ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แนวทางตามนโยบายของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ที่จะแก้กฎหมาย ปลดล็อกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพต่าง ๆ เข้ามาเป็นครูได้นั้น เป็นแนวทางที่ดีในการดึงคนมีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นครู เพราะผู้ที่อยู่ในสายวิชาชีพ หรือผู้ที่จบจากคณะหลักที่สอนเฉพาะทาง เช่น คณะวิทยาศาสตร์ นักศึกษาจะต้องเรียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อย่างรู้ลึก รู้จริง ทำให้เข้าใจแก่นแท้ของความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มากกว่าเด็กที่จบครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์มาก และกลุ่มคนเหล่านี้หากพวกเขาได้ผ่านการอบรมด้านการสอน ก็สามารถเป็นครูที่ดีได้
"ขณะนี้เทรนด์การศึกษาทั่วโลกยิ่งสอนน้อยเด็กยิ่งเก่ง ครูยุคใหม่ต้องรู้จักย่อยความรู้ สอนเฉพาะแก่นความรู้ให้แก่เด็ก และครูที่จะสามารถกระทำสิ่งเหล่านี้ได้นั้น ต้องเป็นครูที่รู้ลึกในสาขาวิชานั้นจริง ๆ ซึ่งครูที่จบจากคณะครุศาสตร์อาจเป็นครูที่สอนดี แต่ในบางวิชาพวกเขาไม่ได้รู้ลึก ไม่สามารถจับแก่นแท้ของความรู้เพื่อถ่ายทอดไปยังเด็กได้ อีกทั้งในการให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ไม่ควรจะดูเฉพาะคะแนนสอบของครูเท่านั้น แต่อยากให้ดูถึงศักยภาพ องค์ความรู้ของครูจริง ๆ เพราะบางครั้งผู้ที่สอบได้คะแนนเต็มก็ใช่ว่าจะเป็นครูที่ดี จะสามารถย่อยความรู้แล้วป้อนให้แก่เด็กได้" ศ.ดร.สุพจน์ กล่าวและว่า นอกจากเปิดโอกาสให้คนเก่ง ผู้เชี่ยวชาญในสายวิชาชีพมาเป็นครูแล้วจะต้องมีปรับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา โดยต้องยกเลิกระบบรับตรงให้มาสอบรับกลางเพียงอย่างเดียวด้วย
ที่มา-เดลินิวส์
นิสิตครูมศว ค้านนโยบายปลดล็อกตั๋วครู ย้ำไม่ใช่ใครก็มาเป็นครูได้ เตรียมประสานสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาวิชาชีพครูภาคกลาง รวมพลเข้าพบรมว.ศึกษาธิการ 25 ก.ย.เพื่อยื่นหนังสือแสดงจุดยืนคัดค้านนโยบาย
นายกฤษณ์ คงเปีย นิสิตคณะศึกษาศาสตร์ ในฐานะประธานสโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว ) กล่าวถึงกรณีที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายปลดล็อคใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในสาขาวิชาต่างๆที่ไม่จบสายครูได้มีโอกาสเข้ามาเป็นครู เพื่อเป็นการแก้ปัญหาขาดแคลนครูเฉพาะทางว่า นิสิตครู มศว ต้องการให้รมว.ศึกษาธิการ ยกเลิกนโยบายดังกล่าว เพราะสร้างความไม่ยุติธรรมให้แก่นิสิตนักศึกษาที่เรียนวิชาชีพครู อีกทั้งการเรียนครูไม่ใช่เรียนเพื่อมาสอนให้เด็กเก่งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสอนให้เด็กรู้จักคิด สอนให้เป็นคนดี มีคุณธรรมจริยธรรม อยู่ร่วมในสังคมกับผู้อื่นได้ ซึ่งเป็นวิชาชีพที่สร้างคนไม่ใช่สร้างตึก สร้างอาคาร ดังนั้นไม่ใช่ว่าใครก็จะมาเป็นครูได้
นายกฤษณ์ กล่าวต่อไป การแก้ปัญหาเรื่องของครูนั้นตนไม่อยากให้นักการเมืองเข้ามาวุ่นวาย เพราะพอมีรมว.ศึกษาธิการคนใหม่นโยบายก็จะเปลี่ยนแปลงไป แถมนโยบายที่เปลี่ยนไปก็ไม่ได้มาจากผู้ที่อยู่ในวงการศึกษา และทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ที่อยู่ในระบบการศึกษา ดังนั้นภายในสัปดาห์นี้จะมีการรวบรวมรายชื่อกลุ่มนิสิตครู มศว เพื่อเสนอไปยังผศ.ดร.สุรวาท ทองบุ ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย(ส.ค.ศ.ท.) เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านนโยบายดังกล่าว รวมถึงจะมีการประสานไปยังกลุ่มสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาวิชาชีพครูในกลุ่มภาคกลาง อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ฯลฯ เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและจุดยืนของนิสิตครูทั้งหมดว่าเป็นอย่างไร จากนั้นจะทำหนังสือขอเข้าพบรมว.ศึกษาธิการในวันที่ 25 ก.ย.ต่อไป
“จาตุรนต์” สั่ง อ.ก.ค.ศ.รวมข้อมูลความต้องการครูภาพรวมทั่วประเทศ และเชื่อมโยงการแต่งตั้งโยกย้ายครูในพื้นที่กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพื่อปฏิรูปการสอน อย่าพิจารณาการย้ายโดยดูแต่เพื่อสร้างความเป็นธรรมหรือแค่แก้ปัญหาระบบเส้นสาย โดยหลงลืมเรื่องคุณภาพ วันนี้ (18 ก.ย.) ที่โรงแรมคุ้มภูคำ จ.เชียงใหม่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวระหว่างมอบนโยบายต่อที่ประชุมสัมมนาคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางกาศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ภาคเหนือ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีใจความสำคัญตอนหนึ่ง ว่า ที่ผ่านมาการบริหารงานบุคคลของอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ให้ความสำคัญกับการแต่งตั้งโยกย้ายเท่านั้น แต่เป้าหมายสำคัญของการดำเนินการแต่งตั้งโยกย้ายไม่ใช่เพื่อความเป็นธรรมเท่านั้น แต่ควรเชื่อมโยงการแต่งตั้งโยกย้ายให้สอดรับกับการเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและการปฏิรูปการเรียนการสอนให้มากขึ้น เพราะฉะนั้น อ.ก.ค.ก.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาต้องมีฐานข้อมูลผลสัมฤทธิ์ของโรงเรียนในเขตพื้นที่ฯ และมีข้อมูลการขาดแคลนครูเพื่อใช้ในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย ไม่ใช่พิจารณาเฉพาะความเป็นธรรม และการแก้ปัญหาระบบเส้นสายในการโยกย้ายแต่งตั้งเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพการศึกษาด้วย ที่สำคัญการแต่งตั้งโยกย้ายบรรจุครู ต้องดูภาพรวมความขาดแคลนครูด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการแต่งตั้งโยกย้ายครูในพื้นที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ จะพิจารณาไปตามความเห็นและความจำเป็นของแต่ละเขตพื้นที่ ขาดการดูแลในภาพรวมของประเทศ เช่น กรณีครูสอนภาษาฝรั่งเศสที่เหลือ 200 กว่าคนทั่วประเทศ หากประเทศไทยมีความต้องการครูในส่วนนี้มากขึ้นก็จะเกิดคำถามว่าจะทำอย่างไร หากปล่อยให้ อ.ก.ค.ศ.เขตฯยังแต่งตั้งตามความพอใจแบบในปัจุบัน ทั้งนี้อยากให้ ก.ค.ศ.ไปคิดวิธีการและหลักเกณฑ์ โดยอาจจะต้องจัดทำข้อมูลความต้องการภาพรวมทั่วประเทศ เช่น หากต้องการให้บรรจุครูไอซีที 2,000 คนก็ให้แจ้งไปยัง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯให้บรรจุแต่งตั้งครูตามความต้องการ “จะมอบให้ ก.ค.ศ.ไปจัดทำหลักเกณฑ์ว่าจะประเมินการทำงานของอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯได้อย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่เคยมีการประเมินว่า อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯว่าทำงานดีหรือไม่ดีอย่างไร เมื่อมีหลักเกณฑ์การประเมินแล้วจะทำให้ทราบผลการทำงานของแต่ละ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯทั่วประเทศ และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯเองก็จะต้องรับผิดชอบต่อสังคมและผลประเมินที่ออกมา” รมว.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า ในส่วนของการประเมินวิทยฐานะก็อยากให้เชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนด้วย ที่ผ่านมาได้รับข้อมูลว่ามีผู้อำนวยการโรงเรียนหลายแห่งผ่านการประเมินวิทยฐานะที่สูง มีความก้าวหน้าในวิชาชีพแต่ผลสัมฤทธิ์ของโรงเรียนตัวเองกลับต่ำ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
|