Neric-Club.Com
  สารบัญเว็บไซต์
  ทรัพยากรคลับ
  พิพิธภัณฑ์หุ่นกระดาษ
  เปิดประตูสู่อาเซียน@
  พันธกิจขยายผล
  ชุมชนคนสร้างสื่อ
  คลีนิคสุขภาพ
  บริหารจิต
  ห้องข่าว
  ตลาดวิชา
   นิตยสารออนไลน์
  วรรณกรรมเพื่อเยาวชน
  ลมหายใจของใบไม้
  เรื่องสั้นปันเหงา
  อังกฤษท่องเที่ยว
  อนุรักษ์ไทย
  ศิลปวัฒนธรรมไทย
  ต้นไม้ใบหญ้า
  สายลม แสงแดด
  เตือนภัย
  ห้องทดลอง
  วิถีไทยออนไลน์
   มุมเบ็ดเตล็ด
  เพลงหวานวันวาน
  คอมพิวเตอร์
  ความงาม
  รักคนรักโลก
  วิถีพอเพียง
  สัตว์เลี้ยง
  ถนนดนตรี
  ตามใจไปค้นฝัน
  วิถีไทยออนไลน์
"ในยุคสมัยแห่งโลกแฟนตาซี ปลาใหญ่ไม่ทันกินปลาเล็ก ปลาเร็วไม่ทันกินปลาช้า ปลาตะกละฮุบเหยื่อโผงโผง โง่ยังเป็นเหยื่อคนฉลาด อ่อนแอเป็นเหยื่อคนเข้มแข็ง คนวิถึใหม่ต้องฉลาด เข้มแข็ง เสียงดัง มีเงินเป็นอาวุธ
ดูผลโหวด
 
 

'องค์ความรู้ในโลกนี้มีมากมาย
เหมือนใบไม้ในป่าใหญ่
มนุษย์เราเรียนรู้ได้
แค่ใบไม้หนึ่งกำมือของตนเอง
ผู้ใดเผยแผ่ความรู้
อันเป็นวิทยาทานแก่ผู้อื่น
นั่นคือกุศลอันใหญ่ยิ่ง'
 
องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า












           




             ซ่อมได้ 


สถิติผู้เยี่ยมชมเวปไซต์
14024126  

พันธกิจขยายผล

Flipped Classroom
:คุณหมอวิจารณ์ พานิช
 
ทฤษฎีห้องเรียนกลับด้านนี้มีการพูดคุย นำเสนอกันอยู่พอสมควร ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ในฐานะของคุณครูที่อยู่ในแวดวงที่ต้องศึกษา และเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง จึงนำเอา“ทฤษฎีห้องเรียนกลับด้าน” หรือ”ทฤษฎีห้องเรียนกลับทาง”ของคุณหมอวิจารณ์ พานิช มาเพื่อให้พวกเราเรียนรู้กัน
1. เริ่มจากการทำงานในหน้าที่ครูสอน
2. ห้องเรียนกลับทางเป็นอย่างไร
3. ทำไมจึงควรกลับทางห้องเรียน
4. วิธีดำเนินการกลับทางห้องเรียน
5. ห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริง
6. ลักษณะของห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริง
7. วิธีดำเนินการ
8. คำถาม – คำตอบ
9. สรุป
 
ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง
เริ่มจากการทำงานในหน้าที่ครูสอน
 
ICT ช่วยให้ครูทำวิดีโอสอนวิชาได้โดยง่าย และเอาไปแขวนไว้บนอินเทอร์เน็ตได้ฟรี ให้ศิษย์ที่ขาดเรียนเข้าไปเรียนได้ ศิษย์ที่เรียนช้าก็เข้าไปทบทวนได้อีก ไม่ต้องพึ่งการจดผิดๆ ถูกๆ ตกๆ หล่นๆ อีกต่อไป ครูก็สบาย ไม่ต้องสอนซ้ำแก่เด็กที่ขาดเรียนไปทำกิจกรรม แค่คุณค่าของวิดีโอบทเรียนที่แขวนไว้บนอินเทอร์เน็ตไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น มันนำไปสู่การกลับทางการเรียนรู้ของศิษย์ วิดีโอบทเรียนที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต ช่วยให้นักเรียนไม่จำเป็นต้องใช้เวลาที่โรงเรียนในการเรียนเนื้อวิชา แต่ใช้เวลาให้เกิดคุณค่าต่อตนเองมากกว่านั้น คือใช้สำหรับฝึกแปลงเนื้อความรู้ไปเป็นสาระหรือความเข้าใจที่เชื่อมโยงกับโลกหรือกับชีวิตจริง ซึ่งช่วงเวลาฝึกหัดนี้ต้องการความช่วยเหลือจากครู เท่ากับผู้เขียนหนังสือทั้ง ๒ ท่านนี้ ได้ค้นพบวิธีเรียนรู้แบบกลับทาง คือเรียนวิชาที่บ้าน ทำการบ้านที่โรงเรียน หรือรับถ่ายทอดความรู้ที่บ้าน แล้วมาสร้างความรู้ต่อยอดจากวิชาที่รับถ่ายทอดมา ให้เป็นความรู้ที่สอดคล้องกับชีวิต ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีพลัง เกิดทักษะ ที่เรียกว่า ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑

ไม่ใช่นักเรียนเท่านั้นที่เรียนรู้กลับทาง ครูก็สอนกลับทางด้วย

จริงๆ แล้วครูเป็นตัวการของห้องเรียนกลับทาง และครูก็ต้องทำงานแบบกลับทางด้วย คือแทนที่จะสอนวิชาหน้าชั้นเรียน กลับสอนหน้ากล้องวิดีทัศน์ แล้วใช้เวลาเรียนที่โรงเรียนของศิษย์ ทำหน้าที่ ครูฝึก (coach) ให้นักเรียนฝึกแปลงวิชา หรือประยุกต์ใช้วิชา ซึ่งในกระบวนการนั้นนักเรียนต้องสร้างความรู้ความเข้าใจของตนขึ้นมาในสมองและในหัวใจ ก่อนจะประยุกต์ใช้ึวามรู้ในกิจกรรมหรือโจทย์แบบฝึกหัด เป็นการฝึกฝนเรียนรู้ที่แท้จริง เนื่องจากครูผู้เขียนหนังสือนี้ทั้ง ๒ คนเป็นครูสอนวิชาเคมีชั้นมัยมในโรงเรียนเดียวกัน เขาจึงใช้เวลาที่โรงเรียนให้นักเรียนทำ lab ซักถามข้อสงสัย และทำแบบฝึกหัดหรือการทดสอบ ครูทั้งสองพบว่า ใช้ทำทั้ง ๓ อย่างแล้วก็ยังมีเวลาเหลือเขาบอกว่า นี่คือกระบวนการ personalization ของการเรียน คือช่วยให้ครูดูแลศิษย์ได้เป็นรายคน ผมมองว่า ครูทั้งสองมีวิญญาณของนักเรียนรู้ ได้ใช้ภารกิจการเป็นครูค้นคว้า ทดลอง หาวิธีจัดการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้แก่ศิษย์ โดยมีเป้าหมายตามที่เขาระบุในตอนต้นของหนังสือว่า what is best for my students in my classroom? กระบวนการทั้งหมดนี้ ผมเรียกว่า การวิจัยในชั้นเรียน เป็นการวิจัยที่เกิดประโยชน์จริงแก่ศิษย์ นี่คือการวิจัย (และพัฒนา) การศึกษาที่แท้จริง

ครูที่ดีย่อมมีโจทย์ที่ดีในชีวิต และความเป็นครูเพื่อศิษย์ ย่อมทำให้โจทย์นั้นเป็นโจทย์เพื่อ ให้ศิษย์ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดในชั้นเรียน

สิ่งที่ดีที่สุดที่นักเรียนพึงได้รับจากชั้นเรียนในปัจจุบัน ไม่ใช่เนื้อวิชา เพราะสิ่งนั้นนักเรียนเรียนรู้เองได้ กระบวนการเรียนรู้ที่นักเรียนต้องพึ่งครูคือการตีความวิชาเข้าสู่ชีวิตจริง หรือการประยุกต์ใช้ความรู้ ในกระบวนการนี้นักเรียนต้องฝึกฝนลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง โดยส่วนใหญ่ทำเป็นทีมร่วมกับเพื่อน และต้องการครูฝึกคอยช่วยแนะนำและให้กำลังใจ ผมเพิ่งอ่านหนังสือเล่มนี้จบบทที่ ๑ เท่านั้น รู้สึกตื่นเต้นที่ผู้เขียนบอกตอนท้ายบทว่า การกลับทางการเรียน ไม่ใช่สูตรสำเร็จของวิธีการ แต่เป็นการเปลี่ยนวิธีคิด (mindset) เปลี่ยนความสนใจจากที่ครูมาเป็นที่นักเรียน และที่การเรียนรู้ และครูที่กลับทางการเรียนรู้จัดการเรียนรู้แตกต่างกัน โดยที่ผู้เขียนหนังสือทั้งสองทำงานด้วยกัน ปรึกษากัน แต่ชั้นเรียนของครูทั้งสองก็ยังแตกต่างกัน ผมตีความว่าครูทั้งสองค้นพบการทำงานและเรียนรู้แบบ PLC (Professional Learning Community) โดยไม่รู้ตัว และเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ เกิดผลของการเรียนรู้และสร้างสรรค์ที่มีพลังอย่างไม่น่าเชื่อ จนทั้งสองท่านได้รับรางวัล ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร และเขียนหนังสือเล่มนี้ ผมลองค้นใน YouTube ด้วยคำว่า flip classroom Jonathan Bergman หรือด้วยคำว่า flip classroom Aaron Sams ได้วิดีโอใน YouTube เพื่อทำความเข้าใจการกลับทางห้องเรียนมากมาย นอกจากนั้นยังมีคำอธิบายเรื่อง flip teaching ที่นี่ ตอนนี้เรื่องการกลับทางห้องเรียนกำลังเป็นแฟชั่น ผมเคยบันทึกเรื่องนี้ไว้ที่นี่

ทำไมจึงควรกลับทางห้องเรียน

• เพื่อใช้เทคโนโลยีการเรียนที่เด็กสมัยใหม่ชอบ คือ ไอซีที หรืออาจเรียกว่าเป็นการนำโลกของโรงเรียน เข้าสู่โลกของนักเรียน คือโลก ดิจิตัล
• ช่วยเด็กที่มีงานยุ่ง เด็กสมัยนี้ธุระมาก กิจกรรมมาก บางคนเป็นนักกีฬา ต้องขาดเรียนไปแข่งขัน แทบทุกคนมีงานเทศกาล ที่ตนต้องเข้าไปช่วยจัด การมีบทสอนด้วยวิดีทัศน์อยู่บน อินเทอร์เน็ต ช่วยให้เด็กเหล่านี้เรียนไว้ล่วงหน้า หรือเรียนตามชั้นเรียนได้ง่ายขึ้น รวมทั้งเป็นการฝึกเด็กให้รู้จักจัดการเวลาของตน
• ช่วยเด็กเรียนอ่อนที่ขวนขวาย ในห้องเรียนปกติ เด็กเหล่านี้จะถูกทอดทิ้ง แต่ในห้องเรียนกลับทาง เด็กเหล่านี้จะได้รับความเอาใจใส่ของครูมากที่สุด คือครูเอาใจใส่เด็กที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด โดยอัตโนมัติ
• ช่วยเด็กที่มีความสามารถแตกต่างกัน ให้ก้าวหน้าในการเรียนตามความสามารถของตน เพราะเด็กสามารถฟังวิดีทัศน์กี่รอบก็ได้ หยุดตรงไหนก็ได้ กรอกลับก็ได้ ผู้เขียนเล่าว่า เด็กที่หัวไวมากๆ บางคนดูวิดีทัศน์บางบทเรียนด้วย speed x2 ก็มี
• ช่วยให้เด็กสามารถหยุด และกรอกลับครูของตนได้ ทำให้เด็กจัดเวลาเรียนตามที่ตนพอใจ เบื่อก็หยุดพักได้ แบ่งเวลาดูวิดีทัศน์เป็นช่วงๆ ได้ เล่นสนุกด้วยการดูวิดีทัศน์ความเร็ว x2 ก็ได้
• ช่วยให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับครูเพิ่มขึ้น ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เรียกว่า การเรียนแบบ ออนไลน์ การกลับทางห้องเรียน ยังคงเป็นการเรียนแบบนักเรียนมาโรงเรียน และนักเรียนสัมผัสครู ห้องเรียนกลับทางเป็นการใช้พลังทั้งของระบบ ออนไลน์ และระบบพบหน้า ช่วยเปลี่ยนหรือเพิ่มบทบาทของครู ให้เป็นทั้ง พี่เลี้ยง (mentor), เพื่อน เพื่อนบ้าน (neighbor) และผู้เชี่ยวชาญ (expert)
• ช่วยให้ครูรู้จักนักเรียนดีขึ้น หน้าที่ของครูไม่ใช่เพียงช่วยให้ศิษย์ได้วิชา หรือเนื้อหา แต่ต้องกระตุ้นแรงบันดาลใจ (inspire) ให้กำลังใจ รับฟัง และช่วยส่งเสริมให้เด็กฝันถึงอนาคตของตน นั่นคือมิติของความสัมพันธ์ ที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของศิษย์ ผู้เขียนเล่าว่า ประสบการณ์ของตนบอกว่า หลังกลับทางห้องเรียน ศิษย์ที่มีปัญหาส่วนตัว กล้าปรึกษาครูผ่านทางช่องทางสื่อสารสมัยใหม่มากขึ้น
• ช่วยเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนนักเรียนกันเอง ข้อเขียนในหนังสือ ในส่วนหัวข้อย่อยนี้ดีที่สุดสำหรับครูเพื่อศิษย์ และผมตีความว่า มีผลเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของนักเรียน จากเรียนเพื่อทำตามคำสั่งครู หรือทำงานเพื่อให้เสร็จตามข้อกำหนด เป็นเรียนเพื่อตนเอง เพื่อการเรียนรู้ของตน ไม่ใช่เพื่อคนอื่น มีผลให้เด็กเอาใจใส่การเรียน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนในห้องเรียน เกี่ยวกับการเรียน จะเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ นักเรียนที่เข้าใจ ทำแบบฝึกหัดได้ จะช่วยอธิบาย หรือช่วยเหลือเพื่อน สร้างไมตรีจิตระหว่างกัน
• ช่วยให้เห็นคุณค่าของความแตกต่าง ซึ่งโดยธรรมชาติ เด็กในชั้นเรียนเดียวกันมีความแตกต่างกันมาก มีความถนัดและความชอบที่แตกต่างกัน การกลับทางชั้นเรียนช่วยให้ครูเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของนักเรียน แต่ละคน เพื่อนนักเรียนด้วยกันก็เห็น และช่วยเหลือกันด้วยจุดแข็งของแต่ละคน

เนื่องจากครูเดินไปเดินมาทั่วห้อง ครูจะสังเกตเห็นเด็กที่กำลังพยายามดิ้นรนช่วยตนเองในการเรียน และสามารถเข้าไปช่วยเด็กที่ไม่ถนัดเรื่องนั้นให้เอาใจใส่เรียนเฉพาะ ส่วนที่จำเป็น ไม่ต้องทำแบบฝึกหัดทั้งหมด คือไม่ต้องทำแบบฝึกหัดส่วนที่เป็นความรู้ก้าวหน้าหรือท้าทายมาก ซึ่งเหมาะสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษในวิชานั้นเท่านั้น ช่วยให้นักเรียนที่อ่อนในด้านนั้นไม่รู้สึกมีปมด้อย
• เป็นการเปลี่ยนการจัดการห้องเรียน ผู้เขียนเล่าว่า ตนแปลกใจมากที่ปัญหาที่พบบ่อยในชั้นเรียนหายไปเอง ได้แก่ ปัญหาเด็กเบื่อเรียน ก่อกวนชั้นเรียน หรือหลบไปนั่งใช้ สมาร์ทโฟน แช็ท กับเพื่อน รวมทั้งสิ่งไม่พึงประสงค์ในชั้นเรียนอื่นๆ เนื่องจากในห้องเรียนกลับทาง นักเรียนเป็นผู้ลงมือปฏิบัติการ ไม่ใช่เป็นผู้รับถ่ายทอดอย่างในห้องเรียนแบบเดิม ไม่มีครูมายืนสอนปาวๆ หน้าชั้นให้น่าเบื่อหน่ายอีกต่อไป

แต่อย่าเข้าใจผิด ว่าเด็กเรียนอ่อนจะหมดไป ครูยังคงมีประเด็นที่สำคัญกว่าในการจัดการชั้นเรียน ให้ครูได้ทำ ซึ่งผมตีความว่า ห้องเรียนกลับทาง เปิดช่องให้ครูได้ทำหน้าที่สำคัญเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างคุณภาพแก่ชั้นเรียน ให้นักเรียนได้เรียนรู้ดีที่สุดแก่ชีวิตในอนาคต การสร้างสรรค์นี้มีได้ไม่จำกัด
• เปลี่ยนคำสนทนากับพ่อแม่เด็ก จากถามว่าเด็กอยู่ในโอวาทของครูหรือไม่ ไปเป็นถามว่า เด็กได้เรียนรู้หรือไม่ หากเด็กคนไหนไม่ได้เรียนรู้เท่าที่ควร ผู้ปกครองและครูจะร่วมกันช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างไร
• ช่วยให้การศึกษาแก่พ่อแม่ และคนในครอบครัว ผู้เขียนพบว่าพ่อแม่เด็กบางคนดูวิดีทัศน์ไปพร้อมกับลูก บางบ้านดูกันทั้งบ้านก็มี ทำให้ผู้ใหญ่ก็ได้เรียนวิชานั้นไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่ด้อยโอกาส
• ช่วยให้เกิดความโปร่งใสในการจัดการศึกษา ผู้เขียนบอกว่า ในสหรัฐอเมริกา มีปัญหาคนไม่ศรัทธาเชื่อมั่นในระบบการศึกษา การกลับทางห้องเรียน เอาคำสอนใน วิดีทัศน์ ไปไว้บน อินเทอร์เน็ต เป็นการเปิดเผยเนื้อหาสาระของการเรียนแก่สาธารณะ ใครๆ ก็เข้าไปดูได้ ผู้เขียนบอกว่าในสหรัฐอเมริกา โรงเรียนต้องแข่งขันกันดึงดูดนักเรียนมาเรียน ก่อนหน้าการกลับทางห้องเรียน โรงเรียนที่เขาสอนสูญเสียนักเรียนบางคนให้แก่โรงเรียนในละแวก ใกล้เคียง หลังจากกลับทางห้องเรียน นักเรียนเหล่านั้นกลับมา ผมตีความว่า เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของการเรียนการสอน ให้แก่ผู้ปกครอง
•นำไปสู่การเรียนรู้แบบ flipped-mastery approach


เหตุผลที่ผิด ในการดำเนินการกลับทางห้องเรียน
 
• เพราะมีคนแนะนำให้ทำ จงไตร่ตรองเองจนเห็นคุณค่าชัดเจน แล้วจึงทำ อย่าเชื่อใครง่ายๆ
• เพราะคิดว่าเป็นการทำให้เกิด “ห้องเรียนแห่งศตวรรษที่ ๒๑” การสร้างห้องเรียนแห่งศตวรรษที่ ๒๑ นั้น รูปแบบการเรียนรู้ต้องนำเทคโนโลยี ไม่ใช่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำ
• เพื่อแสดงความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี จริงๆแล้วการกลับทางห้องเรียน ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีนำสมัย
• คิดว่าการกลับทางห้องเรียน เป็นเครื่องบอกว่า ตนเป็นครูที่ดี การเป็นครูดี มีมากกว่าสอนดี
• คิดว่า การกลับทางห้องเรียน ช่วยให้ชีวิตการเป็นครูง่ายขึ้น การกลับทางห้องเรียนไม่ทำให้ชีวิตครูง่ายขึ้น

สรุปว่า การกลับทางห้องเรียน เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับช่วยให้ศิษย์เกิดการเรียนรู้ที่ดี ย้ำคำว่า “อย่างหนึ่ง” เพราะการเรียนรู้ที่ดียังมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลากหลายประการ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า การเป็นครูที่ดี ต้องทำมากกว่าการกลับทางห้องเรียน
 
วิธีดำเนินการกลับทางห้องเรียน


เริ่มจากคำแนะนำว่า ก่อนจะคิดใช้วิดีทัศน์ ในการเรียนที่บ้านของนักเรียน ให้ไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อนว่าจะเป็นประโยชน์ อย่ากระโจนเข้าใส่เทคโนโลยีโดยไม่คิดให้รอบคอบ จะกลายเป็นใช้เทคโนโลยีเพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่าเก่งเทคโนโลยีและเมื่อตัดสินใจใช้วิดีทัศน์ ก็ต้องคิดต่อ ว่าจะใช้ของคนอื่นที่มีอยู่แล้ว นำมาใช้ได้ หรือคิดจะทำขึ้นใช้เอง ทั้ง ๒ แนวทางต่างก็มีข้อดีข้อเสีย และแม้จะทำขึ้นใช้เอง ก็ควรส่งเสริมให้นักเรียนค้นทาง อินเทอร์เน็ต หาบทเรียนของครูคนอื่นมาศึกษาประกอบได้ด้วย คือไม่ควรห้ามนักเรียนดูวิดีทัศน์จากแหล่งอื่น การทำวิดีทัศน์บทเรียนไม่ยากและไม่แพง โดยที่ในหนังสือมีรายละเอียดทางเทคนิคมาก ผมจะสรุปมาเพียงย่อๆ ว่ามี ชอฟท์แวร์ สำเร็จรูป ทั้งที่เป็นฟรีแวร์ และที่มีขาย สำหรับทำวิดีทัศน์จากจอคอมพิวเตอร์ เรียก ซอฟท์แวร์ กลุ่มนี้ว่า screencasting software โดยที่คอมพิวเตอร์ต้องมีกล้องวิดีโอ (เว็บแคม) และไมโครโฟน เครื่องมือจำเป็นอีกตัวหนึ่งคือ USB pen tablet สำหรับเขียนที่จอคอมพิวเตอร์ ซึ่งใช้ชนิดราคาถูกก็ได้ ราคาประมาณ ๒ พันบาท อาจซื้อไมโครโฟนชนิดมีสานหรือไร้สายมาใช้ก็ได้ มีทั้งชนิดราคาไม่สูง และที่คุณภาพเสียงดีราคาสูง เลือกใช้ได้ตวามความเหมาะสม การทำวิดีทัศน์ต้องมีการวางแผนบทเรียน แล้วจึงถ่ายทำ ตามด้วยการตกแต่งแก้ไข แล้วจึงนำวิดีทัศน์ออกเผยแพร่ให้นักเรียนเข้าดูได้ โดยอาจเอาขึ้นเว็บ YouTube หรืออาจต้อง burn DVD แจกนักเรียนที่ที่บ้านเข้าเน็ตไม่ได้ ในหนังสือบอกรายละเอียดมากมาย ที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดคือ วิดีทัศน์ต้องไม่ยาว คือควรยาวเพียง ๑๐ - ๑๕ นาทีเท่านั้น สำหรับเด็กชั้นประถมและมัธยมต้น ผู้เขียนทั้งสองเตือนว่า ครูต้องไม่หลงเข้าใจผิดว่า ส่วนสำคัญที่สุดในการเรียนแบบกลับทางห้องเรียนอยู่ที่วิดีทัศน์ ตรงกันข้าม เวลาสำคัญที่สุดของการเรียนแบบนี้อยู่ที่เวลาเรียนในห้องเรียน ครูจะต้องประเมินคุณค่าของเวลาช่วงนี้ และออกแบบแล้วปรับปรุงเล่า เพื่อให้เป็นเวลาที่มีคุณค่าต่อการเรียนรู้สูงสุดของเด็ก คือเกิดการเรียนรู้ในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง มากกว่าการเรียนแบบเดิม เขายกเรื่องเล่าของครูที่เอาวิธีนี้ไปใช้สอนภาษาต่างประเทศ (ภาษาสเปน) โดยทำวิดีทัศน์สอนไวยากรณ์ และเริ่มต้นการสนทนา แล้วใช้เวลาในห้องเรียนในการสนทนา อ่านข้อเขียน หรือเขียนเรียงความ โดยที่ตลอดเวลาในห้องเรียน ใช้ภาษาสเปนทั้งหมด ชั้นเรียนคณิตศาสตร์ เรียนทฤษฎีจากวิดีทัศน์ที่บ้าน แล้วใเวลาในชั้นเรียน “ทำ lab” ด้านวิธีคิดเชิงคำนวณ การตั้งคำถามเชิงคำนวณ และความเชื่อมโยงระหว่างคณิตศาสตร์ กับ STE คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มวิชาเดียวกันใน STEM (science, technology, engineering, mathematics) ห้องเรียนวิทยาศาสตร์แบบกลับทาง ช่วยส่งเสริมการเรียนแบบ inquiry-based หรือเรียนแบบตั้งข้อสงสัย หรือตั้งคำถาม รวมทั้งการใช้เวลาในห้องเรียนกับภาคปฏิบัติหรือการทดลอง ในวิชาเคมี เขาแนะนำ POGIL (Process Oriented Guided Inquiry Learning) ผู้เขียนบอกว่า หากใช้วิธีของ POGIL นักเรียนอาจไม่ต้องดูวิดีโอของครูก็ได้ ห้องเรียนวิชาด้านสังคมศาสตร์ ภาษา ศิลปะ และมนุษยศาสตร์ การเรียนสาระหรือเนื้อหาวิชาจากวิดีทัศน์ที่บ้าน เปิดโอกาสให้ได้ใช้เวลาในห้องเรียนเชื่อมโรงทฤษฎีหรือความรู้เหล่านั้นเข้ากับสถานการณ์จริงของโลก หรือสถานการณ์ในบ้านเมือง หรือในชุมชนใกล้ตัว นักเรียนอาจได้ฝึกโต้วาที กล่าวสุนทรพจน์ หรือเขียนเรียงความ วิชาพละศึกษา เป็นวิชาที่ใช้วิธีกลับทางห้องเรียนแล้วครูและนักเรียนชอบมากที่สุด เพราะมีเวลาให้นักเรียนฝึกปฏิบัติมากขึ้น และครูก็ช่วยโค้ชให้นักเรียนปฏิบัติได้ถูกวิธียิ่งขึ้น

การกลับทางห้องเรียน ช่วยให้การเรียนรู้แบบ PBL (Project-Based Learning) ทำได้สะดวกขึ้น เพราะสามารถใช้เวลาในชั้นเรียนทำโครงงาน และครูมีเวลาช่วยแนะนำ หรือทำหน้าที่ “คุณอำนวย” ได้มากขึ้น

ความก้าวหน้าอย่างหนึ่งของการกลับทางห้องเรียนคือ ให้นักเรียนนั่นเองเป็นผู้สร้างเนื้อหาสำหรับทำวิดีทัศน์ หรือสำหรับเอาไปลงในช่องทางการสื่อเนื้อหาต่างๆ เช่น ใน บล็อก podcast กระบวนการเช่นนี้เรียกว่า Student-Created Content เท่ากับเป็นช่องทางให้นักเรียนสอนผู้อื่น ซึ่งถือเป็นช่องทางการเรียนรู้ที่ดีที่สุดตามที่ระบุใน learning pyramid ห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริง

การเรียนแบบรู้จริง (mastery learning)

การเรียนแบบรู้จริง (mastery learning) เกิดขึ้นมานานแล้ว คือประมาณ ๙๐ ปี แต่ไม่มีคนสนใจ รวมทั้งเป็นภาระแก่ครูมากเกินไป แต่ปัจจุบัน ไอซีที ช่วยให้การเรียนแบบรู้จริงนี้ทำได้โดยครูไม่ต้องทำงานมากขึ้น
มีผลการวิจัยบอกว่า การเรียนรู้แบบรู้จริง จะช่วยให้เด็กประมาณร้อยละ ๘๐ สามารถเรียนเนื้อหาสำคัญได้ เทียบกับร้อยละ ๒๐ เมื่อใช้วิธีสอนแบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

หลักการสำคัญของการเรียนแบบรู้จริง คือ ให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ชุดหนึ่งตามอัตราเร็วของการเรียนรู้ของตน ไม่ใช่ต้องเรียนตามอัตราเร็วที่ครูหรือชั้นเรียนกำหนด การเรียนแบบนี้ นักเรียนต้องเรียนวัตถุประสงค์ไล่ตามลำดับพื้นความรู้ก่อนหลัง คือต้องเข้าใจพื้นความรู้ชุดที่ ๑ เสียก่อน จึงจะสามารถเรียนรู้และเข้าใจบทเรียนที่ ๒ ได้

ลักษณะสำคัญของการเรียนแบบรู้จริงคือ
•นักเรียนเรียนเป็นกลุ่ม หรือเดี่ยวๆ ตามอัตราเร็วที่เหมาะสม
•ครูคอยประเมินการเรียนรู้ (formative assessment) และวัดความเข้าใจ ของศิษย์
•นักเรียนพิสูจน์ว่าตนเรียนรู้วัตถุประสงค์นั้น เข้าใจอย่างแท้จริง โดยสอบผ่านข้อสอบ (summative assessment) นักเรียนที่ยังสอบไม่ผ่านวัตถุประสงค์ข้อใด ได้รับการช่วยเหลือ

ผลการวิจัยบอกว่า การเรียนแบบรู้จริง ช่วยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ของเด็ก เพิ่มความร่วมมือระหว่างนักเรียน เพิ่มความมั่นใจตนเองของนักเรียน และช่วยให้โอกาสนักเรียนได้แก้ตัวในการเรียนรู้ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์หากพลาดในรอบแรก อ่านถึงตอนนี้ ผมคิดว่า นี่คือที่มาของหลักการศึกษาแบบไม่มีการสอบตก คือนักเรียนต้องได้รับโอกาสให้เรียนและสอบแก้ตัว จนบรรลุผลสัมฤทธิ์จริงๆ

เมื่อเรียนแบบรู้จริงในชั้นต้นๆ พื้นความรู้ก็แข็งพอที่จะขึ้นไปเรียนชั้นสูงขึ้นไปได้โดยไม่ยากลำบาก เพราะมีวิดีทัศน์ให้ดูเองกี่รอบก็ได้ หยุดบันทึกช่วยความเข้าใจก็ได้ ถอยหลังกลับไปดูบางตอนใหม่ก็ได้ นักเรียนจึงสามารถเรียนวิชาหรือทฤษฎีจนเข้าใจ หากยังไม่เข้าใจแจ่มแจ้งก็ยังมีชั่วโมงเรียนในชั้นเรียนให้ฝึกทำแบบฝึกหัดโดยมี เพื่อนและครูคอยช่วยเหลือ ห้องเรียนแบบกลับทาง จึงช่วยให้การเรียนแบบรู้จริงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เทคโนโลยีคลังข้อสอบ และการสอบโดยใช้ ไอซีที เป็นเครื่องมือ ช่วยให้เด็กสามารถทดสอบความเข้าใจของตนเองกี่ครั้งก็ได้ สอบแต่ละครั้งข้อสอบต่างกัน ทั้ง formative assessment และ summative assessment จึงไม่เป็นภาระหนักของนักเรียนและครูอีกต่อไป



ห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริง (flipped-mastery classroom) เป็นอย่างไร

เป็นการนำเอาวิธีการสองอย่างมาใช้ร่วมกัน โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วยสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ที่นักเรียนรู้จริง มีลักษณะเป็นห้องเรียนที่นักเรียนแต่ละคน (หรือแต่ละกลุ่ม) เรียนบทเรียนของตน ที่ไม่ตรงกับของคน (หรือกลุ่ม) อื่น แต่ละคน (กลุ่ม) ง่วนอยู่กับกิจกรรมของตน นักเรียนทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ของตน ครูเดินไปรอบๆ ห้องเพื่อตรวจสอบการเรียนรู้ของศิษย์แต่ละคน (กลุ่ม) และคอยช่วยเชียร์หรือให้กำลังใจ หรือช่วยตั้งคำถาม หรือแนะวิธีช่วยตัวเอง ให้แก่ศิษย์ นักเรียนจะหาวิธีแสดงให้ครูเห็นว่าตนเข้าใจวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ขั้นตอนนั้น โดยอาจไม่ใช่การตอบข้อสอบที่มีอยู่ในคอมพิวเตอร์ก็ได้

ในขณะที่ห้องเรียนแบบเดิมจะมีลักษณะเป็นระเบียบเรียบร้อย นักเรียนทุกคนทำกิจกรรมเดียวกัน ทำพร้อมกัน ห้องเรียนแบบกลับทางและเรียนให้รู้จริง มีลักษณะไม่เป็นระเบียบ นักเรียนทำกิจกรรมที่ต่างกัน เรียนไม่พร้อมกัน แต่ละคนมีอัตราเร็วของการเรียนตามที่เหมาะกับตน ครูต้องรู้เนื้อหาวิชาอย่างรู้จริงห้องเรียนแบบกลับทางและเรียนแบบรู้จริงนี้ ครูต้องมีความสามารถเปลี่ยนสวิตช์สมองจากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่งได้ทันท่วงที รวมทั้งต้องเข้าใจความเชื่อมระหว่างสาระวิชา


ครูต้องไม่อายที่จะสารภาพกับเด็กว่าตนไม่รู้ในบางเรื่อง
นั่นคือครูต้องทำตัวเป็น “ผู้เรียนรู้” มากกว่าเป็น “ผู้รอบรู้”




องค์ประกอบของห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริง
•กำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ให้ชัดเจน
•ไตร่ตรองว่าวัตถุประสงค์ส่วนไหนควรเรียนแบบลงมือทำหรือ inquiry ส่วนไหนควรเรียนแบบรับถ่ายทอด
•ให้แน่ใจว่านักเรียนเข้าถึงวิดีทัศน์เพื่อเรียนสาระวิชา
•สร้างกิจกรรมให้นักเรียนลงมือทำเพื่อเรียนรู้ในชั้นเรียน
•สร้างวิธีสอบหลายวิธีเพื่อพิสูจน์ว่านักเรียนบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุ ประสงค์ ในแต่ละบทเรียน
ลักษณะของห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริง

การสอนให้นักเรียนรับผิดชอบการเรียนของตนเอง

เมื่อใช้ห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริง บรรยากาศในห้องเรียนเปลี่ยนไป ชีวิตครูเปลี่ยนไป และพฤติกรรมของเด็กก็เปลี่ยนไปในห้องเรียนแบบเดิม นักเรียนนั่งฟัง รับคำสั่ง และรับถ่ายทอด แล้วตอบข้อสอบเพื่อพิสูจน์ว่าตนได้เรียนรู้ สภาพเช่นนี้ได้ผลต่อเด็กส่วนน้อย เด็กอีกจำนวนหนึ่งหมดความสนใจ และหลุดไปจากกระบวนการเรียนรู้ แต่ในห้องเรียนแบบ กลับทางและเรียนให้รู้จริง นักเรียนรับผิดชอบต่อการเรียนของตนเอง การเรียนไม่ใช่สิ่งที่กระทำต่อนักเรียน แต่กลายเป็นสิ่งที่นักเรียนเป็นเจ้าของ เป็นผู้กระทำ และจะเป็นทักษะที่ติดตัวตลอดไป เมื่อกลับทางห้องเรียนในช่วงแรก เด็กอาจไม่คุ้น และอาจต่อต้าน แต่เมื่อดำเนินการไประยะหนึ่ง เด็กจะเห็นคุณค่า และจะเปลี่ยนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนอย่างขมีขมัน ทำให้ห้องเรียนเต็มไปด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย เมื่อผู้เขียนทั้งสองเริ่มห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริง ทั้งสองไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และเมื่อดำเนินการ จึงพบว่าเป็นวิธีทำให้การเรียนเป็นกิจกรรมเฉพาะตัวของเด็กแต่ละคน ที่มีกิจกรรมเรียนรู้แตกต่างกันในห้องเรียนเดียวกันเวลาเดียวกัน และเด็กแต่ละคนเรียนด้วยอัตราเร็วที่แตกต่างกัน และครูก็ดูแลเด็กด้วยมาตรฐานที่แตกต่างกันได้ โดยมีมาตรฐานขั้นต่ำไว้กำกับเด็กที่เรียนช้าและไม่ถนัดในวิชานั้น นักเรียนที่มีความถนัดและตั้งใจเรียนต่อทางใดทางหนึ่งก็จะได้รับการ ส่งเสริมให้เอาดีด้านนั้นยิ่งๆ ขึ้น

การเรียนรู้เป็นศูนย์กลางของห้องเรียน

ในห้องเรียนแบบเก่า ครูเป็นจุดสนใจของห้องเรียน แต่ในห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริงจุดสนใจอยู่ที่สิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้ หรือยังไม่รู้ ในห้องเรียนแบบนี้ นักเรียนมาเข้าห้องเรียนพร้อมกับเป้าหมายของการเรียนรู้ ครูเป็นผู้จัดสิ่งของห้องเรียนและสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการเรียน รวมทั้งช่วยแนะนำให้นักเรียนวางแผนการเรียนรู้ของตน ห้องเรียนเปลี่ยนจากที่รับถ่ายทอด (ความรู้) มาเป็นที่พูดคุยแลกเปลี่ยน เพื่อการเรียนรู้ และเพื่อแสดงว่าตนได้เรียนรู้ตามวัตถุประสงค์อย่างรู้จริง นักเรียนอยู่ในสภาพเป็นเจ้าของกระบวนการเรียนรู้ ไม่ใช่เพียงผู้รับถ่ายทอดสาระ ผู้เขียนทั้งสองเปลี่ยนชื่อห้องเรียน (classroom) เป็น พื้นที่สำหรับการเรียนรู้ (learning space)

การเรียนรู้แบบกลับทางและเรียนให้รู้จริงให้บริการ feedback แก่เด็กในทันที และลดเอกสารที่ครูต้องทำเอกสารการประเมินอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อ feedback แก่เด็กในทันทีที่เด็กทำกิจกรรมในห้องเรียน ช่วยให้เด็กได้รู้ความก้าวหน้าในการเรียนของตนทันที และครูก็ไม่ต้องตรวจการบ้านกองโต นักเรียนจะเอาชิ้นผลงานมาคุยกับครู เกี่ยวกับวัตถุประสงค์และประเด็นหลักของการเรียน ครูจะตรวจสอบความเข้าใจ และความเข้าใจผิดของเด็กไปพร้อมๆ กัน ครูให้คะแนนได้ในชั่วโมงเรียน และสามารถปรึกษาหรือวางแผนการเรียนที่จำเป็นขั้นต่อไปเพื่อช่วยให้เข้าใจชัดขึ้น หรือเพื่อขจัดความเข้าใจผิด เด็กที่เข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว และแสดงความหัวไวในเรื่องนั้น ครูก็สามารถพูดคุยเพื่อร่วมกันวางแผนการเรียนขั้นต่อไป เพื่อให้ท้าทายยิ่งขึ้น เข้าใจได้ลึกและมีมุมมองที่กว้างและเชื่อมโยงยิ่งขึ้น มีคอมพิวเตอร์ทดสอบความเข้าใจบทเรียนให้นักเรียนสอบเอง แล้วได้รับคะแนนสอบในทันที นักเรียนกับครูสามารถทบทวนคำตอบร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจ ครูจะเห็นประเด็นที่นักเรียนมีความเข้าใจผิดซ้ำๆ กันหลายคน และนำมาปรับปรุงบทเรียนของตนได้ และนำมาใช้ออกแบบการเรียนซ่อมได้ จุดสำคัญของวิธีการเรียนแบบใหม่คือ นักเรียนจะมีความรู้เรื่องนั้นถูกต้องและเพียงพอสำหรับเป็นพื้นความรู้สู่บทเรียนต่อไป

การเรียนแบบรู้จริง ช่วยให้นักเรียนมีโอกาสได้เรียนเสริม ในชั้นเรียนตามปกติ มีนักเรียนบางคนไม่ผ่านการทดสอบในรอบแรก ซึ่งหากเป็นชั้นเรียนตามปกติ การสอนก็ดำเนินต่อไป และนักเรียนที่เรียนไม่ทันก็จะค่อยๆ ล้าหลังยิ่งขึ้นๆ จนเบื่อเรียนแต่ในห้องเรียนแบบรู้จริง นักเรียนจะเรียนเรื่องเดิมใหม่ จนกว่าจะรู้จริง และครูก็จะรู้ว่าจะต้องช่วยเหลือนักเรียนคนใด ในเรื่องใด คือครูเอาใจใส่นักเรียนเป็นรายคน เมื่อนักเรียนที่เรียนอ่อนเหล่านี้ได้แก้ความเข้าใจผิดของตน ก็จะสามารถเรียนบทเรียนต่อไปได้คล่องแคล่วขึ้น

การเรียนแบบรู้จริงเปิดช่องให้นักเรียนเรียนรู้สาระด้วยหลากหลายวิธี

ผู้เขียนได้ลองใช้ทฤษฎี UDL (Universal Design for Learning)ในการจัดการเรียนรู้ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกเรียนด้วยวิธีที่ตนถนัดที่สุด เช่นบางคนชอบเรียนจากวิดีทัศน์ บางคนชอบเรียนจากตำราเรียน บางคนชอบค้นจากอินเทอร์เน็ต เป็นต้น ครูก็ส่งเสริม ทำให้เด็กรู้สึกมีอิสระ และรู้สึกว่าการเรียนเป็นเรื่องของตนเอง เป็นความรับผิดชอบของตนเอง

การเปิดอิสระให้เด็กได้เลือกวิธีเรียนนี้ ช่วยให้เด็กค้นพบวิธีเรียนที่ให้ผลดีที่สุดต่อตนเอง คือได้ฝึกทักษะการเรียนรู้นั่นเอง เมื่อเปิดอิสระเช่นนี้ นักเรียนจะทดลองวิธีการต่างๆ หลากหลายแบบ บางคนชอบเรียนไปก่อนล่วงหน้า บางคนชอบทำแบบฝึกหัด บางคนชอบทำแลบ ก็ได้เรียนตามแบบที่ตนชอบ การเรียนแบบรู้จริงเปิดช่องให้นักเรียนแสดงภูมิรู้ได้หลากหลายแบบ

การสอบแบบเดิมก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่วิธีการทดสอบภูมิรู้ที่เหมาะต่อนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน นักเรียนบางคนอาจแสดงความรู้ความเข้าใจได้ดีโดยการตอบข้อสอบตามปกติ แต่บางคนอาจแสดงความเข้าใจได้ดีกว่า โดยการอภิปรายด้วยวาจากับครู หรือบางคนชอบการทดสอบโดยนำเสนอด้วย PowerPoint หรือบางคนอาจเขียนเรียงความอธิบายความเข้าใจ ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดคือ มีนักเรียนขอทำวิดีโอเกมเพื่อทดสอบความรู้ความเข้าใจวิชาของตน และเมื่อครูอนุญาต นักเรียนก็ทำให้ครูแปลกใจในความคิดสร้างสรรค์และความสามารถของนักเรียนคนนี้

การเรียนแบบรู้จริงเปลี่ยนบทบาทของครู

ครูได้ใช้เวลาให้เกิดคุณค่าต่อศิษย์มากที่สุด เพื่อช่วยให้เวลาในห้องเรียนเป็นเวลาที่ศิษย์เกิดการเรียนรู้แบบรู้จริงการเรียนแบบรู้จริงช่วยให้นักเรียนเห็นคุณค่าของการเรียน ไม่ใช่รับจ้างมาโรงเรียนโดยทั่วไป นักเรียนมาโรงเรียนโดยหวังได้เกรด ผ่านการท่องจำเนื้อวิชา ไม่ใช่หวังได้เรียนรู้ นักเรียนในชั้นเรียนแบบกลับทางและเรียนให้รู้จริง จะเริ่มต้นด้วยความไม่พอใจวิธีเรียนแบบใหม่ที่ไม่ถ่ายทอดวิชาให้โดยตรง แต่ในที่สุดเด็กเหล่านี้จะค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นเด็กที่มีทักษะแห่ง “นักเรียนรู้” วิธีเรียนแบบรู้จริงจัดซ้ำง่าย ขยายขนาดชั้นเรียนง่าย และจัดให้เหมาะต่อเด็กเป็นรายคนได้ง่าย

ห้องเรียนแบบนี้เริ่มต้นที่โรงเรียนบ้านนอก ที่เป็นโรงเรียนเล็ก ไม่มีเครื่องมือครบครัน และเริ่มต้นที่ชั้นเรียนเคมี ซึ่งถือเป็นวิชาอันตราย ที่จะเกิดอุบัติเหตุเป็นอันตรายต่อเด็ก แต่ก็ทำได้สำเร็จในโรงเรียนบ้านนอกวิธีเรียนแบบกลับทางและเรียนให้รู้จริงช่วยเพิ่มเวลาพบหน้าระหว่างครูกับศิษย์เมื่อเริ่มการเรียนวิธีนี้ ผู้ปกครองเด็กบางคนเป็นห่วงว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์จะลดลง ซึ่งในทางเป็นจริงกลับตรงกันข้าม ครูกับนักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น และเป็นการปฏิสัมพันธ์ที่มีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของศิษย์มากขึ้น

ผลสัมฤทธิ์ของการเรียนดีขึ้น และความเครียดลดลง เพราะเด็กเข้าถึงเนื้อหาได้เมื่อต้องการ ๒๔ ชั่วโมงต่อวัน และ ๗ วันต่อสัปดาห์การเรียนแบบรู้จริงช่วยให้นักเรียนทุกคนอยู่กับการเรียนหลักการเรียนแบบ brain-based มีว่า “สมองที่พัฒนา คือสมองของคนที่กำลังทำงาน” ในห้องเรียนแบบเดิม ผู้ที่ทำงานคือครู แต่ในห้องเรียนแบบกลับทางและเรียนให้รู้จริง ผู้ทำงานคือนักเรียนการเรียนแบบรู้จริงทำให้การลงมือทำเป็นการเรียนแบบที่เหมาะต่อเด็กแต่ละคน

ในการเรียนแบบเดิม การเรียนในห้องปฏิบัติการทำเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ และทำพร้อมๆ กัน ซึ่งดูเสมือนว่าเป็นชั้นเรียนที่มีประสิทธิภาพมาก แต่เมื่อมองจากมุมของการเรียนรู้ของเด็ก การเรียนรู้แบบกลับทางและเรียนให้รู้จริง ช่วยให้เกิดการเรียนรู้แบบที่เหมาะต่อเด็กแต่ละคน

ในชั้นเรียนวิชาเคมีของผู้เขียนหนังสือ ครูใช้เวลาช่วงแรกอธิบายเรื่องข้อพึงระวังด้านความปลอดภัย แล้วปล่อยให้นักเรียนทดลองทางห้องปฏิบัติการด้วยตนเอง โดยครูคอยช่วยเหลือแนะนำเป็นรายคน ชั้นเรียนแบบรู้จริงช่วยให้เด็กติดตามการสาธิตของครูอย่างใกล้ชิดผู้เขียนเล่าชั้นเรียนวิชาเคมี ที่มีการสาธิต “จุดไฟเผาครู” นักเรียนทุกคนได้ลองเป็นผู้ “จุดไฟเผาครู”

ชั้นเรียนแบบกลับทางห้องเรียนและเรียนให้รู้จริงเปิดโอกาสให้ครูช่วยเหลือนักเรียน

ที่จริงการเรียนรู้แบบนี้คือการเรียนรู้ที่เป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ สิ่งที่ผู้เขียนทั้งสองคิดขึ้น เป็นการนำเอาทฤษฎีการเรียนรู้แบบ UDL, Mastery learning, Project-based learning, objective/standard-based grading, educational technology ผสมเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามธรรมชาติของมนุษย์

วิธีดำเนินการ

หนังสือ Flip Your Classroom : Reach Every Student in Every Class Every Day บทที่ ๗ ชื่อ How to Implement THE Flipped–Mastery Model เป็นการเล่าประสบการณ์การประยุกต์ หรือดำเนินการห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริง ของผู้เขียนทั้งสอง ผู้เขียนแนะนำ Ning online PLC เรื่องนี้ที่
http://vodcasting.ning.com



สิ่งที่ควรทำในวันแรก

ควรมุ่งไปดำเนินการทั้งห้องเรียนกลับทาง (flipped classroom) และทั้งเรียนให้รู้จริง (mastery learning) ที่รวมเรียกว่า flipped mastery เลย อย่าทำผิดอย่างที่ผู้เขียนทำตอนเริ่มในปี ๒๕๕๑ คือเกรงว่าเด็กจะปรับตัวยากหากเดินทีเดียว ๒ ก้าว จึงเริ่มกลับทางห้องเรียนก่อน แล้วจึงให้เรียนแบบรู้จริงทีหลัง พบว่าเปลี่ยน ๒ ครั้งทำให้เด็กสับสน เปลี่ยนเสียทีเดียวดีกว่า และเด็กมีความสามารถในการปรับตัวสูงกว่าที่เราคิด ในวันแรกครูอธิบายประโยชน์ของการเรียนแบบใหม่ และให้เด็กดูวิดีทัศน์อธิบายวิธีเรียนแบบนี้ ในวิดีทัศน์มีนักเรียนรุ่นก่อนอธิบายว่าวิธีเรียนแบบใหม่ดีต่อนักเรียนอย่างไร ผู้เขียนพบว่า ใช้เวลา ๓ ปี ก็จะเปลี่ยนวัฒนธรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียนได้ ปีแรกขลุกขลักหน่อย ปีที่ ๒ ดีขึ้น ปีที่ ๓ ดำเนินไปอย่างราบรื่น แจ้งให้ผู้ปกครองนักเรียนทราบเรื่องการเรียนแบบใหม่ผู้เขียนใช้วิธีส่งจดหมายไปอธิบาย ว่านักเรียนจะได้ประโยชน์อย่างไร ผู้ปกครองอาจเป็นห่วงเรื่องผลการสอบ และในช่วงแรกๆ อาจมีการต่อต้านบ้าง แล้วจะยอมรับ และชื่นชม ในที่สุด

สอนวิธีดูและจัดการวิดีทัศน์

การฝึกทักษะการดูวิดีทัศน์ก็ทำนองเดียวกันกับการฝึกทักษะการอ่านตำรา ครูต้องแนะนำวิธีที่ถูกต้องแก่ศิษย์ การดูวิดีทัศน์บทเรียนแตกต่างจากดูทีวีบันเทิง ในทำนองเดียวกันกับการอ่านหนังสือหนังสือสารคดี (non-fiction) แตกต่างจากการอ่านหนังสือนวนิยาย (fiction) ผู้เขียนแนะนำให้ดูวิดีทัศน์แบบตั้งใจดูจริงๆ โดยไม่มีสิ่งรบกวนสมาธิ เช่นไม่มีหูฟัง iPod เสียบหู ไม่เปิด Facebook ไปพร้อมๆ กัน ผู้เขียนถึงกับฝึกเด็กทั้งชั้นในช่วง ๒ - ๓ สัปดาห์แรกของปี ให้ดูวิดีทัศน์ด้วยกัน ฝึกใช่ปุ่มหยุดวิดีทัศน์ และชี้ประเด็นสำคัญในเรื่อง ลองให้นักเรียนคนหนึ่งเป็นผู้ควบคุมวิดีทัศน์ ที่จะหยุดหรือย้อนกลับไปดูตอนสำคัญ แล้วร่วมกันอภิปรายทั้งชั้นว่าหากตนเองเป็นผู้ควบคุมวิดีทัศน์จะดีต่อตนเองอย่าง ไร แต่ละคนดูได้เข้าใจเร็วช้าแตกต่างกันอย่างไร และการเรียนจากวิดีทัศน์ช่วยให้นักเรียนแต่ละคนเป็นผู้มีอำนาจเหนือการเรียน ของตนอย่างไร นอกจากนั้น ยังสอนวิธีจดบันทึก ผู้เขียนแนะนำ Cornell note-taking system ครูแจกแบบฟอร์ม (template) สำหรับให้นักเรียนฝึกจดบันทึก จะเห็นว่า การจดบันทึกแบบ คอร์แนล ช่วยการฝึกตั้งคำถาม และการจับประเด็นสำคัญ



กำหนดให้นักเรียนตั้งคำถามที่น่าสนใจ

เพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนได้ดูวิดีทัศน์มาก่อน ครูจึงกำหนดให้เด็กต้องมาตั้งคำถามที่น่าสนใจในชั้นเรียน โดยต้องเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับในวิดีทัศน์ และตัวเด็กเองไม่รู้คำตอบ นักเรียนแต่ละคนต้องตั้งคำถามมาคนละ ๑ คำถามต่อวิดีทัศน์ ๑ ตอน ในชั้นเรียน จะมีช่วงเวลา “คำถามและคำตอบ” ที่สนุกสนานและมีคุณค่าต่อการเรียนรู้อย่างยิ่ง โดยนักเรียนอาจเรียนคนเดียว หรือเรียนเป็นกลุ่ม และเป็นการทำงานร่วมกับครู เป็นช่วงเวลาที่ครูได้เรียนรู้สูงมาก ได้มีโอกาสสังเกตความเข้าใจผิดของเด็ก และแก้ไขเสีย เป็นกติกาการเรียนที่ทำให้นักเรียนที่ในห้องเรียนปกติเลื่อนลอยจากการเรียน ไม่เคยพูด ไม่เคยถามครู ต้องมีส่วนตั้งคำถาม และช่วยกันหาคำตอบ บางคำถามครูก็ไม่รู้คำตอบ ครูจึงได้มีโอกาสแสดงให้เด็กเห็นว่า การไม่รู้เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือต้องปิดบัง การที่ครูได้ร่วมค้นคว้ากับเด็ก ทำให้เกิดความสนิทสนม ช่วยให้เด็กกล้าถามต่อ และที่สำคัญ ช่วยให้ครูได้เรียนรู้ด้วย ผมขอบันทึกความเห็นส่วนตัวว่า วิธีกำหนดให้ดูวิดีทัศน์แล้วตั้งคำถาม ๑ คำถาม เอามาร่วมกันเรียนรู้วิธีตั้งคำถาม และเรียนรู้วิธีหาคำตอบร่วมกันที่โรงเรียนนี้ คือวิธีเรียนที่ประเสริฐที่สุด ช่วยให้ได้หลายด้านของ 21st Century Skills ที่สำคัญคือ Learning Skills, Inquiry Skills, Collaboration Skills, และอื่นๆ เป็นที่รู้กันว่า ในการเรียนรู้นั้น การฝึกตั้งคำถามสำคัญกว่าการฝึกหาคำตอบ เคล็ดลับของการสอนโดยกำหนดให้คิดคำถามมา ๑ คำถามนี้ ช่วยให้นักเรียนตั้งใจดูวิดีทัศน์ ดูแล้วจับประเด็น และหาประเด็นที่สงสัย ซึ่งก็คือทักษะการเรียนรู้นั่นเอง การเอาคำถามมาร่วมกันหาคำตอบในช่วงเวลาเรียน ทำให้การเรียนสนุกสนาน และทุกคนได้เรียนตามที่ตนสนใจ และกำกับการเรียนของตนเอง (mastery learning - เรียนให้รู้จริง) ซึ่งผมเชื่อว่า นักเรียนส่วนใหญ่จะมีคำถามสำหรับไปค้นคว้าต่อที่บ้าน หรือถกเถียงกับเพื่อนๆ นอกเวลาเรียนในชั้นเรียน



วางรูปแบบห้องเรียนแบบกลับทางและเรียนให้รู้จริง

ห้องเรียนต้องเปลี่ยนจาก classroom เป็น studio คือกลายเป็นห้องทำงาน เป็นห้องที่จุดสนใจคือการเรียนของตนเอง เรียนโดยการลงมือทำ ไม่ใช่โดยการฟังครูสอนในห้องเรียนแบบเก่าเครื่องใช้ต่างๆ ในห้อง ต้องเน้นการใช้งานเพื่อการเรียนของนักเรียน และเพื่อการเรียนแบบมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของนักเรียน ไม่ใช่เพื่อการสอนของครูอย่างแต่ก่อน เครื่องใช้เกือบทั้งหมดในห้อง มีไว้ให้นักเรียนใช้ ไม่ใช่สงวนไว้ให้ครูเท่านั้นที่มีสิทธิ์ใช้ อย่างในห้องเรียนแบบเก่า


ให้เด็กได้จัดการเวลาและงานของตนเอง

ในบางช่วงเวลาของเทอม นักเรียนบางคนอาจมีกิจกรรมพิเศษที่ต้องทำ เช่นงานเทศกาล หรือการแข่งขันกีฬา และช่วงนั้นก็ใกล้การสอบประจำภาคด้วย ในห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริง นักเรียนสามารถเรียนไว้ล่วงหน้า เรียนวิชาบางวิชาให้จบเร็ว สามารถสอบไล่ก่อนเวลา และใช้เวลาของวิชาที่เรียนจบเร็วเรียนวิชาอื่น นักเรียนที่เรียนช้าก็สามารถใช้เวลาเรียนซ้ำช่วงที่ต้องการได้ สอบส่วนใดไม่ผ่านก็สอบใหม่ได้เสมอ


ส่งเสริมให้เด็กช่วยเหลือกันเอง

ห้องเรียนคือ learning hub (ไม่ใช่ teaching hub) จุดสนใจคือนักเรียนด้วยกันเอง ไม่ใช่ครู นักเรียนจะตระหนักในความจริงข้อนี้ และเรียนรู้ร่วมกัน และช่วยเหลือกัน จะรวมตัวกันเองเป็นกลุ่มเพื่อเรียนรู้ร่วมกันบางครั้งครูจะจัดนักเรียนเป็นกลุ่มเรียนรู้เฉพาะเรื่อง เช่นนักเรียนที่ยังไม่เข้าใจประเด็น ก จะรวมตัวกันเป็น independent study group เรื่องประเด็น ก ในขณะที่นักเรียนคนอื่นๆ หรือกลุ่มอื่นเรียนประเด็นอื่น นี่คือการฝึก team skills, collaborative skills โดยไม่รู้ตัว การเรียนแบบกลับทางและเรียนให้รู้จริง จึงเป็นการฝึก 21st Century Skills แบบไม่รู้ตัว การที่เด็กเรียนแบบช่วยเหลือกันนี้ ช่วยให้การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างลึก ตามที่อธิบายโดย ปิระมิดการเรียนรู้



สร้างระบบประเมินที่เหมาะสม

เราต้องการระบบประเมินที่ประเมินความเข้าใจของเด็กอย่างแม่นยำ คำถามคือ ครูรู้ได้อย่างไรว่าศิษย์ได้เรียนรู้อย่างรู้จริงตามที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์ของ วิชา และถ้านักเรียนคนใดยังเรียนรู้ไม่ได้ตามที่กำหนด จะทำอย่างไร เทคโนโลยี ไอซีที่ สมัยใหม่คือคำตอบ



การประเมินเพื่อปรับปรุง (Formative Assessment)

ครูที่มีประสบการณ์สูง จะสามารถบอกได้ทันทีว่าเด็กคนไหนยังไม่เข้าใจเรื่องอะไร เมื่อครูเดินไปรอบๆ ห้องเรียนแบบกลับทางและเรียนให้รู้จริง ครูจะลองสอบถามบางคำถามแก่นักเรียนบางคน และรีบแก้ความเข้าใจผิดให้ ผู้เขียนหนังสือสังเกตว่าในช่วงที่นักเรียนกำลังเรียนรู้หลักการเรื่องใดเรื่อง หนึ่ง นักเรียนแต่ละคนจะต้องการความช่วยเหลือแตกต่างกัน ตามระดับของพัฒนาการของศักยภาพในการเรียนรู้ (cognitive development) ของตน และตามความยากง่ายของเรื่อง ครูจะมีวิธีช่วยเหลือศิษย์แตกต่างกัน บางกรณีครูจะช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ แต่ในบางกรณี ครูจะปล่อยให้เด็กใช้ความพยายามช่วยเหลือตนเอง การเรียนที่ดี ไม่ใช่การเรียนแบบได้รับการป้อนสาระความรู้ นักเรียนที่ช่วยตัวเองได้ควรได้เรียนแบบช่วยตัวเอง เพราะจะเรียนรู้ได้ลึกและเชื่อมโยงกว่า แต่เด็กที่เรียนอ่อน ก็ต้องได้รับความช่วยเหลือตามความเหมาะสม

ผู้เขียนมอบให้นักเรียนเป็นผู้รับผิดชอบการประเมินเพื่อยืนยันการเรียนรู้ ของตนเอง ว่าได้บรรลุการเรียนรู้ตามที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์แล้ว จะพิสูจน์โดยวิธีใดก็ได้ สำหรับเด็กที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ตนเองได้ ครูก็จะเข้าไปประเมิน และหาประเด็นที่เด็กยังไม่เข้าใจ แล้วจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อซ่อมเสริมความเข้าใจเป็นรายคน ผู้เขียนอ้างถึงคำอธิบายคุณประโยชน์ของการทดสอบแบบ formative โดย Evan McIntosh ว่าเป็นเสมือน GPS ของการเรียนรู้ ที่คอยบอกว่าการเรียนรู้ดำเนินไปถูกทางหรือไม่

การทดสอบแบบ formative และ feedback แก่นักเรียนทันที ช่วยให้เด็กเรียนได้อย่างถูกทาง ไม่เดินผิดทาง
ถามคำถามที่ถูกต้อง ในการทดสอบแบบ formative

ที่จริง นี่คือการคุยกับเด็กของครู เป็นการคุยกันอย่างเป็นธรรมชาติ และเปี่ยมความเมตตาของครูเพื่อศิษย์ เพื่อสร้างความสนิทสนม รู้จักนักรียนเป็นรายคน ให้นักเรียนรู้สึกว่าเขาเป็นบุคคลสำคัญของครู ให้ครูรู้จักความคิดของเขา และเพื่อให้ครูได้ช่วยให้ศิษย์แต่ละคนได้เรียนวิธีเรียนรู้ คำถามที่ครูถามศิษย์แต่ละคนจึงแตกต่างกันเป็นรายคน เป็นไปตามสถานการณ์ แตกต่างกันไปตามระดับความเข้าใจ เป็นคำถามที่ช่วยให้ครูรู้ว่านักเรียนคนนั้นๆ มีความก้าวหน้าในบทเรียนนั้นไปถึงไหนแล้ว และนักเรียนต้องการความช่วยเหลือหรือไม่ อย่างไรผมเพิ่มเติมว่า คำถามที่ดี นอกจากมีคุณประโยชน์ต่อการประเมินความก้าวหน้าของการเรียนแล้ว ยังช่วย “จุดประกาย” ความสนใจ หรือความใฝ่รู้ ของเด็กได้ด้วย



การสอบแบบได้-ตก (Summative Evaluation)

นี่คือการสอบเพื่อดูว่าเด็กบรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้หรือไม่ โดยที่ครูต้องกำหนดว่าเกณฑ์สอบ ผ่าน-ไม่ผ่าน คืออะไร ผู้เขียนบอกว่าตนเองกำหนดเกณฑ์ “รู้จริง” ว่าต้องผ่านร้อยละ ๗๕ ของข้อสอบ โดยที่ตอนออกข้อสอบ ครูกำหนดความยากง่ายของข้อสอบให้เด็กที่ได้เรียนรู้ “ความรู้ที่จำเป็น” (essential knowledge) ทั้งหมด จะสอบได้ร้อยละ ๗๕ ส่วนอีกร้อยละ ๒๕ ตอบได้ด้วยความรู้ส่วนที่เลยความจำเป็น (nice to know) เด็กที่สอบได้ไม่ถึงร้อยละ ๗๕ ต้องเรียนเสริม แล้วสอบใหม่ จนกว่าจะสอบได้ ในวิชาเคมีของผู้เขียน มีการสอบปฏิบัติการด้วย โดยมอบปัญหาให้ไข และคะแนนผ่านคือร้อยละ ๗๕ เช่นกัน นักเรียนที่เขียนรายงานแบบขอไปที จะได้รับรายงานคืน ให้ไปเขียนมาใหม่



ความซื่อสัตย์ในการสอบ

ครูต้องหาวิธีป้องกันเด็กโกงสอบ โดยจัดการสอบที่เด็กโกงไม่ได้หรือได้ยาก

ผู้เขียนเล่าวิธีที่ตนเพิ่งคิดขึ้นใหม่ เรียกว่า open-internet test (เลียนคำว่า open-book test) คือให้ตอบได้โดยใช้การค้นใน internet ช่วยได้ การออกข้อสอบแนวนี้ครูต้องคิดหรือตระหนัก ๒ ประเด็น (๑) คำถามแบบไหนที่ไม่ต้องมีการเรียนในชั้นเรียน เด็กก็ตอบได้โดยค้นจาก อินเทอร์เน็ต (๒) เนื่องจากมีข้อมูลความรู้มากมายให้เด็กค้นได้จาก อินเทอร์เน็ต ข้อสอบแบบใดที่จะช่วยประเมินความรู้จริงของเด็ก ในวิชานั้น หรือตามวัตถุประสงค์ของการเรียนวิชานั้น ข้อสอบแบบเปิด อินเทอร์เน็ต ตอบ นี้ จะป้องกันการลอกคำตอบไปโดยปริยาย เพราะเด็กจะได้ข้อสอบต่างกัน และผมคิดว่าควรให้เด็กเขียนคำตอบด้วยลายมือ เพื่อป้องกันการตอบโดยตัดปะจาก อินเทอร์เน็ต ความซื่อสัตย์เป็นเป้าหมายของการเรียนรู้ ใน 21st Century Skills อย่างหนึ่ง



เครื่องช่วยการสอบเพื่อผล ได้-ตก

เครื่องช่วยนี้คือ computer-generated exam ที่การออกข้อสอบและให้คะแนนทำโดยคอมพิวเตอร์ โดยครูเป็นผู้ออกข้อสอบใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์ (ครูต้องลงแรงออกข้อสอบมากข้อขึ้น) ทำให้นักเรียนแต่ละคนได้รับข้อสอบคนละชุด และครูสามารถปรับความยากง่ายของการสอบแต่ละครั้งได้ เครื่องช่วยนี้เรียกว่า course-management software ซึ่งมีหลายสำนัก ได้แก่ Moodle, Blackboard, WebCT และผมเข้าใจว่า ClassStart ของสำนัก Gotoknow ก็น่าจะเป็นเครื่องมือประเภทนี้



ทำงานในวัฒนธรรมให้เกรด A-F

ครูต้องไตร่ตรอง ว่าในการเรียนแบบรู้จริงนั้น การให้ผลสอบ A-F มีความหมายอย่างไร แตกต่างจาก A-F โดยทั่วๆ ไปอย่างไร ผู้เขียนทั้งสองยึดถือการให้เกรดแบบ objective-based หรือ standards-based grading (SBG) คือเน้นอิงเกณฑ์ หรืออิงมาตรฐาน แต่ในข้อกำหนดของหน่วยเหนือของการศึกษาของสหรัฐอเมริกา โรงเรียนต้องระบุทั้งคะแนนและเกรดลงในสมุดรายงานผลการศึกษาของเด็กแต่ละคน ให้ผู้ปกครองได้ดู ผู้เขียนใช้วิธีประนีประนอมกับข้อกำหนดของหน่วยเหนือโดยยึดการสอบ แบบ SBG นักเรียนทุกคนต้องได้ผลการสอบแบบ SBG ร้อยละ ๗๕ ขึ้นไปจึงจะมีการให้เกรด โดยคะแนนร้อยละ ๕๐ มาจาก SBG อีกร้อยละ ๕๐ มาจากการทดสอบแบบ formative หรือคะแนนเก็บนั่นเอง ผู้เขียนเล่าว่า ในเขตพื้นที่การศึกษาที่ตนสอนอยู่ (ชื่อ Westminster, Colorado) ใช้การสอบแบบ SBG ร่วมกันทั้งเขตพื้นที่ ทำให้นักเรียนในชั้นเรียนเดียวกัน อาจมีนักเรียนที่เรียนอยู่ในระดับเกรดต่างกัน (เช่นในชั้น ม. ๒ นักเรียนส่วนใหญ่เรียนอยู่ในระดับ ม. ๒ แต่อาจมีบางคนเรียนอยู่ในระดับ ม. ๑ และมีบางคนเรียนอยู่ในระดับ ม. ๓ ผมไม่ทราบว่าทำไมเขาไม่ย้ายห้องเด็กให้เรียนในชั้นที่ตรงกับระดับการเรียนของตน) และในปีหนึ่งๆ นักเรียนบางคนอาจเรียนในต่างระดับ ก็ได้ ขึ้นกับผลการสอบแบบ summative เรื่องนี้ผมเองยังไม่ค่อยเข้าใจ


ห้องเรียนกลับทางมีหลายแบบ อะไรคือลักษณะร่วมของห้องเรียนกลับทางหลากหลายแบบนั้น
ห้องเรียนกลับทางไม่จำเป็นต้องใช้วิดีทัศน์ การใช้วิดีทัศน์มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สาระความรู้แก่เด็ก

ลักษณะสำคัญที่สุดของห้องเรียนกลับทาง คือกลับทางจุดสนใจจากตัวครูและการสอนของครู ไปที่ตัวเด็กและการเรียนของเด็ก ดังนั้นครูที่ต้องการจัดห้องเรียนกลับทางต้องตั้งคำถามว่า มีกิจกรรมใดบ้างที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องมีครูคอยสอนหรือแนะนำ ก็เอากิจกรรมนั้นๆ ออกไปจากห้องเรียน ให้เด็กไปทำที่บ้าน เพื่อใช้เวลาที่ครูกับนักเรียนอยู่ด้วยกันให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้สูงสุดต่อเด็กจึงสรุปได้ว่า หัวใจของการกลับทางคือ กลับทางจากเน้นที่การสอน มาเน้นที่การเรียน ห้องเรียนกลับทางคือรูปธรรมของ 21st Century Learning



ทำอย่างไรกับเด็กที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้าน

การดูวิดีทัศน์ที่บ้านทำได้หลายทางตามระดับของเครื่องอำนวยความสะดวกที่มี ได้แก่ โหลดใส่ thumb drive หรือโทรศัพท์มือถือ หรือ iPod ให้เอาไปดูด้วยคอมพิวเตอร์ที่บ้าน burn ใส่ DVD ให้ไปดูด้วยเครื่อง DVD Player ที่บ้าน เอาไฟล์วิดีโอไปไว้บนหลายๆ เว็บ ที่นักเรียนสะดวกเข้าไปดู เป็นต้น ผมชื่นชมครูผู้เขียนทั้งสอง ที่บอกว่า ในการใช้เทคโนโลยีช่วยการเรียน ให้ระวังว่ามันจะยิ่งไปถ่างระยะห่างของ digital divide ครูและโรงเรียนต้องทำให้ระยะห่างนี้แคบลง

ข้อเตือนใจคือ อย่างหลงบูชาเทคโนโลยี มันเป็นเครื่องมือให้เรียนได้รู้จริง สนุกสนาน และสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนและในชีวิต ให้แก่ศิษย์ ย้ำอีกทีว่า มันเป็นเทคโนโลยีช่วยการเรียน อย่าหลงใช้เฉพาะเพื่อช่วยการสอน



รู้ได้อย่างไรว่าเด็กดูวิดีทัศน์

รู้ได้โดยกำหนดข้อตกลงให้เด็กจดบันทึกจากการดูวิดีทัศน์ แล้วเอามาให้ครูดู ก็จะได้ประโยชน์สองต่อ คือเด็กได้ทำความเข้าใจอีกรอบหนึ่งโดยการเขียนความเข้าใจของตน และครูก็ได้ตรวจสอบว่าเด็กทุกคนได้ดูวิดีทัศน์ โปรดสังเกตว่าเมื่อครูให้เด็กทำการบ้านดูวิดีทัศน์แล้วก็ไม่ใช่แล้วกัน ต้องมีเครื่องมือกำกับพฤติกรรมของเด็กด้วย แม้ว่าจะมีเพียงบางคนเท่านั้นที่น่าเป็นห่วงว่าจะมีเรื่องเบนความสนใจไปจากการ เรียน

ในห้องเรียน นักเรียนแต่ละคนจะต้องแสดงกระดาษบันทึกของตน และถามคำถามที่น่าสนใจ ๑ คำถาม ช่วงเวลานี้แหละที่เป็นตัวช่วยทำให้นักเรียนทุกคนมีบทบาทในการเรียนรู้ในชั้น วิธีการง่ายๆ นี้ยิ่งใหญ่มาก เพราะจะช่วยดึงเด็กเบื่อเรียนเพราะเข้ากลุ่มไม่ค่อยได้ ให้เข้ามาแสดงบทบาทในการเรียน ที่เรียกว่าเกิด student engagement

ในยุค ไอซีที เช่นปัจจุบัน วิธีส่ง “การบ้าน” ที่เป็นบทสรุปจากการดูวิดีทัศน์สามารถทำได้ง่ายโดยส่งทาง ออนไลน์ ผู้เขียนเล่านวัตกรรมที่คิดขึ้นโดยครู Ramsey Musallam แห่งโรงเรียนใน ซาน ฟรานซิสโก โดยคิด Google form สำหรับจดบันทึก และแขวนทั้งวิดีทัศน์ และ Google form ไว้บนเว็บไซต์ ช่วยให้เด็กบันทึกด้วยคอมพิวเตอร์ได้ระหว่างนั่งดูวิดีทัศน์ด้วยคอมพิวเตอร์นั่นเอง เสร็จแล้วเด็กส่งการบ้านทาง อิเล็กทรอนิกส์ ได้ทันที ส่วนครู Brian Bennett กำหนดให้นักเรียนเขียน บล็อก ทุกวัน เพื่อ AAR การเรียนรู้ของตนในแต่ละวัน จะเห็นว่า ครูสามารถคิดนวัตกรรมในการเรียนรู้ ขึ้นมาช่วยการเรียนรู้ของศิษย์ ได้อย่างไม่จบสิ้น แต่ต้องอย่าหลงเน้นที่นวัตกรรมของครู ต้องเน้นที่การเรียนรู้ของศิษย์



ทำอย่างไร กับเด็กที่ไม่ดูวิดีทัศน์

เนื่องจากห้องเรียนแบบกลับทางย้ายการเรียนเนื้อวิชาไปไว้ในวิดีทัศน์ เด็กที่ไม่ดูวิดีทัศน์จึงไม่ได้รับรู้เนื้อหาวิชา เทียบได้กับการขาดเรียนในชั้นเรียนแบบเดิม และจะตามชั้นเรียนไม่ทัน

วิธีแก้ปัญหาแบบง่ายๆ ที่ผู้เขียนหนังสือใช้ คือมีคอมพิวเตอร์ ๒ เครื่องตั้งไว้ที่หลังห้อง ให้เด็กดูวิดีทัศน์ระหว่างที่เพื่อนๆ กำลังเรียนอยู่ในช่วงติวอันสนุกสนาน แล้วไปทำแบบฝึกหัดหรือรายงานการดูวิดีทัศน์ที่บ้าน เด็กจะเรียนรู้เองว่า การที่ตนเองไม่ดูวิดีทัศน์มาก่อนทำให้ตนพลาดโอกาสการเรียนที่สนุกสนาน



วิดีทัศน์ควรยาวแค่ไหน

หลังจากทดลองทำวิดีทัศน์หลายแบบ ผู้เขียนสรุปว่า แต่ละตอนของวิดีทัศน์ควรมีวัตถุประสงค์เดียว และยาวระหว่าง ๑๐ - ๑๕ นาที เด็กชอบบทเรียนที่สั้น ผู้เขียนบอกว่ากำลังหาวิธีแบ่งเป็นตอนย่อย ตอนละ ๕ นาที เพราะจะช่วยให้เด็กเรียนได้ดีกว่า จะเห็นว่า ประเด็นนี้เป็นโจทย์วิจัยได้ เป็นโจทย์วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโืท ได้สบาย



การเรียนแบบกลับทางเป็นภาระแก่นักเรียนในการเรียนที่บ้านมากไปไหม ในเมื่อนักเรียนต้องเรียนหลายวิชา ตอบจากประสบการณ์ตรงว่าไม่ เพราะในการเรียนแบบเดิม นักเรียนที่หัวไม่ดีแต่ตั้งใจเรียน ต้องใช้เวลามากในการเรียนที่บ้านเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่ตนเองตามไม่ทัน

ความเป็นจริงคือ กลุ่มเด็กหัวไว ทำ “การบ้าน” แบบใหม่ เสร็จตั้งแต่อยู่ที่โรงเรียน เฉพาะเด็กหัวปานกลางและหัวช้าเท่านั้นที่ต้องไปทำที่บ้าน

เป้าหมายของการเรียนแบบกลับทางคือ สร้างสภาพการเรียนรู้ที่นักเรียนได้เรียนรู้เท่าเทียมกัน (equitable) ตามธรรมชาติของนักเรียนที่แตกต่างกัน ซึ่งหมายความว่านักเรียนต้องใช้เวลาและความพยายามแตกต่างกัน แต่ครูและห้องเรียนจะช่วยให้นักเรียนทุกคนเรียนบรรลุเป้าหมายเท่าเทียมกันใน เวลาเรียนห้องเรียนกลับทางเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันขจัดปัญหาและอุปสรรค ข้อพิสูจน์สุดท้ายคือผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของนักเรียนทั้งชั้น



ทำให้ผู้ปกครองเห็นด้วยอย่างไร

ผู้เขียนทั้งสองได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองดีมาก ข้อกังวลในช่วงแรกของการดำเนินการกลับทางห้องเรียนคือ จะเข้าถึงวิดีทัศน์ได้อย่างไร

จุดสำคัญคือต้องสื่อสารกับพ่อแม่ผู้ปกครอง ทั้งโดยจดหมายและโดยการประชุมผู้ปกครอง มีผู้ปกครองคนหนึ่ง ในช่วงแรกกังวลว่าครูกำลังสอนแบบ online education แต่เมื่อได้รับคำอธิบาย และมีประสบการณ์จริง ก็บอกครูว่า ในห้องเรียนกลับทาง ลูกสาวของตนได้มีโอกาสสัมผัสครูมากขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับ online education



ทำอย่างไรกับเด็กที่ไม่ร่วมมือ

ผู้เขียนบอกว่า อัตราเด็กนักเรียนในชั้นเรียนปกติ ชั้นเรียนกลับทาง และชั้นเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริงเท่าๆ กัน คือร้อยละ ๑๐ แสดงว่ายังมีปัญหาที่ผู้เขียนไม่ีมีปัญญาที่จะแก้ ถ้อยคำนี้เตือนเราว่าปัญหาการศึกษาที่เราเผชิญอยู่ ไม่สามารถแก้โดยครูและโรงเรียนได้ทั้งหมด แต่วิธีกลับทางห้องเรียน ช่วยให้ครูได้มีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก และรู้จักเด็กเป็นรายคน ได้เข้าใจปัญหาหรือเรื่องราวของเด็กที่มีปัญหา ผู้เขียนบอกว่า ช่วยให้เข้าใจว่าสำหรับเด็กเหล่านี้การเรียนไม่ใช่เรื่องที่มีความสำคัญสูงสุดใน ชีวิตของเขา และช่วยให้ครูและโรงเรียนได้ให้ความช่วยเหลือตามที่เด็กแต่ละคนต้องการ ผู้เขียนหนังสือเล่าเรื่องเด็กคนหนึ่งที่ต่อต้านครูอย่างรุนแรง พฤติกรรมดังกล่าวนำไปสู่การช่วยเหลือด้านแนะแนว (counseling) ข้อดีของการเรียนแบบกลับทางคือ ช่วยให้เด็กแบบนี้ได้รับความเอาใจใส่



การเรียนแบบกลับทางทำให้เด็กเรียนดีขึ้นจริงหรือ

ข้อพิสูจน์ที่แม่นยำต้องมาจากผลการวิจัย ซึ่งตอนเขียนต้นฉบับหนังสือ ยังไม่ออกมา คำตอบในหนังสือมาจากข้อสังเกตเฉพาะรายเท่านั้น คือมาจากผลการสอบของนักเรียนในชั้นเรียนของผู้เขียนทั้งสอง ซึ่งต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง ดูจากทั้ง ผลการเรียนตอนเริ่มเข้าชั้นเรียน กับผลการเรียนตอนเรียนจบชั้นเรียน

ความเป็นจริงก็คือ ในปีที่เริ่มกลับทางห้องเรียน ครูทั้งสองรับสอนเคมีต่อจากครูที่เกษียณอายุออกไป ครูท่านนี้มีชื่อเสียงมาก และยอมรับเฉพาะนักเรียนที่เรียนเก่งเท่านั้น เข้าในชั้นของท่าน (ผมเพิ่งเคยได้ยิน ว่ามีระบบโรงเรียนที่ครูเลือกศิษย์เข้าชั้นเรียนได้) แต่เมื่อผู้เขียนทั้งสองเข้ารับมรดกชั้นเรียน ก็พิจารณาว่า เกณฑ์เลือกนักเรียนที่ใช้อยู่ก่อนเคร่งครัดเกินไป จึงลดหย่อนเกณฑ์ลงมา หนังสือให้ตัวเลขผลสอบเฉลี่ยก่อนเข้าชั้นเรียน และตอนจบชั้นปี ของนักเรียนในปีก่อน และในปีที่ผู้เขียนทั้งสองเข้าไปรับสอนแบบกลับทาง และพบว่า คะแนนตอนเข้าต่างกันมาก แต่คะแนนตอนออกใกล้เคียงกัน แม้ในตอนที่ครูทั้งสองสอนมีบางช่วงหิมะตกหนัก และเด็กต้องหยุดเรียน ครูทั้งสองบอกว่า ข้อพิสูจน์ที่เชื่อถือได้ต้องจัดโดยนักวิจัย ข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ ตนเองไม่เคยพบเด็กที่เรียนร่อแร่แล้วปรับตัวได้กลายเป็นเด็กเรียนเก่งในห้องเรียนแบบเดิม แต่พบในห้องเรียนแบบกลับทาง



ใครทำวิดีทัศน์

ครูทำใช้เองก็ได้ ใช้ของครูคนอื่นก็ได้ การมีทีมทำวิดีทัศน์เป็นการเรียนรู้ของครู ถ้ามีการปรึกษาร่วมมือกันโดยวิธีใดก็ตาม ครูก็จะได้เรียนรู้มากขึ้นผมมีข้อเพิ่มเติมว่า ครูอาจชวนศิษย์ปีก่อนที่เรียนจบชั้นไปแล้ว หรือศิษย์ปัจจุบัน มาร่วมสร้างวิดีทัศน์ ก็จะช่วยให้เด็กที่มาร่วมทำวิดีทัศน์ได้เรียนรู้ลึกขึ้น และช่วยให้วิดีทัศน์เหมาะสมต่อนักเรียนรุ่นปัจจุบันมากขึ้น



ครูเอาเวลาไหนทำวิดีทัศน์

คำตอบคือใช้เวลานอกเวลาเรียน ผู้เขียนคนหนึ่งเป็นไก่ตื่นเช้า จึงมาโรงเรียนตั้งแต่ ๖ น. เพื่อจัดทำวิดีทัศน์ แต่อีกคนหนึ่งเป็นนกฮูกเข้านอนดึก ก็ทำวิดีทัศน์ที่บ้านหลังลูกเมียเข้านอนแล้ว แต่เมื่อได้จัดทำวิดีทัศน์ครบแล้ว การปรับปรุงแก้ไขก็ไม่ใช้เวลามาก จึงมีเวลาเขียนหนังสือเล่มนี้และเมื่อเขียนหนังสือเสร็จ ก็มีเวลาไปแก้ไขปรับปรุงวิดีทัศน์อีก

สรุป

ถ้อยคำของผู้เขียนทั้งสองสะท้อนความเป็น “นักเรียนรู้” จากการทำหน้าที่ครู ท่านบอกว่า “We have learned that ….” อยู่บ่อยๆ ผมเชื่อว่า ครูที่ดีคือครูที่เรียนรู้ปรับปรุงการทำหน้าที่ครูของตนอยู่ตลอดเวลา และหนังสือเล่มนี้คือคู่มือเรียนรู้ของครูที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง เป็นคู่มือเรียนรู้เพื่อปฏิรูปห้องเรียน การจัดห้องเรียนให้มีคุณค่าสูงสุดต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ไม่สามารถทำได้ด้วยหลักการหรือวิธีการเดียว แม้การบรรยายจะไม่ใช่วิธีวิธีเรียนรู้ที่ดี แต่ในบางวิชา บางสาระ การสอนโดยถ่ายทอดเนื้อหาก็มีประโยชน์ แต่ไม่ควรถ่ายทอดในเวลาเรียนในชั้น และไม่ควรถ่ายทอดต่อนักเรียนทั้งชั้น ผู้เขียนทั้งสองได้เรียนรู้ว่าการถ่ายทอดเนื้อหาด้วยวิดีทัศน์เหมาะต่อเนื้อหา บางแบบ และไม่เหมาะต่อเนื้อหาบางแบบ หลักการบางแบบเหมาะที่จะปล่อยให้เด็กค้นพบเอง แต่หลักการบางแบบควรใช้การสอนโดยตรง และบางแบบควรเรียนด้วยการเสวนา (Socratic dialogue) ดังนั้นจริงๆ แล้วชั้นเรียนเป็นแบบ “ลูกครึ่ง” (hybrid) ทั้งสิ้น ชั้นเรียนที่จัดโดยผู้เขียนทั้งสองก็เป็นแบบ “ลูกครึ่ง” และผู้เขียนสนับสนุนให้ผู้อ่านสร้างชั้นเรียนแบบ “ลูกครึ่ง” ที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ของตน อย่าลอกแบบทั้งดุ้น ขบวนการห้องเรียนกลับทางเริ่มปี ๒๕๕๑ ที่โรงเรียนมัธยมบ้านนอก โดยครูเคมีผู้น้อย ๒ คน และแพร่ไปทั่วโลก รวมทั้งเดินทางก้าวหน้าปรับปรุงรูปแบบมาโดยลำดับ ไม่มีสูตรตายตัว

ในขบวนการกลับทางห้องเรียนนี้ มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก รวมทั้งนักการศึกษาที่มีชื่อเสียง ผู้เขียนอ้างถึงบทความ Maureen J. Lage, Glenn J. Platt, and Michael Treglia. Inverting the classroom : A gateway to creating an inclusive learning environment. Journal of Economic Education 2000; 31 (1) : 30 - ?. ทำให้เราทราบว่า มีคนคิดเรื่องห้องเรียนกลับทางในเชิงทฤษฎีมาก่อนตั้ง ๗ - ๘ ปี ก่อนจะมีการเสี่ยงดวงทำจริง ผู้เขียนเตือนเพื่อนครูว่าหากจะกลับทางห้องเรียน ก็ต้องแน่ใจว่า ตนทำด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง คือเพื่อมอบอำนาจเหนือการเรียนให้แก่นักเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำใจยากมากสำหรับนักการศึกษาจำนวนหนึ่ง แต่นัก constructivist, นัก PBL สุดขั้ว จะบอกว่าวิธีที่ผู้เขียนใช้อยู่ ยังไม่ใช่การมอบอำนาจเหนือการเรียนให้แก่นักเรียนอย่างแท้จริง แต่ผู้เขียนก็พบว่า นี่คือวิธีอย่างง่ายๆ และทำได้ ในการเปลี่ยนจากชั้นเรียนแบบถ่ายทอดความรู้ ไปสู่ชั้นเรียนที่นักเรียนเรียนแบบ inquiry-based learning ที่นักเรียนเป็น “ผู้อำนวยกาาร” การเรียนรู้ ของตนเอง ผู้เขียนทั้งสองได้รับเชิญไปพูดทั่วประเทศ จึงได้สัมผัสกับครู ผู้บริหาร พ่อแม่ และนักเรียน ที่เห็นคุณประโยชน์ของการเรียนแบบใหม่นี้ ครูเห็นว่าเป็นวิธีการที่ช่วยให้ตนสอนได้ผลตามที่ใจปรารถนา ผู้บริหารเห็นว่าเป็นวิธีที่ “scalable, reproducible and customizable” ส่วนพ่อแม่พอใจที่เห็นลูกของตนได้เรียนรู้อย่างลึก หรือรู้จริง ไม่ใช่แค่ท่องจำเนื้อวิชา

ที่สำคัญที่สุดคือนักเรียนเห็นว่าการเรียนแบบนี้ (๑) สื่อสารด้วยภาษาเดียวกันกับภาษาของนักเรียน (๒) สอนให้นักเรียนรับผิดชอบการเรียนรู้ของตนเอง (๓) มีความยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนตามความเร็วของตนเอง ผู้เขียนเชื่อว่า การเรียนรู้ที่ดีที่สุดเกิดขึ้นในบรรยากาศความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักเรียนและครู ในสภาพที่นักเรียนมองครูเป็นพี่เลี้ยง (mentor) และผู้แนะนำ (guide) ไม่ใช่เป็นผู้บงการจากเบื้องบน (ตรงนี้ผมอยากแก้เป็น ครูทำหน้าที่ คุณอำนวย - facilitator หรือเป็น ครูฝึก - coach) ครูต้องไม่มองเด็กเป็นคนที่อ่อนแอ ต้องการให้เปิดกระโหลกกรอกวิชา แต่มองเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพในการเรียนรู้ โดยที่แต่ละคนมีลักษณะจำเพาะของตนเอง ที่ต้องการกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะแก่ตน การเรียนแบบกลับทาง และเรียนให้รู้จริง เปิดช่องให้เด็กหัวไว เรียนเร็ว ได้เรียนเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายของตนด้วย


สำหรับครูเพื่อศิษย์ ..
คำถามที่สำคัญที่สุดคือ
“อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับศิษย์”
จงทำสิ่งนั้น..

 
 

 
 
เราต้องพึ่งตัวเราเอง
คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้
บุคคลผู้ฝึกตนดีแล้ว
ย่อมได้ที่พึ่งที่ได้แสนยาก
Oneself ideeed is master of oneself,
Who else could other master be?
With oneself perfectedly trained,
One obtains a refuge hard to gain.


หน้าที่ :: 66   67   68   69   70   71   72  


Copyright © 2012 Neric-Club.Com All Rights Reserved