ใครหว่า...คิดไม่เป็น ?
โดย : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ
http://www.bangkokbiznews.com/
ว่ากันว่า ความคิดฝึกฝนกันได้ และจำเป็นต้องฝึกตั้งแต่เด็ก หากอยากให้เด็กคิดเป็นเหตุ เป็นผล ยังมีอีกแนวทางในการพัฒนาทักษะการคิดด้วยปรัชญาเด็ก
ไม่ว่าจะทำเรื่องใดก็ตาม ถ้าถามถึงคุณภาพงาน นั่นก็หมายถึงคุณภาพคน ก็ต้องวกกลับมาที่ระบบการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาหลักของชาติ และมีประเด็นชวนให้คิดมากมาย เมื่อมีทั้งงานวิจัยออกมายืนยันว่า เด็กไทยไอคิวและอีคิวต่ำกว่ามาตรฐาน
ที่ว่า ต่ำกว่ามาตรฐาน นั่นหมายถึง มาตรฐานของผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบอนาคตของชาติ อยู่ในมาตรฐานเดียวกับเด็กไทย...ใช่หรือไม่
ถ้าจะถามหาสาเหตุของปัจจัยหลักและปัจจัยรอง ก็คงต้องอธิบายยืดยาว แต่ถ้ามุ่งประเด็นไปที่ "การคิด" ก็คงจะมีคนช่วยต่อจิกซอเรื่องนี้ได้
มีงานวิจัยออกมายืนยันอีกว่า ปัญหาการเรียนรู้ของเด็กในปัจจุบัน ยังขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รวมถึงขาดทักษะชีวิต ส่งผลต่อการคิดตัดสินใจไม่เหมาะสม ซึ่งนั่นแหละคือปัญหาในเรื่องคุณภาพคน ตามมาด้วยปัญหาอีกมากมายในสังคม ทั้งการคอรัปชั่น การเห็นแก่ประโยชน์ของพรรคพวกมากกว่าประเทศชาติ การแบ่งสี แบ่งพวก แบ่งสถาบัน ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ ถ้าจะบอกว่า เพราะคิดไม่เป็น หรือ ตั้งใจคิดเช่นนั้น นั่นก็โยงไปถึงเรื่องจริยธรรม หรือความเข้าใจสัจจะของชีวิต
แล้วเราจะปล่อยให้เด็กที่กำลังเป็นอนาคตของชาติ คิดไม่เป็น เหมือนผู้ใหญ่(บางคน)ในวันนี้หรือ ?
สอนให้รู้คิด รู้เหตุผล
ว่ากันถึงเรื่องปรัชญา ดูเหมือนจะซับซ้อน แต่อาจทำให้เป็นเรื่องง่ายได้ ถ้าเข้าใจว่า ปรัชญาเป็นสิ่งที่พึ่งเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเรื่องความดี ความงาม ความจริง และในตะวันตกก็ให้ความสนใจอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นคงไม่มีแนวทางของปรัชญาเด็ก ที่ครูบาอาจารย์หลายคนอยากจะเผยแพร่ให้เด็กได้เรียนรู้ในการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์สำหรับการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ซึ่งหลายประเทศนำไปใช้ โดยเฉพาะประเทศที่อินเทรนอย่างเกาหลี กว่าจะพัฒนาได้ขนาดนั้น ก็คงต้องมีรากฐานการคิดวิเคราะห์ เพื่อนำพาประเทศมาถึงจุดนี้
แนวทางการพัฒนาความคิดเป็นสิ่งที่รัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลีตื่นตัวมาก เมื่อปี คศ.2000 พวกเขาเห็นว่า การแข่งขันเรื่องการคิด ไม่ว่าจะเรื่องเทคโนโลยีหรือเรื่องใดก็ตาม จำต้องล้ำหน้าในตลาดโลก ไม่อย่างนั้นสู้คู่แข่งไม่ได้ ขณะที่ไทยเราพูดถึงการเปิดอาเซียน แต่มุ่งประเด็นไปที่การค้า การลงทุน และความรอบรู้เรื่องภาษา ส่วนทักษะการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นรากฐานและเครื่องมือในการสร้างสรรค์ในทุกเรื่อง มีการกล่าวถึงน้อยมาก
จึงเป็นที่มาของการเสนอแนวคิดของ แมทธิว ลิปแมน (Matthew Lipman) อาจารย์สอนปรัชญาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย อเมริกา เจ้าของแนวคิดปรัชญาเด็ก ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกในเครือข่ายทั่วโลกกว่า 40 ประเทศ เพื่อผลิตบุคลากรในด้านการสอนปรัชญาสำหรับเด็กในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก รวมถึงการอบรมในระยะสั้น
ในปีคศ. 1974 เขาได้ก่อตั้ง Institute for the Advancement of Philosophy for Children (IAPC) โดยก่อนหน้านี้เขาตั้งสมมติฐานว่า "การใช้เหตุผลเป็นสิ่งที่สอนกันได้จริงหรือ" เนื่องจากนักศึกษาที่เขาสอนอยู่ มีระดับการใช้เหตุผลอยู่ในเกณฑ์ไม่ดีนัก ดังนั้นเขาคิดว่า ควรแก้ไขกันตั้งแต่ในระดับโรงเรียน นั่นเป็นเหตุผลที่เขานำแนวทางปรัชญาเด็กมาใช้พัฒนาทักษะการคิด ด้วยการเริ่มสอนตั้งแต่ระดับประถม
เขาสร้างเนื้อหาการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กๆ เรียนรู้ที่จะคิดด้วยตนเอง ผ่านเรื่องเล่า นิทาน หรือนิยาย โดยมีครูคอยกระตุ้นความคิด แต่ไม่ชี้นำ เพราะลิปแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาการศึกษาสำหรับเด็ก เชื่อว่า เด็กๆ คิดเป็น และปัจจุบันแนวทางนี้ เกาหลีก็กำลังทดลองใช้ และเป็นที่สนใจของนักการศึกษากลุ่มหนึ่งในเมืองไทย
“แม้ทักษะการสอนให้คิดเป็นจะมีในหลักสูตร แต่ไม่ได้ลงไปถึงราก เรื่องนี้ต้องฝึกครูก่อน ครูต้องมีทักษะการคิดและวิธีการสอน" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุสา สุทธิสาคร อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสไปดูงานการสอนเด็กเกาหลีในเรื่องปรัชญาเด็ก และกำลังจะนำมาใช้กับการสอนครู
จากการศึกษาและดูงานตามแนวทางการเรียนรุู้ของลิปแมน เธอเห็นว่า แนวทางปรัชญาเด็ก น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย เธอยกตัวอย่างว่า การสอนจริยธรรม ไม่จำเป็นต้องสอนตรงๆ เหมือนที่ครูในเมืองไทยสอนว่า สิ่งนั้นถูก หรือ ผิด ถ้ามีกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กๆ วิเคราะห์และร่วมกันคิดด้วยกัน พวกเขาก็จะรู้ด้วยตัวเอง
"ในรายละเอียดระหว่างการถกเรื่องความคิด ครูจะกระตุ้นให้เห็นข้อดีและข้อเสียที่เด็กกำลังคุยกัน แม้กระทั่งนิทานเรื่องหนึ่ง ก็สามารถทำให้เด็กวิเคราะห์ไปถึงขั้นที่ทำให้เขาเข้าใจชีวิต"
กระตุ้น...ต่อมคิด
นอกจากครูมีหน้าที่กระตุ้นให้เด็กคิด ตั้งโจทย์จากการเล่านิทาน เพื่อให้เด็กๆ ถกเถียงกันถึงข้อดีและข้อเสีย ครูยังมีหน้าที่ตบประเด็นให้อยู่ในข่ายใยความคิดนั้นๆ แต่ไม่จำเป็นต้องชี้นำ เรื่องนี้อาจารย์อุสา บอกว่า ถ้าจะทำให้เด็กคิดเป็น ต้องลึกลงไปมากกว่าคำว่า How to เราสามารถฝึกเด็กให้เป็นนักปรัชญาได้
"ถ้าฝึกให้เด็กหัดตั้งคำถาม อีกหน่อยเขาก็จะตั้งคำถามกับชีวิต และนำไปสู่การสร้างคุณค่าในชีวิต ทางเกาหลีก็เพิ่งนำปรัชญาการศึกษาแนวนี้มาใช้ ในช่วงหลังพวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ครูประถมกับมัธยมจะแลกเปลี่ยนกัน เด็กประถมเกาหลีจะถูกฝึกในเรื่องการเอาตัวรอดเมื่อเกิดภัยพิบัติด้วย มีการสอนให้เด็กๆ รู้จักการป้องกันภัยที่จะมาถึงตนเอง ส่วนในเรื่องการคิด พวกเขาทำในลักษณะชุมชนแห่งการสืบสอบ ใช้กลุ่มเพื่อนในการแลกเปลี่ยน ”
ถ้าจะให้เล่าการเรียนรู้ผ่านนิทาน เธอยกตัวอย่าง เรื่องของเด็กผู้ชายคนหนึ่งกับต้นแอปเปิ้ล เมื่อแอปเปิ้ลออกลูก เขาก็ขอไปกิน พอต้นไม้เติบโตเต็มที่ ก็ขอผลแอปเปิ้ลไปขาย เมื่อเขาแต่งงานก็ขอไม้ไปปลูกบ้าน ขอไปเรื่อยๆ จนต้นไม้เหลือแต่ตอ เพราะชีวิตของชายคนนั้น ตั้งแต่เด็กจนชราภาพได้แต่ขออย่างเดียว และต้นไม้ก็ให้สิ่งที่เขาต้องการตลอด
"เด็กประถมสองคนหนึ่งบอกว่า "การให้ต้องระมัดระวังอย่างมาก ถ้าเราให้โดยไม่ระมัดระวัง เราก็จะฝึกให้เขาเป็นคนไม่รู้จักพอ และเขาก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยกับชีวิต" ที่น่าประทับใจคือ เด็กสามารถวิเคราะห์ได้ว่า การให้ของต้นไม้เป็นสิ่งที่พึ่งระวังอย่างมาก " อาจารย์อุสา เล่าถึงบทเรียนที่ประทับใจ
นี่คือตัวอย่างหนึ่งของแนวทางการพัฒนาทักษะการคิดตามแนวทางปรัชญาเด็ก ที่อาจารย์อุสาไปเรียนรู้และเห็นว่า น่าสนใจ ซึ่งก่อนหน้านี้ อ.ดร.ปัทมศิริ ธีรานุรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาสำหรับเด็ก ภาควิชาหลักสูตร การสอนและเทคโนโลยีการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาโรงเรียนอนุบาลธีรานุรักษ์ ได้ศึกษาวิจัยในเรื่อง "ผลของการใช้กระบวนการเรียนการสอนตามแนวการสอนแบบชุมชนแห่งการสืบสอบเชิงปรัชญาที่มีต่อทักษะการคิดของเด็กประถมปีที่ 1" งานวิจัยชิ้นนี้แม้จะทำเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่เธอก็ยังนำแนวทางนี้มาใช้ในการสอนนักศึกษาและเด็กนักเรียนในบางครั้งบางคราวในช่วงที่โอกาสเหมาะสม
เนื่องจากแนวทางของปรัชญาเด็ก เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการคิด ในห้องเรียนที่เธอไปสอน ไม่ใช่ว่าเด็กที่เงียบที่สุดคิดไม่เป็น เขาก็มีความสามารถในการคิด
"ถ้าครูเปิดโอกาสให้คิด ก็จะทำให้เด็กๆ มีความสามารถในการคิดที่สูงขึ้น และมั่นใจมากขึ้น"
เพียงแต่แนวทางที่นำมาใช้ เธอปรับเปลี่ยนประยุกต์ให้เหมาะกับสภาพสังคมไทย เพราะแนวทางของ ลิปแมน จะมีประเด็นการคิดจากนิทานและนิยาย แต่เธอใช้เนื้อหาจากบทเรียนที่เด็กๆ เรียนเปิดประเด็นพูดคุยขยายความคิด ส่วนนักศึกษาที่เธอสอนในระดับอุดมศึกษา เธอนำประเด็นมาจากหนังสือพิมพ์หรือรายการทีวี เพื่อการพัฒนาทักษะการคิด
“นำมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับมิติของปรัชญาที่เป็นความรู้ ความจริง ความดี ความงาม ให้เด็กได้ใช้เหตุผลในชุมชนการสืบสอบเชิงปรัชญา เป็นเวทีที่ครูต้องเป็นผู้รับฟัง ปกติในวัฒนธรรมไทยวิธีการสอนของครู ต้องเป็นใหญ่ แต่วิธีการนี้ครูเป็นผู้กระตุ้นความคิด
ดังนั้นครูต้องไม่เอาความเป็นผู้รู้มาตัดสินว่า นี่ถูกหรือผิด นั่นเป็นการปิดกั้นไม่ให้เด็กกล้าคิด เพราะวิธีการที่เด็กเรียนรู้คือ การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จากการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เมื่อได้เรียนรู้ก็จะต่อยอดความคิด สุดท้ายก็จะเข้าใจแนวคิดด้วยตัวของเขาเอง และเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่เข้าใจจากการสอนของครู”
ในชั้นเรียนการคิด
ถ้าให้กระเทาะเปลือกกระบวนการเรียนรู้ องค์ประกอบคงมีตั้งแต่ตัวครู เนื้อหา วิธีการสอน และการปฎิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน เพื่อให้เห็นว่า เด็กๆ สามารถ"คิดเป็น" จริงหรือไม่ ในชั้นเรียนที่ อ.ดร.ปัทมศิริ ออกแบบให้นักเรียนประถมหนึ่งในโรงเรียนพิชญศึกษา จ.นนทบุรี เรียนรู้ปรัชญาเด็ก โดยปล่อยให้เด็กๆ พูดคุยกันเองในเรื่อง ความฝัน ...
นักเรียน 20 -ความฝันคือ สิ่งที่เราคิดขึ้นมาเองได้ นักเรียน 15-ไม่เห็นด้วยกับเพื่อน เวลาเราคิดขึ้นมาเอง เราก็ไม่ฝันแบบที่เราคิด แต่มันจะฝันขึ้นมาเอง นักเรียน 30- ทำไมเราฝันร้าย แล้วตื่นขึ้นมานอนลงไปอีก ก็ฝันร้ายเหมือนเดิมอีก นักเรียน 19-ความฝันอยู่บนที่หัวเราอยู่ นักเรียน 30- แล้วทำไมมันอยู่บนหัวเราได้ นักเรียน 24-รู้แล้วทำไมถึงฝันร้าย เพราะว่าเราคิดร้าย นักเรียน 20- ความฝันร้าย เราคิดขึ้นมา เพราะเราลืมกราบพระตอนกลางคืน นักเรียนทั้งห้อง-ไม่เกี่ยว นักเรียน 20 -มันทำให้ฝันร้ายได้ นักเรียน 12 -หนูไม่ได้กราบพระ หนูยังไม่ฝันร้ายเลย ฯลฯ ...........................
นี่เป็นส่วนหนึ่งของการถกกันเรื่องความฝัน
อาจารย์ปัทมศิริ บอกว่า ครูต้องรู้จักจับประเด็น เด็กบางคนบอกว่า ฝันดี เพราะคิดดี และสวดมนตร์ก่อนนอน ฝันไม่ดีเพราะคิดไม่ดี และเด็กๆ ถามกันเองว่า ความฝันต่างกับความจริงอย่างไร บางคนบอกว่า ความฝันไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ ความจริงต่างหากที่เราต้องการ
“อันนี้เป็นทักษะการคิดเชิงเปรียบเทียบ จำแนก การมองในมุมต่างๆ แต่ครูต้องเชื่อว่า ผู้เรียนสร้างความรู้ได้จากการแลกเปลี่ยนกัน ครูต้องเชื่อมั่นในศักยภาพ ถ้าทำอย่างนั้นได้ เด็กจะเข้าใจความจริง” นี่คือ คำอธิบายเพื่อให้เห็นว่า ถ้าสอนเป็น เด็กก็คิดเป็น
วิธีการแบบนี้ อาจารย์ปัทมศิริ เห็นว่า เป็นการฝึกฝนให้เด็กเติบโตในสังคมประชาธิปไตยที่ถูกทาง ทำให้พวกเขารู้จักการรับฟังซึ่งกันและกัน
“แนวทางนี้ต้องอยู่ในเนื้อหา วิธีคิด และการอยู่ร่วมกัน โดยครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก ไม่ใช่ปล่อยให้เด็กพูดไปเรื่อยๆ ครูต้องเก่ง เพราะต้องใช้เวลาพอสมควร และในชั้นเรียนเรื่องการคิด ครูต้องไม่คิดแทน และนักเรียนต้องกลุ่มเล็กๆ เพื่อให้ทุกคนได้พูด ถ้าเด็กคนไหนพูดมากไป ครูก็ต้องมีเทคนิค หรือเด็กคนไหนไม่พูด ครูก็ต้องกระตุ้นให้เขาเปิดเผยตัวเอง โดยครูทำหน้าที่สังเกต “
หากถามว่า ทำไมต้องสอนการคิดอย่างมีเหตุและผลตั้งแต่เด็ก อ.ดร.ปัทมศิริ มีคำอธิบาย
"ถ้ากระตุ้นความคิดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เด็ก การเชื่อมโยงเซลล์ประสาทในการพัฒนาความคิดจะดีขึ้น ทำให้เด็กคิดเป็น มองละเอียดทุกมุม และมีคุณธรรม รับฟังคนอื่น เราก็เห็นแล้วว่า ทุกวันนี้คนไทยจะต่างคนต่างพูด คิดว่าทุกคนมีสิทธิ์พูดและไม่ฟังใคร มีสิทธิทำโดยไม่ต้องนึกถึงใคร แต่วิธีการนี้จะสอนให้รู้จักเคารพสิทธิและความคิดของผู้อื่น และเปลี่ยนวิธีคิดได้บนพื้นฐานของความเป็นจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีจุดยืน เพียงแค่เปิดใจที่จะฟังสิ่งใหม่ๆ ซึ่งต่างจากคนที่น้ำล้นแก้วในสังคม ไม่ฟังใครอีกต่อไป”
ด้วยกระบวนการกลุ่ม ทำให้เขารู้จักรับฟัง เด็กจะถูกฝึกให้ฟังเพื่อนๆ ที่คิดต่าง แม้บางเรื่องจะไม่เป็นอย่างที่เขาคิด แต่เขายอมรับเหตุผล ซึ่งเรื่องนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ถ้าไม่ได้ฝึกคิด ก็จะคิดในแบบของตัวเอง แต่ในกระบวนการแบบนี้จะมีคำถามกระตุ้นให้คิดและอธิบายวิธีคิดของตัวเองได้
"เพราะเด็กทุกคนมีความสามารถในการคิดตั้งแต่อยู่ในท้อง แต่ด้วยวัฒนธรรมและการเลี้ยงดูในสังคมไทย มันปิดกั้นความคิด ประกอบกับบุคลิกของครูที่ดุ ทำให้เด็กไม่กล้าแสดงความคิด ถ้าใช้วิธีนี้ก็จะทำให้เด็กกล้าคิด ถ้าจะรอให้คิดตอนเรียนในระดับอุดมศึกษา คงยากแล้ว”
|