เปลี่ยนการสอนภาษาอังกฤษเตรียมคนไทยสู่ประชาคมอาเซียน
ฟาฏินา วงศ์เลขา
ณ เวลานี้ เราคงไม่อาจปฏิเสธได้แล้วว่าภาษาอังกฤษมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใกล้จะเปิดเสรีประชาคมอาเซียน (AC) และในกฎบัตรอาเซียนข้อ 34 บัญญัติว่า “The working language of ASEAN shall be English” หรือ ’ภาษาที่ใช้ในการทำงานของอาเซียนคือภาษาอังกฤษ“ นั่นเอง
แต่ถ้าดูจากการจัดอันดับความสามารถด้านการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยแล้วน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น ในปี 2555 ประเทศไทยถูกจัดอันดับอยู่ที่ 53 ของประเทศในแถบทวีปเอเชีย ตกลงไปจากเดิมเมื่อปี 2554 ที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 42 ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษน้อยมาก (Very Low Proficiency)
ในขณะที่ผลสำรวจจากสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) พบว่าคนไทยอยู่ในอันดับที่ 8 จาก 10 ประเทศในอาเซียน นำหน้าลาวและพม่าเท่านั้น
ส่วนผลสำรวจทักษะด้านภาษาอังกฤษของคนทำงาน 5 ประเทศในกลุ่มอาเซียน คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ที่ทำแบบทดสอบวัดทักษะด้านภาษาอังกฤษผ่านโปรแกรม JobStreet ELA (JobStreet English Language Assessment) พบว่า ประเทศที่ได้รับคะแนนเฉลี่ยสูงสุด คือ สิงคโปร์ ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับสุดท้าย
ยิ่งโลกไร้พรมแดนมากขึ้น ภาษาอังกฤษก็ยิ่งทบทวีคูณความสำคัญตามไปด้วย ในยุคสมัยก่อนการรู้ภาษาอังกฤษถือเป็นความสามารถพิเศษ แต่ ณ วันนี้หรืออย่างน้อยในอีก 3 ปีข้างหน้าถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกคนจะต้องสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ เพราะในอนาคตอันใกล้นี้ภาษาอังกฤษไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะผู้ที่จะไปทำงานในต่างประเทศเท่านั้น แม้กระทั่งการทำงานในประเทศไทยก็มีความจำเป็นต้องรู้ภาษาอังกฤษไม่แพ้กัน เนื่องจากทุกคนในอาเซียนสามารถเดินทางไปทำงานยังประเทศต่าง ๆ ได้อย่างเสรี มักมีการตั้งคำถามบ่อยครั้งว่า ทำไมเด็ก เยาวชน และคนไทยเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ปริญญาตรี ปริญญาโท หรือแม้กระทั่งปริญญาเอก ถ้ารวมระยะเวลาการเรียนภาษาอังกฤษของคนไทยถือว่าใช้เวลานานมาก บางคนนับรวมเกือบ 20 ปี แต่ก็ยังไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารกับชาวต่างชาติได้
หลายคนมองว่าระบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษบ้านเราผิดพลาดตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ว่าคนไทยเรียนไม่เก่ง แต่เพราะสาเหตุหลักคือ เด็กไทยส่วนมากไม่ค่อยมีโอกาสได้ฝึกทักษะการเรียนภาษาอังกฤษแบบธรรมชาติ ไม่ได้ฝึกการฟังและการพูด แต่เป็นการเรียนการสอนในห้องเรียนที่เน้นด้านหลักไวยากรณ์มากเกินไป และที่สำคัญคือเด็กส่วนใหญ่เรียนเพียงเพื่อให้สอบผ่านเท่านั้น โดยไม่ได้หวังที่จะต้องเรียนเพื่อนำไปใช้ในการทำงานอนาคต นี่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กไทยหรือคนไทยเรียนภาษาอังกฤษกันตั้งแต่อนุบาลจนกระทั่งทุกวันนี้ แต่การใช้ภาษาอังกฤษก็ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐานอยู่ดี
มีผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษหลายท่านแนะนำไว้ว่า การเรียนภาษาอังกฤษให้ได้ผล ’ต้องเรียนด้วยหูไม่ใช่ด้วยตา“ ดังนั้นการฟังจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก หากต้องเรียนภาษาอังกฤษที่แท้จริง อยากฟังภาษาอังกฤษให้รู้เรื่องก็สามารถเรียนรู้ง่าย ๆ จากภาพยนตร์ รายการทีวีโชว์ของต่างชาติ เพราะส่วนมากมักจะเป็นภาษาอังกฤษที่นิยมใช้กันในชีวิตประจำวัน
แม้เป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนของกระทรวงศึกษาธิการมุ่งที่จะสร้างพลเมืองยุคใหม่ให้เก่ง ดี มีความสุข และที่สำคัญสามารถแข่งขันในอาเซียนและเวทีโลกได้ มีการวางแผนประกาศจุดยืนเพื่อผลักดันการพัฒนาผู้เรียนให้มีความพร้อมในทุกด้านรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รวมถึงการพัฒนาทักษะความสามารถด้านการใช้ภาษาอังกฤษให้สามารถสื่อสารได้ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมสักที
ถึงวินาทีนี้อยากจะถามว่าถึงเวลาหรือยังที่จะต้องมีการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ แม้ในสังคมแห่งความเป็นจริงยังคงมีคนจำนวนไม่น้อยที่อาจจะรู้สึกว่าเป็นสิ่งใหม่และยังไม่พร้อมสำหรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ เพราะยังคงยึดติดอยู่กับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในรูปแบบเดิมที่ได้มีการวางกรอบไว้ตั้งแต่ยุคดั้งเดิม คือ การเรียนจากตำราหรือหนังสือเรียนนั่นเอง
คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ณ ปัจจุบันภาษาอังกฤษมีความสำคัญยิ่งไปกว่าเพียงแค่การติดต่อสื่อสาร แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญที่เป็นทางนำไปสู่การแสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ใหญ่ที่สุดที่ทุกคนจากทั่วทุกมุมโลกสามารถเข้าถึงได้ และแน่นอนที่สุดข้อมูลส่วนใหญ่มักเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของเด็ก เยาวชน และคนไทยทั้งชาติให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าภาษาอังกฤษดีก็จะได้เปรียบต่อการพัฒนาตน พัฒนาสังคม และพัฒนาประเทศชาติ
เชื่อมั่นว่าทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ สามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้ไม่แพ้ชาติใด ที่สำคัญจะต้องมีการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนภาษาอังกฤษกันอย่างจริงจัง และรัฐบาลจะต้องหยิบยกขึ้นเป็น “วาระแห่งชาติ” กำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจน
โดยทุกภาคส่วนในสังคมต้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนผลักดันช่วยกันพัฒนาคนซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่ายิ่งกว่าสิ่งใดกันอย่างจริงจัง.
|