิจาร ปิติ สุข และ เอกัคคตา
๏ อานาปานสติเบื้องต้น เช่นว่าการปฏิบัติทำอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก อันเป็นเบื้องต้นของสติปัฏฐานทั้ง ๔ ที่ตรัสสอนไว้ว่า มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก หายใจเข้าออกยาวก็รู้ว่ายาว หายใจเข้าออกสั้นก็รู้ว่าสั้น ศึกษาว่าคือทำความกำหนดใจสำเหนียกใจว่า เราจักรู้กายทั้งหมด คือรู้ทั้งรูปกายและนามกายนี้ทั้งหมด หายใจเข้าหายใจออก ศึกษาว่าเราจักสงบรำงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย คือเครื่องปรุงทั้งนามกายทั้งรูปกาย เครื่องปรุงรูปกายก็ได้แก่ลมหายใจเข้าออกนั้นเอง เครื่องปรุงนามกายก็ได้แก่ตัณหา เราจะระงับกายสังขารคือเครื่องปรุงกาย หายใจเข้าหายใจออก ดั่งนี้
ในการปฏิบัติทำสติกำหนดพิจารณาตามที่ตรัสสอนไว้นี้ก็ดี และตามที่พระอาจารย์ได้สั่งสอนวิธีช่วยปฏิบัติในเบื้องต้นด้วยวิธีใช้นับ หายใจเข้าหายใจออกก็นับ ๑-๑ หายใจเข้าหายใจออกก็นับ ๒-๒ เรื่อยไปจนถึง ๕-๕ แล้วกลับใหม่ ๑-๑ ถึง ๖-๖ ดั่งนี้เป็นต้น จนถึง ๑-๑ ถึง ๑๐-๑๐ แล้วก็กลับมา ๑-๑ ถึง ๕-๕ ใหม่ เป็นการนับช้า หรือว่านับเร็ว หายใจเข้านับ ๑ หายใจออกนับ ๒-๓-๔ เรื่อยไปจนถึง ๑๐-๑๐ หรือว่าไม่ใช่วิธีนับ ใช้วิธีบริกรรมว่าพุทโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ กลับไปกลับมาดั่งนี้
๏ วิตก วิจาร การเริ่มปฏิบัติดั่งนี้เรียกว่าเป็น
บริกัมมภาวนา ทำให้ได้
บริกัมมสมาธิ คือสมาธิในบริกรรม ต้องอาศัย วิ
ตักกะ วิตก คือยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของสมาธิดังกล่าวมานี้ ยกจิตขึ้นสู่ลมหายใจเข้าออก และกำหนดลมหายใจเข้าออกตามที่ตรัสสอนไว้
หรือตามที่พระอาจารย์สอน เป็นการช่วยในการปฏิบัติ นี้เป็นวิตักกะคือวิตก และต้องใช้
วิจาร คือความที่ประคองจิตไว้ในอารมณ์ของสมาธิดังกล่าว
๏ อาลัยของจิตที่เป็นกามาพจร ในขณะที่ปฏิบัติอยู่ในเบื้องต้นที่เป็นขั้นบริกัมมภาวนานี้ จิตจะตกหล่นอยู่เสมอ คือเมื่อยกจิตขึ้นสู่ในอารมณ์ของสมาธิ จิตก็ไม่ค่อยจะยอมอยู่ ที่ท่านเปรียบไว้เหมือนอย่างว่า เหมือนอย่างจับปลาขึ้นจากน้ำ มาวางไว้บนบก ปลาก็จะดิ้นที่จะลงน้ำ จิตก็เช่นเดียวกัน เมื่อจับจิตมาตั้งไว้ในอารมณ์ของสมาธิ จิตก็จะดิ้นเพื่อจะลงไปสู่อาลัยคือน้ำ อันได้แก่กามคุณารมณ์ อารมณ์ที่เป็นกามคุณทั้งหลาย คือว่ารูป เรื่องรูปบ้าง เรื่องเสียงบ้าง เรื่องกลิ่นบ้าง เรื่องรสบ้าง เรื่องโผฏฐัพพะบ้าง ที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ อันเป็นที่ตั้งของจิตที่เป็นกามาพจร คือยังท่องเที่ยวไปในกาม จิตก็จะดิ้นไปสู่อาลัยคือน้ำ เหมือนอย่างปลาที่ดิ้นที่จับวางไว้บนบก ก็ดิ้นที่จะลงน้ำ ฉะนั้น
เพราะฉะนั้นจึงต้องมีสติ เมื่อระลึกรู้ตัวขึ้นได้ ก็นำจิตมากลับตั้งไว้ใหม่ในอารมณ์ของสมาธิ คือในกรรมฐานที่ปฏิบัตินั้น แล้วก็มีวิจารคือต้องคอยประคองเอาไว้ไม่ให้ตก แต่แม้จะมีวิตกมีวิจารคือคอยยกจิตกลับมาตั้งเอาไว้ แล้วก็ประคองเอาไว้ก็ดี ก็ยังตกหล่นอยู่นั่นเอง ต้องอาศัยสติจับเข้ามาตั้งไว้ และประคองไว้ใหม่
เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสสอนอุปการธรรมในการปฏิบัติไว้ว่า อาตาปีต้องมีความเพียร ไม่หยุดความเพียร เพียรจับตั้งจิตมาตั้งไว้ใหม่ แล้วประคองไว้ใหม่ต่อไป มีสัมปชัญญะคือความรู้ตัว มีสติคือความระลึกได้ และคอยกำจัดความยินดีความยินร้ายที่เกิดขึ้น ความยินดีความยินร้ายที่ต้องคอยกำจัดอยู่นั้น ก็คือต้องกำจัดความยินดีในกามคุณารมณ์ที่จิตชอบตกลงไป
เพราะจิตที่เป็นกามาพจรก็เป็นดังกล่าวนั้น ย่อมชอบกามคุณารมณ์ เหมือนอย่างปลาชอบน้ำ น้ำเป็นที่อาศัยของปลา กามคุณารมณ์ก็เป็นที่อาศัยของจิตที่เป็นกามาพจร จึงต้องคอยกำจัดความยินดีในความที่จิตตกลงไปสู่กามคุณารมณ์ แล้วก็เพลินไปในกามคุณารมณ์ ต้องคอยกำจัดเสีย
ความยินร้ายนั้นที่เป็นข้อสำคัญ ก็คือความเบื่อหน่ายในสมาธิ ทำให้เกิดความระอาความเบื่อหน่ายในการที่จะต้องมานั่งตั้งจิตไว้ในอารมณ์ของสมาธิ และประคองจิตไว้ในอารมณ์ของสมาธิ ซึ่งรู้สึกว่าไม่มีความสุขอะไรเลย น่าเบื่อหน่าย น่ารำคาญ นี่เป็นความยินร้ายต้องกำจัดเสีย ถ้าหากว่ากำจัดความยินดีและความยินร้ายไม่ได้ ก็ทำสมาธิไม่ได้ จะต้องหยุด เพราะไม่สนุกอะไร ไม่เพลิดเพลินอะไร
๏ สมาธิสุข แต่หากว่าถ้ามีความเพียรเอาจริง มีสัมปชัญญะความรู้ตัว มีสติกำกับอยู่ แต่ว่าสู้หรือว่าดื้อทำสมาธิต่อไปแล้ว ครั้นจิตได้สมาธิขึ้นบ้าง แม้เป็นบริกัมมสมาธิ สมาธิในบริกรรม หรือดีขึ้นเป็นอุปจาระสมาธิ สมาธิในอุปจารคือว่าใกล้ที่จะแน่วแน่ เฉียดๆ ไปที่จะแน่วแน่ ก็ย่อมจะเริ่มได้ปีติคือความอิ่มใจ ได้สุขคือความสบายกายสบายใจในสมาธิ เมื่อเริ่มได้ปีติได้สุขขึ้นมาดั่งนี้ ปีติและสุขนี้เองก็จะช่วยให้หายความยินร้ายในสมาธิ หายเกลียดสมาธิ ทำให้เริ่มชอบสมาธิ เพราะได้ความสุขในสมาธิ
และเมื่อได้ปีติได้สุขในสมาธิขึ้นดั่งนี้ จิตก็จะเริ่มตั้งมั่นดีขึ้น ความที่จิตเริ่มตั้งมั่นขึ้นนี้เรียกว่า
เอกัคคตา ที่แปลว่าความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวนี้ ก็คือเมื่อทำอานาปาสติ สติก็จะอยู่กับลมหายใจเข้าออก
รู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก รู้อยู่กับอารมณ์ของลมหายใจเข้าออกในชั้นหยาบๆ นั้น รู้อยู่กับตัวลมหายใจเข้าหรือตัวลมออกที่มากระทบที่ปลายจมูก หรือที่ริมฝีปากเบื้องบน หรือรู้โดยอาการที่ท้องพองยุบเป็นต้น นี้เป็นอย่างหยาบ
๏ เอกัคคตา อย่างละเอียดนั้น จะรู้ในอารมณ์ของลมหายใจเข้าออก แต่ว่าอารมณ์ของลมหายใจเข้าออกนั้นตั้งอยู่ในจิต จิตก็ตั้งจับอยู่กับอารมณ์อันนี้ แต่ว่าลึกเข้าไปถึงจิตใจ จนถึงในจิตใจนี้ไม่ตกไปสู่เรื่องอื่น แต่อยู่กับอารมณ์ของลมหายใจเข้าออกเพียงอย่างเดียว นี้คือตัวสมาธิเรียกว่า
เอกัคคตา คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว
ดังที่กล่าวมานี้จะพึงเห็นได้ว่า แม้ในการปฏิบัติตั้งแต่ในเบื้องต้น ก็ต้องอาศัยองค์ของฌาน ที่เป็นปฐมฌานทั้ง ๕ นี้ คือต้องอาศัย
วิตักกะ คือวิตก
วิจาระ คือวิจาร อาศัย
ปีติ อาศัย
สุข และอาศัย
เอกัคคตา อันเป็นข้อสำคัญ ตั้งแต่ในขั้นบริกัมมสมาธิ สมาธิในบริกรรม แต่เรียกว่าบริกัมมสมาธินั้น เพราะเป็นสมาธิสั้นๆ ที่ตกไปอยู่บ่อยๆ ต้องยกมาตั้งไว้ประคองไว้บ่อยๆ เรียกว่าสั้นมาก สมาธิในอุปจาระ สมาธิอุปจารคือตั้งมั่นมากขึ้น อยู่ได้ประเดี๋ยวประด๋าวมากขึ้นๆ แต่ยังไม่ตั้งมั่นแน่วแน่ หรือแน่นอน จนถึงอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่นแน่นอน อยู่ได้นานตามที่ประสงค์ ก็เข้าองค์ของฌาน ตั้งแต่ปฐมฌานเป็นข้อแรก เหล่านี้ต้องอาศัยองค์ฌานทั้ง ๕ ทั้งนั้น วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
๏ เหตุให้ทำสมาธิไม่ได้ คนที่ไม่สามารถจะทำสมาธิได้นานนั้น ก็เพราะเหตุว่ากำจัดความยินร้ายในสมาธิไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ปีติได้สุขในสมาธิ ยังติดปีติสุขในกามคุณารมณ์
จิตนั้นเองติดอยู่ในกามคุณารมณ์ จิตจึงตกไปสู่กามคุณารมณ์ ก็เพราะจิตติดอยู่ในกามคุณารมณ์ แต่ครั้นเมื่อมีความเพียรเอาจริง มีสัมปชัญญะความรู้ตัว มีสติระลึกได้ คอยกำจัดความยินร้ายในสมาธิเสีย พยายามทำต่อไป จนจิตเริ่มได้สมาธิตั้งในขั้นอุปจาระสมาธิอัปปนาสมาธิดังกล่าวมานั้น ก็จะเริ่มได้ปีติได้สุขขึ้นมา ทำให้จิตเริ่มได้ปีติได้สุขในสมาธิ จนถึงทำให้ติดในสมาธิ อย่างที่บางคนคิดจะทำสมาธิเพียงสิบนาที แต่เมื่อได้ปีติได้สุขในสมาธิแล้ว ก็อยู่ต่อไปเป็นยี่สิบนาที เป็นสามสิบนาที เป็นชั่วโมง เป็นสองชั่วโมง เป็นต้น นี่ด้วยอำนาจของปีติสุขนี้เอง
๏ ปีติสุขในสมาธิ แต่ท่านก็สอนไม่ให้ติดในปีติและในสุข ถึงเช่นนั้นปีติและสุขนี้ก็เป็นเครื่องทำให้จิตกลับมาชอบสมาธิได้ มีฉันทะคือความพอใจในสมาธิ ทำให้ทำสมาธิได้ และสำเร็จสมาธิขึ้น จึงต้องอาศัยปีติอาศัยสุข จิตจึงจะเป็นเอกัคคตา คือเป็นสมาธิได้ตั้งแต่ในขั้นบริกัมมสมาธิ ต่อมาก็อุปจาระสมาธิ และเป็นอัปปนาสมาธิเข้าองค์ฌานจริงๆ คือเป็นปฐมฌานในที่สุด
เหล่านี้เป็นข้อปฏิบัติที่พึงทำได้ และที่จะเป็นสมาธิได้พอสมควรนั้น อย่างน้อยก็จะต้องได้อุปจาระสมาธิ อย่างดีขึ้นก็ควรจะให้ได้ถึงปฐมฌาน ซึ่งเป็นอันดับที่สืบต่อกันมา อันเป็นวิสัยที่จะพึงปฏิบัติได้ ส่วนที่ต้องการจะให้สมาธิแนบแน่นยิ่งกว่านั้น ก็ทำต่อขึ้นไปตามลำดับดังที่กล่าวมานี้ มรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ต่อไปนี้ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป