'ประเวศ'สอนรัฐ'ปฏิรูปการเมือง'ที่ถูกต้อง
ท่ามกลางกระแสคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และความพยายามในการเสนอให้มีการปฏิรูปการเมือง ล่าสุด ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้เขียนบทความ "การออกแบบปฏิรูปการเมืองให้ได้ผลจริง" เนื้องหาดังนี้
ประเทศไทยมีการปฏิรูปการเมืองมาหลายครั้งแล้ว ก็ต้องถือว่ายังไม่ได้ผลจริง ดังที่มีรัฐธรรมนูญมาแล้วถึง ๑๘ ฉบับ และยังเกิดวิกฤตการเมืองปริ่มๆจะฆ่ากันตายอยู่ในทุกวันนี้ หากจะมีการปฏิรูปการเมืองกันอีกและต้องการให้ได้ผลจริง ควรจะศึกษาบทเรียนจากอดีตแล้วมีหลักการ กลไกและกระบวนการที่ถูกต้อง ขอเสนอแนะดังต่อไปนี้
๑.หลักการ
(๑) ต้องแยกเรื่องการปรองดองและการปฏิรูปการเมืองเป็นคนละเรื่อง การปรองดองเป็นเรื่องแก้ไขอดีต การปฏิรูปการเมืองเป็นเรื่องของการสร้างอนาคต การแก้ปัญหาของอดีตทำได้ยากและบางทียิ่งทำยิ่งขัดแย้งกันมากขึ้น เพราะปัญหามีรากยาวไกลและมีบุคคลเกี่ยวพันอยู่ การร่วมกันทำสิ่งที่ดีต่อไปในอนาคตง่ายกว่ามาก และในที่สุดจะสร้างความเชื่อถือไว้วางใจกัน ฉะนั้นในช่วงนี้อย่าเอาเรื่องการปรองดองกับการปฏิรูปการเมืองมาปนกัน จะทำให้สับสนและเคลื่อนไปสู่อนาคตไม่ได้
(๒) ต้องไม่มุ่งปฏิรูปองค์กรทางการเมืองเท่านั้น เพราะจะคับแคบและไม่ได้ผลเช่นเคย แต่ต้องมีเป้าหมายใหญ่ในการสร้างประเทศไทยที่ดีงามหรือประเทศไทยน่าอยู่
(๓) ต้องไม่ใช่คิดกันอยู่ในวงเล็กๆเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะคิดออกมาได้ดีแค่ไหนก็ปฏิบัติไม่ได้ ถึงเขียนรัฐธรรมนูญให้ดีอย่างใดก็ปฏิบัติไม่ได้ ถ้าประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมโดยกว้างขวาง เพราะฉะนั้นถ้าจะมีการปฏิรูปการเมืองกันอีก ต้องเป็นกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วมโดยกว้างขวางทั่วประเทศ เป็นโอกาสที่จะยกระดับจิตสำนึกความเป็นพลเมือง ต่อเมื่อประชาชนมีจิตสำนึกแห่งความเป็นพลเมือง และเป็นพลเมืองที่กัมมันตะ(active citizen) เท่านั้น การเมืองจึงจะดีขึ้นได้
๒.กลไกการปฏิรูปการเมือง
ควรมีกลไก ๓ ประเภท ทำงานร่วมกันคือ
(๑) คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง ประกอบด้วย ๔ ภาคใหญ่ๆคือ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนจะมีผู้หลักผู้ใหญ่ร่วมเป็นกรรมการหรือเป็นที่ปรึกษาก็สามารถจัดได้ให้งามและเหมาะสม
(๒) คณะกรรมการเครือข่ายประชาชนปฏิรูปการเมือง ขณะนี้ประชาชนมีประสบการณ์และมีความตื่นตัวสูงในการจัดการตนเองและในการขับเคลื่อนนโยบาย จากการทำงานของนักพัฒนาเอกชนที่ผ่านมาจากการเข้าร่วมในกระบวนการสมัชชาสุขภาพและสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย ในกระบวนการปฏิรูปการเมืองครั้งนี้ควรส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวร่วมคิดร่วมทำทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ ให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของและเป็นผู้ปฏิรูปการเมือง เครือข่ายประชาชนปฏิรูปการเมืองนี้ ควรเกิดขึ้นโดยก่อตัวขึ้นเอง(self-organization) ตามพื้นที่ ตามกลุ่มอาชีพ ตามประเด็น ไม่ควรมีใครไปแต่งตั้ง แต่ควรมีกลไกส่งเสริมที่อาจเรียกว่าคณะกรรมการเครือข่ายประชาชนปฏิรูปการเมืองเป็นคณะกรรมการอิสระ
(๓) สภาปฏิรูปการเมือง คือการประชุมการปฏิรูปการเมือง อาจเป็นสภาปฏิรูปการเมืองระดับพื้นที่ สภาปฏิรูปการเมืองเฉพาะประเด็นหรือสภาปฏิรูปการเมืองระดับชาติ
ทั้ง ๓ กลไกนี้ทำงานเชื่อมโยงกันในกระบวนการปฏิรูปการเมือง ควรออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีสร้างกลไกทั้ง ๓ นี้ให้สามารถทำงานต่อเนื่องข้ามรัฐบาลควรสังเกตว่ากลไกการปฏิรูปการเมืองที่ออกแบบไว้นี้เป็นหลักการ “ประชา-รัฐ” คือประชาชนกับรัฐร่วมกัน
๓. กระบวนการปฏิรูปการเมือง - คำถามใหญ่ ๓ คำถาม
กระบวนการพูดคุยเรื่องปฏิรูปการเมืองทั่วประเทศ ควรจะพยายามตอบคำถามใหญ่ ๓ คำถาม คือ
(๑) ประเทศไทยที่ดีที่สุดในจินตนาการของท่านคืออย่างไร ให้คนไทยจำนวนมากที่สุดจะมากได้ มีจินตนาการถึงประเทศไทยที่ดีที่สุดว่าเป็นอย่างไร มีการสังเคราะห์ภาพประเทศไทยที่ดีที่สุดในจินตนาการของคนไทย แล้วเผยแพร่ให้ทราบทั่วกัน อาจใช้ศิลปะทุกแขนงแสดงภาพประเทศไทยที่ดีที่สุดในจินตนาการของคนไทย ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม ภาพประเทศไทยที่ดีที่สุดในจินตนาการของคนไทย อาจถือว่าเป็น “อุดมทรรศน์ประเทศไทย” หรือ “เป้าหมายประเทศไทย” ที่คนไทยทุกคนร่วมสร้าง ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งหรือพรรคใดพรรคหนึ่ง กระบวนการจินตนาการและผลลัพธ์ “ประเทศไทยที่ดีที่สุด” จะก่อให้เกิดพลังมหาศาลขึ้นในชาติ ทุกคนจะรู้สึกเป็นเจ้าของและมีพันธะกับเป้าหมายนี้ร่วมกัน
(๒) จะต้องทำอะไรบ้างที่จะบรรลุเป้าหมาย “ประเทศไทยที่ดีที่สุด” ตามที่ร่วมกันสร้างไว้ คำตอบจะมีหลากหลายมาก แต่รวมกันแล้วจะครอบคลุมเรื่องดีๆที่ควรทำหมดทุกเรื่อง คำตอบอาจจะแยกย่อยมากมาย แต่ควรจะมีผู้ที่มีความสามารถในการสังเคราะห์ สังเคราะห์คำตอบเป็นหมวดหมู่หรือกลุ่มใหญ่ๆ อาจได้ออกมา ๗-๘ เรื่อง เรื่องใหญ่ๆ ๗-๘ เรื่องที่ได้มาคือเรื่องหลักๆที่ควรปฏิรูป การที่คนทั้งหมดร่วมกันคิดเรื่องหลักที่ควรปฏิรูปขึ้นมา จะทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของและพันธะที่จะทำให้สำเร็จ
(๓) ทำแผนปฏิบัติในแต่ละเรื่องใหญ่ๆที่ควรปฏิรูป จากเรื่องใหญ่ๆที่ควรปฏิรูปที่ได้มาตามข้อ (๒) แต่ละเรื่องนำมาทำแผนปฏิบัติ (plan of action) เนื่องจากแต่ละเรื่องจะมีความต้องการความรู้และความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันจึงควรแบ่งกลุ่มผู้ทำแผนปฏิบัติออกเป็นกลุ่มๆ ตามความสนใจและความเชี่ยวชาญ ในกระบวนการทำแผนปฏิบัตินี้จะต้องการข้อมูล ความรู้ ความสามารถในการวิเคราะห์สังเคราะห์ และความเข้าใจเชิงการจัดการมาก จะเป็นการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (interactive learning through action) ของทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วม ทุกคนจะเก่งขึ้นหมด รักกันมาก และถือเป็นพันธะผูกพันที่จะขับเคลื่อนแผนปฏิบัติไปสู่ความสำเร็จ
๔. การปฏิบัติตามแผนปฏิรูป
เมื่อกระบวนการได้ทำมาครบตามขั้นตอนทั้ง ๓ ที่ทุกฝ่ายร่วมกันตามที่กล่าวถึงในข้อ๓ จะเกิดพลังมหาศาล คือทุกคนจะรักกันมาก เกิดความเชื่อถือไว้วางใจกัน(trust) เกิดการเรียนรู้ร่วมกันและร่วมกันสร้างสิ่งสำคัญที่สุด ๓ เรื่อง คือ (๑) เป้าหมายของประเทศไทยที่ดีที่สุด (๒) เรื่องใหญ่ๆที่ควรปฏิรูป (๓) แผนปฏิบัติในแต่ละเรื่องในแผนปฏิบัตินั้นจะบอกว่าต้องทำอะไร ทำอย่างไร ใช้เครื่องมือและทรัพยากรเท่าไหร่ ใครทำ ที่ว่าใครทำนั้นก็ทุกคนทุกฝ่าย เช่น เรื่องอะไรเกี่ยวกับรัฐบาลนายกรัฐมนตรีก็รับไปทำ เรื่องอะไรเกี่ยวกับรัฐสภา ประธานรัฐสภาก็รับไปทำ อะไรเกี่ยวกับกระทรวง กระทรวงก็รับไปทำ อะไรเกี่ยวกับองค์กรท้องถิ่นองค์กรท้องถิ่นก็รับไปทำ อะไรเกี่ยวกับภาควิชาการ อะไรเกี่ยวกับภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ภาคการสื่อสาร ภาคนั้นๆก็รับไปทำ คณะกรรมการปฏิรูปการเมืองมีหน้าที่ติดตาม เร่งรัด ตรวจสอบให้มีการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติปฏิรูปประเทศไทย การปฏิบัติจะมีในหลายมิติ ทั้งที่เกี่ยวกับแก้ไขกฎหมายรวมทั้งรัฐธรรมนูญและที่ไม่เกี่ยว
๕.กระบวนการปฏิรูปการเมืองเป็นกระบวนการต่อเนื่อง
ที่ได้อธิบายกลไกและกระบวนการมาดังกล่าวข้างต้น เป็นการ “ประกอบเครื่องประเทศไทย” ที่ผ่านมาประเทศไทยเปรียบเสมือนประเทศเครื่องหลุดที่ส่วนต่างๆไม่ประกอบเข้ามาด้วยกัน รถยนต์ที่เครื่องหลุดจากกันถึงเร่งเครื่องก็วิ่งไปไม่ได้ ฉันใด ประเทศที่เครื่องหลุด ก็ฉันนั้น การปฏิรูปประเทศไทยที่ออกแบบดังกล่าวข้างต้น เป็นการประกอบส่วนต่างๆของประเทศไทยให้เข้ามาเชื่อมโยงกัน เมื่อประกอบเครื่องประเทศไทยได้ ประเทศก็สามารถวิ่งไปข้างหน้าอย่างเรียบร้อยและดีขึ้นเรื่อยๆ
ในการปฏิรูปประเทศไทยตามที่กล่าวมาข้างต้น ทุกคนทุกฝ่ายมีส่วนร่วมได้หมดและได้ใช้จิตใจสติปัญญาของตนได้อย่างเต็มที่ จะเกิดความปีติสุขที่ได้ทำงานเพื่อประเทศไทยร่วมกัน และจะสามารถฝ่าอุปสรรคที่ยากลำบาก มีความสำเร็จเป็นลำดับๆไปในการสร้างประเทศไทยที่ดีที่สุดตามจินตนาการของเราร่วมกัน สมควรที่ทุกคนจะยอมเสียสละใดๆเพื่อร่วมกันสร้างอนาคตประเทศไทย กระบวนการปฏิรูปการเมืองควรจะต่อเนื่องผ่านช่วงหลายรัฐบาลไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของคนไทยทั้งชาติ รัฐบาลเป็นเพียงกลไกอย่างหนึ่ง ถ้าได้ทำตามนี้ต่อไปโมเดลการปฏิรูปของไทยจะเป็นที่เรียนรู้ แม้แต่ของประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งเขากำลังติดขัดและต้องการปฏิรูป แต่ไม่รู้จะปฏิรูปอย่างไร
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ |