ใน การเรียนการสอนในเรื่องต่างๆจำเป็นจะต้องนำเอาทฤษฏีของการเรียนรู้มาใช้ ประกอบการสอนไม่ใช่ยึดเอาตัวใดตัวหนึ่งมาใช้เพียงตัวเดียวแต่จะต้องนำเอามา ใช้อย่างประสมประสานกันถึงจะทำให้เกิดการเรียนรุ้ได้ดีที่สุด
รศ.ดร.เสาวลักษณ์ รัตนวิชช์ อาจารย์ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว ) เปิดเผยถึงงานวิจัยในโครงการประภาคารการรู้หนังสือด้วยแนวทฤษฎี การสอนแบบมุ่ง”ประสบการณ์ภาษา หรือ ( Lighthouse Literacy Project Through Concentrated Language Encounter Instruction) ซึ่งเป็นความร่วมมือของมศว องค์กรโรตารีสากลและกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ว่างานวิจัยชิ้นนี้เป็นกระบวนการเรียนการสอนด้านภาษาเพื่อมุ่งเน้นการรู้หนังสือให้กับคนไทยและคนต่างประเทศกว่า 10 ประเทศ อันได้แก่ ลาว มาเลเซีย สิงค์โปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บังคลาเทศ เนปาล อินเดีย แอฟริกาใต้ บราซิล ตุรกี อียิปต์ มุ่งเน้นไปในกลุ่มผู้เรียนหลายวัย ตั้งแต่เด็กนักเรียน นักศึกษา และผู้ใหญ่ ยังเรียนอยู่ในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษา นอกจากนี้ยังเป็นเด็กที่เรียนในระบบการศึกษาพิเศษ ซึ่งมีความผิดปกติทางการได้ยินและการมองเห็น ผู้ที่มีความผิดปกติทางร่างกายพิการแขนขา เด็กออทิสติก ตลอดถึงเด็กเร่ร่อนขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นกำลังสนใจวิธีการรู้หนังสือแนวทฤษฎีการสอนแบบมุ่งเน้นประสบการณ์ภาษาอย่างมาก แม้ประเทศญี่ปุ่นจะไม่มีปัญหาทางการรู้หนังสือ แต่เขาต้องการเรียนรู้ ศึกษาวิธีการนี้เพื่อนำไปใช้กับการเรียนรู้ภาษาที่สองอย่างภาษาอังกฤษให้กับประชาชนญี่ปุ่น
“การเรียนรู้หนังสือด้วยแนวทฤษฎีการสอนแบบมุ่งประสบการณ์ภาษาเป็นกระบวนการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นธรรมชาติในการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นหลัก ใช้กิจกรรมที่กระตุ้นการเรียนรู้แบบธรรมชาติให้ผู้เรียนได้ทดลองใช้ภาษา ซึ่งไม่ว่าจะเป็นภาษาแม่ หรือภาษาที่สอง ที่สาม กระบวนการทางภาษาด้วยกระบวนการทางความคิดของตัวเอง ใช้หลักการทางสมองเป็นหลัก ควบคู่ไปกับศักยภาพส่วนตัวที่เรียกว่าพหุปัญญาและใช้จิตวิทยาหลายด้านเข้ามาร่วม สิ่งสำคัญเด็กได้ค้นคว้า ลงมือปฏิบัติทางภาษาด้วยตัวเอง การสอนในลักษณะนี้ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่เมื่อได้เรียนรู้ด้วยวิธีการนี้จะสนุกและอยากเรียนรู้งานวิจัยที่เราดำเนินการนั้นได้มุ่งเน้นไปที่เด็กหรือผู้ใหญ่ที่ไม่รู้หนังสือ หรือรู้บ้าง ตลอดถึงบางคนรู้ภาษาแม่แล้วและต้องการจะก้าวหน้าในภาษาที่สอง การสอนให้เด็กหรือผู้ใหญ่คนหนึ่งรู้ภาษานั้น
เราเน้นกิจกรรมที่ใช้ในชีวิตประจำวันเป็นหลัก อย่างเด็กเร่ร่อนหรือผู้ใหญ่ที่ไม่รู้หนังสือ ตลอดถึงเด็กที่เรียนอยู่ในโรงเรียน กิจกรรมที่ใช้ได้ผลคือการฝึกอาชีพหรือวิชาชีพเป็นหลัก เข้ามาสอนภาษา การสอนภาษาด้วยกิจกรรมที่ทำอยู่ในชีวิตประจำวัน ผู้เรียนจะได้ใช้ภาษาด้วยตัวของเขาเอง เขาจะได้คิด การมุ่งเน้นให้คนรู้หนังสือด้วยวิธีการนี้ใช้เวลาไม่มากนัก ถ้าเป็นภาษาแม่หรือภาษาประจำชาตินั้นๆ ใช้เวลาเพียงแค่ 3 เดือนและต้องเรียนรู้ภาษาผ่านกิจกรรม 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ถ้าเป็นภาษาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษาแม่ อาจจะเป็นภาษาที่สอง ที่สามของบางคนต้องใช้เวลา 6 เดือนและต้องเรียน 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่สำหรับบางคนที่มีการเพิ่มจำนวนชั่วโมงให้มากขึ้นก็จะใช้เวลาในการเรียนสั้นลง”
รศ.ดร.เสาวลักษณ์ กล่าวอีกว่าแม้ว่า มศว จะทำงานวิจัยชิ้นนี้สำเร็จและได้รับการยอมรับจากประเทศต่างๆ หากแต่ในสังคมไทยยังไม่สนใจโดยเฉพาะรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการเอง (ศธ.) ก็ไม่เอาจริงเอาจังเราจะเห็นว่าการรู้หนังสือของเด็กไทยยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ส่วนภาษาที่สองอย่างภาษาอังกฤษเด็กไทยก็ยังสือสารไม่รู้เรื่อง เรียนในโรงเรียน 5- 6 ปีก็ยังใช้ไม่ได้ เพราะผู้เรียนไม่ได้เรียนและนำไปใช้จริงอย่างที่เขาอยากจะใช้
"ทุกวันนี้การเรียนภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษาแม่หรือภาษาที่สองไม่ได้ผลเพราะ ผู้เรียนถูกตีกรอบให้เรียนมากเกินไป ถูกบังคับให้เรียนในเรื่องต่างๆ ผู้เรียนไม่ได้อยากเรียนในหัวข้อที่ถูกกำหนดให้เรียน เขาจึงไม่สนใจ การเรียนภาษาคือการสร้างงานหรือสร้างประสบการณ์ของตัวเองขึ้นมาให้ได้ทุกวัน ไม่ใช่เรียนกันแต่ในตำรา เรียนแบบท่องจำ เด็กหรือผู้เรียนจะเป็นผู้คิดเองว่าเขาจะใช้ภาษาเพื่ออะไร แล้วเขาจะใช้ภาษาด้วยตัวเขาเอง โดยไม่จำเป็นต้องเรียนโดยการท่องจำ"
|