เก็บข่าวนี้ไว้ติดตามดีกว่า
ดร.ประแสง มงคลศิริ เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตนได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนป่าตาล และโรงเรียนกอสะเลียม ต.บวกค้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน และ 120 คน ซึ่งในปีการศึกษา 2555 ทั้ง 2 โรงเรียน ได้ทดลองควบรวมกันเพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพและการบริหารจัดการ แต่จากการตรวจเยี่ยมทำให้ทราบว่าในปีการศึกษา 2556 ทั้ง 2 โรงเรียนไม่ได้ควบรวมกันแล้ว ถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือหย่าร้างกันเป็นที่เรียบร้อย เนื่องจากชุมชนของทั้ง 2 โรงเรียนไม่ต้องการให้มีการควบรวมกัน เพราะผู้ปกครองจากโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีเด็กมากกว่าไม่ต้องการให้ลูกหลาน ต้องเดินทางไปเรียนในโรงเรียนที่มีจำนวนเด็กน้อยกว่า และในเชิงการบริหารผู้บริหารของทั้ง 2 โรงเรียนก็มีปัญหา ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริหารโรงเรียนยังมองว่าตัวเองอาจไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะเมื่อเด็กป.1-3 ที่เรียนในโรงเรียนเดิม หากย้ายมาเรียนป.4-6 ในอีกโรงเรียนหนึ่ง ถ้าเด็กกลุ่มนี้ทำคะแนนไม่ดี ก็อาจมีผลเสียกับผู้บริหารโรงเรียน เมื่อสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เข้ามาประเมิน อีกทั้งสมศ.ยังใช้เกณฑ์ประเมินผลเหมือนกับโรงเรียนอื่นๆ ทั่วไป ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กคงจะสู้โรงเรียนขนาดใหญ่ได้ยาก ที่สำคัญโรงเรียนที่มีเด็กมากกว่าจะต้องเกลี่ยทรัพยากรต่างๆเข้าไปอุ้มโรงเรียนที่มีเด็กน้อยกว่า ซึ่งกรณีต่างๆ เหล่านี้ยังเป็นความคลางแคลงใจของผู้ปกครองโรงเรียนที่มีเด็กเยอะกว่า จึงมีการจัดประชุมประชาคมผู้ปกครองและกรรมการสถานศึกษา และในที่สุดก็เห็นสมควรให้หย่าขาดทั้ง 2 โรงเรียนออกจากกัน
เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังพบว่าโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็มีส่วนที่ทำให้เกิดปัญหากับโรงเรียนขนาดเล็กมากขึ้น เพราะโรงเรียนในสังกัด อปท.นับวันจะขยายมากขึ้น โดยเริ่มจากศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียน จนทุกวันนี้ขยายถึงระดับประถมศึกษา ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือเกิดการแย่งชิงตัวป้อน คือ เด็กที่จะเข้าเรียนกับโรงเรียนประถมศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทำให้ขณะนี้หลายโรงเรียนพยายามรักษาจำนวนเด็กให้เกินเกณฑ์ของโรงเรียนขนาดเล็ก ด้วยการไปดึงเด็กไร้สัญชาติเข้ามาเรียนแทน ซึ่งเราเองก็ยังไม่มีมาตรการรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้
“โมเดลต่างๆ ที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก โดยเฉพาะการยุบรวมโรงเรียนเข้าด้วยกัน ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จทั้งหมด และที่ผ่านมาสพฐ.ก็ไม่เคยพูดถึงความล้มเหลวที่เกิดขึ้น หากผมไม่ไปตรวจเยี่ยมแบบนี้ก็คงไม่รู้ข้อเท็จจริง และเชื่อว่าปรากฏการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นแทบทุกพื้นที่ ซึ่งก็มีทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว ดังนั้นผมจะสรุปข้อมูลรายงานให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ ได้ทราบ เพื่อหามาตรการช่วยเหลือโรงเรียนที่ไม่สามารถควบรวมเข้าด้วยกันได้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อคุณภาพการศึกษา” ดร.ประแสง กล่าว
คนเก่งเมืองไทยยังมีเยอะแยะ แต่ส่วนใหญ่จะถนัดการคุ้ยหาปัญหา แต่ไม่ถนัดกำจัดเหมือนเทศบาลเก็บขยะไปกองทิ้งกลางเมือง ขอเชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกิจส่งความเห็นที่มีประโยชน์ลงกล่องความคิดเห็นแห่งชาติครับ |