Neric-Club.Com
  ทรัพยากรคลับ
  พิพิธภัณฑ์หุ่นกระดาษ
  เปิดประตูสู่อาเซียน@
  พันธกิจขยายผล
  ชุมชนคนสร้างสื่อ
  คลีนิคสุขภาพ
  บริหารจิต
  ห้องข่าว
  ตลาดวิชา
   นิตยสารออนไลน์
  วรรณกรรมเพื่อเยาวชน
  ลมหายใจของใบไม้
  เรื่องสั้นปันเหงา
  อังกฤษท่องเที่ยว
  อนุรักษ์ไทย
  ศิลปวัฒนธรรมไทย
  ต้นไม้ใบหญ้า
  สายลม แสงแดด
  เตือนภัย
  ห้องทดลอง
  วิถีไทยออนไลน์
   มุมเบ็ดเตล็ด
  เพลงหวานวันวาน
  คอมพิวเตอร์
  ความงาม
  รักคนรักโลก
  วิถีพอเพียง
  สัตว์เลี้ยง
  ถนนดนตรี
  ตามใจไปค้นฝัน
  วิถีไทยออนไลน์
"ในยุคสมัยแห่งโลกแฟนตาซี ปลาใหญ่ไม่ทันกินปลาเล็ก ปลาเร็วไม่ทันกินปลาช้า ปลาตะกละฮุบเหยื่อโผงโผง โง่ยังเป็นเหยื่อคนฉลาด อ่อนแอเป็นเหยื่อคนเข้มแข็ง คนวิถึใหม่ต้องฉลาด เข้มแข็ง เสียงดัง มีเงินเป็นอาวุธ
ดูผลโหวด
 
 

'องค์ความรู้ในโลกนี้มีมากมาย
เหมือนใบไม้ในป่าใหญ่
มนุษย์เราเรียนรู้ได้
แค่ใบไม้หนึ่งกำมือของตนเอง
ผู้ใดเผยแผ่ความรู้
อันเป็นวิทยาทานแก่ผู้อื่น
นั่นคือกุศลอันใหญ่ยิ่ง'
 
องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า












           




             ซ่อมได้ 


สถิติผู้เยี่ยมชมเวปไซต์
14323572  

กระดานแสดงความคิดเห็น
สมัครสมาชิกเพื่อใช้งานเว็บบอร์ด คลิกที่นี่ /  เข้าสู่ระบบ    

KROOPAD

ตั้งกระทู้เมื่อ
25 พ.ค. 2556
  จี้รัฐบูรณาการคุณภาพการศึกษา
 

                    

 
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการจัดสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นการปฏิรูปการศึกษา กล่าวในการประชุม “บูรณาการภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษา” ว่า ปัญหาการศึกษาของประเทศไทยนั้นอาจเป็นเรื่องยากที่จะทำให้สำเร็จโดยเร็ว เพราะต้องใช้เวลา ต้องค่อยๆ เริ่มทำ อยากให้สังคมผลิตครูอาจารย์รุ่นใหม่ๆ ออกมาให้มีการพัฒนาการที่ดี มีเทคนิคการเรียนการสอนแบบใหม่ให้ดีมากขึ้น ไม่ใช่สอนเด็กเพียงแค่ท่องจำเท่านั้น ส่วนการแก้ปัญหาเราจะต้องเอาเด็กเป็นตัวตั้ง เราควรจะเปลี่ยนโจทย์การศึกษา ต้องสร้างงาน ต้องสร้างคนที่มีคาแร็กเตอร์ใหม่ๆ ออกมา

“ฝ่ายรัฐจะต้องมีการบูรณาการการจัดการศึกษาให้มากกว่านี้ คนที่มีอำนาจแต่ไม่ยอมทำอะไรเลย ไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริงของการศึกษา ภาครัฐต้องมีการทำงานให้มากขึ้นกว่านี้ และต้องตอบสนองความต้องการของเยาวชน ต้องมีการกระจายอำนาจให้ภาครัฐลดบทบาทลงมา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เราต้องเดินไปด้วยกัน ทำงานร่วมกัน เชื่อมโยงกัน นำเอาบทสรุปมาเติมเต็มซึ่งกันและกัน นี่คือยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเรื่องการศึกษา”

ขณะที่ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ กรรมการจัดสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็นการปฏิรูปการศึกษา ให้ความเห็นว่า ในปัจจุบันโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากมาย บทบาทของภาครัฐในการบูรณาการการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของประเทศต้องมีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยทันโลกมากขึ้น แนวโน้มของนานาประเทศได้นำไปสู่แนวคิดเชิงพื้นที่ด้วยการไม่ผลักภาระในการปฏิรูปการศึกษาไปที่ภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่ใช้การเปิดพื้นที่ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคส่วนต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้มากขึ้น

“รัฐยังต้องสามารถวางกลไกการกำกับติดตามและสร้างความสามารถตรวจสอบและรับผิดชอบต่อผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนของสถานศึกษาทุกระดับต่อพ่อแม่ผู้ปกครองและชุมชนไปพร้อมกันด้วย เครื่องมือเชิงระบบที่น่าสนใจก็คือระบบโรงเรียนในกำกับที่มีอิสระในการบริหารเป็นกลไกแก้ปัญหาเด็กด้อยโอกาสที่มีความต้องการพิเศษ เป็นระบบที่เน้นการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ตัดทอนระเบียบราชการที่พะรุงพะรังจนผู้บริหาร และครูสามารถวางแผนการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของเด็กด้อยโอกาสแต่ละกลุ่มได้อย่างเต็มที่”

ขณะเดียวกันก็มีจุดเด่นอีกเรื่องหนึ่ง คือการเปลี่ยนแนวคิดให้ประชาชนในพื้นที่ให้โรงเรียนรัฐบาลต้องมีการปรับปรุงตัวเองโดยเน้นให้หลักการคู่ขนาน คือการมีอำนาจอิสระของโรงเรียนควบคู่กับความรับผิดชอบต่อผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ของโรงเรียนและการตรวจสอบได้ ส่วนข้อคิดเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของไทย คือเราต้องเน้นยุทธศาสตร์การใช้พื้นที่เป็นฐานและกลไกการขับเคลื่อน ซึ่งรัฐเองอาจลงทุนนำร่องในบางพื้นที่จังหวัดที่มีศักยภาพก่อนเพื่อไม่ต้องลงทุนครั้งเดียวเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้การใช้กลไกการเงินเป็นเครื่องผลักดันที่รัฐอาจลงทุนร่วมกับท้องถิ่นในรูปเงินสมทบ หรือตั้งกองทุนสนับสนุนโดยอาจใช้กองทุนเดิมบางกองทุนที่มีอยู่ เช่น กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน รัฐอาจลงทุนผ่านกองทุนนี้โดยปรับระบบการจัดการกองทุนให้เน้นการทำงานเชิงพื้นที่ การเน้นยุทธศาสตร์การปฏิรูปที่ต้องเน้นคานงัดสำคัญที่พิสูจน์มาในหลายประเทศว่าเป็นจุดเปลี่ยนของการศึกษา กรณีของไทยอาจต้องเพิ่มเรื่องที่ยังเป็นจุดอ่อน ได้แก่ การพัฒนาเด็กปฐมวัย การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก รวมถึงการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาจัดการและการสร้างภาวะรับผิดชอบทางการศึกษาขึ้นใหม่ในระบบ
 


ครูพันธุ์แท้

ตอบกระทู้เมื่อ
25 พ.ค. 2556
  ความคิดเห็นที่ 1

นับว่าเป็นอีกสุดยอดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการศึกษา หากรัฐทำได้จริงจัง การศึกษาไทยคงไม่ทิ้งดิ่งอย่างนี้ ผู้มีอำนาจต้องเร่งตัดทอนระเบียบราชการที่พะรุงพะรังของผู้บริหารและครูผู้สอนแล้วเร่งสร้างภาวะรับผิดชอบทางการศึกษาให้เป็นระบบสอดคล้องกับความต้องการและบริบทของแต่ละพื้นที่ ทุกอย่างเหมือนรีบเร่งไปหมด แต่มันช้าไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะภาวะรับผิดชอบทางการศึกษา โลกปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ถอยหน้าถอยหลังไม่ไปไหนได้สักที! ตัวถ่วงก็เยอะจริงเลย



na_na

ตอบกระทู้เมื่อ
25 พ.ค. 2556
  ความคิดเห็นที่ 2
   
   อันดับแรกต้องเคี่ยวให้เด็กไทย คนไทยทุกชั้นชนรักการอ่าน รักการเรียนรู้ สนใจใฝ่รู้ใฝ่เรียน เพราะต่อให้รัฐจัดการศึกษาดีเลิศแค่ไหน คนไทยไม่ใส่ใจเรื่องรอบตัวมันก็ไปไม่รอด ไม่มีวิจารณญาน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่เป็น คิดไม่เป็น ปากท้องอย่างเดียวล่องจุ๊น
    ไการอ่านหนังสือเป็นบันไดแห่งความสำเร็จของชีวิต และสามารถเรียนรู้และเข้าใจผู้คนที่หลากหลายอารยธรรมว่ามีชีวิตความเป็นอยู่ และการดำเนินชีวิตเป็นอย่างไร" ( พระราชดำรัสสมเด็จพระเทพฯ เจ้าฟ้าแห่งประทีปปัญญา)


ครูทะเล

ตอบกระทู้เมื่อ
25 พ.ค. 2556
  ความคิดเห็นที่ 3

ผมเห็นด้วยกับความคิดของท่านประธาน แต่มันต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ถึงจะมีงานออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมสักที เรื่องใหญ่อย่างนี้ลำพังระดับล่างขับเคลื่อนไม่ไหวครับผม เมื่อไหร่ผู้มีอำนาจที่ไม่ยอมทำอะไรเลยที่ท่านพูดถึงจะยอมทำอะไรสักทีเล่าครับ หาคำตอบได้ที่ไหน



witjung

ตอบกระทู้เมื่อ
25 พ.ค. 2556
  ความคิดเห็นที่ 4
"ปัญหาการศึกษาของประเทศไทยนั้นอาจเป็นเรื่องยากที่จะทำให้สำเร็จโดยเร็ว เพราะต้องใช้เวลา ต้องค่อยๆ เริ่มทำ "  มันยากจริงด้วยครับ ไม่ว่ามีแนวคิดอะไรดีดีออกมา ต้องมีพวกมือไม่พาย เอาน้ำลายจมเรือ เต้นก๋าออกมาคัดค้านเรือล่มทุกทีเลยครับ


Krootanoi

ตอบกระทู้เมื่อ
25 พ.ค. 2556
  ความคิดเห็นที่ 5
สุดยอดวาทะวันนี้ "มือไม่พาย พ่นน้ำลายจมเรือ" วิ๊ดด วิ้ววว
เริ่ดมากค่ะ เห็นภาพเลย แล้วมันก็มีเยอะด้วยสิคนพันธ์นี้
มิน่าเล่าน้ำท่วมขังหลายพื้นที่ เน่าด้วย เรื่องจริง ไรจริง
เมื่อไหร่บ้องไฟจะทะยานถึงดาวศุกร์


k.Taew

ตอบกระทู้เมื่อ
26 พ.ค. 2556
  ความคิดเห็นที่ 6
เห็นด้วยอย่างมากค่ะว่า เราต้องเน้นยุทธศาสตร์การใช้พื้นที่เป็นฐานและกลไกการขับเคลื่อนการศึกษา ถ้าเราสามารถเปิดพื้นที่ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคส่วนต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้มากขึ้น อย่างที่วางรากฐานไว้แล้ว โดยหน่วยงานหรือ องค์กรต่างๆในพื้นที่ต้องทำงานสัมพันธ์กันไม่ใช่ทับซ้อนหรือปีนเกลียวเพราะเกี่ยงความรับผิดชอบค่ะ หลายงานหลายโครงการซ้ำซ้อนในเป้าหมายเดียวกัน เสียเวลาและเปลืองงบประมาณมาก ในคณะที่หละหลวมในด้านการติดตาม ประเมินผลและพัฒนา


ครูทะเล

ตอบกระทู้เมื่อ
27 พ.ค. 2556
  ความคิดเห็นที่ 7
เรื่องการจัดการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐานมีมานานเท่าที่ผมอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่รุ่นปู่ ในเวลานั้นโรงเรียนกับวัดและชุมชนมีความเป็นหนึ่งเดียวโดยไม่ต้องให้คนนอกพื้นที่มาบริหารจัดการ เพราะจิตสำนึกของคนรุ่นก่อนที่มีต่อแผ่นดินและปฎิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับสิ่งแวดล้อมยังไม่เจ็บป่วย แต่เมื่อไม่มีการสานต่อให้เป็นระบบจัดการที่ดี สังคมนอกพื้นที่ลามไหลมาพร้อมกับความเจริญแบบอนัตรกาล ถึงเวลารัฐมีงบประมาณหรือจัดสรรโครงการอะไรมา อุปสรรคตัวแรก ก็คือการต่อยอดการศึกษาบนฐานเก่าที่ไม่สามารถเข้ากันได้สนิท เหมือนต่ออาคารรูปทรงโมเดิรน์บนเสาไม้ที่ไม่มีการสำรวจเลยว่าตอม่อยังสมบูรณ์พอรับน้ำหนักได้หรือเปล่า เพราะงบประมาณต่อยอดมีผลประโยชน์และได้ง่ายกว่าการซ่อมเสริมรากฐานเดิมครับผม


หนอนไซเบอร์

ตอบกระทู้เมื่อ
27 พ.ค. 2556
  ความคิดเห็นที่ 8
สาเหตุหลักของการถดถอยในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาก็คือ ทรัพยากรตั้งต้นของแต่ละสถาบันการศึกษามีความแตกต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็นความรู้ความสามารถและปริมาณของบุคลากรการศึกษา งบประมาณ เทคโนโลยี สถานที่ ฯลฯ ส่งผลให้โอกาสพัฒนาคุณภาพการศึกษาแตกต่างกันด้วย โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาขนาดเล็ก  ย่อมไม่มีศักยภาพเพียงพอในการพัฒนาคุณภาพมากนัก ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ต่อการศึกษาไทยมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ซึ่งหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่การพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้พร้อมต่อสภาพโลกาภิวัตน์ได้นั้น จำเป็นต้องเตรียมพร้อมในเชิงรุกตั้งแต่วันนี้ โดยรัฐควรเน้นการบริหารจัดการในส่วนที่เราได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและติดตาม ประเมินผลและพัฒนาอย่างเป็นระบบ


K.TC

ตอบกระทู้เมื่อ
01 มิ.ย. 2556
  ความคิดเห็นที่ 9
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในการเปิดโครงการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาเรื่อง "การพัฒนาผู้เรียนที่สอดคล้องกับจุดเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน" เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโอเน็ตเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ( AEC) และมาตรฐานสากลว่า จากผลการวิเคราะห์ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาพบว่า โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศกว่า 30,000 แห่ง ยังไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานกว่าร้อยละ 65 โดยในจำนวนนี้เป็นโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 14,000 แห่ง รวมถึงผลการประเมินผล ผู้เรียนที่พบว่าเด็กนักเรียนเกิน กว่าครึ่งยังไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ดังนั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้สอด รับกับการเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 

     ปิดท้าย : มอบผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อกำหนดจุดเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็น รูปธรรม

ตั้งเอ๋ยตั้งไข่
จะตั้งใยไข่ล้มต้มดีกว่า
กินกับข้าวสุกสุกคลุกน้ำปลา
นกกระทาห้าใบได้หนึ่งมื้อ..


K.Pim

ตอบกระทู้เมื่อ
02 มิ.ย. 2556
  ความคิดเห็นที่ 10
@ KTC

Nation  : คิดอยู่เหมือนกันว่า อีกไม่นานไข่แพงจะกลับมา แล้วก็มาตามนัดจริงๆ
ใครอาจจะมองว่า 'ไข่ไก่' ตอนนี้เป็นสินค้าการเมือง ก็ไม่แปลก ถ้ามองว่าจากการพยายามช่วงชิงพื้นที่สื่อกันอย่างแข็งขัน แต่หากมองจากจุดยืนของปากท้องแล้ว นี่คือ เรื่องธุรกิจมากกว่า แถมยังเป็นธุรกิจที่มีวงจรผลประโยชน์ผูกพันอยู่มิใช่น้อย

เหอะๆ



สปศ.

ตอบกระทู้เมื่อ
03 มิ.ย. 2556
  ความคิดเห็นที่ 11

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ในฐนะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยความคืบหน้าในการจัดทำหลักสูตรใหม่ว่า เมื่อเร็วๆนี้ที่ประชุมได้นำข้อมูลจากการวิจัยสำรวจซึ่งค้นพบคุณลักษณะของ เด็กไทยในปัจจุบัน ที่น่าเป็นห่วงและต้องแก้ไข มาเป็นเป้าหมายในการจัดทำหลักสูตรการศึกษาใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะของเด็กไทยให้ดีขึ้น  โดยคุณลักษณะของเด็กที่พบมี 3 กลุ่ม คือ 1.การยอมรับการคอรัปชั่น  2.มีเด็กไทย 12% เท่านั้นที่คิดเป็นคิดได้และกล้าแสดงความคิดเห็น ขณะที่  63% คิดได้แต่เงียบ ไม่แสดงออก สุดท้ายก็คล้อยตามผู้อื่น  และที่เหลืออีก 25% เป็นเด็กที่คิดไม่ได้ แสดงออกก็ไม่ได้  ซึ่งข้อค้นพบดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยไม่มีความคิดเห็นที่หลากหลาย ไม่มีวิธีคิด และ  3.เด็กไทยขี้เกียจทำงาน ทำงานไม่เป็น เพราะเรียนอย่างเดียว 

รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า จากข้อค้นพบดังกล่าวทำให้จำเป็นต้องปรับเรื่องการจัดการเรียนการสอนใหม่  จากเดิมที่ครูเขียนข้อมูลบนกระดานแล้วให้เด็กแสดงความเห็นว่า เห็นด้วยหรือไม่ หากไม่เห็นด้วย ครูก็จะพยายามชักจูงให้เด็กเห็นด้วยกับครู มาเป็นว่า ครูจะต้องถามเด็กว่า ใครที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากครู แล้วนำเสนอเพื่ออภิปราย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เด็กกล้าคิดกล้าแสดงออก มิฉะนั้นสังคมไทยจะคิดเห็นคล้อยกันไปทั้งประเทศ ขณะเดียวกันต้องปรับค่านิยมของพ่อแม่ด้วยไม่ใช่ให้ลูกเรียนอย่างเดียว เพราะคิดแต่อยากให้ลูกสบาย จนทำงานไม่เป็น

รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดเวลาเรียนนั้น ที่ประชุมเห็นว่า ระดับประถมแต่เดิมที่กำหนดว่าควรเรียนในห้องเรียน 800 ชั่วโมง ยังมากเกินไป น่าจะจัดให้เหลือไม่เกิน 600 ชั่วโมง แล้วไปเพิ่มการเรียนรู้นอกห้องเรียนแทน  ส่วนวิชาที่จะจัดการเรียนการสอนก็เน้นไปตามช่วงชั้น เริ่มตั้งแต่ช่วงชั้นที่ 1 ระดับ ป.1-3 จะเน้นการเรียน 3 วิชาหลัก คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เนื่องจากมีงานวิจัยระบุชัดเจนว่า หากเด็กเก่งคณิตศาสตร์จะส่งผลให้เรียนเก่งในทุกวิชา  แต่ระดับประถมจะมีการบูรณาการโครงงานให้เด็กได้เรียนรู้และเก็บข้อมูลเป็น ส่วนเสริม ทั้งโครงงานวิทยาศาสตร์ โครงงานสังคมและชุมชน โครงงานสุนทรียะ คุณธรรมและวิถีประชาธิปไตย เมื่อขึ้นระดับมัธยมแล้ว การเรียนในลักษณะบูรณาการจะลดลง และเพิ่มการเรียนเป็นรายวิชามากขึ้น รวมถึงการเรียนรู้ด้านทักษะชีวิตและโลกของงาน  เพื่อให้เด็กทำงานเป็น และเห็นความสำคัญของงาน ไม่ว่าจะจบชั้นไหนก็สามารถทำงานได้ เป็นคนดีในวิถีประชาธิปไตย และมีทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิต



ครูถึก

ตอบกระทู้เมื่อ
07 มิ.ย. 2556
  ความคิดเห็นที่ 12
คัดลอกมาแปะให้อ่านกัน
 
"รูปแบบการใช้ชีวิตของเด็กไทยในขณะนี้เปลี่ยนไปมาก โดยเด็กไทยอยู่ในภาวะที่ต้องการความรัก ความใส่ใจจากครูมากขึ้น แต่เมื่อดูจากความเป็นจริงจะพบว่าระบบการศึกษาไทยทำให้ครูมีเวลาให้เด็กน้อยลง เพราะครูต้องยุ่งอยู่กับภาระงานที่ไม่ใช่เรื่องการสอนค่อนข้างมาก จึงทำให้เด็กขาดที่พึ่ง และต้องออกไปเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ ทั้งเรื่องเพศ ความรุนแรง อบายมุข และสื่อไม่ดีต่างๆ ทั้งที่เด็กไทยยังขาดทักษะชีวิตอีกมาก เพราะครูมัวแต่สอนเรื่องวิชาการมากกว่า เราจึงต้องทำให้การเรียนรู้ของเด็กมีเสน่ห์เท่าโลกภายนอกให้ได้ ไม่เช่นนั้นเด็กก็จะเรียนด้วยระบบที่เรียนแบบไม่รู้ เรียนแบบ copy/paste หรือคัดลอกข้อมูลมาแปะส่งงาน

"จากการสำรวจข้อมูลเด็กไทยกว่า 3,000 คนทั่วประเทศ เกี่ยวกับ 1 วันในชีวิตเด็กไทย พบว่า เด็กทำการบ้านด้วยการ copy/paste ถึงร้อยละ 45.7 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าอีกหน่อยเราจะผลิตคนซึ่งเรียนแบบไม่รู้ออกมาเยอะมาก นอกจากนี้ยังมีข้อมูลระบุด้วยว่าเด็กที่เกิดปีเดียวกัน 8 แสนคน จะเรียนจบระดับอุดมศึกษาเพียง 2-3 แสนคนเท่านั้น ที่เหลือมีวุฒิแค่ ม.6 ม.3 หรือต่ำกว่านั้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการสอนที่เน้นแต่วิชาการมันตอบโจทย์เด็กได้แค่ 3 ใน 10 คนเท่านั้น จึงถึงเวลาแล้วที่โจทย์การศึกษาต้องถูกยกระดับ และเปลี่ยนไปเป็นโจทย์เพื่อการมีชีวิต และการมีงานทำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทั้งภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น จะปล่อยให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ทำเพียงลำพังไม่ได้ และไม่ควรปล่อยให้การศึกษาไทยเป็นเหมือนกบอยู่ในหม้อน้ำร้อน เพราะเวลานี้เรามีอนาคตประเทศชาติเป็นเดิมพัน ถ้าเราผลิตคนออกมาทั้งระบบเป็นคนที่ไม่รู้ มีแต่ใบปริญญา ไม่มีปัญญา ประเทศชาติก็จะอยู่ไม่ได้ เราจึงต้องช่วยกันทุกฝ่าย เลิกการทะเลาะ และวิจารณ์กัน แต่ต้องมาช่วยกันและขยายผลสิ่งที่ประสบความสำเร็จไปในพื้นที่อื่นๆ
(ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ์ คณะกรรมการบริหารสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)
 
 


k.juy

ตอบกระทู้เมื่อ
07 มิ.ย. 2556
  ความคิดเห็นที่ 13
แปะเพิ่มข้างบน
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมสัมมนา “ทิศทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในอนาคต” โดย นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาวิชาการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวในการเสวนาว่า สสค.ได้ทำการสำรวจในโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กในหัวข้อ “1 วันในชีวิตเด็กไทย” เมื่อเดือนมกราคม 2556 ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่าง 3,058 คน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พบสิ่งที่น่าสนใจ ว่า พฤติกรรมเด็กไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และเปลี่ยนแปลงเร็วเกินกว่าที่ระบบการศึกษาไทยจะไล่ตามทัน โดยวงจรชีวิตของเด็กไทยใน 1 วัน จะเริ่มตื่นนอนตั้งแต่เวลา 06.18 น. และเข้านอนในเวลา 22.21 น. วันหยุดจะนอน 23.39 น. เฉลี่ยเด็กไทยมีเวลานอนเฉลี่ย 7-8 ชั่วโมง ถือว่าเด็กไทยมีเวลานอนไม่น้อยมาก

ที่น่าสนใจ คือพบว่า สิ่งแรกที่เด็กส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.1 ทำหลังตื่นนอน คือ การเช็คโทรศัพท์มือถือ เช่นเดียวกับสิ่งสุดท้ายที่เด็กร้อยละ 35 ทำก่อนนอน คือ ใช้โทรศัพท์มือถือเล่นเฟซบุ๊ค (Facebook) และ ไลน์ (Line) ทั้งนี้ เพราะปัจจุบันเด็กไทยอยู่กับสื่อมากขึ้น โดยตัวเลขเด็กที่ใช้โทรศัพท์มือถือ พุ่งพรวด 2-3 เท่า ใน 1 ปี เพราะในโทรศัพท์มือถือมีทุกสิ่งที่เด็กต้องการ ทั้งอินเตอร์เน็ต เฟซบุ๊ค ไลน์ กล้องถ่ายรูป โดยเด็กร้อยละ 75.7 เล่นโซเชียลเน็ตเวิร์คบ่อยจนถึงประจำ ซึ่งนักเรียนหญิงจะเล่นโซเชียลเน็ตเวิร์คมากกว่านักเรียนชาย และยังพบเด็กร้อยละ 20.3 ใช้มือถือระหว่างคาบเรียนบ่อยถึงประจำ เด็กร้อยละ 42.5 รู้สึกทนไม่ได้ถ้าอยู่คนเดียวโดยไม่มีโทรศัพท์ และเด็กร้อยละ 28.7 โดยเฉพาะเด็กชาย ระบุว่าเคยถูกคุกคามทางเพศจากคนเพื่อนใหม่ที่รู้จักกันทางโซเชียลมีเดีย

นายอมรวิชช์ กล่าวต่อว่า เมื่อเด็กติดโทรศัพท์มือถือมากขึ้น ก็ไปดึงเวลาที่เด็กอยู่กับครอบครัวให้น้อยลง ขณะที่เด็กไทยใช้เวลาอยู่กับโซเชียลมีเดียนานถึง 8 ชั่วโมง แต่มีเด็กเพียงร้อยละ 34.5 ที่ยังทานมื้อเย็นกับครอบครัวเป็นประจำ โดยเด็กมัธยมศึกษาตอนต้น มีโอกาสทานมื้อเย็นกับครอบครัวมากกว่าระดับอุดมศึกษา โดยมีเด็กระดับอุดมศึกษา เพียงร้อยละ 17.5 ที่ทานมื้อเย็นกับครอบครัว นอกจากนั้น ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจว่าเด็กจำนวนมากถึงร้อยละ 45.7 ลอกการบ้านเพื่อน ที่น่าสนใจ คือ เด็กที่ผลการเรียนดี ลอกการบ้านมากกว่าเด็กที่ผลการเรียนต่ำกว่า โดยเด็กที่เกรดเฉลี่ยมากกว่า 3.5 ลอกการบ้านมากถึงร้อยละ 52.9 แต่เด็กที่เกรดเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ลอกการบ้านร้อยละ 41.7 ขณะที่เด็ก ม.ต้น ลอกการบ้าน ร้อยละ 38.9 แต่นักเรียน ม.ปลาย ลอกการบ้านถึงร้อยละ 51.7 ชี้ให้เห็นว่า เราจะผลิตคนซึ่งเรียนแบบไม่รู้เรื่องเยอะมาก และยังมีข้อมูลระบุด้วยว่า เด็กที่เกิดปีเดียวกัน 8 แสนคน เรียนจบระดับอุดมศึกษาเพียง 2-3 แสนคนเท่านั้น ที่เหลือมีวุฒิแค่ ม.6 ม.3 หรือต่ำกว่านั้น จะเห็นได้ว่า การสอนที่เน้นแต่วิชาการมันตอบโจทย์เด็กได้แค่ 3 ใน 10 คนเท่านั้น จึงถึงเวลาแล้วที่โจทย์การศึกษาต้องถูกยกระดับ และเปลี่ยนไปเป็นโจทย์เพื่อการมีชีวิตและการมีงานทำ ซึ่งในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ทั้งภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น จะปล่อยให้กระทรวงศึกษาธิการทำเพียงลำพังไม่ได้

“มีเหตุผล 3 เรื่องหลักที่ทำให้ระบบการศึกษาไล่ไม่ทันเด็ก เริ่มจากภูมิหลังเด็กมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ครอบครัวไทยประมาณ 20 ล้านครอบครัวนั้น 1 ใน 4 เป็นครอบครัวไม่สมบูรณ์ ขณะที่ รูปแบบการใช้ชีวิตของเด็กไทยในขณะนี้เปลี่ยนไปมาก เด็กจึงต้องการครูเป็นพ่อแม่คนที่ 2 เด็กไทยอยู่ในภาวะที่ต้องการความรัก ความใส่ใจจากครูมากขึ้น แต่เมื่อดูจากความเป็นจริงจะพบว่า ระบบการศึกษาไทยทำให้ครูมีเวลาให้แก่เด็กน้อยลง เพราะครูต้องยุ่งอยู่กับภาระงานที่ไม่ใช่เรื่องการสอนค่อนข้างมาก เด็กจึงขาดที่พึ่ง และต้องอยู่ในภาวะเสี่ยงรุ่มเร้าหลายเรื่อง ขณะที่ระบบการศึกษาไทยก็มีปัญหา โดยเฉพาะในเรื่องการสอนทักษะชีวิตนั้น ถือว่าไม่ทันสถานการณ์” นายอมรวิชช์ กล่าว



สปศ.

ตอบกระทู้เมื่อ
11 มิ.ย. 2556
  ความคิดเห็นที่ 14

วันนี้ (10 มิ.ย.)ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ได้จัดประชุมสัมนาวิชาการนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติประจำปี 2556 โดยศ.(พิเศษ)ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง พลิกโฉมการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน: หลากหลายเส้นทางสู่การปฎิรูปการศึกษาในศตวรรษที่ 21ว่า ขณะนี้ศธ.กำลังปรับปรุงหลักสูตร เนื่องจากแต่ละหลักสูตรต้องมีการปรับปรุงตลอด เพื่อความทันสมัย เช่น หลักสูตรอุดมศึกษาต้องปรับทุก 5 ปี หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วโลกจะปรับทุก10 ปี แต่หลักสูตรพื้นฐานของไทยที่ใช้อยู่ 12 ปีแล้ว แต่มีการปรับเพียงเล็กน้อย หรือเป็นหลักสูตรสั้น ย่อเกินไป จนอาจเรียกว่าหลักสูตรพิกลพิการก็ได้ อีกทั้งยังเป็นหลักสูตรแบบปลายเปิดที่เหมาะสมกับครูที่มีความสามารถ ขณะที่ครูไทยไม่ได้มีความสามารถเท่าเทียมกัน หลักสูตรเป็นการเรียนแบบหน้ากระดาน ทั้งที่มนุษย์จะมีพัฒนาการทางสมองไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับเวลา ถ้าจะจัดการศึกษาก็ต้องคำนึงถึงการพัฒนาทางสมอง สิ่งที่ทำให้เกิดความรู้ที่แท้จริงและมีความยั่งยืน โดยที่ผู้เรียนสามารถใช้ได้หลากหลายวิธี เพื่อให้เกิดความรู้ไม่ใช่การสอนจากครู และให้ได้เรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น

ศ.(พิเศษ)ดร.ภาวิช กล่าวต่อไปว่า เด็กไทยเข้าระบบการศึกษาปีละ 8 แสนคน แต่หลักสูตรที่ใช้กันอยู่รองรับเด็กเข้าอุดมศึกษาได้เพียง 3 แสนคน ที่เหลือ 5 แสนคนไม่รู้ว่าไปอยู่ไหน เพราะหลักสูตรไม่ได้สร้างศักยภาพให้แก่เด็ก จึงทำให้คนของประเทศไม่มีคุณภาพ ดังนั้นหลักสูตรใหม่ 6 กลุ่มการเรียนรู้จะเน้นการเตรียมคนยุคใหม่ให้อยู่ในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีวิธีคิดใหม่ มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถคิดวิเคราะห์ สามารถแก้ปัญหาได้ มีวิธีทำงานแบบใหม่ สามารถสื่อสาร และทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่นได้ รู้จักใช้เครื่องมือในการทำงาน หรือการใช้เทคโนโลยีสื่อสารสนเทศ และต้องมีความเป็นพลเมืองโลก การมีชีวิตและอาชีพที่มีคุณภาพ มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม นอกจากนี้การเรียนการสอนคนยุคใหม่นั้น ต้องสำนึกว่าการเรียนต้องมีความสำคัญและมีน้ำหนักมากกว่าการสอน การศึกษาต้องเริ่มต้นด้วยความรู้และกระบวนการ ครูต้องกลายเป็นผู้เสนอแนะ ผู้ทำให้เด็กได้คิด ครูต้องไม่คิดว่าเด็กออกนอกห้องเรียนและหมดหน้าที่ของตนเอง แต่ต้องสร้างความท้าทายให้แก่ตนเองว่าจะลดเวลาในห้องเรียนและเพิ่มเวลานอกห้องเรียน โดยเรียนในห้องเรียน 600 ชม. นอกห้องเรียน 400 ชม. การสอนนอกห้องเรียนต้องจัดให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละบุคคล

“ร่างหลักสูตรใหม่เสร็จไปแล้ว 80 % ปลายเดือนมิถุนายนนี้จะมีการประชุมรวมทั้ง 6 กลุ่มการเรียนรู้ก่อนจะสรุปรวบรวมอีกครั้ง ซึ่งหลักสูตรใหม่น่าจะเสร็จก่อน 8 เดือน ที่รมว.ศึกษาธิการกำหนดไว้ เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มใช้หลักสูตรใหม่ในปีการศึกษาหน้า โดยจะทดลองนำร่องในโรงเรียนเครือข่ายของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย 30 สถาบัน รวมประมาณ 3,000 โรงเรียน และเริ่มใช้กับนักเรียนป.1 ป. 4 ม.1 และม.4 ก่อนที่จะขยายไปสู่โรงเรียนอื่นๆ ทั้งนี้การปรับหลักสูตรใหม่นั้นจะค่อยเป็นค่อยไปจะไม่ปรับทั้งระบบพร้อมกันทันที”ศ.(พิเศษ)ดร.ภาวิช กล่าว


http://www.dailynews.co.th/education/210870



สมัครสมาชิกเพื่อใช้งานเว็บบอร์ด คลิกที่นี่ /  เข้าสู่ระบบ


Copyright © 2012 Neric-Club.Com All Rights Reserved