บัวผุดหรือกระโถนฤาษี
จากอดีตขุนโจรสู่แกนนำม็อบยาง "เอียด เส้งเอียด" เตือนระวังไฟลามทุ่ง
ชื่อของ "เอียด เส้งเอียด" อดีตขุนโจรชื่อดังแห่งปักษ์ใต้ น้องชายของ "ไข่หมูก" หรือ เจิม เส้งเอียด อดีตจอมโจรเรียกค่าไถ่คนสำคัญ ปรากฏในสารบบการต่อสู้บนท้องถนน ณ พ.ศ. 2556 ในการชุมนุมของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ
ภาพของ เอียด เส้งเอียด ในอดีตนั้นถูกฉายชัดในฐานะขุนโจรที่เดินเข้าออกเรือนจำนับครั้งไม่ถ้วน ทว่าภายหลังขัดล้างคราบไคลเหล่านั้นจนหมดสิ้นแล้ว เขาก็เบนเข็มชีวิตหันมาอุทิศตัวทำงานเพื่อสังคม ด้วยการปกป้องผืนป่าเทือกเขาบรรทัด ในฐานะ "ประธานชมรมกองทุนรักษ์ป่าเทือกเขาบรรทัด"
ทว่าวันนี้บทบาทในชีวิตก็พลิกอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกลายเป็นคนเดินนำหน้าการชุมนุมของกลุ่มเกษตรชาวสวนยางและสวนปาล์มในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช มานานเกือบ 2 สัปดาห์ จนฝ่ายการเมืองต้องหันมามองและตรวจสอบเบื้องหน้าเบื้องหลังกันจ้าละหวั่น
เรื่องราวที่มาที่ไปในฐานะ "ผู้ประสานงานม็อบ" ของ เอียด เส้งเอียด เขาเปิดใจเอาไว้ชัดแจ้ง
"ผมไม่ได้เป็นแกนนำเกษตรกรและไม่ได้เป็นเกษตรกร แต่ผมเข้ามาเพราะนั่งดูข่าวมาระยะหนึ่งแล้ว เห็นว่าปัญหานี้จะบานปลาย แต่ไม่มีผู้ทำหน้าที่ประสานงานให้ เลยอาสาเข้ามาทำหน้าที่ผู้ประสานงาน" เอียดเริ่มเฉลยกับทีมข่าว
เขาอธิบายว่า การเจรจากับรัฐบาล เขาจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ปล่อยให้เป็นตัวแทนของเกษตรกรที่มาชุมนุมเป็นคนเลือกตัวแทนเข้าทำหน้าที่ในการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลเอง เพราะเขาไม่มีต้นยางแม้แต่ต้นเดียว ไม่มีประโยชน์แอบแฝง เข้ามาทำหน้าที่ประสานด้วยจิตวิญญาณเพื่อแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง ไม่ให้ประชาชนถูกทำร้าย โดยเฉพาะการประสานงานกับทางเจ้าหน้าที่ ได้ขอตลอดว่าอย่าใช้ความรุนแรงกับพี่น้องประชาชน
อดีตจอมโจรรายนี้ ยืนยันว่า การชุมนุมที่นี่ถือเป็นการชุมนุมของชาวบ้านอย่างแท้จริง ไม่มีใครเป็นแกนนำ ทุกคนต่างคนต่างมา ในขณะเดียวกันก็ไม่มีใครกล้าแสดงตัวเป็นแกนนำ เพราะหากแสดงตัวเป็นแกนนำก็จะถูกออกหมายจับทันที
"เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานราชการที่เข้าใจว่าผมเป็นแกนนำนั้น ขอบอกว่าไม่ใช่ แต่ทำหน้าที่ประสานงานให้เกิดการพูดคุยกันระหว่างพี่น้องผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ ถ้าเขาเจรจาตกลงกันได้ก็กลับบ้าน ไปทำงานปกป้องการทำลายป่าของผมที่ทิ้งงานมาหลายวันแล้ว"
"ตอนนี้ผมบนเอาไว้ หากว่าการเจรจาสามารถตกลงกันได้จะขอบวชให้กับพี่น้องประชาชน ยอมบวชเพื่อให้ปัญหามันจบเร็วๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ต่อชาติบ้านเมือง"
เอียด เปรียบเปรยว่า การออกมาเรียกร้องของชาวบ้านครั้งนี้ เปรียบเสมือนแสงไฟดวงน้อยๆ ที่เรียกร้องขอความเป็นธรรมไปยังรัฐบาล ซึ่งดำเนินการกันมาหลายวันแล้ว แต่รัฐบาลปล่อยปละละเลย ทำให้ไฟดวงนี้กำลังจะลามทุ่งและสร้างความเสียหายให้กับชาติบ้านเมือง
สำหรับต้นตอที่ทำให้ไฟติด จนมีการชุมนุมยืดเยื้อมาหลายวัน ส่วนหนึ่งเอียด มองว่า รัฐบาลทำเหมือนกับว่าภาคใต้ไม่ใช่ประเทศไทย เป็นการแบ่งแยกกันโดยสิ้นเชิง
"ฟังเสียงของประชาชนที่มาร่วมชุมนุมตอนนี้ บอกได้เลยว่าเขาสู้ตาย ยอมตาย เขาบอกว่าถ้าตำรวจจะเข้ามาปราบ แม้เขาจะตายกี่คนก็จะสู้ แสดงให้เห็นเขาต่อสู้จากจิตวิญญาณ ไม่ได้รับผลตอบแทนหรือได้รับการสนับสนุนจากใคร อาหารที่นำมาเลี้ยงมากินกันเป็นการช่วยกันหามาโดยชาวบ้านทั้งสิ้น ไม่มีการสนับสนุน ซึ่งชาวบ้านและผมรู้สึกเสียใจที่รัฐบาลกล่าวหาว่าการชุมนุมได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองบางพรรค"
"ขนาด ส.ส.พรรคหนึ่งเดินทางมาเยี่ยม จะขอขึ้นเวทีพูดกับชาวบ้าน เขายังไม่ยอมให้ขึ้นเวทีเลย ให้ได้แค่ไปเยี่ยมให้กำลังใจเท่านั้น แต่ไม่ให้ขึ้นเวทีพูดโดยเด็ดขาด เพราะจะถูกโยงเป็นเรื่องการเมือง ที่ผ่านมาเขาก็ถูกสร้างภาพให้เป็นอย่างนั้น เป็นการซ้ำเติมและสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับพี่น้องอย่างยิ่ง"
เอียด มองว่า จากสิ่งที่เห็นจึงตั้งใจว่าจะต้องทำหน้าที่ประสานงานให้พี่น้องประชาชนต่อไป ไม่สนใจว่าใครจะมองอย่างไร เพราะเขาอยู่ที่นี่ รู้สึกสงสารและเห็นใจชาวบ้านจริงๆ ชาวบ้านถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกก่อการร้าย ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนจากนอกพื้นที่ และใส่ร้ายว่าม็อบเรียกเก็บเงินรถที่ขับผ่านเส้นทาง จนทำให้สังคมบางส่วนมองผู้ชุมนุมว่าเป็นโจร
"เรื่องราวทั้งหมดถือเป็นการใส่ร้ายป้ายสี เป็นความพยายามสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งๆ ที่ผู้ชุมนุมแค่เรียกร้องขอความช่วยเหลือจากสิ่งที่เขาได้รับความเดือดร้อนเท่านั้น แต่ทางฝ่ายรัฐกลับเตรียมการเพื่อสลายการชุมนุม มีการเตรียมการของเจ้าหน้าที่ชัดเจน จุดนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องตัดสินใจเข้ามาทำหน้าที่ประสานระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่"
เอียด บอกด้วยว่า สาเหตุที่กล้าเปิดเผยตัว เพราะการต่อสู้ถ้าปล่อยปละละเลยให้ประชาชนอยู่แบบนี้จะยิ่งอันตราย การรับหน้าที่นี้ก็ไม่ได้อยากจะเด่นดังอะไร และไม่ได้หวังผลประโยชน์อะไรตอบแทน
"ขอยืนยันว่า เรื่องผลประโยชน์ผมไม่มีแน่นอน คิดแค่เพียงว่าผู้ที่มาชุมนุมเป็นทรัพยากรของชาติ ตรงกับสิ่งที่ตั้งสัตย์ปฏิญาณว่าชีวิตที่เหลืออยู่จะอุทิศเพื่อแผ่นดิน จึงคิดว่าอยากช่วยพี่น้องทุกคนที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังนั้นเจ้าหน้าที่ไม่ต้องไปวิเคราะห์ให้เหนื่อยว่าผมเข้ามาทำเพื่อหวังอะไรตอบแทน เมื่อทุกอย่างตกลงกันได้ก็กลับบ้าน"
เขากล่าวทิ้งท้ายว่า หากรัฐบาลคิดจะแก้ปัญหานี้ ต้องเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ อย่ามองภาพคนภาคใต้เป็นโจร เป็นผู้มีอิทธิพล เป็นอันธพาล หากรัฐบาลมองอย่างนั้นมันก็ยากที่จะแก้ปัญหา และยิ่งทำให้ไฟลุกลาม ทั้งที่จริงๆ แล้ว "คนใต้พูดง่าย จบก็คือจบ"
|